คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “ระฆัง” กับผีพราหมณ์พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ที่จริงช่วงมีกรณีพิพาทระหว่างวัดกับคอนโดฯ กลางกรุงเรื่องการตีระฆังของวัดนั้น ผมไปต่างประเทศและยุ่งๆ กับการเตรียมเสนอผลงาน จึงไม่ได้เขียนอะไรมาให้ทันสถานการณ์ตอนนั้น

ที่จริงเรื่องนี้น่าสนใจนะครับ เพราะคล้ายๆ มีคนพยายามแย้งว่าการตีระฆังเป็นประเพณีของพุทธศาสนาซึ่งมีมาก่อนคอนโดฯ ก็ควรรักษาไว้

ไอ้เรื่องอะไรมาก่อน-หลังนี่ บางทีก็ใช้เป็นเหตุผลได้ยาก หรือการอ้างทำสืบๆ กันมา หรืออ้างประเพณีนี่ก็ชวนให้กังขาได้เหมือนกัน เพราะสิ่งที่สืบๆ กันมาอาจมีทั้งดีและไม่ดีได้ทั้งนั้น

ดังนั้น ในเรื่องความขัดแย้งแบบนี้ แต่ละฝ่ายก็ควรคุยกันให้รู้เรื่องถึงผลได้ผลเสียจะดีกว่า

 

ถ้าถามผม การตีระฆังในช่วงเวลาเช้าตรู่และพลบค่ำเป็นประเพณีพุทธศาสนาหรือไม่

ผมคิดว่าไม่ เพราะในอุษาคเนย์แต่โบราณมีการใช้ระฆังหรือกังสดาลหินมานานแล้ว

มีบทความของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ท่านว่า มีการใช้ “กังสดาลหิน” ก่อนรับพุทธและพราหมณ์จากอินเดีย ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีอยู่

ครั้นรับพุทธ-พราหมณ์จากอินเดียแล้ว ก็ใช้ถวายเป็นของพุทธบูชาที่พบในวัดและพระธาตุต่างๆ แล้วค่อยๆ พัฒนาการมาเป็นเครื่องตีหรือเครื่องกระทบโลหะ

มิได้หมายความว่าในอินเดียหรือในที่อื่นจะไม่มีประเพณีใช้เครื่องดนตรีเหล่านี้ เพราะในอินเดียเองมีประเพณีของพราหมณ์ในการใช้เครื่องดนตรีต่างๆ ในพิธีกรรมซึ่งก็น่าจะมาก่อนพุทธศาสนานั่นแหละ

แต่เรื่องนี้ออกจะซับซ้อนสำหรับผม เพราะในอุษาคเนย์เรื่องนี้เป็นเรื่องประเภทไม่ได้ “รับมา” ล้วนๆ มีการผสมผสานกันอยู่ในที

กล่าวคือ ในสมัยโบราณเราก็ใช้เครื่องดนตรีเหล่านี้ในพิธีกรรมของชุมชน และเคารพนับถือเครื่องดนตรี โดยเฉพาะ “กลอง” ไม่ว่าจะสำริดหรือ “ขึงหนัง” เครื่องกระทบโลหะ เช่น ระฆัง กังสดาล ซึ่งมีมาภายหลังของกระทบหิน นับถือของพวกนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนและเป็นสมบัติของผู้หญิง

ครั้นถึงเวลาหนึ่งในรอบปี ก็ต้องมาเซ่นวัก บวงสรวงบูชาผีในเครื่องดนตรีเหล่านั้น ซึ่งจะค่อยๆ กลายเป็น “พิธีไหว้ครู” จริงๆ แล้วก็พัฒนามาจากการเซ่นไหว้เครื่องมือทำมาหากินและเครื่องดนตรีของชุมชนในเดือนห้านั่นเอง

 

หลักฐานอันหนึ่ง ซึ่งอยู่ในประเพณีไหว้ครูดนตรีหรือปี่พาทย์จวบจนปัจจุบัน คือการที่จะต้องยกเอา “ตะโพนไทย” ไว้สูงกว่าเครื่องดนตรีทั้งหลาย เป็นประธานของเครื่องดนตรีไหว้ครู ต้องมีการทำ “รัดอก” คือผ้าขาวพันรอบ และแม้ไม่ใช่ในพิธีไหว้ครู หากนำวงปี่พาทย์ไปบรรเลงที่ใดก็ไหว้ครูที่ตะโพนด้วย

เคยมีผู้รู้อธิบายว่า ในหมู่นักดนตรีเชื่อว่าตะโพนเป็นตัวแทนของ “พระปรคนธรรพ” แต่มีผู้ตีความไปอีกชั้นว่าตะโพนไทยเป็นภาพลักษณ์ของ “ครูแขก” (พราหมณ์-ฮินดู) หรือ คือเครื่องดนตรีจากอินเดีย (อย่างน้อยๆ ก็ในจินตภาพ) เช่น พวกกลองมฤทังค์ เพราะนอกนั้นก็ล้วนเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น ระนาด ฆ้อง ฯลฯ เราจึงต้องกราบไหว้ตะโพน

แต่ผมคิดว่า ไม่ใช่เพราะตะโพนมีภาพลักษณ์ของเครื่องดนตรีจาก “ครูอินเดีย” หรือครูพราหมณ์เพียงแค่นั้น แต่เรานับถือ “กลอง” ต่างๆ ของชุมชนว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้วมาก่อน (ดังมีเจ้าพ่อหอกลองในเมือง หรือหอกลองบูชาตามวัด ซึ่งนับถือกัน) ครั้นรับความเชื่ออินเดียมาก็ผสมเข้ากันกับความเชื่อท้องถิ่น การยกให้ตะโพนเป็น “พระปรคนธรรพ” ก็ง่ายดายเข้ากันได้พอดี

พระปรคนธรรพ แม้จะชื่ออินเดีย แต่ก็หาไม่เจอในสารบบเทพฮินดูนะครับ บ้างก็ว่าเป็นพระนารทมุนี บ้างก็ว่าเป็นฤๅษีสักองค์ที่เกี่ยวกับดนตรี แต่ผมคิดว่า เป็นการ “ทำให้เป็นอินเดีย” มากกว่า


ส่วนเรื่องระฆังและการย่ำระฆัง (ซึ่งมักทำกับกลอง) มีในประเพณีพราหมณ์มาก่อน พราหมณ์จะย่ำระฆัง ในช่วงเวลา “สนธยา” คือรอยเชื่อมต่อระหว่างกลางคืน-กลางวัน (รุ่งอรุณ) และกลางวัน-กลางคืน (โพล้เพล้)

การย่ำระฆัง (และกลอง) ในช่วงสนธยาจะทำควบคู่ไปกับการทำพิธีบูชาประจำวัน ในปัจจุบันทำบูชาและเวียนประทีป “อารตี” ไปพร้อมกับการย่ำระฆัง

หากท่านไปเทวสถานฮินดูในสองช่วงเวลานี้ ก็จะมีศาสนิกสั่นระฆัง หรือตีกังสดาลตลอดพิธีกรรมในเวลาทั้งสองนี้

แม้แต่ในพิธีบูชาย่อยๆ ระฆังหรือกระดิ่งก็เป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ในพิธี ซึ่งเรียกว่า “ฆาณฏา” หรือฆาณฏี และจะต้องทำบูชาไปพร้อมกับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น สังข์ หม้อน้ำ (กลัศ) ฯลฯ ก่อนเริ่มพิธีกรรมหรือก่อนใช้งาน เพราะถือว่ามีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่

บางท่านกล่าวว่า การใช้ระฆังในพิธีกรรม เท่ากับเป็นการ “ประโคม” หรือทำหน้าที่แทนการบรรเลงดนตรีถวายเทพเจ้า เพียงแต่เป็นแบบย่อๆ

ครูพราหมณ์ของผมท่านว่า ในระบบความเชื่อเรื่องธาตุ ระฆังในการประกอบพิธีนั้น เป็นตัวแทนของ “อากาศธาตุ” ตามทัศนะฮินดู เนื่องจากเสียงจะต้องใช้อากาศเป็นสื่อกลาง การบูชาระฆังในพิธีก็เพื่อเป็นการทำให้อากาศธาตุบริสุทธิ์และสื่อนัยถึงการบูชาด้วยธาตุทั้ง 5 ไปจนถึงอายตนะทั้ง 5

นอกจากนี้ มีหลายท่านอธิบายว่าการตีระฆัง (และกลอง) “ย่ำยาม” นั้น เป็นการบอก “เวลา” ในสมัยโบราณด้วย แต่ผมคิดว่า หน้าที่นี้มีมาทีหลัง และเป็นหน้าที่ชั้นรอง

เพราะที่จริงการย่ำระฆัง (และกลอง) ในเวลาเช้ามืดและพลบค่ำ เป็น “พิธีกรรม” มากกว่าจุดมุ่งหมายเรื่องการบอกเวลา ซึ่งนอกจากจะเป็นการบูชาเทพ (และพระสุริยาทิตย์ อันเป็นเทพสำคัญ ซึ่งเคลื่อนที่ในเวลาสนธยาแล้วด้วย) ยังมีอีกหน้าที่ซึ่งโบราณมากๆ

ได้แก่ การ “ไล่” สิ่งเลวร้ายต่างๆ นั่นเอง สิ่งเลวร้ายในสมัยโบราณที่ว่า ก็คือบรรดา “สัตว์ป่า” เพราะมนุษย์ในอดีตตั้งชุมชนเล็กๆ ใกล้แนวป่า คงจะถูกสัตว์ป่าคุกคามบ่อยครั้ง เครื่องกระทบโลหะมีเสียงซึ่งช่วยไล่สัตว์ป่าได้ การย่ำระฆังในเวลาเช้าคือไล่ก่อนเราจะออกไปทำมาหากิน กับไล่ในเวลาค่ำก่อนที่พวกสัตว์จะออกหากิน

ภายหลังจึงค่อยๆ อธิบายเสียใหม่ว่าสิ่งที่ระฆังไล่ไปนั้นคือภูตผีปีศาจต่างๆ แต่หน้าที่ของมันเรียบง่ายมากดังที่กล่าวไปแล้ว ในบทสวดบูชาระฆังของพราหมณ์ท่านถึงว่า ระฆังเป็นเครื่อง “รักษา” อย่างหนึ่ง

 

เมื่อพุทธศาสนารับเอาประเพณีเหล่านี้ ไม่ว่าจะจากพราหมณ์ หรือที่ผสมกับพื้นเมืองของอุษาคเนย์แล้วก็ได้เพิ่มความหมายตามคติพุทธลงไป เช่น การตีเพื่อเป็น “พุทธบูชา” หรือเป็นเสียงปลุกสรรพสัตว์ให้ “ตื่น” ขึ้น

ข้อถกเถียงเรื่องการตีระฆัง จึงไม่ใช่แค่เรื่องการพูดถึงหน้าที่ของมันในเรื่องการบอกเวลาเท่านั้น เพราะลึกลงไปมันมีนัยเชิงพิธีกรรมความเชื่อแฝงอยู่ด้วยหลายชั้น

ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่า ผมสนับสนุนให้สืบทอดพิธีกรรมนะครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการสืบทอดคติความเชื่อกับผลกระทบโดยรวมต่อสังคม เช่น ตีให้เบาลงมากๆ ตีแค่บางวัน ฯลฯ

หรือสุดท้ายหากพิจารณาแล้วว่า มันไม่ใช่ “สิ่งจำเป็น” ต่อพุทธศาสนาขนาดนั้น จะยกเลิกไปเลยหรือปรับแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดนี้ผมก็ยังคิดไม่ออก แต่อย่างน้อยให้ผู้คนมีข้อมูลสักนิดว่า เจ้าพิธีกรรมนี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ก็น่าจะช่วยให้การถกเถียงมีความลุ่มลึกซับซ้อนขึ้น

ไม่ใช่เถียงกันข้างๆ คูๆ อ้างศาสนา อ้างประเพณีอย่างที่เห็น