รู้จักตำนาน-ที่มา ของ “เครื่องถ้วยสันกำแพง”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เคื่องถ้วยสันก๋ำแปง”

เครื่องถ้วยสันกำแพงผลิตจากเตาเผาโบราณ เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากจีนเช่นเดียวกับเครื่องถ้วยสุโขทัยและสวรรคโลก พบที่ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ได้ศึกษาเพื่อคำนวณอายุของเตาสันกำแพง ปรากฏว่าอายุตรงกับราชวงศ์ต้าหมิงของจีน รวมทั้งลักษณะลวดลายก็มีความคล้ายคลึงกัน

ทั้งนี้ เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ว่า เครื่องถ้วยสันกำแพงเริ่มทำในสมัยพระเจ้าติโลกราช จนถึงสิ้นราชวงศ์เม็งราย คือประมาณ พ.ศ.1984 ถึง พ.ศ.2101 ซึ่งนับเป็นสมัยทองของลานนา

แต่ศิลปะเครื่องถ้วยสันกำแพงอยู่ได้ไม่นาน เพราะใน พ.ศ.2101 บุเรงนองเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ แล้วอพยพเอาบรรดาศิลปินและช่างฝีมือดีไปไว้ที่เมืองหงสาวดี

เชื่อว่าช่างทำเครื่องถ้วยสันกำแพงคงถูกวาดต้อนไปอยู่ที่นั่น ทำให้การทำเครื่องถ้วยที่สันกำแพงยุติลงและถูกทอดทิ้งให้ร้างไป

อย่างไรก็ตาม ลักษณะเตาเผาสันกำแพงเป็นเตากูบก่อด้วยดินแล้วเผาให้แข็งตัว ลักษณะรูปร่างและการแบ่งสัดส่วนของเตาคล้ายกับเตาสมัยสุโขทัย คือ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตอนหน้าเป็นที่ใส่เชื้อเพลิง ตอนกลางเป็นที่ตั้งผลิตภัณฑ์เข้าเผา และตอนท้ายเป็นปล่องไฟ ระบายความร้อน

เครื่องถ้วยสันกำแพงผลิตจากดินเหนียวรอบๆ บริเวณเตาเผา และดินขาวจากท้องลำห้วยแม่ลาน มีน้ำเคลือบสีเขียว ได้จากขี้เถ้าของลำต้นและใบมะก่อตาหมูไปผสมกับดินท้องนา อัตราส่วน 4 ต่อ 9 ปนน้ำพอไม่ให้ข้นจนเกินไป

น้ำเคลือบสีเขียวนี้เรียกว่าศิลาดล (celadon) ส่วนน้ำยาที่ใช้เขียนลวดลายบนถ้วยเป็นเส้นสีดำหรือสีน้ำตาลแก่ ทำจากดินแดงธรรมชาติซึ่งมีแร่เหล็กเจือปน

ซึ่งพบมากในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

เครื่องถ้วยสันกำแพงจะอาบน้ำยาเคลือบทั้งภายนอกและภายใน ยกเว้นบริเวณปากถ้วยและก้นถ้วย เพราะเวลาเผาใช้วิธีวางปากถ้วยบนปากถ้วย และก้นถ้วยบนก้นถ้วยซ้อนๆ กันไปเป็นตั้งๆ 4-5 ชั้น เมื่อเปลวไฟผ่านจนน้ำเคลือบละลาย ถ้วยจะได้ไม่ติดกัน ดังนั้น ภายนอกของถ้วยที่ถูกเปลวไฟและขี้เถ้าแล่นผ่าน น้ำเคลือบจึงสกปรกกลายเป็นสีเข้มไม่ขึ้นเงาเป็นมันงามเหมือนภายในถ้วย

ลวดลายที่เขียนก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับลวดลายของจีนในสมัยต้นๆ ของราชวงศ์ต้าหมิง ลายที่นิยมมากที่สุดและเป็นเอกลักษณ์คือลายปลาคู่ว่ายน้ำวนตามกันภายในวงกลม ซึ่งลักษณะเช่นนี้มาจากลายหยินหยางแบบจีน ส่วนลวดลายอื่นๆ ที่พบยังมีอีก เช่น ลายวงกลมซ้อนกัน ลายรูปสัตว์ในวงกลม และลายดอกไม้

ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาก ได้แก่ จาน ชาม ขวดตะคัน ไห กระปุก และคนที เป็นต้น

ปัจจุบันมีการจัดแสดงเครื่องถ้วยสันกำแพงที่พิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพง วัดป่าตึง (ครูบาหล้า) ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งพิพิธภัณฑ์นี้ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2503 เมื่อมีการขุดค้นศึกษาแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยโบราณบริเวณอำเภอสันกำแพง โดยกรมศิลปากรร่วมกับวัดป่าตึงจัดทำขึ้น