บทวิเคราะห์ : จาก “จินนี่” ถึง “โพล 290 เสียง” แรงเสียดทาน “การเมือง” บนเส้นทางการชิงอำนาจ ของ “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์”

การที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยควงลูกสาวสุดที่รัก “จินนี่” ยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ ไปลงพื้นที่ห้างแพลทินั่ม ประตูน้ำ

ได้ก่อความสนใจในหมู่ชาวเน็ตและสังคมไทยขึ้นมาทันทีทันใด

นำไปสู่แฮชแท็กสุดฮิต #พรรคเพื่อเธอ

มีเพจ “นักการเมืองน่ารักบอกต่อด้วย” นำภาพของจินนี่ในอิริยาบถต่างๆ ไปเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

ขนาด “โอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร ยังได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวแซวหญิงหน่อย โดยระบุว่า “หลงเรียกเจ๊หน่อยมานานแท้ จะกลับตัวมาเรียกแม่ก็วันนี้ล่ะ” ฮิ้วววว…!!

จินนี่จึงเหมือนถูกสปอตไลต์ฉายจับ

ประสบความสำเร็จในแง่การตลาดการเมืองอย่างสูง

 

แต่กระนั้นก็ตาม อย่างที่ทราบ โลกโซเชียลมีเดียไม่ได้มีแต่ด้านบวก หากแต่มีด้านลบ

เมื่อมี “รายรับ” ก็ต้องมี “รายจ่าย” ด้วย

เพราะไม่ใช่มีเพียงเสียงชื่นชม

หากแต่ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “แม่” นำลูกมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

และ “ขายความน่าสนใจ” ด้วยการแต่งตัวไม่เหมาะสม ด้วยการแต่งชุด “สายเดี่ยว” ในที่สาธารณะ

นำไปสู่การถูก “วิพากษ์วิจารณ์” อย่างกว้างขวางเช่นกัน

เป็น “ลบ” ใน “บวก” อย่างไม่ตั้งใจ

ถึงขนาด “วัน อยู่บำรุง” ที่ถูกมองยืนอยู่คนละข้างกับคุณหญิงสุดารัตน์

ออกมาสร้างคะแนนโดยไลฟ์สดผ่านเฟชบุ๊ก “วัน อยู่บำรุง” ว่า

“ไม่ได้รู้จักลูกสาวคุณหญิงสุดารัตน์เป็นการส่วนตัว น้องก็ใส่เสื้อสายเดี่ยวตามประสาเด็กวัยรุ่น ใสๆ มีเพจบางเพจไปโจมตี แต่งตัวไม่เหมาะสม ปัดโถ่ น้องเขาเป็นเด็ก น้องเขาไม่ได้ลงเลือกตั้ง เขาไปเดินเที่ยวกับคุณแม่ จะไปว่าเขาทำไม เด็กไม่รู้เรื่องอะไรด้วย คนเรามีแต่อคติ อย่าเอาเด็กมาวุ่นวาย น้องเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย น้องเขาตามคุณแม่ไปพบปะประชาชน จะให้น้องเขาใส่สูทผูกไท้เดินตามรึยังไง ร้อนจะตาย คนจะเล่นการเมืองก็ดูที่คนเล่นการเมือง คนที่ไม่เกี่ยวข้องอย่าไปเหมา ผมเคยโดนมาก่อนตั้งแต่ตอนผมเด็กๆ ทะเลาะกับพ่อผม ทำอะไรพ่อไม่ได้ ก็มาลงที่ผม ผมเป็นเหยื่อการเมืองมาก่อน น้องเป็นผู้หญิง รุ่นหลานแล้วด้วย อย่าเอาน้องต้องมายุ่งเลย สงสารเด็ก”

แม้จะเป็นการปกป้อง “จินนี่”

แต่คุณหญิงสุดารัตน์ ในฐานะ “แม่” อ่านแล้วก็คงสะอึกอยู่ตามสมควร

 

ว่าที่จริง คุณหญิงสุดารัตน์ ในฐานะ “นักการเมืองหญิง” ทราบดีว่ากรณีนี้เป็นดั่งดาบสองคม

เป็นได้ทั้งบวกและลบ

ยิ่งเมื่อคุณหญิงสุดารัตน์กำลังถูกสปอตไลต์ฉายจับ ไม่ใช่เพียงประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

หากแต่ยังเป็น 1 ใน 3 ตัวเต็งที่จะถูกเสนอขึ้นชิงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ด้วย

เส้นทางทางการเมืองจึงมากด้วยแรงเสียดทาน

ทั้งในพรรคและนอกพรรค

ในพรรค แม้เธอจะโดดเด่นกับกระแสข่าวว่าเป็นบุคคลที่คุณหญิงพจมาณ ดามาพงศ์ ให้การสนับสนุน เพื่อก้าวไปถึงจุดสูงสุดทางการเมือง

แต่ก็นั่นแหละ แม้จะมีความ “สัมพันธ์พิเศษ” ดังกล่าว ก็มีกระแสข่าวคู่ขนานมาตลอดว่าคุณหญิงสุดารัตน์ไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่มภายในพรรค

มีความพยายามขัดขวางไม่ให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ

แต่ตำแหน่ง “ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย” ที่ถือว่าใหญ่และเป็นหัวใจของพรรคก็ตกอยู่ในกำมือเธอ

นี่ถือเป็น “แต้มต่อ” ที่ยากจะมีใครได้ ยิ่งเป็นนัการเมืองหญิงด้วยแล้ว ยิ่งยาก

แต่เธอก็ฟันฝ่ามาได้

และกำลังโชว์ความพร้อมที่จะเป็นผู้นำ ด้วยการไปเปิดตัวที่นครราชสีมา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพ่อที่ชักนำเธอมาสู่การเมือง จากนั้นไปเปิดตัวที่เขตสายไหม อันเป็นสมรภูมิแรกที่เข้าสู่สนามเลือกตั้ง

จนกลายเป็น “เจ้าแม่เมืองกรุง”

แม้จะพลาดหวังการชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาครั้งหนึ่ง

แต่ก็ไม่ได้ทำให้ภาพนักการเมืองชั้นนำในเมืองหลวงเสื่อมลง

ชื่อของคุณหญิงสุดารัตน์ ยังเป็นตัวละครสำคัญในพรรค

ซึ่งจะถือว่า “โชคดี” หรือโชคเข้าข้างคุณหญิงสุดารัตน์ก็ได้ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 บีบบังคับให้พรรคเพื่อไทยต้องพลิกไปเล่นกลยุทธ์ “แตกแบงก์พัน” ด้วยการกระจายเป็นพรรคแนวร่วมต่างๆ ทั้งเพื่อธรรม เพื่อชาติ และไทยรักษาชาติ

ทำให้ “คู่ขัดแย้ง” ภายในพรรค ต้องแยกออกไปยังพรรคเครือข่าย

โดยเฉพาะพรรคไทยรักษาชาติ ที่เน้นไปที่การช่วงชิง “ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ” เป็นหลัก

ทำให้ “บิ๊กเนม” ต้องพากันย้ายออกไปสังกัด แทนที่จะอยู่ในพรรคเพื่อไทยเพราะถูกขับเน้นไปยัง ส.ส.เขต

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ “คู่แข่ง” ภายในเพื่อไทยหายไปหลายคน

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ยังคงตรึงตัวเองไว้ในเก้าอี้ที่สำคัญคือ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย

และที่สำคัญคือ กำลังลุ้นว่าจะอยู่ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคในลำดับที่เท่าใด

ซึ่งก็คงเป็นประเด็นที่จะขับเคี่ยวกันต่อไป

โดยเฉพาะเมื่อปรากฏชื่อนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ อาจจะเป็นหนึ่งในคู่แข่ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น

การขับเคี่ยวภายในพรรคก็คงจะต้องเข้มข้นต่อไป

และต้องดูสัญญาณจากเจ้าของพรรคตัวจริง ว่าจะตัดสินใจเลือกใคร

ซึ่งระหว่างที่รอและลุ้นนี้ แน่นอน ต่างฝ่ายต่างต้องโชว์บทบาทเพื่อให้ตนเองนำกระแสโดยไม่ตก

แต่ก็ไม่ง่าย โดยเฉพาะคุณหญิงสุดารัตน์นั้น แม้จะไร้คู่แข่งสำคัญเพราะต้องย้ายไปอยู่พรรคการเมืองเครือข่าย

แต่ก่อนที่คนเหล่านี้จะไป ดูเหมือนจะมีกระแสข่าวสอดคล้องกันว่าเหตุที่ต้องไปอยู่พรรคแนวร่วม

เพราะไม่อาจรับการทำงานหรือการนำของคุณหญิงสุดารัตน์ได้

เหมือนทิ้งทุ่นระเบิดเอาไว้ให้ถอดสลัก และสะท้อนว่าลึกๆ แล้ว พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้มีเอกภาพสักเท่าไหร่

 

ในท่ามกลางกระแสเป็นลบดังกล่าว

จู่ๆ ก็มีกระแสข่าวถูกปล่อยออกมาจากพรรคเพื่อไทย ทำนองว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้จ้างสำนักโพลจากประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อทำการสำรวจเสียงประชาชนต่อพรรคเพื่อไทยและเครือข่าย อาทิ พรรคไทยรักษาชาติ, เพื่อชาติ, เพื่อธรรม, ประชาชาติ และเสรีรวมไทย ปรากฏว่ารวมกันแล้วได้สัดส่วนคะแนนเสียงสูงถึง 58%

หรือคิดเป็นจำนวน ส.ส. 290 คน

โดยสำนักโพลดังกล่าวเคยทำผลสำรวจให้กับนายทักษิณมาแล้วเมื่อการเลือกตั้งปี 2551 และ 2554 โดยมีความแม่นยำสูง บวก-ลบไม่เกิน 10 ที่นั่ง

ทั้งนี้ หากผลโพลดังกล่าวเป็นจริง เท่ากับพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายจะต้องรวบรวมเสียงจากพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางอีกไม่กี่พรรค ก็จะสามารถโหวตนายกรัฐมนตรี ที่ใช้เสียง 376 เสียงได้ทันทีตั้งแต่รอบแรก โดยไม่เข้าเงื่อนไขนายกรัฐมนตรีคนนอก

รายงานข่าวยังแจ้งอีกว่า ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้ถูกนับรวมใน 58% ที่ออกมา เนื่องจากคะแนนนิยมของพรรคอนาคตใหม่จากโพลของนายทักษิณ อยู่ที่เพียง 1% หรือคำนวณเป็นจำนวน ส.ส. เพียง 5 ที่นั่งเท่านั้น

 

การปล่อยตัวเลข 290 ที่เครือข่ายพรรคตระกูล “เพื่อ” จะได้นี้

ถูกมองเป็นแผน “การตลาด” และเป็นการช่วงชิงการรุกทางการเมืองแทบจะทันที

คือ รุกทั้งภายในพรรคตระกูล “เพื่อ” ที่จะกันไม่ให้อดีต ส.ส.ถูกดูดไปอยู่อีกฟากหนึ่ง

รุกทั้งต่อพรรคขนาดกลาง ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ที่จะไม่เอนไปทางพรรคพลังประชารัฐสุดตัว

หากแต่ต้องรอคอยคำตอบสุดท้ายจากผลการเลือกตั้งในปี 2562 เสียก่อน

ถือเป็นการตัดกระแส “ความนิยม” ที่จะมีต่อฟากรัฐบาลลง และตัดไม้ข่มนามพรรคพลังประชารัฐไปในตัว

เอา “การตลาด” สู้กับ “การตลาด”

อย่างผู้เชี่ยวในเกม

 

แต่น่าสนใจยิ่ง ทันทีที่ข่าวนี้แพร่ออกไป น่าสังเกตว่า กระแสหักล้างที่มาก่อนใครอื่น

ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายประชารัฐ หากแต่กลับกลายเป็น “แหล่งข่าวระดับแกนนำพรรคเพื่อไทย”

ที่ระบุการนำเสนอข่าวเรื่องผลโพลโดยระบุเป็นโพลของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า

“เรื่องนี้นายศิธา ทิวารี คนสนิทของคุณหญิงสุดารัตน์ พยายามที่จะเปิดเผยโพลดังกล่าวกลางวงประชุมหนึ่ง ซึ่งในวงประชุมมีคนพยายามแย้งแล้วว่าอย่าเอาโพลนี้ออกมาเปิดเผยเลย ควรเก็บไว้ใช้กันภายใน และอีกอย่างข้อเท็จจริงในโพลนั้นผิดจากที่ประเมินเอาไว้มาก เพราะการประเมินว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะได้เพียง 5 เสียง พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) จะได้เพียง 5 เสียงนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้น้อยขนาดนั้น อย่างพรรค อนค. หรือแม้แต่พรรค พปชร.เอง หากได้เสียงสมมุติว่า 1 ล้านเสียง เขาก็ได้ ส.ส.ประมาณ 10 ที่นั่งแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเพราะด้วยเหตุใดสุดท้ายก็มีการเปิดเผยโพลดังกล่าวออกมา ซึ่งไม่รู้ว่าโพลดังกล่าวเป็นโพลนายทักษิณจริงหรือไม่ด้วย เพราะยังไม่มีใครคอนเฟิร์มหรือยืนยันอะไรจริงๆ จังๆ เลย”

เป็นการลดน้ำหนักข่าวที่ออกมาจากฝ่ายเดียวกัน

และเกี่ยวโยงไปถึงคนสนิทของคุณหญิงสุดารัตน์ด้วย

สะท้อนถึงรอยร้าวที่ฝังลึกในพรรค

ส่วนนอกพรรคนั้น เมื่อผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถึงผลโพลสำรวจของพรรคเพื่อไทยที่ระบุว่าจะได้ที่นั่ง ส.ส.กลับมาถึงกว่า 290 ที่นั่ง

“ก็เชื่อไปสิ” คือคำตอบของ พล.อ.ประวิตร

แม้จะสั้น แต่ก็สะท้อนอะไรอยู่ในนั้นไม่น้อย

แน่นอน คงไม่ใช่ภาพสวยๆ ใสๆ อย่างที่คุณหญิงสุดารัตน์โชว์ตัวพร้อมจินนี่ลูกสาวอย่างแน่นอน