โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ/เหรียญตู้ไปรษณีย์เก้านะ หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ วัดหลวงราชาวาส อุทัยฯ

หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ

โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ [email protected]

 

เหรียญตู้ไปรษณีย์เก้านะ

หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ

วัดหลวงราชาวาส อุทัยฯ

 

“หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ” หรือ “พระครูอุทัยธรรมกิจ” อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงราชาวาส ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังอุทัยธานี

มีโอกาสศึกษาวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อพูน วัดหนองตางู, หลวงพ่อพุฒ วัดทุ่งแก้ว, หลวงพ่อเคน วัดดงเศรษฐี,หลวงปู่พลอย วัดห้วยขานาง เป็นต้น

วัตถุมงคลที่สร้างขึ้นมาแต่ละรุ่น มีความคิดโดดเด่นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเมตตามหานิยม โชคลาภ และอยู่ยงคงกระพัน จึงเป็นที่นิยมเสาะหาโดยทั่วไป

ที่โดดเด่นเป็นที่เลื่องลือ นอกจากเหรียญรุ่นแรก จัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2520 แล้ว ยังมี “เหรียญตู้ไปรษณีย์ เก้านะ หลวงปู่ตี๋” จัดสร้างในปี พ.ศ.2543

ลักษณะคล้ายตู้ไปรษณีย์ มีหูห่วงในตัว จัดสร้างเป็นเนื้อเงิน 188 เหรียญ เนื้อทองแดง 3,000 เหรียญเท่านั้น โดยหลวงปู่ตี๋ปลุกเสกเดี่ยวตลอดไตรมาส

ด้านหน้า ตรงกลางเหรียญเป็นรูปนูนหลวงปู่ตี๋เต็มองค์ นั่งขัดสมาธิ ด้านบนซ้าย-ขวา มีอัขระขอม อุ ทุ เม ใต้องค์หลวงปู่ตี๋ มีอักษรไทยเขียนว่า “พระครูอุทัยธรรมกิจ (ตี๋)” ด้านล่างมีเลขไทย “๘๘” และมีโค้ดวัดที่สังฆาฏิ

ด้านหลังตรงกลางเหรียญมีตารางยันต์เก้านะ ซึ่งแผ่นยันต์นี้เคยเขียนแล้วนำไปหลอมทำตะกรุดโทนแล้วไม่ละลาย ด้านบนสุดของเหรียญมีอักษรไทย “วัดหลวงราชาวาส” ใต้ตัวหนังสือมีอักขระขอม กะ กะ หัง อิ สะ หวา สุ และยันต์ ๙ นะ ได้แก่ นะ มหาอุด, นะ โองการ, นะ มหาอำนาจ, นะ วาจาสิทธิ์, นะ สิงหราช, นะ ตลก, นะ อมโลก, นะ เพชรกลับ และ นะ ปัดตลอด ใต้ยันต์เก้านะมีอักษรไทยเขียนว่า “จ.อุทัยธานี” และเลขไทย “๔๓”

เหรียญตู้ไปรษณีย์ เก้านะ หลวงปู่ตี๋ นับเป็นเหรียญที่มีพุทธคุณเด่นน่าเลื่อมใสเหรียญหนึ่ง เนื่องด้วยหลวงปู่ตี๋บรรจุยันต์เก้านะ (แผ่นยันต์ไม่ละลาย) พุทธคุณจึงเด่นด้านคงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม

เหรียญตู้ไปรษณีย์ (หน้า)

 

หลวงปู่ตี๋ เป็นชาวอุทัยธานีโดยกำเนิด เกิดที่ ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2455 ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ปีชวด มีนามเดิมว่า ตี๋ แซ่ตั้ง เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 6 คน ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย

ในช่วงวัยเยาว์ เรียนหนังสือที่โรงเรียนอุทัยทวีเวทย์ จ.อุทัยธานี จนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 3

หลังจากนั้นได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2476 ณ พัทธสีมาวัดธรรมโฆษก (โรงโค) โดยมีพระสุนทรมุณี (หลวงพ่อฮวด) วัดพิชัยปุรณาราม เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดโชติ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระใบฎีกาทิม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า ญาณโสภโณ มีความหมายว่า ผู้มีญาณอันงดงาม

จำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมโฆษก ต่อมาเมื่อเกิดไฟไหม้ตลาดอุทัยธานีครั้งใหญ่ ได้ไปอยู่กับหลวงพ่อพูนที่วัดหนองตางู เป็นเวลา 2 พรรษา ศึกษาวิทยาคม จนกระทั่งหลวงพ่อพูนมรณภาพลงในปี พ.ศ.2480 จึงได้กลับมาอยู่ที่วัดธรรมโฆษกอีกครั้ง

ในปี พ.ศ.2497 ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหลวงราชาวาส

พ.ศ.2501 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงราชาวาส และได้รับแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมของพระราชอุทัยกวี (พุฒ) เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี เจ้าอาวาสวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (วัดทุ่งแก้ว) พระอารามหลวง

พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ที่ พระครูอุทัยธรรมกิจ

เหรียญตู้ไปรษณีย์ (หลัง)

 

นอกจากได้รับการถ่ายทอดการฝึกจิตวิชาแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งวิทยาคมด้านอื่นจากหลวงพ่อพูน วัดหนองตางู จ.อุทัยธานี แล้ว

ยังได้ศึกษาจากตำราสมุดข่อยโบราณของหลวงพ่อแป้น อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงราชาวาส เกี่ยวกับยันต์เทพรัญจวน เป็นยันต์เดียวกับที่จารลงในตะกรุดโทน ซึ่งหลวงพ่อป๊อก อดีตเจ้าอาวาสวัดอุโปสถารามใช้อยู่เป็นประจำ

จึงให้ช่างหลี เป็นช่างตัดผมในตลาดอุทัยธานี สักยันต์เทพรัญจวนที่ตัวของท่านที่อกและหลังเป็นที่ระลึกกับหลวงพ่อแป้น และเห็นว่าเป็นยันต์โบราณที่ใช้สืบทอดกันมา ท่านยังได้รับการถ่ายทอดต่อจากพระราชอุทัยกวี หรือท่านเจ้าคุณพุฒ วัดทุ่งแก้ว

ด้วยความสมถะและถือสันโดษมาตลอดระยะเวลาในชีวิตสมณเพศ ชอบศึกษาหาความรู้และอยู่อย่างเงียบๆ มีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย ยึดมั่นในศีลาจารวัตร เคร่งครัดในพระธรรมวินัย

แม้จะมีชื่อเสียงในเรื่องของการสร้างวัตถุมงคลที่เป็นที่นิยมสะสมกันในวงการพระเครื่อง แต่ท่านก็ยึดคำโบราณที่ว่า “ฆ้องดังเองไม่มีคนตี เรียกว่า ฆ้องอัปรีย์ ฆ้องที่ดีต้องมีคนตีถึงจะดัง”

วัตถุมงคลไม่ว่าจะเป็นเสือพุทธาคม ตะกรุดเทพรัญจวน เหรียญและรูปหล่อ สร้างขึ้นมาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ประกอบการปลุกเสกเดี่ยวและใช้เวลายาวนานตลอดไตรมาส หรือ 3 เดือนเป็นส่วนใหญ่ จึงบังเกิดความเข้มขลังในพุทธคุณ

จนเป็นที่เล่าลือโจษขานกันมากมาย

 

วันที่ 1 มีนาคม 2546 เวลา 11.57 น. หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ ละสังขารลงด้วยอาการสงบ

สิริอายุ 91 ปี พรรษา 71

ปัจจุบัน สังขารอันบริสุทธิ์ของท่านยังคงนอนสงบนิ่งภายในโลงแก้วอันโปร่งใส ณ วัดหลวงราชาวาส ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี

เพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่ศรัทธา ตลอดจนบรรดาศิษยานุศิษย์ได้กราบไหว้สักการะ

 

บรรยายภาพ

1.หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ

2.เหรียญตู้ไปรษณีย์ (หน้า)

3.เหรียญตู้ไปรษณีย์ (หลัง)