ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 พฤศจิกายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | คลุกวงใน |
ผู้เขียน | พิศณุ นิลกลัด |
เผยแพร่ |
วงการบาสเกตบอล NBA และอเมริกันฟุตบอล NFL มีชื่อเรื่องการบริจาคเงินเข้าการกุศลทุกปีไม่น้อยไปกว่าวงการกีฬาอื่นๆ
แต่ที่มาของเงินบริจาคมาจากเงินค่าปรับที่นักบาสเกตบอลและนักอเมริกันฟุตบอลต้องจ่ายจากการทำผิดกฎการแข่งขัน!
อเมริกันฟุตบอล NFL แต่ละฤดูกาลจะได้เงินค่าปรับจากนักอเมริกันฟุตบอล ประมาณ 4 ล้านดอลลาร์ (140 ล้านบาท) ซึ่งเงินจำนวนนี้ทางลีกจะนำไปบริจาคการกุศลตามที่ลีกเห็นสมควร
เงินนี้ได้มาจากค่าปรับที่นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลทำผิดกฎ เช่น พุ่งชาร์จคู่ต่อสู้รุนแรงเกินเหตุ หรือแสดงอาการดีใจเกินเลยหลังจากทำแต้มเพื่อยั่วโมโหทีมคู่แข่ง
โทษปรับสูงสุดคือการจับต้องตัวกรรมการ
ความผิดครั้งแรกจะถูกปรับ 30,387 ดอลลาร์ (1 ล้านบาท)
หากทำผิดซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2 ค่าปรับจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เป็นที่ 60,775 ดอลลาร์ (2 ล้านบาท)
โทษปรับหากแสดงอาการดีใจเลยหลังจากทำแต้มได้ เพื่อยั่วโมโหทีมคู่แข่ง
ผิดครั้งแรกโดนปรับ 9,115 ดอลลาร์ (316,000 บาท)
หากผิดซ้ำอีกครั้งที่สองถูกปรับ 12,154 ดอลลาร์ (421,000 บาท)
ส่วน NBA แต่ละฤดูกาล สามารถรวบรวมเงินบริจาคจากค่าปรับที่นักบาสเกตบอลทำผิดหรือเจ้าของทีมทำผิดกฎ เฉลี่ยแล้ว 7 ล้านดอลลาร์ (242 ล้านบาท) ต่อปี
NBA มีกฎหยุมหยิมมากในการปรับเงินนักบาสเกตบอลที่ทำผิดกฎ โดยนักบาสเกตบอลไม่จำเป็นต้องทำผิดก่อเหตุทะเลาะวิวาท หรือทำฟาวล์แรงๆ ถึงจะโดนปรับเงิน เพียงแค่พวกเขาพูดจาไม่สุภาพ แสดงกิริยาฮึดฮัดไม่พอใจการตัดสินของกรรมการก็โดนปรับเงินแล้ว
แม้จะไม่ได้ด่าเข้าหูกรรมการ แต่ให้สัมภาษณ์ตำหนิกรรมการกับนักข่าว ก็โดนปรับ 25,000 ดอลลาร์ (866,000 บาท) ซึ่งเรื่องนี้เป็นความผิดที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด
หรืออารมณ์เสีย เตะเก้าอี้นั่งข้างคอร์ต ถูกปรับ 10,000 ดอลลาร์ (346,000 บาท)
นอกจากนี้ NBA ยังมีกฎเข้มห้ามใช้โซเชียลมีเดียขณะแข่งขัน ใครฝ่าฝืนถูกปรับเงิน 7,500 ดอลลาร์ (260,000 บาท)
แม้ไม่ได้เห็นจะจะกับตาว่านักบาสเกตบอลมีโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือ และเล่นโซเชียลมีเดีย แต่หากสืบแล้วพบว่าเวลาที่โพสต์ข้อความตรงกับเวลาแข่งขัน ก็โดนปรับเงินเช่นกัน
ตั้งแต่ปี 2009 NBA มีกฎห้ามนักบาสเกตบอลเขียนข้อความทางทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดีย
ตลอดจนห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะลงแข่งขัน
เพื่อไม่ให้หมกมุ่นกับโทรศัพท์มือถือ เขียนข้อความทางทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ก
นอกจากนี้ หลายคนมองว่า กฎนี้อาจออกมาเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้นักบาสเกตบอลติดต่อกับผู้มีอิทธิพลหรือเจ้ามือการพนันเพื่อให้ล้มเกมการแข่งขัน
กฎที่ว่าห้ามตั้งแต่ 45 นาทีก่อนเริ่มการแข่งขัน ช่วงพักครึ่งก็ห้ามใช้ และหลังจากเกมการแข่งสิ้นสุดแล้วก็ห้ามนักบาสเกตบอลใช้โทรศัพท์มือถือ หรือเล่นโซเชียลมีเดียจนกว่าจะตอบคำถามผู้สื่อข่าวเสร็จเรียบร้อย
ผู้บริหารของทีมบาสเกตบอลส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกฎห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะแข่งขัน เพราะถือเป็นเวลาทำงานไม่ควรเอาเวลาไปคุยโทรศัพท์มือถือ เล่นเฟซบุ๊ก
การนำเงินค่าปรับมาบริจาคเพื่อการกุศล นับเป็นความคิดที่ดีของ NBA และ NFL ที่ทุกฝ่ายมีแต่ได้ ตัวนักกีฬาเองก็ได้รับอานิสงส์ผลบุญแม้เจ้าตัวไม่ประสงค์จะบริจาคก็ตาม