ผ่าระบอบปูติน! ด้านการทหารความมั่นคง

วิกฤติประชาธิปไตย (29)

ระบอบปูตินด้านการทหารความมั่นคง : กรอบความคิดและยุทธศาสตร์

กรอบความคิดและยุทธศาสตร์ด้านทหาร ความมั่นคงของรัสเซีย ได้มีการแถลงเปิดเผยบนเวทีโลกครั้งแรกในคำปราศรัยของปูตินในการประชุมนโยบายความมั่นคงที่มิวนิก ปี 2007

โดยปูตินโจมตีสหรัฐที่วางตัวเป็นผู้จัดการโลกแบบขั้วอำนาจเดียว ทำให้ทั้งโลกตกอยู่ในอันตรายไร้เสถียรภาพ

ในเดือนสิงหาคม ปี 2008 รัสเซียมีการปฏิบัติการจริงด้วยการตอบโต้การเข้าโจมตีกองทหารรัฐบาลจอร์เจียต่อรัฐเซาท์ออสซีเซียและอับฮาเซียที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ ทำให้ทหารรัสเซียที่รักษาความสงบที่นั่นเสียชีวิตหลายนาย

เป็นสงครามห้าวันที่ทำให้ทั้งสองรัฐแยกตัวเป็นอิสระ ภายใต้การคุ้มครองของรัสเซีย

สังเกตได้ว่าหลังสงครามรัสเซีย-จอร์เจีย รัสเซียได้พัฒนากองทัพของตนอย่างทุ่มเท งบประมาณทางทหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 43.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2007 เป็น 69.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016 (ตัวเลขค่าใช้จ่ายทางทหารของรัสเซียพุ่งสูงสุดระหว่างปี 2012-2014 อันเป็นช่วงเกิดความขัดแย้งกรณียูเครน โดยสูงกว่า 80 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี)

แต่ค่าใช้จ่ายทางทหารของรัสเซียในปี 2017 ปรับลดลงเหลือ 66.3 พันล้าน หรือราวร้อยละ 20 ส่วนหนึ่งเนื่องจากการถูกแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ

อีกส่วนหนึ่งเกิดจากยุทธศาสตร์การทหาร-ความมั่นคงของรัสเซียที่ไม่ต้องการให้ภาระทางทหารหนักจนกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพของประชาชน

ในช่วงเวลาดังกล่าวรัสเซียได้ออกเอกสารสำคัญเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ทางทหาร-ความมั่นคงหลายฉบับ

ได้แก่ “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติรัสเซียจนถึงปี 2020” (เผยแพร่พฤษภาคม 2009) “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย 2015” (เผยแพร่ปลายธันวาคม 2014) “ประกาศสำนักประธานาธิบดีว่าด้วยยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ 2016” (เผยแพร่ปลายธันวาคม 2015)

นอกจากนี้ก็มีคำปราศรัยของปูตินและลาฟลอฟรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้

ยุทธศาสตร์ของรัสเซียเน้นการมองไปในอนาคต คือการมองเห็นอนาคตหรือผลของสงครามและสถานการณ์หนึ่งๆ และการรับมือกับสงครามหรือสถานการณ์หนึ่งๆ ในอนาคต ส่วนเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์การทหาร-ความมั่นคงนั้น เรียบง่าย ชัดเจน และตรงไปตรงมาว่ารัสเซียต้องการสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีหลายขั้วอำนาจ โดยมีรัสเซียเป็นขั้วอำนาจหนึ่งในโลก

ทางฝ่ายตะวันตกได้มีการศึกษาเอกสารและการปฏิบัติของรัสเซียแบบตามติด จากการประมวลเนื้อหาจากฝ่ายต่างๆ พอสรุปได้ว่า กรอบความคิด ยุทธศาสตร์และการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการทหาร ความมั่นคงของรัสเซีย มีที่ควรกล่าวถึง

ได้แก่

1)รัสเซียเป็นมหาอำนาจในโลก

อธิปไตยของรัสเซียจะต้องได้รับความนับถือ

และนโยบายต่างประเทศรัสเซียต้องเป็นอิสระ

นี้เคยเป็นมาแล้วตั้งแต่อดีตสมัยจักรวรรดิรัสเซียในระบอบซาร์ในสมัยสหภาพโซเวียตตลอดสงครามเย็น

และจำต้องเป็นสำหรับรัสเซีย ปัจจุบันระเบียบโลกแบบขั้วอำนาจเดียวที่สหรัฐ-นาโต้พยายามรักษาไว้เป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้รัสเซียหายใจไม่ออก

รัสเซียต้องอยู่ในโลกหลายขั้วอำนาจจึงมีสุขภาพดี

2)โลกขณะนี้เต็มไปด้วยอันตราย ผันผวน เป็นโกลาหล มีการแก่งแย่งทรัพยากรธรรมชาติอย่างดุเดือด การเข้าควบคุมตลาดและการขนส่ง และการแข่งอำนาจทางการเมือง

ประเทศต่างๆ ใช้การเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อกดดันทางเศรษฐกิจ

ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศเหล่านี้ที่พยายามเอาตัวรอดจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ได้ใช้วิธีการทางเศรษฐกิจ เครื่องมือทางการเงิน การค้า การลงทุน และเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ของตน

ก่อให้เกิดความอ่อนแอขาดเสถียรภาพทางความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจโลก

3) รัสเซียถูกสหรัฐ-นาโต้รุกล้ำรอบกรอบ

มีข้อมูลยืนยันได้แก่

ก) การขยายพื้นที่ของนาโต้เข้ามาประชิดชายแดนรัสเซียหลายครั้ง ได้แก่ ปี 1999 ขยายสู่สามประเทศ สาธารณรัฐเช็ก ฮังการีและโปแลนด์ ปี 2004 ขยายมาอีก 7 ประเทศ มีสามประเทศในเขตทะเลบอลติกที่เคยร่วมสหภาพโซเวียต เป็นต้น ท้ายสุดในปี 2017 ขยายสมาชิกมายังประเทศมอนเตเนโกร

ข) การก่อปฏิวัติสีที่จอร์เจีย ยูเครน โดยการปลุกระดมมวลชน ประสานกับการใช้ความรุนแรงเพื่อตั้งรัฐบาลที่เป็นมิตรกับสหรัฐ

ค) การซ้อมรบและตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรปตะวันออก ในการซ้อมรบก็มีขนาดใหญ่ขึ้น เดือนตุลาคม ปี 2018 นาโต้จัดการซ้อมรบใหญ่ที่นอร์เวย์ มีทหารเข้าร่วม 50,000 คน เครื่องบิน 250 ลำ เรือ 65 ลำ รถถัง 10,000 คัน จาก 31 ประเทศเพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวของรัสเซียในมหาสมุทรอาร์กติก

ง) การตั้งงบประมาณทางทหารสูงเกินความจำเป็นในการป้องกันตัว งบประมาณของสหรัฐ-นาโต้ในปี 2016 สูงกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณทางทหารโลก

รัสเซียมีความจำเป็นในการสร้างแนวกันชนรอบประเทศเพื่อป้องกันการรุกรานและมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการรับมือ

4)ยุทธศาสตร์การทหาร-ความมั่นคงรัสเซียประกอบด้วยหลายมิติ

ที่สำคัญยิ่งได้แก่ทางเศรษฐกิจ รัสเซียต้องใช้เครื่องมือการแข่งขันในทุกมิติ ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ การเงิน ข่าวสาร ปฏิบัติการพิเศษ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางทหารและความมั่นคงของชาติขึ้น

และความเข้มแข็งมั่นคงนี้ต้องเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาจำนวนมากของรัสเซีย

ได้แก่

เศรษฐกิจที่พึ่งการส่งออกของวัตถุดิบแร่ธาตุพลังงาน เปิดช่องให้ตะวันตกเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย มีความล้าหลังในเทคโนโลยีที่ทันสมัย ระบบการเงินประเทศไม่คงทน แหล่งทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ การพัฒนาที่ไม่ได้สมดุลระหว่างภูมิภาคต่างๆ ในรัสเซีย บรรยากาศการลงทุนที่ยังไม่ดี มีการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ การไหลออกของเงินทุน คนงานมีความสามารถในการแข่งขันและมีผลิตภาพต่ำ เศรษฐกิจเงาหรือเศรษฐกิจใต้ดินมีขนาดใหญ่ การใช้เงินงบประมาณอย่างไม่เหมาะสม ไม่สมดุล ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มสูง ความยากจน มาตรฐานสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการที่ลดลง ปัญหาประชากรที่ยังไม่ฟื้นตัวดีจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต คุณภาพชีวิตยังไม่สูงพอ พลเมืองขาดความเชื่อถือในสถาบันกฎหมายและระเบียบ การปกป้องสิทธิและเสรีภาพของบุคคลยังมีปัญหา

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาคอร์รัปชั่น องค์กรอาชญากรรม ความเสี่ยงจากการก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม รัสเซียมีจุดแข็งที่มีประชากรจำนวนมากได้รับการศึกษาสูง ไม่ว่าจะเทียบกับประเทศใด

และรัสเซียยังได้พัฒนาศักยภาพทางอุตสาหกรรมของตนไปพอสมควร เช่น มีภาคเทคโนโลยีข่าวสารที่คึกคัก

(Photo by MLADEN ANTONOV / AFP)

ทางแก้ทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าคือการเสริมความเข้มแข็งของระบบการเงิน ประกันความเป็นอิสระและเสถียรภาพของเงินรูเบิล เสริมความสัมพันธ์กับโลกที่ไม่ใช่ตะวันตก ได้แก่ จีน อินเดีย ละตินอเมริกาและแอฟริกา เป็นต้น

5)”การป้องปรามทางยุทธศาสตร์” ของรัสเซีย หมายถึงรัสเซียจะใช้กำลังทหารก็ต่อเมื่อวิธีการอื่นใช้ไม่ได้ผล

โดยใช้กำลังทหารอย่างจำกัดหรือไม่ใช้กำลังทหารเลยถ้าเป็นไปได้ ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะใช้กำลังทหารขนาดใหญ่ ถ้าหากจำเป็น

สร้างรูปแบบการสงครามใหม่ที่ประสมประสานการรบแบบธรรมดาเข้ากับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และการรบรูปแบบอื่น สร้างเป็นเครือข่ายการทหารที่ซับซ้อน รับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินทั้งหลาย

เรียกกันว่า “สงครามพันทาง” หรือ “สงครามที่ไม่ได้สมมาตร” กับตะวันตก

สิ่งหนึ่งที่รัสเซียพัฒนาขึ้นมาได้แก่ สร้างเครือข่าย “เขตจำกัดการเข้าถึงหรือเขตห้ามเข้า” ในบริเวณที่รัสเซียถือว่าอาจถูกศัตรูบุกรุกได้ในอนาคต เช่น ยูเครน แคว้นคาลีนินกราด (ที่ตั้งแยกไปจากรัสเซีย อยู่ระหว่างโปแลนด์และลิทัวเนีย) และมหาสมุทรอาร์กติก การสร้างเขตห้ามเข้านี้จะใช้ทั้งการป้องกันทางอากาศและขีปนาวุธ

การใช้ขีปนาวุธนำวิถีจากพื้นดินสู่พื้นดิน หน่วยยิงขีปนาวุธร่อนทั้งทางภาคพื้นดิน อากาศ และน้ำ

และการทำลายเรือดำน้ำในหลายระดับความลึก เป็นต้น

6)การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจในปัจจุบันก้าวสู่มิติทางค่านิยมและการพัฒนาทางสังคม

นโยบายความมั่นคงของรัสเซียจึงรวมไปถึงการจัดการการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนเพื่อให้เป็น “พลเมืองที่มีความรับผิดชอบ” บนพื้นฐานของค่านิยมทางศีลธรรม จิตวิญญาณรัสเซียเดิมและทางประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม ซึ่งไม่เพียงถูกคุกคามจากตะวันตก หากยังถูกคุกคามจากกลุ่มสุดโต่งและอุดมการณ์หัวรุนแรงต่างๆ การต่อสู้ทางค่านิยมและแนวทางการพัฒนาสังคมมีแนวโน้มสำคัญขึ้นทุกที

ขณะที่เกิดความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมและค่านิยมในสังคมตะวันตก

7)สถานการณ์ขณะนี้เข้าสู่ “โลกหลังตะวันตก” แต่ไม่ได้หมายความว่าโลกจะปลอดภัยขึ้น เพราะการดิ้นรนของตะวันตกเพื่อการรักษาสถานะเดิมของตนไว้ รวมทั้งความพยายามที่จะยัดเยียดการจัดระเบียบโลกแบบตะวันตกให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

และการดำเนินนโยบายเพื่อปิดล้อมขั้วอำนาจอื่น/รัสเซีย-จีน ยิ่งเร่งความไร้เสถียรภาพในการสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก่อความปั่นป่วนในโลกและภูมิภาคต่างๆ

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ความสามารถในการตอบโต้ของรัสเซีย ยิ่งเพิ่มความพยายามของสหรัฐ-นาโต้ในการกดดันปิดล้อมรัสเซียมากขึ้น ฉะนั้น รัสเซียจะต้องไม่คลายความระมัดระวัง

ข้างฝ่ายพลเมืองรัสเซีย ก็ดูเห็นพ้องกับทางรัฐบาล การสำรวจประชามติประชากรรัสเซียโดย “เลวาดา” ในปี 2016 พบว่า ร้อยละ 65 ของประชากรที่สำรวจเชื่อว่าประเทศอื่นเป็นภัยคุกคามทางทหารต่อรัสเซีย เทียบกับร้อยละ 40 ในปี 2006

ในอีกด้านหนึ่ง ความเสื่อมถอยของตะวันตก ทำให้รัสเซียเห็นว่าสหภาพยุโรปอ่อนแอ ต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองและสังคมต่อเนื่องกันมาหลายปี ความสำคัญจำเป็นที่จะต้องสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับสหภาพยุโรปลดลงไป

ขณะที่การกระชับความสัมพันธ์กับจีนและอำนาจเกิดใหม่มีความสำคัญสูงขึ้น แม้แต่ความสัมพันธ์กับสหรัฐที่มึนตึงกัน ก็ยังสำคัญกว่าความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปในการสร้างสถานะความเป็นมหาอำนาจโลกของรัสเซีย

มีนักรัฐศาสตร์รัสเซียบางคนถึงกับเสนอว่าควร “แช่แข็ง” ความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปไว้

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปก็ไม่ได้เป็นลูกค้าซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเหมือนเดิม

(ดูบทความของ Isabelle Facon ชื่อ Russia”s national security strategy and military doctrine and their implications for the EU ใน geostrategia.fr 01.01.2017)

นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธาธิบดีรัสเซีย กัย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

8)การปฏิวัติสี เป็นความกังวลของผู้นำรัสเซียมานานแล้วว่าสหรัฐ-นาโต้พยายามก่อการปฏิวัติสีขึ้นในรัสเซีย

เหมือนกับที่เคยก่อแล้วในประเทศจอร์เจียและยูเครน ความกังวลนี้เพิ่มสูงขึ้นเมื่อสหรัฐ-สหภาพยุโรปก่อการรัฐประหาร โค่นรัฐบาลยูเครนที่เป็นมิตรกับรัสเซียในปี 2014

ผู้นำยูเครนปัจจุบันมีแนวคิดชาตินิยมขวาจัด เห็นรัสเซียเป็นศัตรู สังคมยูเครนก็เกิดความแตกแยกอย่างยากจะเยียวยา นำมาสู่สงครามได้ตลอดเวลา ก่อความไร้เสถียรภาพของยุโรปในระยะปานกลาง และกระทบโดยตรงต่อชายแดนของรัสเซีย

ผู้แสดงสำคัญในการปฏิวัติสีภายในรัสเซียได้แก่ กลุ่มหัวรุนแรงในสังคม ใช้อุดมการณ์ชาตินิยมและคลั่งศาสนาเป็นเครื่องปลุกระดม กลุ่มเอ็นจีโอต่างประเทศและระหว่างประเทศ และพลเมืองในชาติอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อทำลายบูรณภาพเหนือดินแดนและขัดขวางการดำเนินทางการเมืองของรัสเซีย

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงอุตสาหกรรมการทหาร การค้าอาวุธ และการก้าวสู่การเป็นเจ้าสมุทรของรัสเซีย