ความตายของเซียวฟง : ชาติ และความเป็นคน ในแปดเทพอสูรมังกรฟ้า ของกิมย้ง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“แปดเทพอสูรมังกรฟ้า” เป็นชื่อนิยายกำลังภายในระดับที่ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในเพชรยอดมงกุฎของ “กิมย้ง” (หรือจินยงในภาษาจีนกลาง) ที่ น.นพรัตน์ (นามปากกาของสองพี่น้อง อานนท์และอำนวย ภิรมย์อนุกูล แต่ปัจจุบันคุณอานนท์ หรือที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นธนทัศน์ ได้เสียชีวิตไปแล้ว) แปลมาจากคำว่า “เทียนหลงปาปู้”

ที่จริงแล้ว ถ้าจะแปลออกมาเป็นภาษาไทยกันอย่างตรงตัว ชนิดถอดคำมาทั้งกระบิ ชื่อนิยายเรื่องนี้ก็จะถอดความได้ว่า “มังกรฟ้าแปดประเภท” ซึ่งไม่ได้หมายถึง มังกรแปดชนิด เพราะที่จริงในจีนหมายถึง กลุ่มของสิ่งมีชีวิตทรงฤทธิ์แปดประเภท (ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมีเฉพาะในจินตนาการ จึงไม่ได้มีชีวิตอยู่จริงๆ ก็เถอะ) ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร ของพระพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน ต่างหาก

ส่วนเจ้าสิ่งมีชีวิตทรงฤทธิ์แปดชนิดที่ว่านี่ประกอบไปด้วย เทพ, อสูร (ตามต้นฉบับภาษาสันสกฤตว่าเป็นเปรต แต่ถ้านักแปลปากกาคู่อย่าง น.นพรัตน์ แปลออกมาว่า แปดเทพเปรตมังกรฟ้า มันคงไม่ค่อยน่าอ่านเท่าไหร่?), มังกร (แน่นอนว่าที่จริงแล้ว คัมภีร์ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าคือ นาค เพราะแต่งขึ้นในอินเดีย แต่ถ้าพี่จีนเขาจะแปลว่ามังกร ตามอย่างพิมพ์นิยมในชาติแล้ว ใครจะทำอะไรเขาได้?), ครุฑ, ยักษ์, คนธรรพ์, กินนร และมโหราค (งูใหญ่ชนิดหนึ่ง มีตัวเป็นคน มีหางเป็นงู แต่บางทีก็มีหัวเป็นงู แล้วก็มีตัวเป็นคนแทน)

ประเด็นก็คือ นิยายกำลังภายในไปเกี่ยวอะไรกันกับเจ้าสัตว์ประหลาดพวกนี้ เพราะในนิยายก็ไม่ได้มีการพูดถึงทั้งคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร และแปดเทพอสูรมังกรฟ้าอะไรเลยด้วยซ้ำ?

 

แต่ก็เป็นเพราะอย่างนี้แหละครับ จึงทำให้ใครหลายคนในแวดวงนักอ่านนิยายกำลังภายใน ทั้งไทยและเทศ ต่างก็มักจะพยายามเดาไปต่างๆ นานาให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ว่า กิมย้งได้สร้างตัวละครตัวไหนในเรื่องให้เป็นสัญลักษณ์ของเทพ อสูร มังกร ยักษ์ ครุฑ หรือว่าตัวอื่นๆ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นการเดาเอาเหมือนกันทั้งนั้น

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว กิมย้งไม่ได้เคยบอกเอาไว้ที่ไหนเลยสักนิดว่า เขาตั้งใจใช้ชื่อเรื่องอย่างนี้ เพื่อสร้างตัวละครให้เป็นสัญลักษณ์หมายถึงเทพอสูรมังกรฟ้าทั้งแปดชนิดหรือเปล่า?

และถ้าจะพูดให้ถึงที่สุดแล้วก็ดูเหมือนว่า กิมย้งจะไม่เคยอธิบายถึงที่มาที่ไปของชื่อนิยายเรื่องนี้เลยเสียด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม การได้พยายามที่จะเดาอะไรอย่างนี้ ก็ดูจะเป็นความสุขอย่างหนึ่งของผู้อ่านนิยายเรื่องนี้ไปแล้ว และความเห็นทำนองนี้ที่ดูจะถูกพูดถึงมากที่สุด ก็คือความเห็นของเหง่ยคัง ซึ่งเพื่อนสนิทคนหนึ่งของกิมย้ง แถมยังเป็นทั้งนักเขียนนิยายกำลังภายใน และนักวิจารณ์นิยาย โดยเฉพาะนิยายกำลังภายในนี่เอง

ดังนั้น จึงเป็นความเห็นที่ถูกใครหลายคนให้ราคามากเป็นพิเศษ

ความเห็นของเหง่ยคังก็คือว่า แรกทีเดียวเมื่อเริ่มเขียนนิยายเรื่องนี้ กิมย้งก็คงจะกำหนดเอาไว้ว่า ตัวละครคนไหนหมายถึงตัวอะไรในแปดเทพอสูรมังกรฟ้า

แต่เขียนไปเขียนมาแล้ว กิมย้งคงจะควบคุมจินตนาการที่เพริศแพร้วของตนเองไม่ได้ เลยไม่มีใครเป็นสัญลักษณ์ของตัวอะไรในแปดเทพอสูรมังกรฟ้าของพุทธศาสนาอย่างชัดเจน

แต่นี่ก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของเหง่ยคังเท่านั้น กิมย้งไม่ได้เคยออกมาเฉลยเลยว่า ความเห็นของเพื่อนสนิทคนนี้ถูกหรือว่าผิดมันทั้งดุ้น ดังนั้น ต่อให้เป็นความเห็นที่ออกมาจากคนใกล้ตัวของผู้เขียนนิยายเรื่องนี้เอง ก็ใช่ว่าจะถูกต้องไปเสียหมด

 

แปลกดีนะครับที่ใครหลายคนก็รู้กันอยู่ว่า กิมย้งเอาคำ “แปดเทพอสูรมังกรฟ้า” มาจากคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร แต่กลับไม่มีใครคิดที่จะไปพลิกดูคัมภีร์ในศาสนาเล่มนี้เลยสักนิดว่า นอกเหนือจากที่เจ้าแปดเทพอสูรมังกรฟ้าจะหมายถึงสิ่งมีชีวิตทรงฤทธิ์แปดประเภทแล้ว ในคัมภีร์เล่มนี้จะกล่าวถึงแปดเทพอสูรมังกรฟ้าทำไมกัน?

อันที่จริงแล้ว ในสัทธรรมปุณฑริกสูตรนั้นมีการกล่าวถึงแปดเทพอสูรมังกรฟ้าอยู่หลายตอนเลยทีเดียว แต่ไม่ได้เป็นการกล่าวถึงเจ้าสิ่งมีชีวิตทรงฤทธิ์เหล่านี้เป็นการเฉพาะ เพราะมักกล่าวถึงควบคู่อยู่กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะกับ “มนุษย์” นี่แหละ ตัวอย่างเช่น ตอนหนึ่งในคัมภีร์ที่ระบุว่า

“…และแล้วนักษัตรราชสังกุสุมิตาภิชญะ พระโพธิสัตต์ มหาสัตต์ สรรพสัตว์ปริยทรรศนะ จึงกล่าวแก่พระโพธิสัตต์ทั้งหลาย พระสาวกทั้งหลาย เหล่าเทวดา นาค เปรต คนธรรพ์ ยักษ์ ครุฑ กินนร มโหราค มนุษย์ และอมนุษย์ทั้งหลาย…” (คำว่าพระโพธิสัตต์ และมหาสัตต์ ในที่นี้เขียนคงรูปตามต้นฉบับแปลไทยโดยฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์)

พูดง่ายๆ ว่า อะไรที่เรียกรวมๆ ว่า “แปดเทพอสูรมังกรฟ้า” นั้น มักจะถูกกล่าวถึงในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร เพื่อหมายถึงอะไรก็ตามที่ไม่ถูกนับรวมว่าเป็น “มนุษย์” นั่นแหละครับ

 

ในสายตาของความเป็นจีนนั้น มักจะมองอะไรที่ไม่ใช่ “จีน” ว่าไม่ใช่ “คน” เหมือนๆ กันไปหมด

เอกสารโบราณของจีนยุคก่อนราชวงศ์ถัง เรียกผู้คนทางใต้ของแม่น้ำฉางเจียน (หรือที่มักจะเรียกกันในโลกภาษาไทยว่า แม่น้ำแยงซีเกียง) ซึ่งชาวจีนเมื่อครั้งกระโน้นนั้นไม่นับเป็นจีนว่า “ไป่เยว่” แปลว่า พวกป่าเถื่อนร้อยจำพวก โดยคำว่า “ป่าเถื่อน” ในที่นี้ มีความหมายไม่ต่างอะไรกันนักกับการไม่มีอารยธรรม ราวกับไม่ใช่คน ไม่ต่างอะไรกับที่ในสมัยหนึ่ง (และอาจจะรวมถึงสมัยนี้) ชาวยุโรปผิวขาว มักจะเหยียดคนที่ผิวสีต่างจากตนเองไม่ว่าจะเป็นผิวสีดำ หรือเหลือง ราวกับไม่ใช่มนุษย์

ในขณะที่พวกนอกกำแพงใหญ่ฉางเฉิง หรือกำแพงเมืองจีน นี่ก็พอกัน พวกนี้ก็มีหลากกลุ่ม หลายก๊ก แต่คนจีนเรียกพวกนี้รวมๆ กันในชื่อพวก “หู”

ซึ่งก็แปลว่าพวกป่าเถื่อน จนเหมือนไม่ใช่มนุษย์อยู่ดีนั่นเอง

 

มหากาพย์เรื่องยาวของกิมย้งอย่างมังกรหยก ก็พูดถึงเรื่องการต่อสู้ระหว่างคน (จีน) กับพวกไม่ใช่คน (พวกป่าเถื่อน) ไม่ว่าจะเป็นก๊วยเจ๋ง กับพวกกิม (ต้นตระกูลแมนจู) และมองโกล ในมังกรหยกภาคแรก, เอี้ยก้วยที่กลับใจมาช่วยก๊วยเจ๋งรบกับมองโกล ในมังกรหยกภาค 2, ในมังกรหยกภาค 3 ก็พูดถึงความขัดแย้งระหว่างชาวฮั่นกับมองโกล และพวกนิกายเม้งก่า ที่ในนิยายว่ามาจากเปอร์เซีย

ในขณะที่ตามท้องเรื่องในแปดเทพอสูรมังกรฟ้า มีพระเอกสามคนซึ่งเป็นพี่น้องร่วมสาบานกันในเรื่อง พี่ใหญ่เซียวฟง เป็นพวกคิตัน สุดท้ายได้เป็นแม่ทัพใหญ่แห่งราชวงศ์เหลียว ซึ่งก็เป็นราชวงศ์ของคิตันเองนั่นแหละ พี่รองต้วนอี้ เป็นองค์ชายแห่งต้าหลี่ ซึ่งจีนถือเป็นไป่เยว่พวกหนึ่ง น้องเล็กซีจุ๊ (หรือฮือเต็ก ตามสำนวนแปลของ น.นพรัตน์) เป็นหลวงจีนชาวฮั่นแห่งวัดเส้าหลิน (กล่าวโดยเคร่งครัดแล้วเพศของบรรพชิตนี่ก็ไม่ใช่มนุษย์โดยทั่วไป) ที่จับพลัดจับผลูไปได้เมียเป็นเจ้าหญิงแห่งซีเซี่ย ซึ่งก็เป็นอาณาจักรของชาวเชียง และนี่ยังไม่นับตัวเอกอื่นๆ ในเรื่องทั้งมู่หยงฟู่ เป็นสายสกุลแคว้นเยี่ยนที่พังทลายไปแล้ว (อยู่ในช่วงราชวงศ์เหนือใต้ของประวัติศาสตร์จีน เมื่อราว พ.ศ.968-1124) หรือจิวม่อจือ ที่เป็นราชครูของทิเบต เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า บรรดาตัวเอกในแปดเทพอสูรมังกรฟ้านั้น ไม่มีใครเป็นคนในทัศนะของชาวจีนเลยสักนิด

ดังนั้น คำว่า “เทียนหลงป้าปู้” หรือ “แปดเทพอสูรมังกรฟ้า” ของกิมย้งนั้น จึงอาจจะไม่ได้หมายถึงใครเป็นเทพ อสูร มังกร หรือตัวอะไรที่ไม่ใช่มนุษย์ในบรรดาสิ่งมีชีวิตทรงฤทธิ์ทั้งแปดประเภทนั้นหรอกนะครับ

ก็อย่างที่ผมบอกไว้ว่า แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรนั้น สื่อความถึงอะไรที่ไม่ใช่มนุษย์อย่างกว้างๆ มากกว่าที่จะกล่าวถึงรายละเอียดของอะไรเหล่านั้นโดยละเอียด

 

โศกนาฏกรรมของเซียวฟง ในฉากจบของนิยายเรื่องนี้ก็ดูจะชี้ชวนไปในทิศทางนี้เช่นกัน เมื่อกิมย้งได้สร้างปมให้พระเอกคนเก่งคนนี้ต้องจบชีวิตของตนเองลง เพราะความขัดแย้งอย่างสลับซับซ้อนในเรื่องของชาติกำเนิดที่ไม่ใช่จีน แต่เติบโตมาในวัฒนธรรมจีน และต่อสู้เพื่อแผ่นดินจีนมาโดยตลอด

แน่นอนครับว่า ในกรณีของเซียวฟงแล้ว กิมย้งได้ตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ และความเป็นชาติ อย่างที่ในนิยายเรื่องก่อนๆ ที่เขาเขียนขึ้นนั้นไม่เคยก้าวข้ามไปถึง

คนอย่างก๊วยเจ๋ง ที่เป็นพระเอกในมังกรหยกภาคแรกนั้น สามารถหันคมดาบเข้าใส่ทัพมองโกล ของเจงกีสข่านได้ง่ายๆ เพราะเขาถือตัวว่าเป็นชาวฮั่น หรือคนจีน ทั้งที่เขาเองก็เติบโตขึ้นมาในทุ่งหญ้ามองโกล และเกือบจะได้เป็นลูกเขยท่านข่านอยู่รอมร่อ

ในขณะที่พระเอกในมังกรหยกภาค 2 อย่างเอี้ยก้วยนั้น แม้จะมีพฤติการณ์ต่อต้านสังคมอย่างไร แต่สุดท้ายก็ข้ามไม่พ้นเรื่องชาติ

เช่นเดียวกับเตียบ้อกี๋ในมังกรหยกภาค 3 ซึ่งแม้ในท้ายที่สุดจะอยู่กินกับนางเอกที่เป็นเจ้าหญิงมองโกล แต่ก็เป็นการหนีห่างไปจากสังคม ไม่ใช่การเผชิญหน้าเข้าสู้ และตั้งคำถามกับสังคมเหมือนอย่างในแปดเทพอสูรมังกรฟ้า ที่นับกันว่าเป็นมังกรหยกภาคที่ 4 (แต่มีท้องเรื่องอยู่ในประวัติศาสตร์ยุคก่อนมังกรหยกทั้ง 3 ภาคก่อนหน้า)

ถึงแม้ว่ากิมย้งจะเพิ่งจากพวกเราไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ เป็นการตายอย่างเรียบง่าย และธรรมดาที่มีคุณค่าเหมือนดั่งทอง เหมือนนามปากกาของเขาที่แปลว่า “ธรรมดาอย่างทอง” (กิมย้ง เป็นนามปากกา ส่วนชื่อจริงของเขาคือ จาเลี้ยงย้ง)

เพราะเขาได้ตั้งคำถามกับเรื่องของชาติ และความเป็นคน ไว้กับความตายของเซียวฟง ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2509 หรือเมื่อ 52 ปีที่แล้ว