บทวิเคราะห์ : การเมืองศรีลังกาตึงเครียด ปธน.-นายกฯ เปิดเกมงัดข้อทางอำนาจ

สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศศรีลังกาตอนนี้ดำดิ่งสู่ภาวะวิกฤตหนัก

จากการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันอย่างดุเดือดระหว่างนายไมตรีพลา สิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกา กับนายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรี ที่ถูกนายไมตรีพลาสั่งปลดฟ้าผ่าออกจากตำแหน่งไปเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน

ก่อนที่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานายไมตรีพลาจะชิงประกาศยุบสภาและกำหนดให้จัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 5 มกราคมปีหน้า

หลังจากนายมหินทา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา วัย 72 ปี ซึ่งนายไมตรีพลาแต่งตั้งขึ้นมาให้เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพ ไม่สามารถพิสูจน์ตนเองให้เห็นได้ว่าเขาจะสามารถยึดกุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้

ในขณะที่พรรคยูไนเต็ด เนชั่นแนล ปาร์ตี้ (ยูเอ็นพี) ของนายรานิลเองยังคงครองที่นั่งมากที่สุดในรัฐสภา

ท่ามกลางเสียงคัดค้านต่อต้านจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่โต้แย้งว่าการกระทำของประธานาธิบดีไมตรีพลา เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการลุแก่อำนาจ!

 

เกมการงัดข้อทางอำนาจครั้งนี้ยิ่งฉุดลากสถานการณ์บ้านเมืองของศรีลังกาให้ตกอยู่ในภาวะตีบตันไร้เสถียรภาพ ที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าด้วยความรุนแรงของกลุ่มผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายบนท้องถนนถึงขั้นเสียเลือดเนื้อได้

ซึ่งสร้างความห่วงวิตกให้กับนานาชาติไม่น้อย ในฐานะที่ศรีลังกาเป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรอินเดียที่มีความสำคัญทางภูมิยุทธศาสตร์และเป็นหมากตัวหนึ่งของการคานดุลอำนาจในภูมิภาคของชาติที่ทรงอิทธิพลอย่างอินเดีย จีน และสหรัฐอเมริกา

ฉะนั้น พัฒนาการเชิงลบที่ดำเนินไปในศรีลังกาจึงอยู่ในความจับจ้องสนใจ

หากย้อนไปดูปมความขัดแย้งที่นำไปสู่การแตกหักกันระหว่างนายไมตรีพลาและนายรานิลครั้งนี้ กล่าวได้ว่ามีความซับซ้อนอยู่มากพอควร จากการเปลี่ยนขั้วจับมือเป็นมิตรกันไปมาระหว่างตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญ 3 ตัวแสดงหลักคือ นายไมตรีพลา นายรานิล และนายมหินทา

โดยนับจากที่นายไมตรีพลาสร้างความตกตะลึงให้กับชาวศรีลังกาด้วยการแย่งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีจากนายมหินทามาได้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ.2015

หลังจากนั้นนายไมตรีพลาก็หันมาจับมือทางการเมืองกับนายรานิล ที่แบ่งสรรหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงานบ้านเมืองกันไปในฐานะที่นายไมตรีพลาเป็นประธานาธิบดี และนายรานิลได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ก่อนที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองคนในระยะหลังจะเริ่มระหองระแหง กระทั่งเกิดความเห็นขัดแย้งกันหนักในประเด็นที่รัฐบาลศรีลังกามีแผนที่จะให้สัมปทานเช่าท่าเรือแก่อินเดีย

ปมนี้น่าจะเป็นความขัดแย้งล่าสุดที่เป็นผลให้นายไมตรีพลาลงนามในคำสั่งปลดนายรานิลพ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่นายรานิลยังยืนกรานไม่ยอมออกจากตำแหน่ง และว่า คำสั่งนี้ไม่ชอบธรรมและขัดรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ก่อนหน้าที่นายไมตรีพลาจะใช้อำนาจสั่งยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เขายังได้รวบเอาสำนักงานตำรวจมาอยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวงกลาโหมที่ตนเองกำกับดูแลอยู่และยังเข้าควบคุมสำนักพิมพ์แห่งรัฐ ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญที่ตีพิมพ์กฤษฎีกาและคำประกาศของรัฐบาลเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตนเองอีกด้วย

การกระทำในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ของนายไมตรีพลาทำให้เขาถูกประณามว่ากำลังแปลงร่างกลายเป็นพวกเผด็จการอำนาจนิยม

 

ขณะที่ในแง่มุมความสัมพันธ์ระหว่างนายไมตรีพลาและนายมหินทาก็มีความซับซ้อน

โดยสมัยที่นายมหินทาเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับการยกย่องจากชาวสิงหลว่าเป็นผู้ทำให้สงครามกลางเมืองในศรีลังกาที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษยุติลงได้

นายไมตรีพลาก็เป็นหนึ่งในคณะรัฐบาลของนายมหินทา แต่นายไมตรีพลาเลือกที่จะเดินออกจากรัฐบาลนายมหินทา หลังจากมีปัญหาขัดแย้งกัน ที่เคยมีถึงขั้นที่นายไมตรีพลากล่าวหาว่านายมหินทามีแผนจะลอบสังหารตนเอง

ทว่ามาในตอนนี้นายไมตรีพลากลับมาจับมือกับศัตรูเก่าด้วยการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อหวังขจัดนายรานิลไปให้พ้นทาง

ต่อประเด็นข้อถกเถียงว่านายไมตรีพลามีอำนาจในการถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือไม่ รวมถึงอำนาจยุบสภา ประเด็นนี้มีการยื่นคำร้องให้ศาลฎีกาศรีลังกาพิจารณา

ซึ่งตามข่าวระบุว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญศรีลังกาฉบับแก้ไขปี ค.ศ.2015 ที่มีนายไมตรีพลาและนายรานิลร่วมกันผลักดันภายใต้ความมุ่งหมายจะลดอำนาจประธานาธิบดี ระบุว่า ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรีโดยรวบรัด

ขณะที่ในประเด็นการยุบสภา รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขนี้ระบุว่าจะสามารถยุบสภาได้ก็ต่อเมื่อรัฐสภามีวาระเหลือน้อยกว่า 6 เดือนจากวาระเต็ม 5 ปี หรืออีกทางหนึ่งที่จะทำได้คือจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาในสัดส่วนเกิน 2 ใน 3 เท่านั้น

 

ล่าสุดมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วสดๆ ร้อนๆ ในขณะที่กำลังนั่งเขียนต้นฉบับนี้อยู่ว่า ศาลฎีกาศรีลังกาตัดสินล้มคำสั่งยุบสภาของประธานาธิบดีไมตรีพลาแล้ว

ขณะที่สมาชิกรัฐสภาศรีลังกายังโหวตลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายมหินทาอีกด้วย

ตอนนี้สถานการณ์ทางการเมืองของศรีลังกาเต็มไปด้วยความตึงเครียดวุ่นวาย ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีใครยอมใคร

ก็ต้องรอดูว่าท้ายที่สุดจะคลี่คลายไปในทางใด

หรือจะยิ่งลุกลามขยายวงออกไปอีกจนควบคุมไม่อยู่

และทำให้ประชาธิปไตยของศรีลังกาตกอยู่ในความเสี่ยงต่อไป!