ฉัตรสุมาลย์ : มหากุมภ์ที่อุชเชน

บรรดาเต็นท์ริมฝั่งแม่น้ำกษิประ

เล่าถึงอุชเชนก่อนนะคะ เราบินโดยสายการบินแอร์อินเดียจากกรุงเทพฯ เข้าเดลลี คราวนี้ท่านธัมมนันทาได้รับนิมนต์เป็นแขกของรัฐบาล เพื่อให้แสดงปาฐกถาในงานสิงหัสถ์มหากุมภ์ที่อุชเชน เจ้าภาพจึงจัดการเดินทางโดยสายการบินของอินเดียตลอดทริป

จากเดลลี เครื่องเสียเวลา เราต้องรออยู่ที่สนามบินกว่า 3 ชั่วโมง แล้วจึงต่อเครื่องแอร์อินเดียภายในประเทศเข้าสนามบินอินดอร์ ใช้เวลาบิน 1 ชั่วโมงครึ่ง

อินดอร์เป็นเมืองที่ผู้หญิงสร้างค่ะ จะเรียกว่ามหารานี ก็ต้องหมายถึงภรรยาของมหาราชา แต่นี่ท่านเป็นมหาราชาผู้หญิง คือปกครองเมืองเอง ชื่อ เทวีอาหิลยาไพ โฮลการ์ (1725-1795)มีรูปของเธอที่สนามบิน และสนามบินที่อินดอร์ตั้งตามชื่อของเธอ

พระราชวังที่พระนางสร้างก็อลังการทีเดียว กลายเป็นจุดขายสำหรับการท่องเที่ยวในเมืองอินดอร์

เทวีโฮลการ์สร้างวัดไว้เป็นที่ระลึกหลายแห่ง ไม่เฉพาะในอินดอร์ แต่ลงใต้ก็มีวัดที่พระนางสร้าง ในแคว้นอื่นๆ ก็เช่นกัน

พระนางมีลูกชายคนเดียว แต่ไม่เอาไหน เอาแต่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน พระนางรับสั่งว่าพระนางปกครองเมือง หากประชาชนทำผิด พระนางก็ต้องจัดการกับคนทำผิด สวามีไอศวรยะนันทะ พระในศาสนาฮินดูที่นั่งประชุมอยู่ข้างๆ ท่านธัมมนันทา เล่าว่า พระนางลงโทษลูกชายคนเดียว ให้ช้างเหยียบตาย

เรียกว่าพระนางเด็ดขาดมาก

พิธีมหากุมภ์
พิธีมหากุมภ์

งานของเราอยู่ที่อุชเชน แต่สนามบินอยู่ที่อินดอร์ จึงต้องไปลงที่เมืองอินดอร์ เจ้าภาพจัดให้แขกผู้ใหญ่พักที่โรงแรมแรดิสัน โรงแรม 5 ดาว ในเมืองอินดอร์นั้นเอง แล้วเดินทางไปอีก 45 ก.ม. เพื่อไปที่สถานที่ประชุมที่ตำบลนิโนรา ถึงก่อนอุชเชน 15 ก.ม.

อุชเชนอยู่ในรัฐมัธยประเทศ ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศ ไม่มีทางออกทะเล ไม่ติดกับชายแดนของประเทศอื่น แต่จุดเด่นของอุชเชนอยู่ที่ความหมายทางวัฒนธรรมซึ่งมีรากมาจากศาสนา เป็นเมืองพระศิวะค่ะ

โหราจารย์ที่มาจากสายอินเดีย เวลาจะผูกดวงจะต้องวางจุดศูนย์กลางจากอุชเชน คนไทยรู้จักอุชเชน แต่ในพระไตรปิฎกจะเรียกว่าอุชเชนี

ด้วยความสำคัญเช่นนี้รัฐบาลกลางจึงสนับสนุนเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานสิงหัสถ์มหากุมภ์ครั้งนี้ ที่เรียกว่า สิงหัสถ์ มาจากศัพท์ทางโหรที่นับเอาจังหวะที่พระอาทิตย์เข้ามาในราศีเมษ และดาวพฤหัสเคลื่อนเข้ามาในราศีสิงห์ จึงเรียกว่า สิงหัสถ์ จะทำพิธีบูชาพระศิวะ ที่อุชเชนมีวัดสำคัญของมหากาล และชาวฮินดูจะพากันมาอาบน้ำชำระบาปที่ริมฝั่งแม่น้ำกษิประ

นับตั้งแต่ย่างเข้าปี 2000 นี้ เพิ่งมีสิงหัสถ์มหากุมภ์เป็นครั้งที่ 2 เหตุการณ์เช่นนี้ จะเกิดทุก 12 ปี ชาวฮินดูให้ความสำคัญกับงานนี้มาก เฉพาะที่อุชเชนมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาร่วม 5 แสนคน มี 4 เมืองที่จัดพิธีมหากุมภ์ ได้แก่ เมืองหริทวาร อัลลาหะบาท นาสิก และอุชเชน

พิธีนี้ ชาวฮินดูฉลองกัน 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน ไปจนถึง 21 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรี ท่านนเรนทร โมดี เป็นผู้มาปิดงานในช่วงท้าย

ปีนี้รัฐบาลกลางสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ และตั้งใจที่จะยกระดับของงานโดยเชิญแขกผู้มีเกียรติระดับนานาชาติมาเข้าร่วม บนเครื่องที่เดินทางด้วยกัน ได้พบรัฐมนตรีตัวแทนของภูฐาน อาจารย์ซานสุแบร์ จากเขมร ทูตจากบังกลาเทศ ฯลฯ

ทราบจากข่าวว่า วิทยาเทวี พันทารี ประธานาธิบดีจากเนปาลจะเข้าร่วมประชุม ทั้งที่การเมืองในเนปาลก็ยังไม่สงบ สิริเสนา ประธานาธิบดีของศรีลังกาก็จะมาร่วมงาน แสดงให้เห็นถึงความพยายามจองท่านนายกรัฐมนตรี นเรนทร โมดี ที่จะสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนา

นโยบายทางการเมืองตั้งแต่นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย คือ ท่านจวาหราล เนห์รู นั้น รัฐไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับศาสนา ท่านเนห์รูร่วมกับ อาบุล คาลัม อาซาด ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น (ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย) ได้ร่วมกันก่อตั้งสภาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของอินเดีย ใน ค.ศ.1950 ท่าทีของรัฐบาลก็ยังปฏิบัติตามท่านนายกฯ เนห์รู แม้ในสมัยต่อมาที่พรรคพหุชนได้เสียงข้างมากก็ตาม

แต่ทางการตลาดนั้น เราพบว่า อินเดียเป็นตลาดทางจิตวิญญาณที่ชาวต่างประเทศให้ความสำคัญและเดินทางเข้ามาแสวงหา นับตั้งแต่กลุ่มบีเทิลที่เข้ามาปฏิบัติธรรมที่อาศรมของท่านฤๅษีมเหศโยคีที่เมืองฤๅษีเกศในช่วง 1968 ชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากก็นิยมมาที่เมืองนี้

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่เป็นกูรูของเฟซบุ๊ก เพิ่งเปิดเผยเมื่อปีที่ผ่านมานี้เองว่า ได้ไปปฏิบัติที่เกนจิธรรมในรัฐอุตตราขันธ์ตามคำแนะนำของ สตีฟ จ็อบส์ ผู้ริเริ่มค่ายแอปเปิ้ล

สตีฟเองได้ไปปฏิบัติที่นั่นในช่วง 1970

ดูเหมือนว่า ผู้สนใจทางจิตวิญญาณที่เป็นทางเลือกอื่นนอกจากการปฏิบัติศาสนาสายหลักมักนิยมมาแสวงหาที่อินเดีย

นี่เป็นความจริงที่รัฐบาลอินเดียในยุคที่ผ่านมาอาจจะไม่ให้ความสำคัญมากนัก

แต่เมื่อท่านโมดีเข้ามาเป็นนายกฯ ท่านให้ความสำคัญเรื่องทางศาสนาเป็นพิเศษ จะเห็นได้จากการที่ท่านไปเนปาล ท่านก็ไปนมัสการที่วัดปศุบดีนาถ วัดสำคัญของฮินดู (วัดนี้ชาวพุทธเข้าไปข้างในไม่ได้ค่ะ)

เมื่อ ค.ศ.2014 ที่เดินทางไปญี่ปุ่น ท่านก็ไปนมัสการพระที่วัดในเกียวโต ค.ศ.2015 ท่านได้ออกปากเชิญนายกฯ ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่นให้มาร่วมพิธีทางศาสนาริมฝั่งแม่น้ำคงคาในเมืองพาราณสี รวมทั้งรณรงค์ให้สหประชาชาติประกาศวันที่ 21 มิถุนายน เป็นวันโยคะโลกด้วย

ปีที่ผ่านมาท่านได้เข้าร่วมประชุมฮินดู-พุทธทั้งที่เดลลีและพุทธคยา เมื่อต้นปี 2016 ท่านได้จัดประชุมซูฟิโลก การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ทางศาสนาเป็นนัยยะที่บอกว่าท่านนายกฯ คนปัจจุบันให้ความสำคัญที่จะใช้ศาสนามาเป็นเส้นทางที่จะนำความสันติสุขมาสู่สังคม ไม่เฉพาะสังคมอินเดีย แต่ท่านมองไปถึงสังคมโลกด้วย

เนื่องจากเป็นงานใหญ่ ผู้คนเดินทางมาจากทั่วสารทิศ การบริหารจัดการกับจำนวนคนมหาศาลจึงเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง ระบบสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ไวไฟมีฮ็อตสปอตให้ถึง 73 จุด กูเกิลเข้ามาร่วมในการถ่ายทอดพิธีมหากุมภ์ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำให้ผู้คนในอุชเชนได้รับชมรับทราบ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยากมาร่วม แต่เดินไม่ไหว จะมีสามล้อบริการให้เข้าถึงส่วนในของงาน 300 คัน

และด้วยความร้อน 45 องศา จะต้องมีคนเจ็บไข้แน่นอน รัฐบาลท้องถิ่นจัดโรงพยาบาลไว้ดูแล 450 เตียง

มองจากถนนจะเห็นเต็นท์ขนาดใหญ่จำนวนมากที่กางเรียงรายอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำกษิประเป็นที่พักของบรรดาพระในศาสนาฮินดู ที่เรียกว่า พวกสาธุ

ผู้เขียนคงพอใจที่จะรายงานจากรอบนอก ถ้าเข้าไปในงานไม่แคล้วโดนเหยียบ เพราะไปยืนเกะกะฝูงชนที่มุ่งลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ หรือแม้เพียงสัมผัสน้ำ แล้วเอามาลูบศีรษะ

ดร.อมรชีพ อาจารย์จากเดลลีที่เป็นหนึ่งผู้ร่วมจักงานไปร่วมในพิธีมหากุมภ์ เล่าว่าผู้คนล้นหลาม ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงกว่าจะลงไปที่ท่าน้ำ และได้สัมผัสน้ำเพื่อชำระบาป

อาจารย์ซานสุแบร์ที่มาจากเขมร ก็ใช้ความพยายามเดินไปจนถึงท่าน้ำที่ชาวฮินดูนิยมไปอาบน้ำชำระบาป แม้แต่ท่านรัฐมนตรีจากภูฐานก็ใช้ความพยายามเดินลงไปถึงท่าน้ำที่เรียกว่ารามฆาตเพื่อเอื้อมมือไปวักน้ำขึ้นมาใส่ศีรษะเพื่อความเป็นสิริมงคล

จุดสำคัญของงานอีกจุดหนึ่ง คือวัดมหากาล ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำกษิประ เป็นวัดของพระศิวะ งานมหากุมภ์เป็นงานทางศาสนาที่เรียกว่าพวกพระในศาสนาฮินดูมาแสดงพลัง

ผู้คนที่มา นอกจากจะมาร่วมในการอาบน้ำชำระบาปแล้วก็มาดูการโชว์ตัวของบรรดาพระในศาสนาฮินดู ซึ่งอลังการมาก อลังการแค่ไหน ขอยกไปเล่าให้ฟังอาทิตย์หน้า

งานมหากุมภ์เป็นช่วงเวลาที่ชาวฮินดูจะได้สัมผัสกับพระอาจารย์คนเด่นคนดังทั้งหลายของศาสนาฮินดูโดยเฉพาะในนิกายไศวะ ที่นับถือพระศิวะ ติดตามนะคะ