แพทย์ พิจิตร : “ความคิดการเมืองไทย” การจำแนก-กำหนดตัวแบบทางรัฐศาสตร์

อาจารย์ชัยอนันต์กับอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ได้บุกเบิกการสอนวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย” ขึ้นที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อราวทศวรรษ พ.ศ.2520 และต่อมาก็ได้กลายเป็นวิชาในระดับปริญญาเอกด้วย

ที่สำคัญคือ ท่านทั้งสองได้ผลิตตำรา “ความคิดทางการเมืองไทย” และที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ก่อนที่จะพิมพ์เป็นตำราออกมา ท่านทั้งสองได้ส่งให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่าน และท่านอาจารย์นิธิก็ได้เขียนตอบมาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “ปฏิกิริยา”

ซึ่งในตอนก่อน ได้กล่าวถึงข้อวิจารณ์แบบนักประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิที่มีต่อการศึกษาความคิดทางการเมืองในแบบรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติ

และผมก็ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างอันยากที่จะหาทางลงรอยกันได้ระหว่างการศึกษาสองแบบไปบ้าง

และพยายามที่จะอธิบายกรอบการศึกษาในแบบรัฐศาสตร์ที่จะตั้งต้นด้วยการสร้างตัวแบบขึ้นมา และเป็นตัวแบบที่จะต้องสมมุติให้มีคุณสมบัติที่แยกแยะแตกต่างไปจากสิ่งอื่นๆที่นักสังคมศาสตร์เรียกว่า “typology”

และได้เล่าถึงคุณลักษณะของ “typology” ห้าประการ โดยกล่าวไปแล้ว 3 ประการ

คราวนี้จะกล่าวประการที่เหลือต่อไป

 

ประเภทที่สี่ของ “typology” เป็นการจำแนกประเภทในแบบที่ผันแปรได้ (variable) ซึ่งลักษณะที่ผันแปรได้นี้เปิดทางให้มีการผันแปรที่ซอยย่อยเป็นลำดับขั้นหรือมีระดับของดีกรีต่างๆ ได้ ทำให้การวัดมีความละเอียดและแม่นยำแน่นอนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เช่น เมื่อพูดถึงขนาดภายใต้คุณลักษณะที่ผันแปรได้ เราก็จะสามารถเห็นพลวัตรของวัตถุหรือสิ่งที่เราศึกษาว่าอาจจะมีขนาดต่างๆ กันได้หลากหลาย และเราก็สามารถวัดขนาดต่างๆ ของมันได้ภายใต้ตัวแบบหรือหน่วยที่เรากำหนดไว้

เช่น ตาตี่มิได้มีขนาดเดียว แต่เราก็มีกรอบของขนาดของตาตี่ที่กำหนดไว้

ประเภทที่ห้า เป็นการจำแนกในแบบที่อยู่ระหว่างแบบที่สามกับสี่ นั่นคือ แตกต่างจากแบบที่สามตรงที่เปิดให้มีการผันแปรเป็นลำดับขั้นมากขึ้น แต่แตกต่างจากแบบที่สี่ตรงที่ไม่เปิดให้มีการวัดจริงๆ ในช่วงสเกลที่มีขนาดเท่ากันกับที่จุดศูนย์

ตัวอย่างในกรณีนี้คือ แบบของความต่อเนื่องของการวัดในสาขาแร่วิทยา (mineralogy) แร่สามารถจัดระดับของความอ่อนตัว เช่น มีแร่สองชนิด ชนิดหนึ่งเราจัดให้เป็นชนิดที่อ่อนกว่าเมื่อมันถูกขูดโดยอีกชนิดหนึ่ง

ดังนั้น มันเป็นไปไม่ได้ที่จะตัดสินแร่ตัวหนึ่งโดยลำพังว่า มันอ่อนหรือแข็ง แต่จะตัดสินได้หรือวัดได้ก็ต่อเมื่อต้องมีแร่สองชนิดมาเปรียบเทียบกัน

เราจะพบการใช้ลักษณะแบบที่สามนี้มากในงานวิจัยทางสังคมและทางจิตวิทยาที่ต้องใช้การจัดระดับสเกล

เช่น การวัดสติปัญญา ที่เราจะสามารถบอกได้ว่า ระหว่างคนสองคน ใครมีสติปัญญามากกว่ากัน

เช่นเดียวกันกับการวัดทัศนคติ เมื่อใช้การจัดระดับสเกลในแบบที่สามนี้ เราจะสามารถวัดและบอกได้ว่า ทัศนคติของใครที่มุ่งไปในทางสันติมากกว่ากัน

ลักษณะแบบที่สามที่จัดระดับของผู้คนที่เราศึกษาจะไม่ใช่การวัดที่ได้ผลออกมาเหมือนในแบบที่หนึ่งและสอง

แต่จะปรากฏผลออกมาในลักษณะที่เป็นความต่อเนื่องหรืออนุกรม (serials)

 

จากข้างต้น กล่าวได้ว่า “ประเภท” หรือ “แบบ” (type) ถือเป็นแนวความคิดเหนึ่ง (concept) ที่ผู้ศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมศาสตร์จำต้องสร้างขึ้นมา

โดยประเภทหรือแบบนี้หมายถึง คุณลักษณะต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบเฉพาะอย่างหนึ่งอย่างใด (special compounds of attributes)

เช่น การกล่าวถึงความเป็น “คนใต้” ในประเทศไทย อะไรคือตัวแบบของการเป็นคนใต้?

เราอาจจะเริ่มต้นจากคุณลักษณะทางกายภาพอย่างหนึ่งอย่างใด, ทัศนคติและนิสัยอย่างหนึ่งอย่างใด, ความสัมพันธ์ระหว่างกันและความสามารถพิเศษบางอย่างที่เป็นผลมาจากการเป็นคนที่อยู่ในภาคใต้

หรือตัวอย่างที่ยกขึ้นมา ได้แก่ การสร้างและจำแนกประเภททางจิตวิทยาของคนแบบ “เก็บตัว” (introvert) กับคนแบบ “พาหิรวัฒน์” (extrovert type) นั่นคือ มีคุณลักษณะที่ชอบเปิดเผยและแสดงออก

นักจิตวิทยาจะเริ่มต้นสร้างแนวความคิดเรื่อง “ประเภทหรือแบบของการเป็นพาหิรวัฒน์” ขึ้นมาโดยเริ่มต้นจากคุณลักษณะพื้นฐานไม่กี่อย่างที่ให้เป็นองค์ประกอบของตัวแบบของคนประเภทนี้

และเมื่อทำการศึกษาวิจัยต่อไปมากขึ้น ก็อาจจะพบคุณลักษณะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของตัวแบบนี้มากหรือหลากหลายขึ้นหรือซับซ้อนขึ้น

หรือการสร้างและจำแนกประเภทของระบอบการปกครอง เช่น การสร้างและจำแนกประเภทออกเป็นแบบ “ประชาธิปไตย” “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” “อนุรักษนิยม” “หัวก้าวหน้า” เป็นต้น

 

ตัวอย่างและประโยชน์ของการจำแนกประเภทในทางสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี ได้แก่ การจำแนกประเภทของอำนาจในงานของ Max Weber ที่จำแนกประเภทของอำนาจอันชอบธรรมออกเป็นสามประเภท ได้แก่ อำนาจตามจารีตประเพณี อำนาจบารมีและอำนาจตามเหตุผล (traditional, charismatic, rational) (ดูภาพประกอบ)

หรือการจำแนกประเภทของรูปแบบการปกครองของนักรัฐศาสตร์สมัยใหม่อย่าง Robert Dahl ที่จำแนกประเภทของรูปแบบการปกครองออกเป็นสี่ประเภท ได้แก่ พหุชนาธิปไตยแบบต่างๆ (polyarchies) คณาธิปไตยที่มีการแข่งขันแบบต่างๆ (competitive oligarchies) การครองอำนาจนำแบบเปิดให้มีการแข่งขันในแบบต่างๆ (inclusive hegemonies) และการครองอำนาจนำแบบปิดในแบบต่างๆ (closed hegemonies)

โดยในกรณีของ Polyarchies การแบ่งประเภทจะทำให้เห็นได้ว่า จาก Closed Hegemony ถ้าเปิดพื้นที่ให้มีการแข่งขันระหว่างกลุ่มหรือบุคคลจำนวนหนึ่งก็จะเคลื่อนตัวไปเป็น Competitive Oligarchy และจาก Competitive Oligarchy ถ้าเปิดพื้นที่ให้กับสาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเคลื่อนตัวไปเป็น Polyarchy

หรือในส่วนของ Inclusive Hegemony ถ้าเปิดขยายโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเคลื่อนตัวไปเป็น Polyarchy และในทางกลับกัน Polyarchy ถ้าหดหรือจำกัดลงเรื่อยๆ ก็จะเคลื่อนตัวไปเป็น Competitive Oligarchy และ Inclusive Hegemony และ Closed Hegemony ในที่สุด

นอกจากสองตัวอย่างข้างต้น เราจะพบการใช้จำแนกประเภทเป็นเครื่องมือในการสร้างตัวแบบและศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบในเรื่องต่างๆ ในทางสังคมศาสตร์อีกมากมายหลากหลาย

 

จากที่กล่าวมา ผู้ที่ศึกษาในทางสังคมศาสตร์ย่อมจะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าเราจะศึกษาเรื่องราวอะไรในทางสังคมศาสตร์ เรายากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ใช้แนวความคิดเรื่อง “ประเภทหรือแบบ” เพราะอย่างน้อยเราก็จะต้องเริ่มต้นสร้างตัวแบบหรือประเภทอะไรขึ้นมาในการพยายามที่จะอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม หรือถ้าไม่ได้สร้างขึ้นมาเอง ก็มักจะต้องหยิบยืมตัวแบบหรือประเภทที่นักวิชาการคนอื่นเขาได้สร้างขึ้นมาไว้ก่อนแล้ว

เช่น การศึกษาปรากฏการณ์ของกลุ่มคนที่ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองในสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2549 จากสื่อมวลชน เราจะพบว่า มีกลุ่มที่สื่อเรียกว่า “คนเสื้อเหลือง” และกลุ่ม “คนเสื้อแดง”

และถ้าจะศึกษาทำความเข้าใจกลุ่มทั้งสองในทางสังคมศาสตร์ ก็จำเป็นต้องตั้งหลักที่ตัวแบบทั้งสองนี้ และในจุดเริ่มต้น เราต้องพยายามหาสิ่งที่เป็นคุณลักษณะเบื้องต้นที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของ “คนเสื้อเหลือง” “คนเสื้อแดง” (Yellow Shirt Type, Red Shirt Type)

และทำการค้นคว้าต่อไปจนพบองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบเฉพาะของคนแต่ละสี เป็นต้น

เช่น คุณสมบัติทางสถานะเศรษฐกิจการเมือง คุณสมบัติทางทัศนคติและอุปนิสัย ฯลฯ

และถ้าไล่ไปจากต้นแบบของแต่ละซีก ก็จะมีคนเสื้อเหลืองที่ใกล้กับคนเสื้อแดง และคนเสื้อแดงที่ใกล้กับคนเสื้อเหลือง!