ทำไมทำดีไม่ได้ดี ? : การประยุกต์พุทธธรรม มาใช้กับการบริหาร

การประยุกต์พุทธธรรม มาใช้กับการบริหาร (4)

ทำไมทำดีไม่ได้ดี

สําหรับเรื่อง อนวัชชะ ผมอยากเสริมท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาภรณ์สักเล็กน้อยที่ท่านว่า “ทำดีไม่ได้ดี” ต้องดูด้วยว่ามีวิบัติหรือสมบัติหรือไม่ ที่จริงตำราจะอธิบายไว้อย่างหนึ่ง แต่เรามักนำมาอธิบายในนัยประยุกต์เท่านั้น

คติ หมายถึง ภพภูมิ ถ้าเราไปเกิดในภพภูมิหรือในสถานที่ที่ไม่ดี เราก็ไม่มีโอกาสทำดี (คติวิบัติ) แต่ถ้าเราไปเกิดในสถานที่ดี เอื้อต่อการกระทำดี เราก็มีโอกาสทำดี นัยประยุกต์ก็เช่น เมื่อเราไปอยู่ในประเทศที่เขาไม่นิยมหรือไม่นับถือสิ่งนี้ดี เขาก็ไม่ซาบซึ้งในสิ่งที่เราทำ แล้วเราก็ไม่มีโอกาสได้ดี พูดง่ายๆ ก็ว่า ทำดีไม่ถูกกับสถานที่

อุปธิ หมายถึง ร่างกายของเราเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสม คือบุคลิกภาพไม่ดี เรียกว่า อุปธิวิบัติ เช่น การบริหารงานโดยจะให้คนผอมไม่สมประกอบไปแบกถุงข้าวสารนั้นไม่ได้ จะต้องเอาคนที่บึกบึนแข็งแรง ความข้อนี้ควรนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารคือ ต้องดูร่างกายคนให้เหมาะสมกับงานด้วย

กาละ หมายถึง ถูกต้องตามกาลหรือไม่ ถ้าอยู่ในช่วงบ้านเมืองวิบัติ สังคมเสื่อมจากศีลธรรม คือ กาลวิบัติหรืออยู่ในสภาพที่บ้านเมืองเจริญมีความสงบสุข ร่มเย็น คือ กาลสมบัติต้องทำให้ถูกและให้เหมาะสมกับกาลเวลาด้วย

ปโยคะ หมายถึง ทำงานเต็มที่หรือไม่ ถ้าทำแต่ทำไม่เต็มที่ เรียกว่าปโยควิบัติ หรือทำงานเต็มที่แล้วด้วยการใช้ความเพียรพยายามขวนขวายในทางที่ถูกต้อง เรียกว่าปโยคสมบัติ

เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ

ทำดีถูกที่หรือไม่ ทำดีถูกคนหรือไม่ ทำดีถูกกาลหรือไม่ ทำดีเต็มที่แล้วหรือไม่ ถ้าทำไม่ถูกที่ ไม่ถูกคน ไม่ถูกกาล หรือไม่เต็มที่ ก็จะไม่ได้ดี ถ้าได้ก็ได้ไม่มาก

บางคนคิดจะทำดีแต่ไม่ถูกกาลเวลา เช่น เห็นคนกำลังตั้งวงดื่มสุรา เราก็ไปสอน เขาบอกว่า นี่มันอบายมุข มันผิดศีลธรรม พระพุทธเจ้าสอนว่าไม่ดี เลิกเสียเถอะ

อย่างนี้เรียกว่าทำไม่ถูกที่ ไม่ถูกกาล แล้วอาจจะเกิดผลคือ ถูกทำร้ายบาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาลได้ง่ายๆ

ดังนั้น จึงพอจะสรุปได้ว่า ผู้บริหารจะต้องมี

1. ความพร้อมสำหรับตัวเอง คำว่า “พร้อม” คือ มีคุณธรรมพร้อม

2. มีมนุษยสัมพันธ์ คือ รู้จักคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวเองเป็นสื่อ ไปสัมพันธ์กับคนอื่นได้ถูกต้อง

สำหรับตัวเองก็พร้อมและรู้ที่จะปฏิบัติกับคนอื่นด้วย 2 ข้อนี้ จึงเป็นการสรุปหลักทั้งหมดได้จริงๆ ทุกคนก็ทราบหมดแล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร แม้รู้แล้วแต่จะทำได้หรือไม่ ในช่วงแรกนี้ จึงต้องขอจบตรงเรื่องพระโพธิธรรม ท่านได้เดินทางไปประกาศพระพุทธศาสนาในเมืองจีนได้เทศน์สั่งสอนคนจนลือชื่อว่าท่านสอนดี ประชาชนจึงพากันไปฟังธรรมจากท่านเป็นจำนวนมาก เจ้าเมืองสงสัยว่าพระภิกษุรูปนี้มีอะไรดี ไปถามท่านว่า ท่านสอนอะไร สอนอย่างไร

พระโพธิธรรมท่านตอบว่า อาตมาสอนไม่ให้คนทำชั่ว ทำความดี และทำใจให้ผ่องใส

เจ้าเมืองถึงกับร้องโอ้โฮ นึกว่าท่านสอนได้ลึกซึ้งกว่านี้ เด็กเจ็ดขวบก็รู้

ท่านโพธิธรรมก็บอกว่า เจ็ดขวบยังรู้ก็จริง แต่เจ็ดขวบปฏิบัติไม่ได้ สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

หลักในการอบรมจริยธรรม

ปัจจุบันมีคนตั้งข้อสงสัยอยู่เสมอว่าเราจะสอนจริยธรรมได้แค่ไหน เรื่องจริยธรรมสอนกันไม่ได้ แต่ฝึกอบรมกันได้ เรามักจะคิดแต่จัดหลักสูตรสอนกันในโรงเรียน เราไม่ได้นึกว่าเป็นเรื่องของการอบรม

และการฝึกอบรมจริยธรรมนั้นจะต้องควบคู่ทั้ง 3 ด้าน ตามหลักไตรสิกขา เพราะว่าการจะพัฒนาหลักธรรมอะไรก็ตาม ต้องเอาหลักนี้มาจัด เพราะเป็นหลักสำหรับอบรมฝึกฝนขั้นต้น ได้แก่

1. ปัญญาสิกขา คือความรู้ความเข้าใจในหลักการเป้าหมาย เหตุผล วิธีการต่างๆ รู้ทุกอย่างเท่าที่จำเป็น ปัญญาขั้นนี้ไม่ใช่ปัญญาขั้นลึกซึ้ง แต่เป็นปัญญาขั้นพื้นฐานที่ต้องทราบก่อน สมมุติว่าเราจะพัฒนาอะไรสักอย่าง เราต้องรู้ก่อนว่าพัฒนาไปทำไม เป้าหมายเป็นอย่างไร และวิธีการพัฒนาจะทำอย่างไร

2. ศีลสิกขา คือจะต้องทำพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจนั้นด้วย ถ้าหากตีความง่ายๆ คือลงมือทำ รู้เข้าใจ แล้วต้องลงมือทำ (หรือจะแปลตามตำราว่าการรักษากายวาจาให้เรียบร้อยก็ได้)

3. จิตตสิกขา คือต้องมีกำลังใจมั่นคงแน่วแน่ต่อเป้าหมาย คือเมื่อทำต้องทำซ้ำๆ ซากๆ ต้องทำจนเป็นนิสัย ทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ

หลักไตรสิกขา คือ ปัญญา ศีล จิตตะ

แต่คนไทยมักเรียกศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสามอย่างนี้ต้องทำไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ทำอันนี้เสร็จแล้วจึงค่อยทำอย่างที่ 2

ตัวอย่างเช่น ถ้าหากเราปลูกต้นไม้เราต้องใช้ไตรสิกขาทั้งหมด คือ ต้องคิดว่าจะใช้ดินอย่างไร กระถางอย่างไร ถ้าเราขุดดินปลูกต้นไม้จะต้องใช้จอบหรือเสียม ดินแข็งหรือดินอ่อน ต้องขุดกว้าง-ลึกขนาดไหน เอาพืชชนิดใดลง ต้องรดน้ำกี่ครั้งต่อวัน ต้องดูแลอย่างไร

ต้องรู้หมด นี้เป็นเรื่องของปัญญาสิกขา

การลงมือขุด การเตรียมเพื่อให้การปลูกต้นไม้เป็นไปได้ด้วยดีนี้เป็นเรื่องของศีลสิกขา การดูแลเอาใจใส่รดน้ำพรวนดิน

ไม่ใช่ปลูกเสร็จแล้วทิ้งไปเลย นี้เป็นเรื่องของจิตตสิกขา

ทางเลือกในการพัฒนาคุณธรรม

ในการพัฒนาคุณธรรมนั้น พระเทพเทวี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้กล่าวไว้ว่า มีทางเลือกได้ 2 ทาง คือ

1. จับธรรมะที่เป็นแกนหลักให้ได้แล้วฝึกอบรมให้สมบูรณ์ที่สุด

เมื่อฝึกอบรมธรรมะที่เป็นแกนหลักได้แล้ว ธรรมะข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันก็จะตามมาเอง

หมายความว่า พออันนี้เกิด อันนั้นก็จะเกิดขึ้นตามมา

สมมุติว่า ถ้าเราจะพัฒนาเรื่องธรรมฉันทะความใฝ่ดีใฝ่ในเรื่องที่ถูกต้อง สมมุติให้เป็นแกนหลัก เราอาจจะวางหลักการในฝึกฝนความใฝ่ดี ถ้าเราทำสำเร็จ คุณธรรมอื่นก็จะตามมาเอง

เช่น ความตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบหน้าที่ การงาน ความเคารพต่อความคิดเห็นของผู้อื่น นี่เป็นผลพลอยได้ขึ้นมาเอง วิธีนี้ทำให้ผู้ได้รับการอบรมนั้นมีความรู้สึกว่าเรื่องไม่มาก

ในครั้งพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่งอยากจะสึกเพราะหันไปทางไหนก็ห้ามทำ ทางนี้ก็ผิด ทางนั้นก็ผิด ศีลก็มากไม่สามารถปฏิบัติได้จึงตัดสินใจสึก แม้พระอุปัชฌาย์จะห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง

เมื่อไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถามว่าทำไมเธอถึงอยากสึก

พระภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า รู้สึกลำบากเหลือเกิน ปฏิบัติอะไรก็ผิดทั้งนั้น ทางนี้ก็ผิด ทางนั้นก็ผิด เป็นฆราวาสดีกว่า

พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันมากไปหรือ ถ้าหากพระองค์จะลดลงเหลือข้อเดียวจะรักษาได้ไหม พระภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่าได้

พระองค์จึงตรัสบอกให้พระภิกษุรูปนั้นรักษาใจเพียงอย่างเดียว นี้แสดงให้เห็นว่ารักษาข้อเดียวก็จริง แต่คลุมทั้งหมด

2. ในการพัฒนาธรรมอย่ามองในแง่เดียว ควรมองทุกด้าน ทั้งในแง่บวก แง่ลบ และให้มีความรู้สึกว่าไม่ได้มองหลักธรรมนั้นในด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป แม้ว่าเป็นเรื่องดี แต่ต้องมองทั้งในแง่บวก แง่ลบ

และทางออก ตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราต้องมองแง่อัสสาหะ คือแง่บวกว่า ถ้าทำอย่างนี้ดีอย่างไรบ้าง ถ้ามองในแง่อาทีนวะ คือแง่โทษหรือแง่เสียว่าแง่ลบมีไหม แง่ลบมีอะไรบ้าง แต่ถ้ามองในแง่นิสสรณะ คือทางออกวิจารณ์แง่บวกเป็นอย่างนี้ แง่ลบเป็นอย่างนี้ มีทางออกอย่างไรต้องมองให้ครบทั้ง 3 ด้าน การรู้เพียงจุดใดจุดหนึ่งอาจจะทำให้รู้สึกว่ามีผลเสียมาก

เช่น เรื่องมังสวิรัติ การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องดี

แต่ถ้าเราชูประเด็นการไม่กินเนื้อสัตว์มากเกินไป เราจำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมขึ้นมาอธิบายว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ดีอย่างไร และการกินเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างไร

จำเป็นต้องหาทางอธิบายสิ่งที่ตามมาอันหนึ่งคือ “อติมานะ” การดูหมิ่นดูแคลนคนอื่น ใครไม่ทำอย่างนี้เป็นคนไม่ดี ถึงกับตั้งโศลกขึ้นว่า “คนกินเนื้อสัตว์เป็นยักษ์เป็นมาร” หรือ “ถ้ายังกินเนื้อสัตว์อยู่ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้” เพราะว่าสนับสนุนการฆ่าสัตว์ทางอ้อม อย่างนี้เป็นต้น

เห็นได้ว่า ถ้าเน้นจุดใดจุดหนึ่งก็จะออกมาในลักษณะนี้

ตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องมังสวิรัติ อาจจะทำให้เกิดการดูหมิ่นเลยเถิดไปโดยไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง

คือ ในสมัยที่หลวงพ่อเทียนยังมีชีวิตอยู่ มีนักมังสวิรัติมาหาท่าน ท่านเป็นพระนักปฏิบัติไม่รู้หนังสือ แต่สอนจากใจ จากประสบการณ์ นักมังสวิรัติได้ถามหลวงพ่อเทียนว่า

นักมังสวิรัติ : ท่านบรรลุธรรมขั้นไหน

หลวงพ่อเทียน : โยมมีเงินอยู่ 10 บาท โยมจะรู้เองว่าโยมไม่มีเงิน 10 บาท (หมายถึงท่านพูดเป็นปรัชญาให้คิด)

นักมังสวิรัติ : ผมไม่ได้ถามเรื่องเงิน ผมถามท่านว่าท่านบรรลุธรรมขั้นไหน ท่านต้องบอก ถ้าท่านไม่บอกแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าบรรลุขั้นไหน ที่ท่านพูดมาเชื่อถือได้แค่ไหน

และเขาก็คุยว่าอาจารย์ของเขาบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้

ซึ่งในขณะนั้นลูกศิษย์หลวงพ่อเทียนที่กำลังนั่งฟังอยู่นึกสงสัยว่า คนนี้มาจากที่ไหน ไม่มีมารยาทเสียเลย หลวงพ่อกำลังเทศน์อยู่ ทำให้เสียบรรยากาศหมด

จึงกล่าวว่า คุณชาล้นถ้วย อธิบายเท่าไรก็ไม่ฟัง

หลวงพ่อเทียนไปห้ามลูกศิษย์ว่าอย่าไปว่าเขาเลย โยมคนนี้ไม่ใช่ชาล้นถ้วย ท่านพูดแล้วก็ยิ้มๆ ท่านเอากาน้ำชามา ถ้วยน้ำชาแทนที่จะหงาย ท่านก็คว่ำลง แล้วท่านก็ริน ท่านกำลังจะบอกว่านักมังสวิรัติคนนี้ไม่ใช่ชาล้นถ้วย แต่เป็นชาถ้วยคว่ำ ยังไงๆ ก็ไม่มีทางที่น้ำชาจะเข้าไปในถ้วยได้เลย

นี้เป็นตัวอย่างอันดีตัวอย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องทาน เรื่องทานนี้มีการเน้นกันมากในสังคมไทยจนกลายเป็นเครื่องมือหากินของคนบางกลุ่ม ความใจบุญสุนทานของคนไทยกลายเป็นการขูดรีด การเรี่ยไรแทนที่จะเป็นผลดีก็จะกลายเป็นผลเสีย เพราะฉะนั้น อย่าไปเน้นให้มาก

มีนิทานเรื่องหนึ่งเล่าไว้ว่า มีแม่เสือตัวหนึ่งเมื่อเห็นโจรก็กระโจนใส่ โจรตกใจคว้าธนูยิงไปที่แม่เสือ แม่เสือไม่กลัว กระโจนไล่ไป โจรจึงวิ่งหนี พระภิกษุรูปหนึ่งเดินผ่านมาพอดี เสือจึงกระโจนใส่พระ พระจวนตัวก็คว้ากระดาษในย่ามขว้างไป เสือตกใจวิ่งหนี ลูกเสือวิ่งตามมา พอไปถึงที่แม่เสือหยุดพักอยู่ใต้ต้นไม้และหายใจหอบแรงอย่างเหน็ดเหนื่อย

ลูกเสือถามแม่ว่า คนหัวดำเอาธนูยิงแม่ ทำไมแม่ไม่กลัว

พอคนไม่มี ผมเอากระดาษปาแม่ ทำไมแม่วิ่งหนี

แม่เสือบอกลูกว่า ลูกเอ๋ย ธนูถึงเจ็บอย่างไรแม่ก็พอทนได้

แต่ใบฎีกานี้สิ แม่ทนไม่ได้ เรื่องนี้น่าจะเป็นข้อคิดได้อย่างหนึ่ง

ส่วนรูปแบบของการปฏิบัติก็ไม่ควรเน้นมาก มีเพื่อนของผมคนหนึ่งเป็นชาวฝรั่ง ทำงานอยู่บริษัทที่สี่พระยา ได้คุยกับผมว่าทำไมนักปฏิบัติธรรมมีปัญหามากเหลือเกิน เพราะที่สำนักงานมีนักปฏิบัติอยู่ 2 คน ซึ่งต่างสำนักกัน ถกเถียงกันอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครยอมใคร

ที่มีปัญหาไม่ใช่เรื่องของสำนัก แต่คนไปเน้นที่รูปแบบ ติดรูปแบบ เช่น เมื่อนั่งสมาธิต้องหลับตา ต้องใส่ม่อฮ่อม ผมสั้น ต้องกินอย่างนั้น ต้องไม่กินอย่างนี้ นี้คือรูปแบบ เพราะฉะนั้น ต้องทำลายรูปแบบให้ได้

ในวิธีการสอนกัมมัฏฐานของหลวงพ่อเทียน พระรูปหนึ่งไปพักอยู่วัดของท่าน ได้เห็นหลวงพ่อเทียนสอนให้พระวิ่งจงกรม รู้สึกแปลกใจจึงถามท่านว่า ทำไมสอนให้พระภิกษุวิ่งจงกรม ตามปกติการเดินจงกรมต้องเดินช้าๆ ไม่ใช่หรือครับ

หลวงพ่อเทียนตอบกลับมาทันทีว่า แล้วทำไมต้องเดินจงกรมช้าๆ ด้วยล่ะ พระภิกษุรูปนั้นตอบไม่ได้ ครั้งแรกยังนึกตำหนิท่านอยู่ในใจ ตอนหลังมาคิดได้ว่านี่เป็นเรื่องรูปแบบนั่นเอง

แท้จริงแล้วสมาธิคือการที่จิตจดจ่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานๆ จะเดินหรือนั่งไม่สำคัญ แต่สำคัญที่สติตามทันหรือไม่

ถ้าสติควบคุมทันการเคลื่อนไหวแสดงว่าเป็นสมาธิแล้ว เดินจงกรมก็ได้ มันเป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น