เอื้องหมายนา ดอกไม้คารวะควาย สมุนไพรน่าใช้! เหง้าสด รักษาโรคท้องมาน ใช้ขับปัสสาวะ เป็นยาถ่าย แก้ตกขาว

ลมหนาวมาลมฝนก็ยังไม่ยอมลา ทิวทัศน์และบรรยากาศยามนี้เป็นช่วงเวลาสุดแสนสำราญใจ

ถ้าย้อนยุคไปในวัฒนธรรมการทำไร่ไถนา ฤดูกาลเข้าแล้งก็แสดงว่าเสร็จสิ้นการทำนากำลังเข้าฤดูเก็บเกี่ยว

ซึ่งพืชนามว่า เอื้องหมายนา คาดว่าจะมาจากพิธีกรรมดั้งเดิมอย่างหนึ่ง คือ

ประเพณีการสู่ขวัญควาย

เนื่องจากชาวนาอาจจะดุด่าทุบตีควายบ้างจากการไถพรวนในฤดูการทำนา เมื่อต้นกล้าโตเต็มที่ สามารถถอนกล้าไปดำนาแล้วนั้นเป็นอันสิ้นสุดสำหรับการใช้แรงงานของควาย วัฒนธรรมดั้งเดิมของเรามีความใส่ใจและอยู่ร่วมโลกกับสรรพสัตว์ได้อย่างเข้าอกเข้าใจ

ชาวนาก็จะทำพิธีอย่างหนึ่งในการขอขมาควาย หรือที่เรียกว่า “สู่ขวัญควาย”

เป็นการให้ความสำคัญของสัตว์เลี้ยง ซึ่งในพิธีจะมีการนำต้นเอื้องหมายนา ไปปักไว้ 4 ทิศของบริเวณพื้นที่นา ในเวลาเดียวกันภูมิปัญญาดั้งเดิมก็สืบต่อมาว่า เอื้องหมายนาที่ปักไว้นี้มีประโยชน์ในการป้องกันวัชพืชของต้นข้าว เช่น เพลี้ย บั่ว ที่จะมาทำลายต้นข้าว

ในอดีตเมื่อได้ทำเช่นนี้ก็ช่วยให้ต้นข้าวออกรวงดี ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อ “เอื้องหมายนา”

 

เอื้องหมายนา มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Crape ginger, Malay ginger, Spiral Flag, Wild ginger มีการกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย จึงมีชื่อท้องถิ่นที่หลากหลาย เช่น เอื้อง อีเอื้อง (ภาคอีสาน) เอื้องช้าง (นครศรีธรรมราช) เอื้องต้น (ยะลา) เอื้องเพ็ดม้า (ภาคกลาง) เอื้องดิน เอื้องใหญ่ บันไดสวรรค์ (ภาคใต้) ซูแลโบ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) ชู้ไลบ้อง ซูเลโบ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) กู่เก้ง (ม้ง) ชิ่งก๋วน (เมี่ยน) ลำพิย้อก (ลั้วะ) ดื่อเหม้ (ยึ) (ปะหล่อง) จุยเจียวฮวย (จีน) เป็นต้น

แต่เดิมเอื้องหมายนาเคยถูกจัดอยู่ในกลุ่มพืชเหง้าวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) แต่ปัจจุบันได้มีการจัดสมุนไพรตัวนี้ออกมาอยู่ในวงศ์พิเศษ คือ Costaceae เนื่องจากสารสำคัญของพืชวงศ์นี้ต่างจากวงศ์ขิงข่านั่นเอง

เอื้องหมายนาเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี และมีดอกสวยงาม นำมาปักแจกันเป็นไม้ประดับบ้านได้ด้วย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cheilocostus speciosus (J.K?nig) C.Specht ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ มีเหง้าใต้ดิน ใช้เป็นไม้ประดับได้ เจริญได้ดีทั้งในที่ได้รับร่มเงาบ้าง หรือกลางแสงแดดจัดที่มีความชื้นสูง เอื้องหมายนาเป็นพืชมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและเป็นพืชประจำถิ่นในประเทศอินเดีย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงเกาะนิวกินี

ในทวีปอเมริกาใต้ก็พบเห็นได้เช่นกัน

เอื้องหมายนามีลำต้นอวบน้ำ เหง้าใต้ดินสะสมอาหาร กาบใบปิดโอบรอบลำต้น มีสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง ใบของเอื้องหมายนาเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ ปลายใบเรียวแหลม ใต้ใบมีขนละเอียดสีขาวคล้ายกำมะหยี่

ดอกของเอื้องหมายนาออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อดอกตั้งตรง ดอกตูมจะมีกาบสีแดงคล้ำหุ้มอยู่ ดอกติดกันแน่น

ดอกย่อยเป็นรูปกรวยสีขาวมี 3 กลีบ กลีบหนึ่งมีขนาดโตและกว้างเป็นจะงอย

ดอกเอื้องหมายนาจะทยอยบานครั้งละ 1-2 ดอก ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน

ส่วนฝักและผลเมื่อสุกจะเป็นรูปไข่มีสีแดงสด เมล็ดมีสีดำ ขยายพันธุ์โดยการแบ่งกอหรือเพาะเมล็ด

ในการใช้ประโยชน์นั้น เหง้าหรือหัวมีแป้งถึง 60% จึงนำมาใช้เป็นอาหารกินได้และมีเส้นใยมากช่วยขับถ่าย ในประเทศ เช่น มาเลเซีย อินเดียและฟิลิปปินส์ ใช้หน่ออ่อนใส่ทำแกงกินหรือกินเป็นผัก ในความรู้สมัยใหม่เหง้าและเมล็ดมีสารไดออสจีนิน ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยาสเตียรอยด์ เมล็ดมีกรดไขมันที่มีกลิ่นหอม

อย่างไรก็ตาม ขอเตือนไว้ด้วยว่า เหง้าสดจะมีพิษ ต้องทำให้สุกก่อน เพราะหากกินสดๆ ในปริมาณมากจะทำให้อาเจียน ท้องร่วงรุนแรง และทำให้แท้งลูกได้ เนื่องจากมีสารบางอย่างที่ออกฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก ขอย้ำว่าหากนำมากินต้องทำให้สุกก่อน นอกจากนี้ ในมาเลเซียใช้ต้นเอื้องหมายนาในพิธีกรรมต่างๆ

สำหรับสรรพคุณทางยาสมุนไพร เหง้าสด มีรสฉุน เย็นจัด สามารถใช้ตำพอกบริเวณสะดือ รักษาโรคท้องมาน ใช้ขับปัสสาวะ เป็นยาถ่าย แก้ตกขาว บวมน้ำ ฆ่าพยาธิ รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แผลอักเสบบวมมีหนอง และฆ่าพยาธิ น้ำคั้นจากหัวสด (กินปริมาณไม่มาก) ใช้เป็นยาขับลม ใช้เป็นยาแก้วิงเวียน เหง้ากินกับหมากแก้ไอ ราก เป็นยาขม ขับเสมหะ ขับพยาธิ แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง

ใบใช้แก้ไข้ น้ำคั้นจากใบและยอดอ่อนใช้แก้โรคตาและหู น้ำต้มใบและใบขยี้ใช้ทาแก้โรคผิวหนังและลดไข้

เอื้องอินโด

ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานใช้เอื้องหมายนาเป็นส่วนประกอบในตำรับรักษาโรคต่างๆ เช่น

ใช้แก้ “โม้คาง” (โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง) โดยให้เอา เคือลิ้นแฮด (เถารสสุคนธ์) หัวเอื้อง (เอื้องหมายนา) เคือหมากยาง (เถาคุย) ยาหัว (ข้าวเย็นใต้) ดูกควายด่อน (กระดูกควายเผือก) ต้มกินดี ใช้เป็นส่วนประกอบใน

ยาแก้กินผิด ให้เอา หัวเอียง (เอื้อง) 1 หัว ทูน 1 ฮาก บ้งซันขาว 1 ฮาก ก้ามปู 1 ฮา อมไอ 1 ฝนให้กินแลฯ

ยาแก้ตุ่มออกหน้า ให้เอา ลำเอื้องเผา บิดเอาน้ำ ถ้ามีอาการในตอนไหนให้เอาลำต้นเอื้องมาบีบทาในตอนนั้น ถ้าเป็นผู้หญิงให้บิดลำต้นเพื่อเอาน้ำไปทางด้านขวา ถ้าผู้ป่วยเป็นผู้ชายให้บิดลำต้นเอาน้ำไปทางด้านซ้าย เป็นต้น

การใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ตัดทั้งต้นที่มีช่อดอกมาประดับแจกัน ให้ความสวยงามทั้งต้นและกาบประดับ หรือปลูกเป็นไม้ประดับได้ ปัจจุบันมีการนำเอาสายพันธุ์จากอินโดนีเซียเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับแทนเอื้องหมายนาที่เป็นของพื้นเมืองในไทย

ซึ่งเอื้องหมายนาของอินโดนีเซียเป็นคนละชนิดกับไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Costus woodsonii Maas และดอก ใบและเหง้านำมาบดให้ละเอียดผสมน้ำแล้วนำไปลาดเทลงแปลงนาแก้ปัญหาการระบาดของหอยเชอร์รี่ได้ เนื่องจากเอื้องหมายนามีสาร แทนนิน ทำให้หอยตายและไข่ฝ่อ

เอื้องหมายนา เป็นทั้งอาหารแต่ต้องทำให้สุก ทำแกงเลียง แกงส้ม เป็นยาสมุนไพร เป็นไม้ประดับสวยงาม และในพิธีกรรมที่รักษาคุณค่าทางวัฒนธรรม

แม้แต่ชาวไทลื้อก็ประกอบพิธีกรรมก่อนการทำนา (พิธีแฮกข้าว) โดยนำเอื้องหมายนามัดติดกับตะแหลวหรือแฉลวร่วมกับดอกปิ้งแดง แล้วนำไปใส่ไม้ปักไว้ที่ไร่นาก่อนจะปลูกข้าว เป็นการสื่อถึงเจ้าที่ ขอจะทำการปลูกข้าวแล้ว โดยเชื่อว่าช่วยให้ข้าวงอกงามดี

เอื้องหมายนาจึงเป็นสมุนไพรน่าปลูกน่าใช้ชนิดหนึ่ง