เปิดใจ-ถอดตัวตน “เฌอปราง” ผู้ไม่ค่อยร้องไห้ กรี๊ดไม่เป็น และห้ามตัวเองไว้ ไม่ให้ไปสุด

“ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีโอกาสได้เล่นภาพยนตร์ค่ะ” เฌอปราง อารีย์กุล บอกมาอย่างสดใส ในวันที่นัดคุยกับเราถึงผลงานการแสดงเรื่องแรกในชีวิต

“เป็นอะไรที่เหนือความคาดหมาย ว่าชีวิตหนึ่งของเรา ที่เป็นเด็กเนิร์ดธรรมดาๆ จะได้ทำ”

ดังนั้น พอจีดีเอชให้โอกาสไปแคสต์จึงคว้าไว้ และแม้คนที่ทักษะการแสดงเป็นศูนย์จะรู้สึกหนักหนา เพราะว่าเจอบททดสอบทั้งให้ร้องไห้ ซึ่ง “เอาแล้ว ร้องไม่เป็น” กับบทพูดด้วยประโยคที่ “ก็ช็อกนิดๆ เฮ้ย! ตัวละครพูดอย่างนี้เลยเหรอ” แต่เมื่อผู้กำกับฯ โอ๋-ภาคภูมิ วงษ์ภูมิ ให้ผ่าน เธอก็ตอบรับที่เป็น “พาย” ในภาพยนตร์เรื่อง “HOMESTAY” ด้วยความยินดียิ่ง

กับบทร้องไห้ซึ่ง “ไม่เป็น” นั้น ไอดอลคนดังแห่งวง BNK 48 บอกว่า คงเพราะ “เป็นคนมีกำแพงอารมณ์สูง” และ “ค่อนข้างไม่ได้ทำอะไรเยอะเกี่ยวกับด้านอารมณ์ จะชอบสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งมองด้านเหตุและผลเป็นหลัก”

ขณะเดียวก็ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลมาตั้งแต่เป็นเด็ก ยังเล็กอยู่เช่นกัน

“เวลาร้องไห้ เขาก็บอกให้หยุด” เฌอเล่า โดยเขาที่ว่าคือคุณพ่อและคุณแม่ แต่แน่นอนว่าเคยมีที่น้ำตาไม่สามารถสับสวิตซ์ให้หยุดได้ทันที แต่เมื่อร้องๆ ไปแล้วเห็นผู้ให้กำเนิดทั้งคู่เสียใจ “ก็รู้สึกว่าไม่อยากทำให้เขาเสียใจ ไม่อยากทำให้เขารู้สึกไม่ดี”

อีกทั้ง “มีหลายเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าร้องไห้ไปไม่ได้ช่วยอะไร”

“มันก็เลยค่อนข้างแข็งขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ค่อยได้ใช้อารมณ์เลย”

ถ้าจะมีอยู่บ้าง “ก็อาจจะหนึ่งหยด” และหยดที่ว่ามักไม่ได้มาจากความเสียใจ

แต่ “เป็นคนรู้สึกผิดง่าย จะร้องไห้เพราะความรู้สึกผิดมากกว่า”


ส่วนบทพูดช็อกๆ ก็คือ การตอบคำถามที่ว่า “เราไม่ได้เป็นแฟนกันใช่ไหม” ด้วยคำว่า “จะเป็นได้ไง ก็ไม่เคยขอ”

“คือแบบขนลุก…สำหรับเฌอรู้สึกเหมือนมันเชิญชวนนิดนึง ไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะต้องพูดอะไรแบบนั้น”

เพราะในชีวิตจริง “ถ้าเรารักเขา แล้วเขาไม่ชอบเรา ก็ให้เขามีความสุขของเขาไป แต่เราจะไม่เอ่ยปาก” เฌอปรางในวัย 22 ปีบอกแล้วหัวเราะ

กับการรับบทเป็น “พาย” ซึ่ง “เอาง่ายๆ คือเด็กเก่ง ค่อนข้างจริงจังกับการเรียน เป็นคนที่ถูกคาดหวังกับทุกอย่างว่าจะต้องไปสอบดาราศาสตร์โอลิมปิกได้ ภาพลักษณ์ดี ทุกอย่างดีไปหมด” เฌอว่า ไม่เหมือนเธอเสียทีเดียว

“ที่เหมือน คือความเพอร์เฟ็กต์ชั่นนิสต์มั้งคะ ความจริงจังกับงาน กับการเรียน กับความสนใจด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์”

เรื่องจริงจังกับการเรียน เธอเองเป็นตั้งแต่เด็ก “ด้วยความที่เคยถามคุณแม่ว่าหนูทำอะไรได้บ้าง แม่บอกหน้าที่หนูตอนนี้คือเรียน หนูก็ต้องเรียนให้ดีที่สุด”

ฟังแล้วเธอก็ตั้งหน้าตั้งตาเรียนเป็นหลัก อาจมีทำกิจกรรมในโรงเรียนบ้าง เล่นเกมบ้าง ส่วนเรื่องไปเที่ยวโน่นนี่นั่น ถ้าไม่นับการไปกับครอบครัวแล้ว ก็ไม่ค่อยมี

เพิ่งจะขอไปดูหนังกับเพื่อนบ้างก็ตอนเรียนมัธยมปลายแล้วเท่านั้น

ขณะที่ในส่วนความเพอร์เฟ็กต์ชั่นนิสต์ “มีความติดที่อยากทำให้ดีที่สุด อยากทำให้เพอร์เฟ็กต์ที่สุด แต่ก็รู้ว่าความเพอร์เฟ็กต์ไม่มีในโลก แค่รู้สึกว่าอยากผลักดันตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่เราทำได้”

และเมื่อถามไปว่า ในเมื่อมีเป้าอยู่ที่ “ความสมบูรณ์แบบ” ชีวิตน่าจะเต็มไปด้วยความรู้สึกกดดันไหม?

“ไม่รู้เหมือนกันนะว่ากดดันตัวเองหรือเปล่า” ตอบพลางยิ้ม

“อาจจะ ก็ได้ค่ะ แต่ไม่ได้รู้สึก เพราะเราแค่ทำแบบแฮปปี้ ให้ดีที่สุดอะไรอย่างนี้”

อย่างไรก็ดี รับรู้ว่าเรื่องนี้ส่งผลถึงคนที่เธอทำงานด้วย เพราะ “ถ้าเกิดทำกับคนอื่น เฌอก็จะเริ่มแล้วว่าทำไมทำแบบนี้ อย่างนี้ไม่ได้ จะเริ่มจี้ๆ แต่ไม่ได้มีเจตนาจะว่า แค่มันน่าจะดีกว่านี้ได้”

สำหรับในส่วนที่ไม่เหมือน “คือความออกไปโลกภายนอก” เพราะขณะที่ตัวละครเอาแต่เรียน ไม่เว้นแม้กระทั่งวันเสาร์-อาทิตย์ เด็กกิจกรรมอย่างเธอต้องขอทำอะไรเพิ่ม เพราะหากให้เอาแต่เรียน เรียน และเรียน โลกคงเฉา

การทำงานชิ้นนี้ เฌอปรางว่านอกจากจะทำให้ได้รู้ศาสตร์ของการแสดงเพิ่มขึ้นแล้ว คนเก็บอารมณ์เก่งอย่างเธอยังได้ปลดล็อกความรู้สึกและเข้าใจตัวเองมากขึ้น

“ได้เรียนรู้ว่าเราถูกสอนมายังไงถึงกลายเป็นคนแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วเราก็มีอารมณ์เหล่านี้อยู่ แต่แค่เลือกที่จะเก็บมันไว้ กับเวลาที่เรามีอารมณ์เหล่านี้เราจะเป็นยังไงจริงๆ”

“ซึ่งมันน่ากลัวมากสำหรับเฌอ เฌอรู้สึกว่าไม่ควรปล่อยให้ตัวเองมีอารมณ์มากเกินไป เพราะจุดๆ หนึ่งของพายคือเขาไปสุด ซึ่งพอเฌอปล่อยให้ไปสุด ไปสุดจริง สุดแบบถ้าไม่มีความว่าคัท กู่ไม่กลับ เลยรู้สึกกลัวตัวเองเหมือนกัน กลัวหลุดจากความปกติแบบของชีวิตเรา ถ้าใช้อารมณ์จะหลุดเป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่อยากให้ตัวเองเป็น มันจะไม่ฟัง จะเกรี้ยวกราด โกรธ มีความวุ่นวายเกิดขึ้น”

ความปกติของชีวิตที่เธอพูดถึง ยกตัวอย่างเช่น “เฌอกรีดร้องไม่เป็น เป็นคนที่ไม่กรี๊ด ไม่โวยวายตั้งแต่เด็ก อยากได้อะไร แม่บอกไม่ได้คือไม่ได้ โอเคต้องมาจัดการกับตัวเอง จะไม่มีการกรี๊ด ร้องไห้ใส่ ดิ้นลงพื้นไม่มี”

“ขึ้นรถไฟเหาะ รู้สึกว่าตัวเองควรกรี๊ด แต่กรี๊ดไม่เป็น ก็กัดฟันแทน”

แล้วถ้าตื่นเต้นสุดๆ ดีใจสุดๆ หรือโกรธสุดๆ จะทำยังไง?

“เฌอไม่มีความสุดตรงนั้นค่ะ พอมันจะไปปุ๊บ ก็ไม่ไป เพราะรู้ว่าบางทีไปแล้ว จะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่า ถ้าเราโกรธ หรือเหวี่ยง ก็เป็นเรื่อง ก็ไม่เอาดีกว่า”

เป็นอันว่าเป็นเฌอปรางดังที่เป็นอยู่ ดูจะเหมาะที่สุดแล้ว-ว่าอย่างนั้น