“อชิรวิทย์” เสนอ โยกงานสีกากีบางส่วนให้ “เอกชน” ถาม “คนกุมอำนาจรัฐ” กล้าปล่อยมือจากตำรวจหรือไม่?

“การปฏิรูปตำรวจ” ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติในยุคนี้ ที่มี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็น ผบ.ตร. ก็ได้ตั้งคณะทำงานรวบรวมปัญหาและเตรียมการปฏิรูปเอาไว้ รวมทั้งมีการปฏิรูประบบการทำงานบางส่วนไปบ้างแล้ว

แต่ดูเหมือนว่าการปฏิรูป “เชิงโครงสร้าง” อย่างที่หลายคนคาดหวัง เสนอ และจับตา ยังไม่เห็นเค้าลางเด่นชัด

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีต รอง ผบ.ตร. และที่ปรึกษาผู้ดำรงตำแหน่ง คสช. (พล.ต.อ.จักรทิพย์) คือผู้หนึ่งซึ่งบรรยายและศึกษาเกี่ยวการปฏิรูปวงการสีกากีมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อทีมข่าวมติชนทีวีติดต่อขอสัมภาษณ์พิเศษถึงมุมมองการปฏิรูปวงการตำรวจ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ ได้ให้แง่คิดน่าสนใจไว้หลายประการ

 

คํากล่าวแรกของอดีต รอง ผบ.ตร. คือ ไม่มีเวลาไหนที่จะเหมาะสมในการปฏิรูปตำรวจได้เท่ากับยุครัฐบาลชุดนี้ ที่เข้ามาทำหน้าที่เฉพาะกิจในการปฏิรูปบ้านเมือง

หลายคนมักพูดถึงพฤติกรรม โครงสร้าง และอำนาจของตำรวจส่วนใหญ่ ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะปฏิรูปไม่ให้เสียของ

สำหรับตน ถ้าหากจะปฏิรูปตำรวจต้องมี 2 เหตุผล คือ หนึ่ง ปฏิรูปแล้วใครจะได้รับประโยชน์? แน่นอนว่าต้องเป็นประชาชน รวมทั้งตำรวจชั้นผู้น้อยที่มีมากกว่า 1.8 แสนคน เนื่องจากเป็นผู้ที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนที่สุด ต้องรับผิดชอบงานมากที่สุด แต่กลับถูกละเลยมากที่สุด

เหตุผลที่สอง คือ เมื่อปฏิรูปแล้ว ต้องเปลี่ยนแบบ “ยกเครื่อง” จึงต้องไม่เอาคนเป็นตัวตั้ง แต่ให้เอาเงินหรืองบประมาณเป็นตัวตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครพูดเรื่องนี้เลย

ในกรณีประเทศไทย ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเรื่องงบประมาณมีอย่างจำกัดจำเขี่ย งบฯ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีประมาณ 1 แสนล้านบาท ฟังดูแล้วเหมือนจะมาก แต่ความจริงคือเป็นงบฯ ค่าจ้างรายจ่ายประจำกว่าร้อยละ 90 อีกไม่ถึงร้อยละ 8 คืองบฯ ลงทุน

ปัจจุบันงบฯ ทั้งหมด หมดไปกับค่าจ้างบุคคล ทำให้ที่ผ่านมาหลายทศวรรษ ตำรวจต้องบริหาร “งบฯ นอกระบบ” มีผลทำให้ตำรวจถูกตำหนิติเตียนจากสื่อและประชาชน

 

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ วิจารณ์ว่าสภาปฏิรูปก็ดี หน่วยงานอื่นๆ ก็ดี ที่มีการเสนอให้ปฏิรูปตำรวจตอนนี้ มองว่าข้อเสนอของพวกเขาเหมือนจะเดินมาถูกทางแล้ว แต่จริงๆ คือ “การเดินอ้อม” ไม่เคยเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “แก่น” ไม่เข้าสู่ประเด็นว่าด้วยคน ที่ควรได้รับประโยชน์จริงๆ เลยสักครั้ง

กลับกลายเป็นว่าในข้อเสนอที่ผ่านมา มีเพียง “ฝ่ายบริหาร” ที่ได้รับประโยชน์ คือมีองค์กรใหญ่ขึ้น แต่หากเอาความจริง เอาเศรษฐกิจบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง ตำรวจมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ เราต้องลงทุน และมองดูสิ่งที่ขาดแคลน

จะเห็นว่างานของตำรวจเป็นภาระที่สาหัส แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครนำประเด็นเรื่องโครงสร้างและงบประมาณมาพูดถึง

ไม่มีใครรู้ว่าที่ตำรวจบ่น เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ทำงานต้องซื้อเองทุกอย่าง ปืนที่พกร้อยละ 99 เป็นปืนที่ตำรวจใช้เงินส่วนตัวซื้อเอง รวมทั้งวิทยุสื่อสาร เช่นเดียวกัน จักรยานยนต์อีกกว่าร้อยละ 70 ทั่วประเทศ ตำรวจก็ซื้อเอง

สิ่งเหล่านี้มีงานวิจัยและผลสำรวจรองรับ คำถามคือภาระการลงทุนตรงนี้ควรจะต้องเป็นของรัฐหรือไม่?

 

อดีต รอง ผบ.ตร. เล่าต่อว่า หากใครได้มีโอกาสไปดูงานที่ประเทศมาเลเซีย จะเห็นว่ารัฐของเขาจัดอุปกรณ์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด

กรณีของมาเลเซียต้องใช้เวลาเกือบ 40 ปี กว่าจะเข้าที่เข้าทาง ในบ้านเรา จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเริ่มทำ ซึ่งถ้าไม่เอางบฯ มาเป็นตัวตั้ง ก็ขอเสนอให้โอนงานตำรวจ ในส่วนของ “การป้องกัน” ไปให้ “เอกชน” ดำเนินการ

เพราะหลายประเทศในโลกที่เขาพัฒนาแล้วก็ทำแบบนี้ โดยจำนวนตำรวจจะลดลงทันที ถ้าเอกชนรับงานบางด้านไปดำเนินการ เพื่อลดภาระงานของตำรวจและสร้างระบบเครือข่ายการป้องกันขึ้นมาทดแทน

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ ชี้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาล คสช. พยายามทำเรื่องนี้ แต่ยังไม่ครบถ้วน เพราะมีช่องโหว่ทางข้อกฎหมายอีกมาก

เช่น ต้องมีการกำหนดให้ชัดว่าผู้ประกอบการชนิดไหนบ้างต้องว่าจ้าง รปภ. มาประจำการ อาทิ ร้านเพชร ร้านทอง หมู่บ้าน โรงงาน โรงเรียน ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ แล้วกำหนดเกณฑ์ให้อำนาจ ป.วิอาญา แก่ รปภ. เหล่านั้น เพื่อจะสามารถตรวจค้น จับ-ควบคุมตัว ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมี รปภ. กว่า 7 แสนคนทั่วประเทศ ถ้ามีการกำหนดคุณวุฒิให้ดี ไม่เคยต้องโทษคดีอาญา และให้ตำรวจเป็นผู้ควบคุมอีกขั้น มีการลงทะเบียนและจัดระบบประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ การระงับเหตุก็จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ทุกวันนี้ แม้จะมีโครงการอาสาอยู่ แต่ยังมีภาระหน้าที่ไม่เด่นชัด ไม่ตรงจุด และไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ

อดีต รอง ผบ.ตร. เห็นว่า หากปฏิรูปตรงจุดนี้ได้ จะทำให้มีตำรวจใกล้เกษียณเลือกตัดสินใจเออรี่รีไทร์ เพื่อนำประสบการณ์ที่มีไปทำงานเป็นหัวหน้าคอยควบคุมบรรดา รปภ. อีกขั้น

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการปฏิรูปตำรวจโดยใช้งบประมาณเป็นตัวตั้ง ซึ่งเมื่อเอกชนมารับดำเนินการงานบางส่วนแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ งบประมาณส่วนที่เหลือก็จะถูกนำไปพัฒนาและตอบแทนแก่ตำรวจที่เหลืออยู่

อาทิ นำไปลงทุนซื้ออาวุธ ทำบ้านพัก จัดหาคอมพิวเตอร์ ยานพาหนะ ให้ตำรวจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจะส่งผลให้การทำงานของตำรวจมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องพึ่งพาอาศัย “งบประมาณนอกระบบ”

แต่หากไม่ลงมือเปลี่ยนแปลง ปัญหาของตำรวจก็จะมีภาวะเป็น “ดินพอกหางหมู” ไปเรื่อยๆ และยังอยู่ในวังวนของการถูกตำหนิไม่รู้จบ

 

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ วิพากษ์ต่อว่า หลายคนอาจจะบอกว่าต้องปฏิรูปและลดปริมาณงานตำรวจลง โดยไปตั้งหน่วยงานเพิ่มในส่วนอื่น หรือผลักภาระไปยังส่วนราชการอื่นๆ ซึ่งต้องถามว่าคุ้มทุนหรือไม่?

เช่น การโอนย้ายหน่วยงานที่สังกัดกับตำรวจออกไปที่กระทรวงยุติธรม ซึ่งมีงานวิจัยชี้ชัดว่า ตำรวจสามารถทำงานในปริมาณคดีที่มากกว่า ด้วยงบประมาณเท่าๆ กัน

นอกจากนี้ “การแทรกแซงทางการเมือง” ก็เป็นอีกปัญหาที่ถูกกล่าวถึงทุกครั้ง ส่วนตัว ตนไม่เคยปฏิเสธความจริงที่ว่าตำรวจเป็นกลไกหนึ่งของรัฐในการควบคุมบังคับใช้กฎหมาย

เมื่อเป็นกลไกของรัฐ ใครเป็นคนกุมอำนาจรัฐ คนนั้นก็กุมตำรวจด้วย สมัยคุณยิ่งลักษณ์ คุณอภิสิทธิ์ มาจนถึง พล.อ.ประยุทธ์ ก็กุมอำนาจรัฐตรงนี้ ต้องถามกลับว่าผู้กุมอำนาจเหล่านี้จะยอมปล่อยอำนาจหรือไม่?

เช่นเดียวกันกับ “ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง” สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขให้หมดไปได้อย่างยั่งยืน ถ้าคนกุมอำนาจรัฐยอมปล่อยอำนาจในการควบคุมตำรวจ และให้ตำรวจคิดกลไกควบคุมกันเอง

ที่ผ่านมาได้เคยทดลองวิธีนี้มาบ้างแล้ว อาทิ ใครจะได้รับการโปรโมตขึ้นเป็น “หัวหน้าสถานีตำรวจ” ต้องให้ลูกน้องโหวตรับรอง

ตามเกณฑ์อันประกอบด้วยการมีภาวะผู้นำ ความเข้าใจหัวอกผู้ใต้บังคับบัญชา มีความรู้ความสามารถ งานสืบ งานสอบ งานจราจร เข้าใจลึกซึ้ง มีสติปัญญากว้างไกล ที่สำคัญคือด้านคุณธรรมจริยธรรม ว่าเอาประโยชน์หรือไม่ ลูกน้องคุณจะเห็นเอง

หากนำเอาเสียงยอมรับจากผู้ปฏิบัติงานหมู่มากมาใช้พิจารณาในการเลื่อนขั้น เพื่อจะได้เลือกตัวเลือกที่ดีที่สุดมาเป็นผู้บริหารในทุกๆ ระดับชั้น “เงิน” ก็จะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ถูกใช้ในการวิ่งเต้นอีกต่อไป

ที่สำคัญผู้บังคับบัญชาต้องให้โอกาสลูกน้องได้เจริญเติบโต เพื่อจะได้มีคนดีมีความสามารถมาดูแลประชาชน หากเอาคนชั่วขึ้นมาก็ไม่มีใครยอมรับ ด้วยหลักการเช่นนี้ ตำรวจจึงต้องควบคุมกันเอง

แต่ตนอยากถามอีกครั้งว่า ผู้กุมอำนาจรัฐจะยอมหรือไม่!!??

 

สอดคล้องกับการเลือก ผบ.ตร. ที่ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน เคยเสนอให้ผู้กำกับทั่วประเทศมาเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกนั้น

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ มองว่าแค่เอาระดับ พล.ต.ท. ขึ้นไปมาลงคะแนนก็น่าจะเพียงพอ เพราะผู้ปฏิบัติงานเหล่านั้นก็พอรู้ได้ว่าใครมีความซื่อสัตย์ มีความสามารถ สุจริต ทำงานได้

ที่สำคัญคือ ถ้าคนกุมอำนาจรัฐให้โอกาส ผบ.ตร. ได้ทำงานเต็มที่ อะไรๆ ก็จะดีขึ้น

อดีต รอง ผบ.ตร. นักวิชาการ ฝากทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ปัจจุบัน ตนไม่ห่วงอะไรในวงการตำรวจเลย เพราะสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่ เป็นสิ่งที่ทำกันมานาน ตั้งแต่ก่อนตนเองจะเป็นตำรวจ มันจึงห่วงจนหายห่วงแล้ว

แต่ตนมี “ความหวง” มากกว่า หวงชื่อเสียงเกียรติยศขององค์กรที่ต้องช่วยกันทะนุถนอม และคิดว่าต้องทำอย่างไรให้ตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ถ้ารัฐบาลชุดนี้ปฏิรูปตำรวจได้จริงและทำอย่างเป็นระบบ ประชาชนเขาจะสรรเสริญ ที่สำคัญ รัฐบาลควรให้โอกาส ผบ.ตร. คนนี้ ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อแก้ไขปัญหาของตำรวจชั้นผู้น้อย ให้พวกเขาเงยหน้าอ้าปากได้ มีขวัญกำลังใจที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเครื่องมือพร้อมบริการประชาชน

“ก็ได้แต่หวังว่ายุคนี้จะทำอะไรได้มากกว่ายุคที่ผ่านมา … และไม่เสียของ” พล.ต.อ.อชิรวิทย์ ฝากความหวังเอาไว้