ถึงคิว BNK48 ฝ่าคลื่น “การเมือง”

การเมืองช่วงปลายโรดแม็ป ทำให้วงการเพลงกระเพื่อมหนักไปด้วย

นอกจากกรณี Rap Against Dictatorship กับเพลง “ประเทศกูมี” ยังเกิดปมร้อนใหม่ เมื่อกลุ่มนักร้องหญิง BNK48 ที่มีแฟนคลับเป็นกลุ่มก้อนคนรุ่นใหม่ เจอคลื่นการเมืองเข้าเต็มๆ

BNK48 เป็นเสมือนสาขาประเทศไทย เวอร์ชั่นไทย ของวงญี่ปุ่น AKB48 ประกอบด้วยสาวน้อยนักร้องนักเต้นชาวไทย 30 คน ล่าสุดระบุว่า มีสมาชิก 51 คน

เป็นพัฒนาการใหม่ของธุรกิจบันเทิง จากวงเกิร์ลกรุ๊ปตามรูปแบบเดิม อาศัยความนิยมในดนตรีและรูปแบบการแสดงของนักร้องญี่ปุ่น ใช้เพลงที่แปลจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น แล้วหารายได้ด้วยคอนเสิร์ต อีเวนต์ สร้างความผูกพันกับแฟนเพลง แฟนคลับ

แต่ที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา เมื่อ “เฌอปราง อารีย์กุล” กัปตันสาวของวงรับเชิญจากรัฐบาล และนักแสดงหลายคนเข้าทำเนียบเมื่อเดือนกันยายน เพื่อให้นายกฯ แสดงความขอบคุณ ที่ช่วยเหลือจัดรายการ “เดินหน้าประเทศไทย”

ไม่กี่วันต่อมา เฌอปรางปรากฏตัวใน “เดินหน้าประเทศไทย” ตอนพิเศษ

บทบาทของเฌอปรางทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล รวมถึงนักวิชาการดัง ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่ปัจจุบันอยู่ในญี่ปุ่น และเป็นอีกคนหนึ่งที่แสดงท่าทีสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่

เรื่องลุกลาม เมื่อผู้มีบทบาทในพรรคอนาคตใหม่อีกคนออกมาระบุว่า ปวินไม่ได้เป็นกรรมการพรรค ทำให้เกิดการตอบโต้กันไปมา ก่อนที่พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ออกมาชี้แจงว่าพรรคไม่เคยมีมติหรือท่าทีในเรื่องนี้

แถมยังไม่จบ เมื่อพรรณิการณ์ระบุตอนหนึ่งว่า พรรคย้ำเสมอว่าศิลปินควรมีเสรีภาพในการแสดงจุดยืนทางการเมือง หากเชื่อมั่นในระบอบอำนาจนิยมจริงๆ ก็มีสิทธิที่จะสนับสนุนรัฐบาลทหาร

กลายเป็นหัวข้อถกเถียงต่อไปอีกว่า แล้วการสนับสนุนเผด็จการ สนับสนุนรัฐบาลทหาร ถือเป็นสิทธิด้วยหรือ?

นั่นคือความเป็นมาคร่าวๆ ของกรณี “BNK48” ที่ต่างไปจากกรณี “ประเทศกูมี”

สำหรับวงการศิลปินไทย รู้กันว่ามักหลีกเลี่ยงการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ถ้าจะยุ่งก็จะเอนเอียงไปทางผู้กุมอำนาจ

ขณะที่ศิลปินต่างประเทศ มักแสดงจุดยืนที่ก้าวหน้าทางสังคมและการเมืองอย่างเปิดเผย

แต่ในประเทศไทย เพลง “ประเทศกูมี” ถูกต้านจากคนวงการเพลงด้วยกันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับอำนาจรัฐ ข้อหาหนึ่งที่พูดกันคือ ไปยุ่งการเมืองทำไม

ในอดีต คำรณ สัมปุณณานนท์, ไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเพลงสะท้อนชีวิตคนยากจน คนหาเช้ากินค่ำ ชาวไร่-ชาวนา หรือจิตร ภูมิศักดิ์ แต่งเพลงสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ชีวิตคนส่วนใหญ่ดีขึ้น เพลงบางส่วนสนับสนุนการต่อสู้ของขบวนการปฏิวัติไทย

ศิลปินรุ่นใหม่ในยุค 2516 อย่าง “คาราวาน-กรรมาชน-คุรุชน-โคมฉาย ฯลฯ” มารับช่วงทำเพลงรับใช้การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ หลัง 14 ตุลาฯ 2516 ก่อนจะเข้าป่าในปี 2519

ปี 2520-2521 แนวรบดนตรีของคนรุ่นใหม่ แทนที่โดยวงดนตรีในรั้วมหาวิทยาลัย ด้วยเนื้อหาที่อ่อนลง

วงเพื่อชีวิตรุ่นคาราวาน-กรรมาชน กลับออกมา แม้จะยังเล่นดนตรี แต่บทบาทก็เลือนไป

ใน “สงครามสี” จากปี 2549 มาจนปัจจุบัน เกิดสภาพแบ่งข้าง การประท้วงในปี 2556-2557 มีวงฝ่ายซ้ายเดิมๆ ไปขึ้นเวทีด้วยเพลงที่เคยใช้สนับสนุนการต่อสู้ของฝ่ายประชาชน ขณะที่ศิลปินฝ่ายซ้ายเดิมบางส่วนไปสนับสนุนการต่อสู้ของอีกฝั่ง

และมีน้ำเสียงที่ต่างกันเมื่อเกิดรัฐประหาร 2557 ที่ยืดยาวมาจนปัจจุบัน

รู้ๆ กันว่ารัฐประหารไม่เปิดโอกาสให้เพลงและศิลปินฝ่ายประชาธิปไตย และยังพยายามช่วงชิงคะแนนเสียงและความชอบธรรมผ่านศิลปินที่ได้รับความนิยม

ฝุ่นตลบและคลื่นลมที่เกิดขึ้น มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การเมืองนั่นเอง