ทวีศักดิ์ บุตรตัน : “บีซีจี” โมเดลเศรษฐกิจโลกสีเขียว แต่ปฏิบัติจริงได้แค่ไหน?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เข้าไปส่องเฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เห็นแฟนคลับติดตามกันล้นหลามกว่า 4 แสนคนแล้ว ทั้งๆ ที่เปิดตัวไม่นาน ถือว่าเป็นเฟซบุ๊กฮิตติดอันดับทีเดียว

เหตุที่เข้าไปส่องเฟซบุ๊กของลุงตู่เพราะต้องการอยากรู้รายละเอียดเรื่องการรวมตัวของนักวิจัยทั้งภาครัฐ เอกชนและมหาวิทยาลัย 500 คนไปยื่นสมุดปกขาวให้นายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน เพราะอ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโซเชียล สื่อทีวีแล้วยังไม่จุใจ

ในเฟซบุ๊กระบุว่า กลุ่มนักวิจัยดังกล่าวมอบสมุดปกขาวเป็นแผนปฏิบัติการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Bio-Circular-Green Economy เรียกย่อๆ ว่า บีซีจี

นักวิจัยบอกว่า แผนปฏิบัติการดังกล่าวนี้เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มายกระดับการผลิตที่เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือชุมชนให้สูงขึ้น

เป็นทิศทางการพัฒนาประเทศทั้งระบบโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ถ้าใช้โมเดลบีซีจีคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตเกษตร 3-5 เท่า เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจชีวภาพจากมูลค่า 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของจีดีพีในปี 2559 และเพิ่มเป็น 4.3 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 25 ของจีดีพีในปี 2566

“บีซีจี” จึงนับเป็นโมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติ ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy)

ในสมุดปกขาวชี้ว่า โลกวันนี้เสียสมดุลเนื่องจากจำนวนประชากรมากขึ้น ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจึงมีมากขึ้น

ขณะเดียวกันระบบการผลิตแบบเดิมทำให้เกิดการปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้เสียสมดุลระหว่างความต้องการของคนกับทรัพยากรที่มีอยู่

ระบบการผลิตในขณะนี้จึงเกินความสามารถที่โลกจะรองรับการดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน

 

เป้าหมายของบีซีจีต้องการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้องค์ความรู้มาต่อยอดฐานความเข้มแข็งภายในของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์

แนวคิดหลักคือ เศรษฐกิจชีวภาพเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่าควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลทางสิ่งแวดล้อม อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ

ทรัพยากรที่นำมาผลิตในระบบเศรษฐกิจชีวภาพต้องปลูกทดแทนหรือนำกลับมาใช้ใหม่ (renewable) ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เศรษฐกิจหมุนเวียน หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่วางแผนให้ทรัพยากรในระบบการผลิตทั้งหมดสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต

เศรษฐกิจหมุนเวียนมุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ให้นานที่สุด ส่งเสริมการใช้ซ้ำ สร้างของเสียในปริมาณต่ำที่สุด ให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียที่มาจากการผลิตและบริโภคด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการใช้งานแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่

บีซีจีจึงต่างกับระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ผลิตแล้วใช้ ใช้แล้วทิ้งขว้างสร้างของเสีย ในทางวิชาการเรียกว่า ลิเนียร์ อีโคโนมี (linear economy) หรือเศรษฐกิจที่เป็นเส้นตรง

ส่วนเศรษฐกิจสีเขียวนั้นเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเน้นให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล นำเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับสากล

 

ฟังดูค่อนข้างจะเข้าใจยากอยู่ ขอสรุปตามความเข้าใจเอาเองว่า บีซีจีหมายถึงทำอย่างไรจึงจะให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า ผู้คนมีเงินทองใช้และมีธรรมชาติสิ่งแวดล้อมสวยงาม โดยดึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในทุกๆ มิติ

ยกตัวอย่างการจัดการขยะในชุมชน นักวิจัยจัดให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน

นักวิจัยมองว่า ขยะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศยังจัดการไม่ถูกต้องและนำมาใช้ประโยชน์ในปริมาณที่ต่ำมาก

ปี 2560 ขยะทั่วประเทศมีทั้งหมด 27.40 ล้านตัน นำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งได้เพียงร้อยละ 31

ขยะที่ได้รับการกำจัดถูกต้อง เช่น ผ่านการฝังกลบถูกหลักสุขาภิบาล ใช้เตาเผามีระบบกำจัดมลพิษทางอากาศ มีจำนวนร้อยละ 43

ส่วนอีกร้อยละ 26 กำจัดไม่ถูกต้อง

ตามข้อมูลล่าสุด ประเทศไทยมีสถานที่กำจัดขยะ 2,665 แห่ง แต่มี 740 แห่งเท่านั้นที่กำจัดขยะอย่างถูกต้องทั้งในเชิงวิศวกรรมและสุขาภิบาล

โรงกำจัดขยะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการที่มีอยู่ในขณะนี้ก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูง เพราะเอาไปเผาหรือฝังกลบ แทนที่จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เป็นพลังงานขยะหรือคัดแยกขยะรีไซเคิลออกมา

อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานในเมืองไทยยังมีน้อยและขยะที่กองอยู่ในโรงขยะกว่า 2,000 แห่ง สามารถดึงไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานหรือเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการได้อีกมาก

เตาเผาขยะชุมชนที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) ทั่วประเทศมีอยู่ 7 แห่ง ผลิตเชื้อเพลิงป้อนให้โรงงานปูนซีเมนต์

ส่วนเตาเผาขยะใช้เทคโนโลยีแปลงความร้อนมาเป็นพลังงานไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพ ก็มีไม่มากนัก

อีกทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ 279.26 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้า 34 โรง ผู้ผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดถึงร้อยละ 58

 

เมื่อเทียบกับเป้าหมายของกระทรวงพลังงานตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2558-2579 พบว่าการผลิตพลังงานทั้งความร้อนและพลังงานจากขยะ ยังห่างไกลจากเป้าหมายอยู่มาก

การผลิตพลังงานจากขยะยังมีโอกาสเติบโตได้สูง แต่ปัญหาอยู่ที่การกำหนดนโยบายของภาครัฐ

ที่สำคัญคือ ประชาชนในพื้นที่ต่อต้านเพราะกลัวผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

นักวิจัยเสนอกลยุทธ์การพัฒนาตามแนวคิด “บีซีจี” ให้นายกฯ ว่า ควรใช้ประโยชน์จากขยะครบวงจร เปลี่ยนผ่านสู่สังคมขยะเป็นศูนย์

การดำเนินงานนั้นสรุปได้ 4 แนวทาง

1. ให้ศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ที่ตั้งโรงงานขยะหรือจุดฝังกลบขยะโดยใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศเพราะต้องใช้พื้นที่ใหญ่สำหรับฝังกลบและเป็นพื้นที่กันชน สามารถขนถ่ายขยะโดยมีผลกระทบกับชุมชนน้อยที่สุด

ดูกรณีศึกษาศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสานบ้านตาล อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ศูนย์กำจัดขยะแห่งนี้สามารถขนถ่ายขยะมาจากพื้นที่ห่างไกลออกไป 300 กิโลเมตรได้ และยังมีความคุ้มค่าทางการเงิน

2. เสนอให้พัฒนาเทคโนโลยีการหมักขยะจากหลุมฝังกลบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพและเร่งอัตราการย่อยสลายเพื่อนำขยะที่เหลือจากการหมักหมมมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว ทั้งการแยกขยะที่ใช้ได้นำกลับมาใช้ใหม่และผลิตเชื้อเพลิง RDF

3. เร่งส่งเสริมการใช้พลังงานความร้อนในชุมชน พัฒนาเทคนิคการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดจากก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในการขนส่ง กำหนดปริมาณการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากขยะให้เหมาะสมกับปริมาณขยะในระยะยาว

4. ยกระดับการจัดการขยะเปลี่ยนผ่านสู่สังคมขยะเป็นศูนย์ ด้วยการส่งเสริมให้แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การจัดการขยะเปียกในชุมชนและจัดการขยะที่นำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ

แนวทางดังกล่าวนี้นักวิจัยเชื่อว่า จะช่วยลดการขยายพื้นที่ฝังกลบนำหลุมขยะเก่ากลับมาใช้ใหม่ได้อีก ยังลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนเติบโตขึ้น

คราวหน้ามาว่ากันต่อกับข้อเสนอของนักวิจัยปรากฏอยู่ในสมุดแผนปฏิบัติการ “บีซีจี”