“อภิสิทธิ์ชน” ไม่ต้องการให้ “ใครมารัก”

“อํานาจ” ย่อมทำให้ผู้ครอบครองแปรเปลี่ยนจากคนธรรมดาทั่วไป กลายเป็น “คนสำคัญ”

และ “คนสำคัญ” ย่อมนำมาซึ่ง “อภิสิทธิ์” ต่างๆ สามารถใช้ทรัพยากรของส่วนรวมได้สะดวกกว่า มีสิทธิที่จะเข้าถึงผลประโยชน์ทุกอย่างได้ง่ายกว่า

คนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นใครจะถูกทำให้ต้องอ่อนน้อม พินอบพิเทาต่อ “อภิสิทธิ์ชน” เว้นเสียแต่คนจำพวกที่พร้อมจะสร้างปัญหาให้กับตัวเอง

เพราะเช่นนี้เอง “อำนาจ” จึงหอมหวานเป็นที่ต้องการของทุกผู้คนที่ชีวิตดำเนินไปในโลกต้องการแข่งขัน ดิ้นรนเพื่อความเหนือกว่า

“ประชาธิปไตย” ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นระบอบการปกครองที่จัดการให้อำนาจมาจากความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน

หมายถึง ไม่ว่าใครก็ตามที่ต้องการ “อภิสิทธิ์ชน” หนทางเดียวที่จะทำให้ได้อำนาจคือ จะต้องจัดการตัวเองให้ประชาชนส่วนใหญ่ชื่นชอบ ชื่นชม และเชื่อมั่น

คนเราจะชื่นชอบใคร จะต้องรู้สึกว่าคนคนนั้นเป็นผู้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ไม่เห็นแก่ตัว เป็นคนมีคุณธรรม ยุติธรรม ไม่โป้ปดมดเท็จ หลอกลวง ทุจริตคดโกง

มีความรู้ความสามารถที่จะทำหน้าที่ของผู้นำอย่างเสียสละแท้จริง

เครื่องมือของการเข้าสู่อำนาจของผู้นำในระบอบประชาธิปไตยคือ “คุณธรรม” ดังที่ว่า

เพราะหนทางเดียวเท่านั้นที่จะก้าวสู่อำนาจได้คือ ประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ามา

นั่นคือ “วิถีแห่งอำนาจ” ที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมมากที่สุด

เพียงแต่ว่า นั่นกลับไม่ใช่หนทางเดียวของการได้มาซึ่งอำนาจ

ยังมีการใช้ “กำลังและอาวุธ” ที่เหนือกว่า เข้าควบคุม ยึดครอง

ยังมีการสร้าง “กฎหมาย” หรือ “กติกาโครงสร้างอำนาจ” ที่เอื้อโอกาสให้ตัวเอง ปิดกั้นคนอื่น อย่างไม่เป็นธรรม

“อำนาจ” ที่นำคนใดคนหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่งไปสู่ความเป็น “อภิสิทธิ์ชน” จึงต่างกัน

ที่มาจาก “ประชาธิปไตย” ย่อมต้องพยายามรักษาคุณธรรมของตัวเอง พัฒนาจิตใจสู่การเป็นที่รัก ที่ชื่นชมของคนส่วนใหญ่

แต่ “อภิสิทธิ์ชน” ที่อาศัยกระบอกปืน และการสร้างกติกาที่เอื้อให้กับตัวเอง ไม่จำเป็นต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นที่ชื่นชม เป็นที่ศรัทธา

สามารถบอกตัวเองได้อย่างสบายๆ ว่า “ไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อให้ใครมาชื่นชอบ” เพราะ “ความชื่นชมนั้นไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการได้มาซึ่งอำนาจ”

ความชื่นชม ศรัทธาของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความสำคัญอะไร เพราะไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้ได้อำนาจมา

แต่กระนั้นก็ตาม ลึกลงไปของผู้มีอำนาจจำพวกนี้ ก็ตระหนักว่าจะต้องมีภาพของ “ความชื่นชม ศรัทธา” มาห่อหุ้มตัวตนของพวกเขาไว้

ทว่าหนทางที่จะได้มาซึ่งความชื่นชม ศรัทธา คือการบังคับให้เกิดขึ้น

ทางหนึ่ง ไล่ล่าทำลายล้างคนที่แสดงออกในทางไม่ชื่น ไม่ศรัทธา

อีกทางหนึ่ง หาทางสร้างเสื้อคลุมจอมปลอม หรือโกหก หลอกลวง ภาพเทียม ของความชื่นชม ศรัทธาขึ้นมาสวมใส่ และหาทางโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นว่ามีอยู่จริง

ที่จะสะท้อนว่าพวกเขาเหล่านี้รับรู้ในศรัทธาจอมปลอมก็คือ “มักทนไม่ได้เมื่อมีอะไรสักอย่างมาชี้ให้เห็นความเลวร้ายอันจะนำสู่ความเสื่อมในศรัทธาที่หลอกลวงไว้”

จึงไม่แปลกที่แร็พ “ประเทศกูมี” ซึ่งล่าสุด “นิด้าโพล” สำรวจแล้วผลออกมาว่า คนร้อยละ 53.70 ฟังแล้วรู้สึกเฉยๆ มีแค่ร้อยละ 30.93 เท่านั้นที่ฟังแล้วชอบ และร้อยละ 15.37 ฟังแล้วไม่ชอบเสียด้วยซ้ำ

แต่สำหรับบางคน บางพวก ถึงกับทนไม่ได้ ออกมาหาทางจัดการกันโกลาหล