พรบ.ภาษีที่ดิน มาแล้ว! เศรษฐี-คนธรรมดา เสียแค่ไหน?

โดนรุมต้านหนักทำให้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …ซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติ (สนช.) มีมติรับหลักการตั้งแต่ 31 มี.ค. 2560 เจียนอยู่เจียนไปหลายครั้ง จนถูกมองว่าคงถูกเก็บเข้าลิ้นชักร้าง แต่ล่าสุด 16 พ.ย. 2561 ที่ประชุม สนช.ได้โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ร่างกฎหมายอาถรรพ์ ในวาระที่ 2 และ 3 สองวาระรวด ด้วยคะแนนเสียง 169 : 0

โดยที่ประชุม สนช.เห็นชอบกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …ซึ่งมี นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน สาระสำคัญอยู่ในมาตรา 34 ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับอัตราการจัดเก็บภาษี โดยที่ประชุมเห็นชอบกับร่างที่ กมธ.แก้ไข

โดยเนื้อหาพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 0.15% ของฐานภาษี ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย อัตราภาษีไม่เกิน 0.3% ของฐานภาษี (ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากประกอบเกษตรกรรม หรือที่อยู่อาศัย เก็บไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีไม่เกิน 1.2%

อย่างไรก็ตาม มีสมาชิก สนช.แสดงความเป็นห่วงถึงอัตราการจัดเก็บภาษีจะทำให้เป็นภาระกับเกษตรกรและประชาชน แต่นายวิสุทธิ์ชี้แจงว่า จากการสำรวจพบว่าเกษตรกรรายย่อย 99.96 เปอร์เซ็นต์ จะไม่ถูกเก็บภาษี และช่วง 3 ปีแรกจะไม่เข้าข่ายการเก็บภาษีเลย ส่วนที่เป็นเกษตรกรรายใหญ่ซึ่งทำธุรกิจด้วย จะเก็บตั้งแต่บาทแรก เช่น เกษตรกรรายใหญ่ที่มีที่ดิน 200 ไร่ เสีย 6 หมื่นบาท แต่สามารถเอาภาระไปหักค่าลดหย่อนได้

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่การจัดเก็บภาษีจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป ในอัตราดังต่อไปนี้ 1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีไม่เกิน 0.15% ของฐานภาษี 2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยไม่เกิน 0.03% 3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากข้อ 1, 2 ไม่เกิน 0.2% 4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามความแก่สภาพ ไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี

อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดบทเฉพาะกาลการจัดเก็บภาษีช่วง 2 ปีแรก ดังนี้ 1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม หากมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 75 ล้านบาท เก็บภาษี 0.01% เกิน 75 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.03% เกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท เก็บ 0.05% เกิน 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เก็บ 0.07% เกิน 1,000 ล้านบาท เก็บ 0.1%

2.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของบุคคลธรรมดาให้เป็นที่อยู่อาศัยมีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่เกิน 25 ล้านบาท จัดเก็บ 0.03% เกิน 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท เก็บ 0.05% เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไปเก็บ 0.1%

3.สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่อในทะเบียนบ้าน มูลค่าไม่เกิน 40 ล้านบาท ภาษี 0.02% เกิน 40 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 65 ล้านบาท เก็บ 0.03% เกิน 65 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 90 ล้านบาท เก็บ 0.05% เกิน 90 ล้านบาทขึ้นไปเก็บ 0.1%

4.ที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกจากอยู่อาศัยตามข้อ 2 และ 3 ไม่เกิน 50 ล้านบาท เก็บ 0.02% เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน75 ล้านบาท เก็บ 0.03% เกิน 75 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท เก็บ 0.05% เกิน 100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.1%

5.ที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรกรรมและอยู่อาศัย ไม่เกิน 50 ล้านบาท เก็บ 0.03% เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท เก็บ 0.4% เกิน 200 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เก็บ 0.5% เกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เก็บ 0.6% เกิน 5 พันล้านบาทขึ้นไปเก็บ 0.7%

6.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ควรแก่สภาพ ไม่เกิน 50 ล้านบาท เก็บ 0.3% เกิน 50 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท เก็บ 0.4% เกิน200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เก็บ 0.5% เกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน5,000 ล้านบาท เก็บ 0.6% เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไปเก็บ 0.7%

เพื่อบรรเทาภาระภาษี 3 ปีแรก ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม นอกจากนี้กรณีต้องเสียภาษีสูงกว่าภาษีโรงเรือน หรือภาษีบำรุงท้องที่ ให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีในจำนวนที่เพิ่มขึ้นในปีที่หนึ่ง 25% ของจำนวนภาษีที่เหลือ ปีที่สอง 50% และปีที่สาม 75% ของจำนวนภาษีที่เพิ่มขึ้น