ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 พฤศจิกายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | กรองกระแส |
เผยแพร่ |
กรองกระแส
เส้นแบ่ง การเมือง
คำประกาศ พลังประชารัฐ
2 แนวรบ 2 แนวทาง
แม้คำประกาศของพรรคพลังประชารัฐที่ว่าพร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งจะเป็นคำประกาศที่สังคมคาดหมายและรับรู้กันอยู่แล้ว
แต่ก็ถือว่าคำประกาศนี้คือการยอมรับอย่างเป็น “ทางการ”
ยอมรับว่า ที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค ยอมรับว่า ที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มาดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค
เป็นเรื่องที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับการจัดตั้งและสร้างพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาเพื่อเป้าหมายใดในทางการเมือง
ยิ่งเห็นรายชื่อนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกพรรค
ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค
ยิ่มแจ่มแจ้งจางปางในทางการเมือง
การก่อรัฐประหาร
รากฐานพลังประชารัฐ
อย่าได้แปลกใจหากจะมีอดีต ส.ส.คนหนึ่งซึ่งสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐออกมาแถลงว่า การทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
อย่าได้แปลกใจหากคณะผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐมีรากมาจาก “รัฐประหาร”
การเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐพร้อมกับการประกาศสืบทอดอำนาจ คสช. โดยสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป คือความแจ่มชัด
แจ่มชัดว่าเหตุใดพรรคนี้จึงได้ชื่อว่า “พลังประชารัฐ”
แจ่มชัดว่าไม่เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรารถนาที่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป หากแต่แจ่มชัดว่า นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค ก็ต้องการที่จะสานต่องานบริหารจากที่ทำมาแล้วอีกต่อไป
ความแจ่มชัดทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ความสงสัยของสังคมได้มีคำตอบอย่างเป็นทางการ หากแต่ยังเสนอคำถามต่อไปอีกว่า ประชาชนจะตัดสินใจอย่างไร
คำถามนี้ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 มีคำตอบ
ความแจ่มชัด การเมือง
แจ่มชัด พลังประชารัฐ
เส้นแบ่งอย่างสำคัญจากพรรคพลังประชารัฐ คือ เส้นแบ่งระหว่างพรรคการเมือง 2 กลุ่ม 2 แนวทางที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
1 คือพรรคที่เห็นด้วยกับ “รัฐประหาร” 1 คือพรรคที่ยืนไม่เห็นด้วยกับ “รัฐประหาร”
1 คือพรรคที่ร่วมงานกับคณะรัฐประหารคือ คสช.ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา 1 คือพรรคที่อยู่ตรงกันข้ามกับคณะรัฐประหารคือ คสช.
1 คือพรรค คสช.และพันธมิตร 1 คือพรรคตรงกันข้ามกับ คสช.และพันธมิตร
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วก็คือ เป็นเส้นแบ่งระหว่างผลงานการบริหารงานของ คสช.ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมากระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จอย่างรุ่งโรจน์หรือว่าสร้างปัญหาอย่างมากมาย
เส้นแบ่งนี้ง่ายเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะแยกจำแนกและตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยกับพรรคการเมืองใด และไม่เห็นด้วยกับพรรคการเมืองใด
ในที่สุดแล้วก็คือ เห็นด้วยกับรัฐประหาร ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร
ในที่สุดแล้วก็คือ เห็นด้วยกับโครงสร้างและวิธีวิทยาในแบบเผด็จการ หรือเห็นด้วยกับโครงสร้างและวิธีวิทยาในแบบประชาธิปไตย
ในที่สุดแล้วก็คือ เลือก คสช. หรือไม่เลือก คสช.
2 แนวทาง 2 แนวรบ
มาจากความเป็นจริง
เหมือนกับแนวคิดเอาด้วยกับ คสช. ไม่เอาด้วยกับ คสช. จะเป็นการคิดประดิษฐ์สร้างขึ้นมาโดยบางพรรคการเมืองซึ่งเป็นคู่สัประยุทธ์กัน
ไม่ใช่เลย
แนวคิดที่แบ่งแยกเป็น 2 แนวทาง 2 แนวรบเช่นนี้มาจากสภาพความเป็นจริงนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา
โดยมีผลงาน ความสำเร็จ ความล้มเหลว เป็น “เดิมพัน”
เวลาจากเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมากระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 สามารถให้คำตอบได้เป็นอย่างดีว่า คสช.อันเป็นผลผลิตจากกระบวนการรัฐประหาร สร้างผลงานและสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนได้กว้างขวางมากน้อยเพียงใด
การพิจารณาของประชาชน และการตัดสินใจด้วยบัตร 1 ใบที่มีอยู่ในมือนั้นแหละคือคำตอบสุดท้ายอย่างเป็นจริง