เปิดอกคุย “คีย์แมน” ยังบลัด ปชป. อดีตผู้ช่วย ส.ส.สหรัฐฯ ขัดใจคนที่บ้าน ลุยการเมือง พร้อมแผนพลิกโฉมพรรค

“คุณแม่ผมเป็นผู้ที่ค้านผมอย่างหนักที่สุดในบ้าน ไม่อยากให้ผมเข้าสู่สนามการเมืองอีกคน ซึ่งจริงๆ แม่ค้านตั้งแต่พ่อแล้ว ไม่อยากให้พ่อเล่นการเมืองตั้งแต่แรก ยิ่งพ่อไปเจอเรื่องราวที่เขมร (อย่างที่หลายคนทราบกัน) เป็นเรื่องหนักมากของครอบครัว ก็โวยวาย ไม่อยากให้มาการเมืองอีกคน เพราะครอบครัวมีแต่ความทุกข์และกังวล ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตกต่ำของชีวิตครอบครัวเหมือนกัน พอแม่รู้ว่าเราอยากที่จะเข้าสู่สนามอีกคนจึงเป็นเรื่องที่ต้องคุยและทำความเข้าใจกันนานพอสมควร ตอนแรกแทบจะไม่ยอม แต่ก็ทำใจเพราะเขารู้ว่าผมสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก”

นั่นคือเสียงของพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ หนึ่งในแกนหลักสำคัญของทีมรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ เล่าให้ฟังถึงเรื่องที่ครอบครัวไม่ได้สนับสนุนให้เข้ามาเล่นการเมือง เพราะเคยมีกรณีของคุณพ่อ พนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศที่ถูกจับและจำคุกที่เขมรกรณีเหตุพิพาทเขตแดน ที่เป็นเรื่องยากที่จะลบเลือนได้

: จุดเริ่มต้นสนใจการเมือง มาจากพ่อ “พนิช วิกิตเศรษฐ์”?

มาจากการเรียน พอไปร่ำเรียนที่อังกฤษใช้ชีวิตคนเดียวตั้งแต่อายุ 12 จบมาก็เขียนใบสมัครทำงานตำแหน่งผู้ช่วย ส.ส. Mike Honda เขต 17 California ที่สหรัฐ เมื่อปี 2556-2557 เป็นงานที่ชอบมาก มีโอกาสได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง เราก็ไปเองไม่ได้รู้จักใคร ซึ่งตั้งใจและวางแผนไว้แต่แรกว่าจะกลับมาทำงานที่เมืองไทย โดยไม่เคยคิดจะทำงานเอกชนด้วยซ้ำ

ซึ่งช่วงที่คุณพ่อทำงานการเมืองหนักเป็นช่วงที่ผมไม่ได้กลับมาเมืองไทยเลย ทั้งตอนรองผู้ว่าฯ กทม. หรือเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ได้แวะมาช่วยคุณพ่อหาเสียงเลือกตั้งซ่อมปี 2553 รวมถึงเลือกตั้งใหญ่ปี 2554 คุณพ่อไม่ได้มีส่วนกระตุ้นให้อยากมาทำเท่ากับการเรียน และมุมมองของผมและพ่อค่อนข้างต่างกันตั้งแต่เริ่ม

คุณพ่อผมเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก่อนแล้วค่อยผันตัวมาเป็นนักการเมือง

แต่ผมมองว่าการเมืองเป็นอาชีพที่ควรจะเริ่มตั้งแต่เด็ก ต้องสั่งสมประสบการณ์แต่แรก ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องของการเข้ามาเร็ว พ่อจึงค่อนข้างเห็นแย้งกับผมในเรื่องนี้

และต่อให้พ่อผมไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้เป็นนักการเมือง ผมก็ยังเลือกที่จะมาทำ และเลือกที่จะอยู่พรรคประชาธิปัตย์เพราะว่าเป็นพรรคที่มีประชาธิปไตยในตัวชัดเจน มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ไม่มีเจ้าของ ซึ่งเป็นแนวทางที่ผมชอบ

: ทายาทการเมืองได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

ผมมองประเด็นนี้สองมิติ หนึ่ง คือผมไม่ได้มาเป็นทายาทสืบทอดคุณพ่อ ในเรื่องของเขตพื้นที่ ผมไม่ลงเขตที่พ่อเคยลงแน่นอน และเลือกตั้งครั้งหน้าคุณพ่อก็ชัดเจนว่าจะไม่ลงเขตแล้ว การที่ผมมาครั้งนี้ผมก็เหนื่อยเหมือนกันที่จะต้องพิสูจน์ตัวเอง และหาจุดยืนในพรรคให้ได้ สมมุติถ้าผมจะได้ลงในเขตทุ่งครุ ผมก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองในพื้นที่ ผมก็ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ผมเป็นลูกพ่อที่เป็นนักการเมือง แต่ไม่ได้เป็นลูกพ่อที่เป็น ส.ส.เขต และเราต้องพิสูจน์ตัวเองในเชิงนโยบาย ผมมีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ก็ค่อนข้างต่างกันชัด

อีกทั้งผมก็ดูแลทีมรุ่นใหม่ของพรรคซึ่งพ่อไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น ก็แยกกันทำงาน ผมไม่ใช่คนที่เดินตามพ่อหรือรับไม้ต่อกัน ผมก็กดดันตัวเองในระดับหนึ่ง เพราะคนอาจจะตั้งคำถามว่า การมาอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเพราะพ่อหรือไม่ ผมต้องพิสูจน์ด้วยการทำงาน

: ไอดอลทางการเมืองคือใคร

ผมศึกษาวิธีของ “บารัค โอบามา” รวมถึงท่าน ส.ส. Mike Honda ที่ผมได้มีโอกาสร่วมทำงานด้วยอย่างใกล้ชิด หรือแม้กระทั่งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผมพยายามศึกษาการทำงาน รวมถึงการที่แต่ละท่านไม่ได้มีคดีความเกี่ยวกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ผมมองว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากสำหรับนักการเมือง

ประกอบกับความประทับใจที่มีความเป็นผู้นำรู้ลึก รู้รอบด้านจากการที่ได้สัมผัสและตามทำงานด้วย

: เบื้องหลัง-จุดยืนทีมรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์

ตอนนี้มี 20-30 คนที่จะมาเป็นว่าที่ผู้สมัครหน้าใหม่ และไม่ใช่ทายาทใคร ที่สำคัญอายุยังน้อย มาจากหลากหลายพื้นที่ คนอาจจะคิดไปว่าคนประชาธิปัตย์ต้องเป็น ส.ส.กทม. จบนอก หรือเป็นพรรคของคนใต้

ผมเองก็ใช้เวลานานมากในการเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ในอีสาน ในภาคเหนือ ภาคกลาง ผมก็บินไปพูดคุย ไปเจอกับเขา เราก็สามารถรวมตัวกันได้แล้ว ซึ่งวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 นี้จะมีการเปิดตัวใหญ่ เราอยากจะสนับสนุนคนรุ่นใหม่อย่างเต็มที่ในทุกภูมิภาค

จุดยืนของคนรุ่นใหม่เรามีข้อตกลงร่วมกันชัดเจน ผมกับพี่ปลื้มและไอติมมองเหมือนกันว่าเราโตมาในยุคของการเมืองที่มีเรื่องสีเสื้อ

เราอยากจะข้ามเรื่องเหล่านี้ไปจริงๆ เราอยากเน้นไปที่การแข่งขันเชิงนโยบาย มากกว่าการที่จะมาถามว่าคุณจะสนับสนุนยกมือให้ใครเป็นนายกฯ ซึ่งแนวทางนี้มีพี่ๆ จากหลายพรรคที่พบปะเจอกันก็เห็นพ้องกันว่ารุ่นเราจะเข้ามาทำเรื่องนโยบาย

ผมเชื่อว่าในเชิง movement ในส่วนปีกของคนรุ่นใหม่ ปชป. มีความแข็งแรงและมีปากเสียงในพรรคพอสมควร จึงเป็นหน้าที่ที่พวกผมจะต้องทำให้ผู้ใหญ่รับฟัง เราจะสร้างกลุ่มนี้ให้มีพลังที่ยาวนาน ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ก็ต้องรวมกันและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงพรรค จุดยืนของเราจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างพรรค (ที่เป็นสถาบันเก่าแก่) กับคนรุ่นใหม่ซึ่งอาจจะมองว่าไกลกัน

นี่คือหน้าที่หลักในการเชื่อมประสาน และสำคัญว่า “จุดยืนประชาธิปไตยของพรรคต้องชัดเจน”

สำหรับมุมมองส่วนตัว ผมชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่เอารัฐบาลเผด็จการ ไม่เอารัฐประหาร นี่เป็นเหตุผลที่ผมไปศึกษาต่อมา หรือแม้แต่ในเรื่องเชิงการบริหารที่ยังกระจุกอำนาจส่วนกลาง

หรือนโยบายเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่ ผมก็ไม่เห็นด้วย ที่ไปเอื้อธุรกิจใหญ่ หรือเอาแต่อ้าง GDP เติบโต (เพียงด้านเดียว) เป็นเรื่องที่แย่มาก เพราะว่าไม่ได้คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำเลย ตัวเลขมันขึ้นได้เพราะคนรวยมันรวยขึ้น เราต้องคิดเปลี่ยนตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ เอาความเหลื่อมล้ำมาเป็นโจทย์หลัก และวิสัยทัศน์ผู้นำต้องมองให้ชัด นโยบายถึงจะแก้ได้ถูกจุด

แต่สิ่งที่สนใจมากและผมอยากจะผลักดันทันทีถ้าวันหนึ่งมีโอกาสเป็นผู้แทนO คือเรื่อง “ขยะพลาสติก” ปัญหานี้มันสำคัญมาก ทั้งกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องลดใช้ตั้งแต่ต้นทาง รัฐต้องเข้ามาจัดการแต่ต้น จัดการดีก็ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอีก ซึ่งผมชัดเจนว่าไม่ว่าจะได้เป็น ส.ส.หรือไม่ ผมก็จะทำเรื่องนี้

: เป้าหมายในการเล่นการเมือง

ผมมีเป้าหมายสำคัญคืออยากผลักดันให้เกิด “กระทรวงโลกร้อน” นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หลายประเทศก็มีแล้ว ตอนนี้คนอาจจะคิดว่าไกลตัว แต่ต้องเร่งทำ กระทบทุกคน

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเชื่อมั่นคือ “การทำงานเป็นทีม” พ่อผมจะบอกเสมอว่าไม่ควรอยู่ในสปอตไลต์ให้มากเกิน ให้เน้นทำงานเป็นคณะ อย่างเช่น เวลาผมแข่งกีฬา พ่อจะดูผมต่อเมื่อเล่นกีฬาเป็นทีม เช่น ฟุตบอล แต่ถ้าแข่งเดี่ยว อย่างเทนนิส เขาจะไม่ดู แพ้-ชนะต้องเป็นทีม

: กระแสคนรุjนใหม่ บางคนไปสนใจหน้าตา

เราจะไม่ไปขายตรงนั้น เราจะพิสูจน์กันเรื่องนโยบายอย่างเดียว เราต้องทำให้กระแสชื่นชอบตัวบุคคลกลายเป็นเรื่องนโยบาย

ตัวผมเองมีจุดแข็งเข้ากับคนได้ง่าย ในการทำงานเป็นทีมเวิร์กได้ดี โดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสปอตไลต์ ผมช่วยผลักดันทุกคนหน้าใหม่

อย่างประสบการณ์ที่สหรัฐสามารถนำมาปรับใช้ได้เลย คือการมี 2 ทีมทำงาน เป็นเงาเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ส่วนกลางกับทีมจากพื้นที่ในเขต ประสบการณ์ที่ผมได้รับมาคือคุณต้องกล้าต่อสู้กับพรรค ถ้าประชาชนในเขตเห็นต่างเห็นแย้งจากส่วนกลาง ก็กล้าที่จะหักกับโอบามา ผมเองก็พร้อมทำสิ่งที่ประชาชนต้องการ

สุดท้ายคือเรื่องของเว็บไซต์และ Social Media ที่ทีมเราจะลุยหนักมาก ให้มีการสื่อสารสองทาง ประชาชนสามารถสะท้อนมาได้เต็มที่

ติดตามการเปิดใจเปิดตัว ทุ่มรุ่นใหม่จากทุกพรรค ทุกสำนัก เตรียมพร้อมเกาะติดการเลือกตั้งได้ในรายการ MatichonWeekly (S)ELECTION

ทุกวันจันทร์ 20.00 น. ทางเพจ MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ และ Youtube Matichin TV

ep.1 เพื่อไทย