เศรษฐกิจ / ส่องผลมาตรการ ธปท.คุมบัตรเครดิต 1 ปี แบงก์ปรับทัพจับกลุ่มลูกค้าเป๋าตุง-มือเติบ ทำโคแบรนด์ผนึกห้างใน-นอก ปท.สู้กันมันหยด!!

เศรษฐกิจ

 

ส่องผลมาตรการ ธปท.คุมบัตรเครดิต 1 ปี

แบงก์ปรับทัพจับกลุ่มลูกค้าเป๋าตุง-มือเติบ

ทำโคแบรนด์ผนึกห้างใน-นอก ปท.สู้กันมันหยด!!

 

ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้มีมาตรการออกมากำกับดูแลสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน

หนึ่งในนั้นคือ บัตรเครดิต เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย และเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อนอาจจะส่งผลต่อวินัยทางการเงิน ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นและบางรายที่มีการถือบัตรหลายใบ

ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ไม่สามารถชำระหนี้ได้จนกลายเป็นหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่สูงนัก

เกณฑ์ที่ออกมาจึงได้ปรับลดการอนุมัติสินเชื่อบัตรเครดิตจากเดิมที่ให้ 5 เท่าของรายได้ มาเป็นให้วงเงินสินเชื่อ 1.5 เท่าของรายได้กรณีเงินเดือนต่ำกว่า 3 หมื่นบาท

ขณะที่เงินเดือนมากกว่า 3 หมื่นบาทแต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาท อนุมัติ 3 เท่าของรายได้

และเงินเดือนมากกว่า 5 หมื่นบาทขึ้น วงเงินอนุมัติสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ ทั้งนี้ ยังได้ลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากเดิม 20% ลงมาที่ 18% ด้วย

ดังนั้น การลดดอกเบี้ยทำให้รายได้หาย จากเดิมอยู่ที่ 100% จะลดลงไปราว 20%

 

ภาพรวมสินเชื่อบัตรเครดิต ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 สมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า ยังไม่เห็นการขยายตัวของสินเชื่อเปลี่ยนแปลงไป สินเชื่อบัตรเครดิตยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สอดคล้องไปกับการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนว่าประชาชนยังมีการจับจ่ายใช้อยู่

ข้อมูลรายงานจำนวนบัตรเครดิต ปี 2561 ของ ธปท. เดือนมกราคม-มิถุนายน พบว่า จำนวนบัตรยังขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเดือนมกราคมอยู่ที่ 20.38 ล้านใบ เพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ เป็น 20.49 ล้านใบ มีนาคมอยู่ที่ 20.60 ล้านใบ และเพิ่มเป็น 20.72 ล้านใบในเดือนเมษายน ขณะที่เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนอยู่ที่ 20.86 ล้านใบ และ 21.03 ล้านใบ ตามลำดับ

ทั้งนี้ จากรายงานผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ พบว่า สินเชื่อบัตรเครดิต ตั้งแต่ช่วงต้นปียังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยช่วงไตรมาสแรก 2561 มีสินเชื่อคงค้าง 2.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นมาที่ 2.12 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 2

และสิ้นไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นเป็น 2.16 แสนล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้เล่นในตลาดบัตรเครดิต ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ยังมีการแข่งขันกันดุเดือด

แต่เห็นการทำการตลาดที่เปลี่ยนไปมุ่งเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

อย่างฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรีคอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กลยุทธ์การตลาดของธุรกิจบัตรเครดิตจะเห็นหลากหลายมากขึ้น และจะเน้นกลุ่มลูกค้าเฉพาะมากขึ้นโดยใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์

สำหรับกลยุทธ์หนึ่งที่ทำกันมานานแล้วคือ บัตรเครดิตโคแบรนด์ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของฐานลูกค้าใหม่หรือผู้ถือบัตรใหม่ หากนับกลุ่มเริ่มทำงาน หรือเฟิร์สต์ จ็อบเบอร์นั้น จะมีอยู่ราวปีละ 4 แสนคน

ขณะเดียวกันแต่ละปีก็มีคนยกเลิกหรือปิดใช้บัตรเครดิต ดังนั้น การจะขยายฐานลูกค้าได้เร็วจะต้องร่วมกับธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งของฐานลูกค้า

อย่างในต่างประเทศมีการออกบัตรโคแบรนด์ร่วมกับห้างสรรพสินค้า สายการบิน หรือค่ายมือถือต่างๆ โดยบัตรโคแบรนด์นี้เป็นบัตรที่ใช้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น อาจจะไม่ใช่บัตรเครดิตใบแรก

สำหรับธนาคาร ล่าสุดได้เปิดตัวบัตรเครดิตโคแบรนด์ สยาม ทาคาชิมายา ห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์จากญี่ปุ่นแห่งใหม่ที่อยู่ในโครงการไอคอนสยาม ซึ่งโครงการแวดล้อมไปด้วยโรงแรม 5 ดาวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น กลุ่มลูกค้าหลักของบัตร คือกลุ่มที่อยู่อาศัยใกล้กับโครงการไอคอนสยาม ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาอยู่ในไทย กลุ่มคนที่ชอบอาหารและสินค้าญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์

ทั้งนี้ ธนาคารจะมีการมอบสิทธิประโยชน์พิเศษให้กับลูกค้า อาทิ บริการที่จอดรถในห้างสรรพสินค้าสำหรับผู้ถือบัตร ส่วนลดในการช้อปปิ้งต่างๆ และบริการห้องรับรอง (เลานจ์) ที่สนามบินด้วย

ในส่วนรายได้ของธุรกิจบัตรเครดิตลดลง จากดอกเบี้ย 20% เหลือ 18% มีผลกระทบต่อรายได้บ้าง ธนาคารต้องปรับตัว การจับกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อใบเสร็จสูง แต่ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายแล้วชำระคืนเต็มจำนวน

ดังนั้น รายได้จากดอกเบี้ยของกลุ่มนี้ไม่มากนัก แต่ลูกค้ากลุ่มนี้มีการเดินทางและมีการใช้จ่ายต่างประเทศ ซึ่งทำให้ยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียมเข้ามา ทั้งนี้ ปีนี้แรงกดดันจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ไม่มากนัก ทำให้ยังสามารถทำโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดได้

 

ขณะที่นอนแบงก์รายใหญ่ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี โดยพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต เคทีซี ระบุว่า เคทีซีมีบัตรโคแบรนด์ร่วมกับพันธมิตร เช่น โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ บางจาก รวมทั้งการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ส และจะปรับภาพลักษณ์บัตรเคทีซี บางกอกแอร์เวย์สใหม่ด้วยภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะมีการปรับรูปแบบและมอบสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้าสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น โดยลูกค้าให้การตอบรับดี

ด้านการขยายฐานลูกค้าใหม่มีแผนจะขยายฐานให้หลากหลายมากขึ้น จากฐานลูกค้าส่วนใหญ่อัตราเงินเดือน 15,000-75,000 บาท

นอกจากนี้ เคทีซีได้ช่วยบริหารฐานลูกค้าผู้ประกอบการหรือกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่ง ให้กับธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ หรือเรียกว่า เคทีซี-เคทีบี พรีเชียสพลัส โดยให้สิทธิพิเศษต่างๆ อาทิ บริการสำรองพื้นที่จอดรถบริการอัพเกรดตั๋วโดยสารภายในประเทศจากชั้นประหยัดเป็นชั้นธุรกิจ บริการห้องรับรองพิเศษระหว่างประเทศของการบินไทย ส่วนลดประกันรถยนต์ชั้น 1 โดยทิพยประกันภัย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเห็นธนาคารอื่นๆ ออกบัตรโคแบรนด์ร่วมกับห้างสรรพสินค้า อาทิ ธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมกับสยามพิวรรธน์ ผู้บริหาร 3 ศูนย์การค้า ได้แก่ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ภายใต้บัตรเครดิตวันสยามกสิกรไทย ขณะที่ไทยพาณิชย์ ได้ร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์เปิดตัวบัตรเครดิต เอสซีบีเอ็ม หรือธนาคารธนชาตที่เน้นกลุ่มท่องเที่ยว สามารถสะสมคะแนนและแลกไมล์ได้ทั่วโลกทุกสายการบินผ่านบัตรเครดิตธนชาตบลูไดมอนด์ รวมทั้งธนาคารซิตี้แบงก์ ที่รุกตลาดกลุ่มไฮเอนด์เต็มที่ เน้นบัตรเครดิตสำหรับการช้อปปิ้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมดึงอารยา เอ ฮาร์เก็ต พรีเซ็นเตอร์แคมเปญการตลาด เป็นต้น

แม้ว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะมีแรงกดดันด้านรายได้ที่หายไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะยุคดิจิตอล นอกจากการเข้ามาของพร้อมเพย์ที่ฟรีค่าธรรมเนียมการโอนเงินแล้ว ช่วงต้นปีที่ผ่านมาธนาคารต่างๆ ยังได้ยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิตอลทั้งหมด

ดังนั้น ในธุรกิจของธนาคารจะต้องปรับตัวเพื่อยังสร้างรายได้ เช่นเดียวกับบัตรเครดิตในปัจจุบันแม้ว่าจะมีแรงกดดันแต่ช่วง 1 ปีที่ผ่านมายังมีการขยายตัวได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการจับทิศทางตลาดอย่างไร แต่หลังจากนี้ยังต้องติดตามว่า นอกจากการแข่งขันสิทธิประโยชน์หรือโปรโมชั่นที่ทุกค่ายบัตรเครดิตสามารถทำได้เหมือนกันแล้ว แต่ละค่ายจะมีการงัดกลยุทธ์ออกมาแข่งขันกันอีกอย่างไร

    ซึ่งการแข่งขันย่อมดีต่อผู้บริโภคนั่นเอง!