ฉัตรสุมาลย์ : ทอดกฐินที่เมืองจิตตากอง

ช่วงเดือนนี้ คือนับตั้งแต่ออกพรรษา วันที่ 16 ตุลาคม ไปจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นช่วงที่เราไปทอดกฐินกัน ญาติโยมก็สามารถไปทอดกฐินกันได้หลายๆ วัด หลายคนก็ถือโอกาสนี้ไปทัศนาจรวัดที่อยู่ห่างไกลออกไปด้วย

แต่ถ้าเป็นพระ ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือภิกษุณีในฐานะผู้รับ แต่ละวัดจะรับกฐินได้ครั้งเดียว

เนื่องจากภิกษุณีสงฆ์ในบังกลาเทศที่มี 5 รูปนั้น อยู่ที่เมืองจิตตากอง ซึ่งเป็นเมืองที่มีการกระจุกตัวของชาวพุทธมากที่สุด จริงๆ แล้วเดิมก็เป็นเมืองชาวพุทธนั่นเอง แต่เนื่องจากการจัดสรรเขตปกครองทางการเมือง แคว้นเบงกอลนั้นมีฝั่งตะวันตกและตะวันออก ฝั่งตะวันตกอยู่กับอินเดีย เวลาที่เราบินเข้าอินเดีย เมืองที่ใกล้ที่สุดคือกัลกัตตา เมืองนั้นอยู่ในเบงกอลตะวันตกค่ะ

ส่วนเบงกอลตะวันออกกลายเป็นประเทศใหม่ คือบังกลาเทศ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 1971 (พ.ศ.2514) จิตตากองอยู่ในเบงกอลตะวันออก เลยติดกลับมาอยู่ในประเทศที่เกิดใหม่ คือ บังกลาเทศด้วยเหตุนี้

จิตตากองเป็นเมืองที่ใหญ่ระดับสองของประเทศรองจากเมืองหลวง คือเมืองธากา มีพลเมือง 5.5 ล้านคน

บังกลาเทศเป็นประเทศที่มีพลเมืองหนาแน่นถึง 156.6 ล้าน แต่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวพุทธมีเพียง .7% ประมาณ 1 ล้านคนค่ะ

พระภิกษุในบังกลาเทศมี 3 กลุ่ม กลุ่มที่อยู่บนเขา ที่เรียกว่า hill tract มีประชากรพระภิกษุมากที่สุด กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกจั๊กมา จากนั้น เป็นพระภิกษุที่อยู่บนพื้นราบ นามสกุลบารัว มีสองกลุ่ม พวกเดิมที่อยู่มาก่อนที่จะแยกประเทศ และกลุ่มที่ใหม่กว่า จะมีความสัมพันธ์กับคณะสงฆ์พม่า เพราะไปบวชมาจากพม่า

ส่วนภิกษุณีนั้น เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้เอง (2559) และได้เข้าพรรษาแรกที่จิตตากอง หลังจากออกพรรษาจึงมีโอกาสได้รับกฐินเป็นครั้งแรก

ท่านธัมมนันทารับนิมนต์ไปช่วยเขารับกฐิน และขณะเดียวกัน ก่อนที่จะรับกฐินต้องสมมติสีมาเสียก่อน เพื่อจะได้ทำสังฆกรรมได้ถูกต้องครบกระบวนความตามพระวินัย

 

คณะสงฆ์จากต่างประเทศที่เข้าไปร่วมงาน มีทั้งอินโดนีเซียและประเทศไทย ตกลงในงานที่ชาวพุทธบังกลาเทศได้เห็นคือ พระภิกษุณีรูปแรกของสามประเทศ ท่านสันตินีจากอินโดนีเซีย ท่านธัมมนันทาจากประเทศไทย และท่านโคตมีของบังกลาเทศเอง

คณะสงฆ์จากต่างประเทศพักที่โรงแรมเล็กๆ ในเมืองจิตตากอง แล้วออกเดินทางไปรับกฐินที่หมู่บ้านที่อำเภอดอมโดมา ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันตกของเมืองจิตตากอง 40 ก.ม. ใช้เวลาเดินทางโดยรถตู้ที่เช่าจากโรงแรมกว่าชั่วโมง

คณะสงฆ์ออกเดินทางตั้งแต่ 6 โมงเช้า อาศัยฉันเช้าเป็นอาหารกล่องที่โรงแรมจัดให้ เมื่อถึงอำเภอดอมโดมา รถเลี้ยวเข้าถนนซอยเข้าไปอีกประมาณ 2 ก.ม. มีคณะภิกษุณีบังกลาเทศมารับพร้อมคณะดนตรีชาวบ้านทั้งกลองฉิ่งฉาบ

สัปทนที่คณะนำไปจากเมืองไทยได้ใช้ในงานนี้ พอจัดแถวได้แล้ว จึงเดินเข้าไปสู่อารามของภิกษุณีที่อยู่กลางท้องนา เส้นทางที่เดินผ่านตลาดของหมู่บ้านที่มีร้านรวงเล็กๆ เรียงรายทั้งสองข้างทาง

ในท้ายที่สุดคณะภิกษุณีเข้าไปที่พื้นที่ที่จัดเตรียมพิธีประกอบสังฆกรรมสมมติสีมา พื้นที่เล็กมาก ท่านธัมมนันทา ต้องวางแผนใหม่ ในการวางผังสีมาให้ถูกต้องกับทิศที่กำหนด ก้อนหินที่จะใช้นั้น สั่งไปทางอี-เมลว่า ควรจะใหญ่ประมาณ 12 นิ้วอย่างต่ำ ก็ได้ 12 นิ้วเหมือนกัน แต่เป็นความยาว รูปทรงเหมือนศิวลึงค์ ครึ่งหนึ่งฝังลงในดิน อีกครึ่งหนึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดิน พอเป็นหมายให้สังเกตได้

พอกำหนดทิศได้แล้ว ภิกษุณีช่วยกันวางก้อนหินที่จะให้กำหนดเขตสีมา แล้วจึงเริ่มทำพิธี โดยทักนิมิตทั้ง 4 ทิศใหญ่ และ 4 ทิศย่อย การทักนิมิตเป็นการระบุเขตที่จะใช้ทำสังฆกรรม จากนั้น จึงสวดประกาศถอนสีมาเดิม แล้วสมมติสีมาใหม่

เป็นอันเสร็จพิธีตอนเช้า ที่พักชั่วคราวของภิกษุณีสงฆ์ หลังคาสังกะสี คิดว่าทำชั่วคราวเพื่อการเปิดตัวอารามเท่านั้น คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่จะมีที่พักที่มีมาตรฐาน สามเณรีเล็กๆ ที่เพิ่งบวช 8 รูป ถามไถ่ดูแล้ว ปรากฏว่า พ่อแม่ยินดีให้บวชชั่วคราว นัยว่า อยู่เพียง 4 วัน เป็นนโยบายที่จะสร้างความผูกพันกับชาวบ้านที่ได้ผลอยู่

 

ตอนเพล คณะภิกษุณีสงฆ์ได้รับนิมนต์ไปฉันในหมู่บ้านนั้น เดินถึงกัน บริเวณที่จัดอาหารเตรียมถวายพระนั้น ใช้การกางเต๊นท์ชั่วคราว ใช้ไม้ไผ่ลำโตเป็นเสา แล้วดาดด้วยผ้าสีสันสวยงาม กันแดดแต่ไม่กันฝน อาหารเต็มโต๊ะทีเดียว แต่ชาวเบงกอลี อาหารหลักของเขาคือ ข้าวกับปลา ตกลงพระได้ฉันข้าวกับแกงถั่ว หลายคนพยายามเอาปูผัดมาถวาย ยืนยันว่า มังสวิรัติ โดยความเข้าใจว่า พระไม่ฉันเนื้อหมู เนื้อวัว แต่น่าจะฉันปลา และอาหารทะเลได้ อาหารนอกนั้น เป็นผักต้ม และผักสด

พิธีเริ่มอีกที คราวนี้เป็นพิธีถวายผ้ากฐิน จัดในปะรำพิธีใกล้กัน บรรดาพระทั้งภิกษุภิกษุณีนั่งอยู่บนเวที มีหลวงพ่อ ดร.วรสัมโพธิ เป็นประธาน มีพระภิกษุไทยไปจากวัดกระโจมทอง และพระภิกษุอินเดียที่เรียนหนังสืออยู่ในประเทศไทยไปร่วมด้วย นอกนั้นเป็นพระ ภิกษุณี และสามเณรี

คราวนี้ได้เห็นการจัดงานแบบบังกลาเทศอย่างแท้จริง เจ้าภาพเชิญผู้พูดถึง 16 คน ทั้งหมดพูดเป็นภาษาเบงกอลีหมด

เวลาพูดถูกใจ เขาจะเปล่งคำว่า สาธุ สาธุ ดังทีเดียว

ที่น่าประทับใจมากกว่า คือ คนที่มาฟัง ประมาณ 3 ใน 4 เป็นผู้หญิง เบ็ดเสร็จแล้วกว่า 400 คน ตั้งใจฟังมาก ไม่มีการลุกขึ้นลุกลงเลย ในขณะที่คนบนเวทีนั่งบนโซฟา แต่คนที่นั่งข้างล่าง นั่งกับเสื่อที่ปูบนพื้นดิน รายการทั้งหมดใช้เวลา 4 ชั่วโมง

เนื่องจากอากาศร้อน เหงื่อออกมาก เลยช่วยในการที่ไม่ต้องลุกไปเข้าห้องน้ำ ได้เห็นถึงศรัทธาของชาวพุทธบังกลาเทศอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ดูเขาดีใจ และพอใจที่จะฟัง และฟังอย่างตั้งใจ ชาวพุทธไทยคงต้องเรียนรู้ในเรื่องวิริยะบารมี และขันติบารมีจากชาวพุทธบังกลาเทศ

พอพิธีเริ่มต้นไปแล้ว คนก็มาสมทบมากขึ้นๆ จนล้นออกไปนอกปะรำพิธี นั่งตากแดดกันริมถนนกว่า 100 คน

 

ในช่วงที่ท่านธัมมนันทาพูดกับชาวบ้าน ท่าน ดร.วรสัมโพธิกรุณาแปลให้เป็นภาษาเบงกอลี เมื่อเด็กๆ ท่านเคยศึกษาอยู่ที่ศานตินิเกตัน ซึ่งอยู่ในเบงกอลตะวันตก บางคำที่เป็นคำง่ายๆ ท่านพูดเป็นภาษาเบงกอลี ได้ใจชาวบ้านมากทีเดียว

ท่านเตือนชาวบ้านว่า ให้รู้ถึงความสำคัญของการมารับผ้ากฐินที่หมู่บ้านของพวกเขา และให้รู้ถึงความสำคัญว่า พวกเขาเองร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์หน้าแรกของก้าวย่างใหม่ของชาวพุทธในบังกลาเทศ คือมีทั้งการสมมติสีมา และการทอดกฐินแก่ภิกษุณีสงฆ์ของบังกลาเทศเองเป็นครั้งแรก และทั้งสองเหตุการณ์นั้น เกิดขึ้นในหมู่บ้านของพวกเขาเอง

ภิกษุณีที่มาจากต่างประเทศก็มาสนับสนุนได้เป็นครั้งเป็นคราว แต่กลไกที่จะเกิดขึ้นจริงคือภิกษุณีสงฆ์บังกลาเทศ และข้อสำคัญการสนับสนุนจากอุบาสกและอุบาสิกาชาวพุทธของบังกลาเทศนั้นเอง ท่านเรียกร้องขอให้ยกมือ ตอบรับว่าจะช่วยกันดูแลพระศาสนา

ชาวบ้านยกมือตอบรับอย่างคึกคักทีเดียว

หลังจากการปราศรัยอันยาวนานของ 16 คนแล้ว ท่านวรสัมโพธิ พระภิกษุที่อาวุโสที่สุดชาวบังกลาเทศ เป็นผู้กล่าวนำญาติโยม การถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุณีสงฆ์ของบังกลาเทศ และสอนให้ญาติโยมรู้จักกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล คำสวดเป็นภาษาบาลีแบบเดียวกับที่ใช้ในประเทศไทยทุกประการ

จากนั้น ท่านนำภิกษุและภิกษุณีสวดกรณียเมตตสูตรและให้พรญาติโยมที่มาร่วมพิธีด้วยความตั้งใจและเต็มใจ

พอเสร็จพิธี เสียงฟ้าร้องครืนคราง ญาติโยมก็ไม่มีท่าทางว่าจะกลัวฝนเลย พระพิรุณก็เทกระหน่ำ เต๊นท์ที่ทำไว้นั้น เป็นผ้าเต๊นท์ที่กันแดด แต่ไม่กันฝน

พระที่อยู่บนเวทีนั่นแหละค่ะลุกก่อน อาสาสมัครเอาร่มมารับแต่ละรูปลงไป ฝ่ายของภิกษุณียังไม่เสร็จพิธี ต้องเดินกลับไปที่สีมาเพื่อทำพิธีมอบผ้ากฐินตามสังฆกรรมก่อน

ที่พื้นดิน ก็เป็นโคลนลื่นไปลื่นมา ฝนก็เทลงมาจากฟ้า ไฟก็ดับ

ในสภาพนั้น ไม่ได้คิดถึงความยากลำบากเลยค่ะ ท่านธัมมนันทา มีสติอยู่กับเท้าที่ก้าวเดินอย่างเดียว เพราะถ้าลื่นล้ม จะเป็นเรื่องที่ไม่เข้าท่ามากๆ ประคองตัวจนมาถึงเขตสีมา แล้วจัดการทำพิธีที่เป็นสังฆกรรมฝ่ายสงฆ์ในการสวดประกาศผ้ากฐิน โดยมีหลวงพี่ธัมมวัณณา และหลวงพี่ธัมมภาวิตา จากประเทศไทยเป็นผู้สวดมอบผ้ากฐินให้ท่านโคตมี แล้วคณะสงฆ์พร้อมกันโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี

เอาใจช่วยจริงๆ

 

ตอนนี้ มืดสนิท ไฟก็ดับ คณะสงฆ์ที่จะต้องกลับไปจิตตากอง ทั้งเหนื่อยทั้งเปียกทั้งเหม็น เพราะสะสมเหงื่อมาตลอดบ่าย ไม่มีใครบ่นเลย ต่างนั่งรอรถตู้ให้เข้ามารับอย่างสงบ

สุมา บารัว อาสาสมัครที่พูดภาษาอังกฤษได้ และดูแลจัดการงานทั้งหมดที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ต่างชาติทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในบริบทที่เป็น นึกโมทนากับเขามาก ตลอดเวลา เธอจะโผล่หน้าเข้ามารายงานเป็นช่วงๆ ขออภัยในความไม่สะดวก และขอให้ให้เวลาอีกสัก 10 นาที

คณะภิกษุณีก็ออกมาปฏิบัติธรรมจริงๆ งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ละวันผ่านไปอย่างมีสติ

การทำงานรับใช้พระศาสนาเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าทุกงานจะเป็นงานที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ

แต่ความตั้งใจที่จะรับใช้พระศาสนานั้นเองที่เป็นพลังขับเคลื่อนให้ชาวพุทธเดินไปข้างหน้าได้