มองเมืองฮานอย อะไรที่หายไป ? อะไรที่ถูกกลืน ?

มองบ้านมองเมือง /ปริญญา ตรีน้อยใส

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีนโยบายส่งเสริมให้คณาจารย์และนิสิตมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบ้านเมืองของหมู่ประเทศต่างๆ ในประชาคมอาเซียน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงจัดให้มีโครงการฝึกปฏิบัติการออกแบบร่วมระหว่างนิสิตและนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยสถาปัตยกรรมฮานอย

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในอาจารย์ที่ได้ไปร่วมกิจกรรมเมื่อเร็วๆ นี้จึงเป็นโอกาสได้ไปมองบ้านมองเมืองฮานอยอีกครั้ง หลังจากเคยไปเยือนฮานอยมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ตอนที่เวียดนามเพิ่งเปิดประเทศ

การไปเยือนฮานอยครั้งนี้จึงตื่นเต้นไปกับสภาพบ้านเมืองที่แปรเปลี่ยนไปอย่างมาก

 

ฮานอยวันนี้ คึกคักด้วยผู้คน ทั้งคนพื้นถิ่นและคนต่างถิ่น ทั้งนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ คึกคักด้วยยานพาหนะ ทั้งการจราจรบนท้องถนนและบนท้องฟ้า  ทั้งจำนวนรถจักรยานยนต์ ที่เดิมยังเป็นแค่จักรยาน และรถยนต์นานาชนิดที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจำนวนสายการบินที่เปิดบริการ และสนามบินใหม่ที่โอ่โถงกว้างใหญ่

พื้นที่เมืองฮานอยขยายออกไปอย่างกว้างขวางริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำแดง จากเมืองเก่าที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยมคล้ายเมืองเก่าเชียงใหม่ และตั้งอยู่ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำไปทางตะวันตกเหมือนกัน เพียงแค่ทิศทางหรือแนวแกนจะเอียงมากกว่า อีกทั้งขนาดเมืองและแม่น้ำจะกว้างใหญ่กว่า

พื้นที่ว่างระหว่างเมืองเก่ากับแม่น้ำซึ่งเคยเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ เดิมเป็นหมู่บ้านช่างฝีมือต่างๆ เช่น เครื่องจักสาน เครื่องเงิน เครื่องทอง สลักหิน ทอผ้าไหม เป็นต้น และเป็นแหล่งซื้อขายผลผลิตนั้น ต่อมากลายเป็นกิจการร้านค้าและย่านการค้า มีสินค้าอื่นเพิ่ม เช่น กระจก ขนม เสื้อผ้า เครื่องเขียน จนถึงสี เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคดิจิตอล

รวมทั้งร้านค้าส่วนหนึ่งจึงเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร โรงแรมทั้งแบบบูทีก และแบบโฮสเทล

 

ร้านค้าและที่พักของเจ้าของกิจการ จะอยู่ในอาคารคล้ายห้องแถวบ้านเรา ตั้งเรียงรายสองฟากถนนสายแคบที่ตัดกันไปมามากมายหลายสาย จนเรียกขานกันติดปากว่า ถนนสามสิบหกสาย ทั้งที่ในอดีตมีจำนวนน้อยกว่า และในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า

สมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครอง มีการปรับแต่งตัวเมืองเก่าให้เป็นป้อมค่ายแบบเมืองในยุโรปสมัยก่อน จึงเรียกขานกันว่าซิตาเดล citadel มาจนถึงปัจจุบัน

พื้นที่ภายในเมืองที่เคยเป็นพระราชวัง วัง และค่ายทหารนั้น ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยใด ด้วยเปลี่ยนเป็นสถานที่ราชการต่างๆ

เช่นเดียวกับพื้นที่ต่อเนื่องทางใต้ของเมืองป้อม และย่านถนนสามสิบหกสาย รวมทั้งบริเวณรอบทะเลสาบ มีการตัดถนนกว้างปลูกต้นไม้สองข้างทาง มีสวนสาธารณะตามแบบเมืองในฝรั่งเศส รวมทั้งเป็นที่ตั้งอาคารสำคัญ อย่างโรงละคร ที่ว่าการ โรงเรียนและวิทยาลัย โรงแรมและร้านค้า ฯลฯ

อาคารส่วนใหญ่ก่ออิฐถือปูนรูปแบบฝรั่ง จึงมั่นคงแข็งแรงคงอยู่มาจนถึงวันนี้ อีกทั้งได้รับการอนุรักษ์อย่างสวยงาม

ในช่วงเวลาหลังอาณานิคมนั้น ในขณะที่ภายในเมืองป้อมแปรสภาพเป็นสถานที่ราชการ ย่านการค้าเดิมยังคงคึกคัก ส่วนย่านการค้าใหม่แบบฝรั่งซบเซาลง เมื่อบ้านเมืองคืนสู่สันติ ผู้คนมากมายหวนคืน กลับมาทำมาหากิน และอยู่อาศัยในอาคารเดิมบ้าง ต่อเติมเสริมเพิ่มบ้าง

รวมทั้งสร้างใหม่ในพื้นที่เกษตรโดยรอบ

ฮานอยที่เห็นครั้งนี้จึงประกอบด้วยย่านต่างๆ ตามความเป็นมา คือ ภายในเมืองป้อม ที่แนวกำแพงหายไป เป็นสถานที่ราชการของพรรคและรัฐ รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นสถานทูต สถาบันต่างๆ ท่ามกลางพื้นที่สีเขียว ที่มีมีต้นไม้ใหญ่ มีอายุยืนยาวมาแต่ครั้งอดีต

พื้นที่ทางทิศตะวันตก จนถึงแม่น้ำแดง กลายเป็นย่านการค้าที่มีอัตลักษณ์ เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะร้านอาหารและร้านกาแฟริมถนน ที่ร่วมสมัยกลายเป็นสตรีตฟู้ด กิจการค้าและท่องเที่ยวยังแพร่ขยายมาถึงย่านเมืองฝรั่งเศส ที่ปรับแต่งกลายเป็นย่านสินค้าแบรนด์เนม โรงแรมหรู และร้านอาหารชื่อดัง

ทั้งสองพื้นที่ล้วนเปลี่ยนแปลง มีอาคารใหม่เพิ่มเติมจนหนาแน่น และสูงขึ้น กลายเป็นย่านเมืองเก่าที่คึกคักทั้งวันทั้งคืน

ส่วนพื้นที่นาไร่เดิมที่อยู่โดยรอบ ชาวบ้านเคยปลูกเพิงพักเมื่อยี่สิบปีก่อน ตอนนี้กลายเป็นอาคารบ้านเรือนหนาแน่นเต็มพื้นที่ โดยมีอาคารขนาดใหญ่ ประเภทอาคารชุดพักอาศัย สำนักงาน ศูนย์การค้าแทรกตัวอยู่บ้าง และเชื่อมต่อกับอาคารสูงในย่านเมืองใหม่ที่อยู่โดยรอบอีกชั้นหนึ่ง

ฮานอยวันนี้จึงแตกต่างไปจากฮานอยวันวาน จนผู้เขียนเกิดอาการงุนงงอยู่นานหลายวัน กว่าจะเรียนรู้เข้าใจมาเล่าต่อได้