อำมาตย์มหา”ลัย ทำไมชอบปกปิดบัญชีทรัพย์สิน l ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ความโปร่งใสเป็นเสาหลักของสังคมสมัยใหม่ทุกสังคม การทำให้สังคมมองเห็นและตรวจสอบได้จึงเป็นพื้นฐานที่สังคมใช้ตัดสินว่าใครและองค์กรไหน “โปร่งใส” จนเข้าข่ายว่าเชื่อถือได้เสมอ และขณะเดียวกันก็เป็นบรรทัดฐานในการสงสัยว่าใครหรือองค์กรไหนเข้าข่ายเป็นการผลัดกันทำมาหากินของพวกเดียวกัน

ยิ่งในบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกิจการสาธารณะมากเท่าไร สังคมสมัยใหม่ยิ่งมุ่งสร้างเทคโนโลยีหรือ “กลไก” เพื่อให้สายตาของสังคมส่องถึงบุคคลและองค์กรเหล่านั้นให้มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าบุคคลและองค์กรที่ดำเนินกิจการนั้นๆ จะเป็นรัฐหรือเอกชนที่ดำเนินการร่วมกันในรูปบริษัทมหาชน

ในเส้นทางสู่สังคมสมัยใหม่แบบนี้ ใครที่ปฏิเสธความโปร่งใสย่อมมีเหตุให้สังคมระแวงว่าจะโกงหรือพิทักษ์โอกาสในการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเสมอ ถึงแม้จะอ้างเรื่องที่พอฟังได้ที่สุดอย่างความกังวลว่าจะสูญเสียความเป็นส่วนตัวด้านรายได้และทรัพย์สินต่างๆ ก็ตาม

ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ข่าวกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ต้องการเปิดเผยทรัพย์สินจนลาออกเป็นหนึ่งในเรื่องที่ประชาชนวิจารณ์มากที่สุด เพราะไม่เพียงหนึ่งในผู้ก่อเหตุจะได้แก่ขาใหญ่ คสช.ผู้เขียนรัฐธรรมนูญอย่างคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ แต่ข่าวนี้ยังเกิดพร้อมกับการปล่อยข่าวว่าจะมีผู้ลาออกอีกมาก หากกฎหมายบังคับใช้จริงๆ

อันที่จริงการลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงรายงานทรัพย์สินตามระเบียบใหม่ของ ปปช.ไม่ควรเป็นข่าวอะไร เพราะในเมื่อทุกคนเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยและองค์กรอิสระในเวลาที่กฎหมายไม่ได้บังคับเรื่องนี้ การลาออกจึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยเหตุจากกฎหมายใหม่ทำให้เงื่อนไขในการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิม

อย่างไรก็ดี ถ้าหัวขบวนผู้ลาออกไม่ใช่คุณมีชัยผู้ขยันประชาสัมพันธ์ตัวเองว่าเขียนรัฐธรรมนูญ คสช.เพื่อ “ปราบโกง” จนเกิดบทบัญญัติที่ทำให้ ปปช.ออกระเบียบนี้ ความสนใจที่สังคมมีต่อข่าวการลาออกคงมีไม่มาก เพราะข่าวการลาออกของบุคคลอื่นๆ ก็ผ่านไปอย่างเงียบเชียบจนแทบไม่มีกระแสอะไรในสังคม

พูดก็พูดเถอะ ประกายไฟแห่งความไม่พอใจของสังคมเริ่มก่อตัวขึ้นหลังจากอธิการบดีสองสามคนให้ข่าวว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยจะลาออกจนอุดมศึกษาอาจเกิด “วิกฤติ” ถึงขั้นเต้าข่าวเรื่องอนุมัติปริญญาไม่ได้จนนักศึกษาจะเดือดร้อนไปด้วย ทั้งที่ความจริงนั้นการลาออกที่เกิดขึ้นจริงๆ มีนิดเดียว

จากการเปิดเผยของอาจารย์จิตเจริญ ศรขวัญ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ  การลาออกของกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่เกี่ยวอะไรกับการอนุมัติปริญญาทั้งสิ้น เพราะระเบียบทุกมหาวิทยาลัยให้กรรมการที่ยังเหลืออยู่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ต่อไป

มองในแง่นี้ สภามหาวิทยาลัยฝ่ายปกปิดบัญชีทรัพย์สินอาจเข้าข่ายปั้นน้ำเป็นตัวเรื่องอนุมัติปริญญาเพื่อสร้างกระแสให้การลาออกดูเป็น “วิกฤติ” เพราะต้องการสร้างเหตุให้ยกเลิกกฎหมายเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินด้วยซ้ำไป

ถึงจุดนี้ การใช้สิทธิลาออกของคุณมีชัยก็ยกระดับจากเรื่องของคุณมีชัยล้วนๆ เป็นการเมืองเชิงเครือข่ายที่ใช้ความเดือดร้อนของนักศึกษาทำให้การลาออกเป็นปัญหาสาธารณะ จากนั้นอธิการบดีที่คนเหล่านี้แต่งตั้งก็ใช้ความตื่นตระหนกนี้กดดันให้รัฐบาลเลิกระเบียบ ป.ป.ช.เรื่องการเปิดเผยทรัพย์สินของคนกลุ่มนี้ไปเลย

หลังข่าวทั้งหมดนี้ถูกปั่นขึ้นเพียงสองวัน รองนายกวิษณุผู้เคยทำงานร่วมกับคุณมีชัยก็ออกมาขานรับความเห็นของคนกลุ่มนี้ว่าระเบียบนี้หยุมหยิมน่ารำคาญ มิหนำซ้ำยังพูดจาส่อเป็นนัยว่าทางออกของเรื่องนี้คือ ปปช.ต้องไปหาทางแก้ให้จงได้ ถึงแม้จะยืนยันว่ารัฐบาลทำอะไรเรื่องนี้ไม่ได้ก็ตาม

น่าสังเกตว่าขณะที่คุณมีชัยและคุณวิษณุเป็นนักการเมืองที่เจนจัดในการเขียนและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ความพยายามล้มระเบียบ ป.ป.ช.กลับเกิดขึ้นโดยไม่เคยมีการบอกเลยว่าระเบียบนี้ผิดกฎหมายอย่างไร?

อาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฏีกาและกรรมการ ป.ป.ช.อธิบายเรื่องนี้ชัดเจนว่า ป.ป.ช.ทำถูกที่ออกระเบียบนี้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนกรรมการสภามหาวิทยาลัยและองค์กรอิสระคือ “ผู้บริหารระดับสูง” ที่ควรเปิดเผยทรัพย์สินจริงๆ จนแทบไม่มีเหตุผลทางกฎหมายให้เลิกเรื่องนี้เลย

คุณมีชัยและคนแบบคุณมีชัยลาออกเพราะไม่อยากเปิดเผยทรัพย์สินเป็นเรื่องส่วนตัว แต่การใช้เครือข่ายการเมืองผลักดันให้เลิกระเบียบซึ่งชอบด้วยกฎหมายทำให้เกิดปัญหาว่าอะไรคือ “ประโยชน์สาธารณะ” ระหว่างการเปิดทรัพย์สินกับการปกปิดแบบที่คุณมีชัยทำมาตลอดชีวิตนายกสภา ๘ แห่ง ใน ๒๓ ปี?

อนึ่ง การพูดถึงคุณมีชัยในที่นี้เป็นสัญลักษณ์ของคนแบบคุณมีชัยที่วนเวียนเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรอีกหลายคน เพียงแต่คุณมีชัยเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดของอำมาตย์มหาวิทยาลัยที่เดินเส้นทางสายนี้เท่านั้นเอง

สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรระดับอุดมศึกษาซึ่งคนไม่ค่อยรู้ว่าใครเป็นใครและทำอะไร และความไม่รู้กลายเป็นเหตุให้คนกลุ่มนี้เต้าประเด็นว่าตัวเองอำนาจน้อยจนไม่ต้องเปิดเผยทรัพย์สินตามที่ ป.ป.ช.กำหนด จากนั้นก็อ้างต่อว่าสภาฯ ไม่ได้เงินเดือนจนไม่ควรถูกบังคับให้ทำเรื่องยุ่งยากเสียเวลา

อย่างไรก็ดี แก่นของกฎหมายเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินคือวิธีป้องกันโกงโดยทำให้สังคมเห็นว่าผู้บริหารคนไหนมีทรัพย์สินอะไร กรรมการสภาจะรับเงินเดือนมหาวิทยาลัยหรือไม่จึงไม่ใช่สารัตถะของเรื่องที่พูดกัน

ข้อโต้แย้งว่าสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจน้อยจนไม่ควรต้องแสดงทรัพย์สินนั้นพอฟังได้ แต่คำว่าอำนาจมากหรือน้อยเป็นเรื่อง “สัมพัทธ์” ที่ต้องถามว่าเทียบกับอะไรเสมอ เพราะขณะที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยฝ่ายนี้บอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจอะไร คนในมหาวิทยาลัยที่รู้สึกว่าสภามีอำนาจล้นฟ้าก็มีมากเหลือเกิน

สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจเลือกน้ำยาขัดส้วมสู้นักการไม่ได้แน่ๆ แต่สภามีหน้าที่กำหนดนโยบาย, อนุมัติงบประมาณ, เลือกอธิการบดี, แต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ถึงศาสตราจารย์ ฯลฯ โดยบางมหาวิทยาลัยอาจมีอำนาจถึงการอนุมัติให้เอกชนสัมปทานธุรกิจในสถานศึกษาในนามของการจัดหารายได้ให้มหาวิทยาลัย

ด้วยหน้าที่อย่างเป็นทางการเหล่านี้ สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจมากกว่าบุคลากรทั้งหมดในมหาวิทยาลัยแน่ๆ ต่อให้จะไม่มีหน้าที่ทำงานบริหารหรือจัดซื้อจัดจ้างอะไรเลยก็ตาม

เฉพาะเรื่องอนุมัติงบประมาณ มหาวิทยาลัยแถวหน้าอย่างมหิดล-จุฬา-ขอนแก่น-ธรรมศาสตร์ มีงบปี 2562 ระหว่าง 4,646 -13,162 ล้านบาท คนที่มีส่วนอนุมัติเงินขนาดนี้จึงควรแสดงบัญชีทรัพย์สินยิ่งกว่าปกปิด เพราะต่อให้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้เงินตรงๆ อำนาจเหนือเงินก็เป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมมิชอบได้อยู่ดี

สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจอนุมัติโครงการก่อสร้างวงเงินเกิน 200 ล้านบาทขึ้นไป รวมทั้งมีอำนาจอนุมัติงบจัดซื้อจัดจ้างวงเงินเกิน 50 ล้านบาท โดยแต่ละมหาวิทยาลัยมีโครงการลักษณะนี้นับสิบนับร้อยโครงการต่อปี สภามหาวิทยาลัยจึงมีอำนาจเกี่ยวพันกับเรื่องเงินทองมหาศาล ไม่ต้องพูดถึงการอนุมัติให้กู้ยืมเงิน, ถือหุ้น หรือร่วมทุนครบวงจร

จะเปิดพื้นที่มหาวิทยาลัยให้ขายอาหารหรือร้านกาแฟหรือไม่ และจะให้บริษัทเจ้าสัวผูกขาดขายข้าวขายน้ำในมหาวิทยาลัยหรือเปล่า เผลอๆ เป็นอำนาจสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งด้วยซ้ำไป

อำนาจตั้งอธิการบดีคือหนึ่งในเหตุที่สภามหาวิทยาลัยควรเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินกว่าที่ผ่านมา เพราะสภาเป็นผู้วินิจฉัยว่าใครจะได้ตำแหน่งที่เงินเดือนมหาศาลซึ่งมีโอกาสเอาสถานะนี้ไปต่อยอดสู่ตำแหน่งได้อีก ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติหรือกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็ตาม

เฉพาะอธิการบดีที่เผด็จการทหารตั้งเป็น สนช. จนแจ้งทรัพย์สินในปี 2557 อธิการบดีจุฬา/ ธรรมศาสตร์/เชียงใหม่ มีรายได้จากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งปีละ 2.5-4.4 ล้านบาท ส่วน อธิการบดีรามฯ มีรายได้ทุกทาง 11.6 ล้านบาทและทุกคนได้เงินเดือนจากตำแหน่งที่รัฐบาลทหารตั้งอีกปีละ 1.4 ล้านบาท หรือเท่ากับมีรายได้ที่เปิดเผยราวๆ 3.9 ล้าน ถึง 12 ล้านบาทต่อปี

สภามหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจบริหารหรือจัดซื้อจัดจ้าง แต่สภาคุมเงินและเลือกคนให้มีตำแหน่งที่มีโอกาสโกยเงินต่อปีสูงกว่าอาจารย์ธรรมดาๆ 6-10 เท่า จนแทบไม่มีเหตุอะไรให้สังคมไว้วางใจว่าจะไม่มีใครใช้สถานะเหล่านี้ไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่วางอยู่บนการเบียดเบียนทรัพยากรส่วนรวมของสังคม

พูดแบบไม่ต้องเกรงใจกัน สภามหาวิทยาลัยทุกวันนี้เป็นสมบัติผลัดกันชมระหว่างอธิการบดีกับกรรมการสภามานานแล้ว เพราะสภาแต่งตั้งอธิการบดีซึ่งต่อมาจะเป็นประธานเลือกบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ส่วนกรรมการสภาจำนวนหนึ่งได้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาอธิการบดีตั้งแต่รองอธิการถึงคณบดี

ถ้าอ้างว่าสภามหาวิทยาลัยคือกลไกกำกับอธิการบดี คนสองส่วนนี้ก็สัมพันธ์กันคล้าย คสช./สนช.จนแทบไม่มีทางที่ใครจะตรวจสอบใครทั้งนั้น ยกเว้นกรรมการซึ่งมีที่มาที่อิสระจากฝ่ายบริหารอย่างสภาอาจารย์หรือผู้ดำรงตำแหน่งวิชาการอื่นๆ แต่คนสองกลุ่มนี้ก็ไม่เคยเป็นเสียงข้างมากในสภามหาวิทยาลัยใดๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ สภามหาวิทยาลัยในสถาบันการศึกษาหลายแห่งจึงมีองค์ประกอบเป็น “ขาใหญ่” ซึ่งได้แก่ผู้บริหารที่วนเวียนจากคณบดี-รองอธิการบดี-อดีตอธิการบดี ฯลฯ ซึ่งถักทอเป็น “เครือข่ายชนชั้นนำ” ที่สืบทอดตำแหน่งในมหาวิทยาลัยราวมรดกประจำตระกูลไม่รู้จบ ต่อให้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม

ใครนึกภาพนี้ไม่ออกก็ลองดูชื่ออธิการบดีและสภามหาวิทยาลัยที่ชอบอ้างเป็นแถวหน้าด้านประชาธิปไตย เพราะเป็นเวลาสามสิบกว่าปีแล้วที่อธิการบดีสถาบันนั้นมาจากรองอธิการจนตำแหน่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการสืบทอดอำนาจ ส่วนผู้ที่พ้นวาระก็จะเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยเพื่อเลือกบุคคลเป็นอธิการบดีอีกที

ภายใต้เงื่อนไขที่สภามหาวิทยาลัยหลายแห่งเป็นที่รวมของ “ขาใหญ่” ที่หมุนเวียนสลับเปลี่ยนจนเกิดกรรมการกลุ่ม “ขาประจำ” การบังคับให้สภาแสดงบัญชีทรัพย์สินจึงเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมควบคุมไม่ให้คนเหล่านี้มีโอกาสใช้ตำแหน่งที่ตัวเองและเครือข่ายยึดกุมไปในทางมิชอบได้ง่ายอย่างที่ผ่านมา

ตราบใดที่อธิการบดีและสภาเป็นสมบัติผลัดกันชมของ “อำมาตย์มหาวิทยาลัย” ตราบนั้นการบังคับให้คนเหล่านี้เปิดเผยทรัพย์สินยิ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น

หนึ่งในข้ออ้างของฝ่ายต้านการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินคือมหาวิทยาลัยเสียโอกาสได้กรรมการภาคเอกชน แต่ข้อเท็จจริงที่ทุกคนรู้กันก็คือภาคเอกชนหมายถึงภาคธุรกิจที่ “สนับสนุน” มหาวิทยาลัยด้านต่างๆ ซึ่งเมื่อเป็นสภามหาวิทยาลัยจริงๆ ก็มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการของมหาวิทยาลัยน้อยมาก

ไม่ว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยสายพ่อค้าจะลาออกเพราะไม่อยากเปิดบัญชีทรัพย์สินจริงหรือไม่ ประเทศนี้มีนักธุรกิจหรือศิษย์เก่าที่พร้อมช่วยมหาวิทยาลัยโดยแสดงความโปร่งใสด้านทรัพย์สินแน่ๆ เช่นเดียวกับการใช้โอกาสนี้ลดกรรมการสายสปอนเซอร์เป็นกรรมการสายอาจารย์หรือผู้ทรงคุณวุฒิด้านอื่นที่แท้จริง

อันที่จริงมหาวิทยาลัยทั้งในแง่กฎหมายและในแง่อุดมคตินั้นวางอยู่บนการมีส่วนร่วมของสังคม แต่เท่าที่ผ่านมานั้น “สังคม” มีโอกาสกำกับมหาวิทยาลัยน้อยมาก มหาวิทยาลัยที่คำนึงถึงสังคมจริงๆ ยิ่งกว่าจัดงานถ่ายรูปจึงควรใช้การลาออกของกรรมการภาคธุรกิจหรือ “อำมาตย์ฯ” ตั้งกรรมการจากสังคมเข้ามาทดแทน

ตรงข้ามกับวาทกรรมว่าการเปิดเผยทรัพย์สินจะทำให้มหาวิทยาลัยเสียคนดีๆ สภามหาวิทยาลัยเป็นที่รวมของคนหน้าเก่าซึ่งผูกขาดตำแหน่งจนวิ่งรอกรับตำแหน่งทั่วประเทศเยอะมาก การแจ้งทรัพย์สินจะเป็นมาตรวัดว่าใครที่ทำเพื่อการศึกษาจริงๆ กับใครซึ่งเลือกจะโยนทิ้งงานนี้เพื่อปกปิดทรัพย์สินอย่างที่ผ่านมา

ไม่มีความสูญเสียอะไรเกิดขึ้นแก่มหาวิทยาลัยที่เดินหน้าสู่ความโปร่งใส จะมีก็แต่โอกาสในการทำให้สภามหาวิทยาลัยเป็นของคนโปร่งใสจากนักวิชาการ, นักธุรกิจ และตัวแทนคนในสังคมกลุ่มต่างๆ ที่พร้อมจะทำงานรอุดมศึกษาแทนที่คนหน้าเก่าซึ่งมองสภาเป็นแหล่งสืบทอดอำนาจหรือเสริมเกียรติยศอย่างปัจจุบัน