วงค์ ตาวัน : ประเทศนี้มีเก้าอี้ฟาด

วงค์ ตาวัน

นอกจากยอดคนเข้าดูจะทะลุเกินกว่า 30 ล้านแล้ว สำหรับเพลงแร็พประเทศกูมี ซึ่งฮอตฮิตเพราะสะท้อนปัญหาการเมืองไทยได้อย่างชัดเจนแหลมคมที่สุดในยุคนี้ อีกส่วนหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือ มิวสิกวิดีโอที่นำเอาเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาเป็นฉากประกอบ

โดยเฉพาะภาพเก้าอี้ฟาดใส่ศพที่ถูกแขวนคอ

“จนเกิดประโยคฮิต ประเทศกูมีเก้าอี้ฟาด ประเทศนี้มีเก้าอี้ฟาด”

เก้าอี้ฟาด จึงกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ในการสะท้อนความโหดร้ายทางการเมืองที่กระทำต่อประชาชนในสังคมไทย

แน่นอนว่า เก้าอี้ฟาดใส่ศพ เป็นความจริงที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ 6 ตุลาคม เมื่อ 42 ปีก่อน

ลงมืออย่างโจ่งแจ้งที่ท้องสนามหลวง โดยร่างของนักศึกษา-ประชาชนที่ถูกรุมทำร้ายโดยมวลชนฝ่ายขวาและเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมอาวุธที่ระดมยิงใส่ ก่อนเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอาไว้ได้ จับกุมนักศึกษา-ประชาชนนับพันที่ชุมนุมบริเวณสนามฟุตบอล

แต่มีส่วนหนึ่งถูกลากออกมารุมทุบตีที่หน้าธรรมศาสตร์ ก่อนนำไปแขวนคอกับต้นมะขามริมสนามหลวงไม่ต่ำกว่า 4 ราย

แล้วยังรุมกระทำกับร่างสิ้นลมหายใจเหล่านั้นด้วยอารมณ์หลุดโลก เอารองเท้าแตะยัดปากบ้าง

“และที่กลายเป็นภาพข่าวที่ติดตาอย่างมากคือ การเอาเก้าอี้ฟาดใส่ศพที่ถูกแขวนคอ!”

ความที่ 6 ตุลาฯ เป็นความรุนแรงที่ผ่านการวางแผน ตระเตรียมการมายาวนาน และตั้งใจจะให้เกิดการเข่นฆ่าเพื่อหวังกวาดล้างขบวนการนักศึกษาที่เรียกกันว่าฝ่ายซ้ายให้หมดสิ้นไป

เป็นการฆ่าที่ต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นการยิงใส่ขบวนประท้วงของประชาชนกลางถนน โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับคำสั่งให้สลายการชุมนุม

หรือพฤษภาคม 2553 ที่ตายไปถึง 99 ศพ ซึ่งเป็นการสลายม็อบ การขอคืนพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับอนุญาตให้ใช้กระสุนจริง

ขณะที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นการสร้างเรื่องบิดเบือนกล่าวหาว่านักศึกษา-ประชาชนที่ชุมนุมในธรรมศาสตร์เพื่อต่อต้านการกลับเข้าประเทศไทยของจอมพลถนอมนั้น มีการจัดแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

“ปลุกมวลชนฝ่ายขวาฮือเข้าปิดล้อมธรรมศาสตร์แล้วเกิดการใช้ความรุนแรง ทำให้กลายเป็นฉากประชาชนคนไทยหัวใจรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทนไม่ไหวกับพฤติกรรมของนักศึกษา-ประชาชนฝ่ายที่ถูกตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์!?!”

ทั้งมีการพูดจากันอย่างเปิดเผยของบุคคลในวงการการเมืองก่อนเกิดเหตุ ทำนองว่าจำเป็นต้องสูญเสียนักศึกษาจำนวนหนึ่ง เพื่อให้บ้านเมืองสงบ

แน่นอนว่า เมื่อใช้กระบวนการปลุกมวลชนฝ่ายขวาให้โกรธแค้นชิงชัง พร้อมจะเข้าทำลายล้างมวลชนอีกฝ่ายที่เชื่อไปแล้วว่าเป็นพวกทำลายสถาบันที่คนไทยเคารพรัก กระทำย่ำยีหัวใจคนไทย

จึงกลายเป็นเหตุรุนแรงโหดเหี้ยมทางการเมือง ที่คนไทยกระทำกับคนไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพการใช้เก้าอี้ฟาดใส่ร่างไร้ลมหายใจที่ถูกแขวนคอ โดยมีคนที่มุงดูรอบๆ หัวเราะหรือยิ้มแย้ม โดยไม่รู้สึกเลยว่าเป็นเรื่องเลวร้าย!?

ขณะที่เพลงแร็พประเทศกูมี ถือเป็นการเสียดสีการเมืองไทยร่วมยุคสมัย คือ เน้นสะท้อนบรรยากาศการเมืองในยุคไร้ประชาธิปไตย 4-5 ปีมานี้ แต่เมื่อหยิบเอาฉาก 6 ตุลาคม 2519 มาใส่ในมิวสิกวิดีโอ ดูกลมกลืนไปกันได้ดีอย่างมาก

เพราะ 6 ตุลาฯ คือเหตุการณ์ที่อำนาจรัฐ อำนาจฝ่ายขวา กระทำกับประชาชนฝ่ายรักประชาธิปไตย

“จึงมีความใกล้เคียงกันในบางด้าน”

ทั้งนี้ จากคำให้สัมภาษณ์สื่อของธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับฯ มิวสิกวิดีโอชุดนี้ ได้พูดถึงการนำเอา 6 ตุลาฯ เข้ามาเป็นฉาก เพราะเห็นว่า 6 ตุลาฯ คืออาการทางกายภาพของความเจ็บป่วยของประเทศนี้ที่ปัจจุบันมันก็ยังไม่ล้าสมัย

“นอกจากนี้ การออกแบบการเคลื่อนกล้องที่วนไปรอบๆ เพื่อจะบอกว่า เหตุการณ์เมืองไทยที่ไม่ไปไหน วนเป็นวงกลม คนไม่มีการเรียนรู้ ผู้มีอำนาจไม่มีการเรียนรู้ ประวัติศาสตร์จึงซ้ำรอย!”

เหตุผลของศิลปินที่ผลิตเพลงและมิวสิกวิดีโอดังกล่าว ยืนยันให้เห็นว่า การพูดถึง 6 ตุลาฯ ไม่เคยล้าสมัยในสังคมไทย

เพราะบ้านเมืองเราไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ จึงยังวนเวียนซ้ำรอยเดิม

อาจจะเปลี่ยนไปบ้างตามรูปแบบ แต่สาระของเรื่องแทบไม่เปลี่ยน ในความขัดแย้งทางความคิดการเมืองยุคหลัง ก็ยังใช้กระบวนการบิดเบือนข้อมูล เพื่อปลุกให้คนเกลียดชังกับอีกฝ่าย จนนำไปสู่การต่อต้านกันอย่างก้าวร้าวรุนแรง

“แม้แต่คนที่ถูกกระทำในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แท้ๆ มาวันนี้เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนจุดยืนกลายเป็นพวกฝ่ายขวา กลับนำเอากระบวนการสร้างความเกลียดชังอย่างมากอคติเข้าทำลายฝ่ายที่คิดต่าง อย่างไม่ตะขิดตะขวงอะไรเลย”

เพลงแร็พที่สะท้อนอารมณ์อึดอัดของสังคมไทยในยุครัฐประหาร เมื่อนำเอาฉาก 6 ตุลาฯ เข้ามาใส่

คือการตั้งคำถามว่า ทำไมประวัติศาสตร์ของเราจึงซ้ำรอยไปมาไม่สิ้นสุด!

6ตุลาฯ 2519 หลังจากฆ่ากันในช่วงเช้า โดยประชาชนที่รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จัดการกับนักศึกษา-ประชาชน ลงเอยตอนเย็นก็มีการรัฐประหาร โดยใช้ชื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มาในช่วง 2 เหตุการณ์ยุคการเมืองไทยแบ่งสี มีม็อบออกมาต่อต้านรัฐบาลนักการเมืองจากการเลือกตั้ง ในข้อกล่าวหากลุ่มทุนสามานย์และล้มเจ้า ลงเอยก็มีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

หนสุดท้ายมีม็อบขับไล่รัฐบาลนักการเมืองฉ้อฉล เรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง คือ ยังไม่ให้มีเลือกตั้ง ลงเอยก็มีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

เอาเฉพาะบรรยากาศในช่วงการชุมนุมชัตดาวน์

“มีการปลุกเร้าความชิงชังกันอย่างดุเดือด”

ใช้ถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามทางเพศโจมตีนายกฯ สตรีอย่างสนุกปาก โดยผู้ร่วมชุมนุมขานรับอย่างสะอกสะใจ ไม่เว้นเพศหญิงด้วยกัน ก็หัวเราะร่าไปกับมุขส่อเสียดทางเพศนั้นด้วย

ในปฏิบัติการขัดขวางการเลือกตั้ง ก็ไปปิดล้อมหน้าคูหา ข่มขู่คุกคามประชาชนด้วยกัน ไม่ยินยอมให้เดินเข้าไปใช้สิทธิ ใช้กำลังผลักไส ไปจนถึงบีบคอ

“ฝ่ายที่ร่วมชุมนุมเห็นภาพเหล่านี้ก็เฮฮาชอบอกชอบใจ”

บุกไปยังสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เพื่อกดดันให้เสนอข่าวตามที่ม็อบต้องการ ขู่เข็ญพิธีกรอ่านข่าวให้ร่วมเป่านกหวีด

จุดสำคัญคือ ไม่อาศัยการรณรงค์ให้ข้อมูลเพื่อจูงใจให้คนเข้าร่วมการชุมนุมต่อสู้ แต่เน้นการบังคับให้ต้องเห็นด้วย ต้องเอาด้วย

หนักสุดคือเหตุการณ์มือปืนป๊อปคอร์นที่แยกหลักสี่ ใช้อาวุธยิงใส่ฝ่ายคิดต่างอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

“ในขณะที่แกนนำม็อบและเหล่าดาราที่ขึ้นเวทีเอาไปพูดถึงเหตุการณ์ใช้อาวุธปืนยิงใส่คนคิดต่าง โดยยกย่องว่าเป็นฮีโร่ พูดจาชื่นชมอย่างสนุกและสะใจ”

ย้อนกลับไปมอง 6 ตุลาคม 2519

เอาคนมาทุบตี เอามาเผาด้วยยางรถยนต์ เอามาตอกลิ่ม

เอามาแขวนคอ แล้วใช้เก้าอี้ฟาด

“ที่น่าสลดใจคือ มีไทยมุงยืนหัวเราะยิ้มเยาะอย่างสะใจและสนุกสนานไม่ต่างกัน”

เก้าอี้ฟาด สัญลักษณ์แห่งความรุนแรง จึงไม่เคยล้าสมัยตั้งแต่ปี 2519 จนถึงปัจจุบัน!