สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ใจของครูต่อศิษย์

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ครูลำบาก แต่เด็กได้ ทำด้วยใจล้วนๆ

กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เสร็จภารกิจ ปิดจ๊อบเยี่ยมครูอินโดนีเซียและเปิดเวทีสัมมนาย่อยเครือข่ายพันธมิตร ว่าด้วยบทบาทครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กลับไปทำอะไรกันต่อและควรทำอะไรกันอีก โดยเฉพาะการขยายผลสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อพัฒนาครู

ผมเกาะท้ายตามขบวนไปด้วย กลับมาเมืองไทยได้พบกับครูไทย 3 คน 3 โรงเรียน เข้าร่วมสานฝันกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ สร้างกระบวนการเรียนรู้ข้ามชาติ ข้ามวัฒนธรรมจนเห็นผล เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมทั้งตัวครูและนักเรียน ทำให้โลกแห่งการเรียนรู้เป็นสากล มีเทคโนโลยีเป็นสะพานเชื่อมทั้งความรู้และสายสัมพันธ์

ครูคนแรกเสนอเรื่องเล่าของเธอไปแล้ว ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของครูอีก 2 คน ร่วมกับครูไซนุดดิน คนละโครงการ คนหนึ่งอยู่โรงเรียนพื้นราบ อีกคนอยู่บนดอย รอยตะเข็บชายแดนไทย-พม่า

 

ครูจรินทร์ ธงงาม โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม จ.เชียงใหม่ ทำโครงการ ThaiMas ร่วมกับโรงเรียนปทุมวิไล จ.ปทุมธานี และโรงเรียนของครูไซนุดดิน มาเลเซีย

“ครู 3 คนรับหัวข้อคนละเรื่อง ให้เด็กเชียงใหม่ ปทุมธานีและมาเลเซีย มีกลุ่มของเขากลุ่มละ 3 คนทำงานร่วมกัน เราเป็นพี่เลี้ยง เด็กโรงเรียนละ 10 คนก็ได้ 10 กลุ่ม ติดต่อกันทางออนไลน์ ผลที่เกิด ทำให้เด็กได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้เรียนรู้เด็กต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม ได้ภาษา กล้าแสดงออก กล้าพูดคุย กล้าแสดงความคิดเห็น ทำงานมีการวางแผน ประมาณ 1 เทอมเห็นความเปลี่ยนแปลง รุ่นแรกตอนนั้นอยู่ ม.6 วันนี้อยู่มหาวิทยาลัยปี 3 ปี 4 แล้ว”

“ทำโครงการใช้ไอทีเป็นตัวเชื่อม ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมาก เกิดเครือข่ายห้องเรียนข้ามโลก หลังจบโครงการนั้น โรงเรียนทำซัมซุงสมาร์ทเลิร์นนิ่ง คลาสรูมต่อ เด็กได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชน ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อเป็นคลิปมานำเสนอ ความคิดสร้างสรรค์มีแน่ เพราะเขาต้องครีเอตชิ้นงานออกมา” ครูจรินทร์เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนของเธอ

และว่า ครูไซนุดดินมีความเป็นมิตรมาก ดูแล ถามไถ่ ทุกวันนี้เธอคงทำหน้าที่ครูคอมพิวเตอร์คนเดียวของโรงเรียน เพิ่งมีครูอัตราจ้างมาเพิ่มอีกคนเมื่อเร็วๆ นี้

 

ส่วนครูจารุพร จะนะ โรงเรียนบ้านแม่ระเมิง อ.ท่าสองยาง ทำโครงการร่วมกับครูไซนุดดิน และครู Monika Siregar โรงเรียน SME Negeri 4 เมืองเมดาน อินโดนีเซีย ชื่อว่า Asean traditional handicrafts

โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่อนุบาลถึง ม.6 อยู่ในโครงการโรงเรียนในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโรงเรียนแม่ นักเรียน 900 คน มีโรงเรียนสาขา 1 แห่ง และห้องเรียนสาขา 12 แห่ง กระจายอยู่ตามหลืบเขาในเขตพื้นที่อำเภอท่าสองยาง

“ตอนย้ายมาบรรจุที่โรงเรียนแม่ระเมิง ไม่มีคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีไฟฟ้า เพราะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่เมย แต่ก่อนใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ เครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าส่องสว่าง นักเรียนเป็นเด็กชนเผ่าปกากะญอ ไม่มีมือถือ ใช้เทคโนโลยีไม่เป็น ไม่รู้จักโซเชียลมีเดีย ไม่มีทักษะเลย ไหนจะปัญหาด้านภาษาอีก พูดไทยยังไม่ชัด การติดต่อสื่อสารยากลำบาก ทำให้เราเกิดทัศนคติว่า การเปลี่นแปลงคงทำไม่ได้ เป็นเรื่องยาก เริ่มจากศูนย์หรือต่ำกว่าศูนย์เสียอีก

“แต่พอมีโอกาสพบครูไซนุดดิน เขาบอกว่า ถ้าเราคิดแบบนั้นก็จะตกอยู่ในสภาพอย่างนี้ตลอดไป ต้องเปลี่ยนความคิด ปรับทัศนคติใหม่ มองอีกแบบ คิดเชิงบวก ครูไซนุดดินเปลี่ยนทัศคติดิฉัน ใช้เวลา 1 เทอมเต็มๆ ทำให้เราเปิดใจรับฟัง เข้าร่วมโครงการ Stem Asian Project 3 ประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย นักเรียน 3 โรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ประเทศเดียวกัน แลกเปลี่ยนกัน สร้างเครือข่ายการเรียนรู้โดยเน้นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

“โครงการใหม่เริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคม 2561 ถึงมีนาคม 2562 นักเรียนสร้างกลุ่มเฟซบุ๊กแนะนำตัว จัดกลุ่มเพื่อนอีก 2 ประเทศ 19 กลุ่ม กลุ่มละ 3 คน ใช้มือถือธรรมดา และตัดต่ออย่างง่าย ทำโครงงาน ชิ้นงาน ผลิตเป็นวิดีโอสั้น 30 วินาที โพสต์ลงเฟซบุ๊ก นักเรียนถ่ายทำ ตัดต่อวิดีโอ จัดทำข้อมูลด้วยตนเอง อธิบายขั้นตอนการทำสิ่งประดิษฐ์ งานฝีมือจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ผ้าทอปกากะญอ ผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ หมากเก็บจากผ้า บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ แทรกภาพ เครื่องมือแต่ละชิ้น คำเรียกเป็นภาษาปกากะญอ เด็กเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรม สื่อสารเรื่องราวของชาติตัวเอง นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทย มาเลย์

“เวลาติดขัด ต้องการความช่วยเหลือ เด็กก็จะเข้าหาครู ครูก็บูรณาการทุกกลุ่มสาระ ทั้งครูไอที ครูภาษาอังกฤษและกลุ่มสาระอื่นๆ ครูเองยังตกใจที่เด็กส่งงานมา ผลงานยอดเยี่ยมเกินคาด ส่งทางไลน์ มือถือ เป็นภาพวิดีโอ คลิป เสียง ไม่ใช่แค่แผ่นกระดาษและตัวหนังสือเท่านั้น” เธอพูดถึงผลงานลูกศิษย์ด้วยความภาคภูมิใจ

ท่านที่สนใจอยากเห็นความสามารถของนักเรียนและครู เปิดชมได้ที่ https://youtu.be/FIG9zVoczPo เรื่อง Asean traditional handicrafts จัดทำโดยนางสาวอัญชลีพร พนาสถิตกุล นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนแม่ระเมิง

 

เดือนมีนาคมที่ผ่านมาครูเดินทางไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย เพื่อเปิดโลกทัศน์ พบครูโมนิกา ครูไซนุดดิน มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันมากขึ้น

ผมถามว่า โครงการที่ทำได้งบฯ สนับสนุนจากไหน เธอตอบชัดเจน โทรศัพท์มือถือ ไอแพดของครูให้เด็กใช้ ให้ยืมครู ส่วนใหญ่เป็นงบฯ ส่วนตัวค่ะ ทำโครงการเด็กได้ประโยชน์เยอะมาก รู้จักโซเชียลมีเดีย ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เกิดแรงบันดาลใจ แต่ก่อนเด็กจบ ม.6 ลงไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย ความที่ไม่มีทักษะทางไอที ขณะที่เพื่อนๆ เขามีกัน พอทำไม่ได้ ทำให้เครียด กดดัน เกิดความเบื่อหน่ายท้อแท้ถึงขั้นต้องพักการเรียน 4 ถึง 5 ราย ครูเข้าไปพูดให้เปลี่ยนแปลงความคิด ปรับทัศนคติจนยอมกลับมาเรียนใหม่

“ทำด้วยใจล้วนๆ ค่ะ เราลำบาก แต่เด็กได้ พอเด็กมีโอกาสสัมผัส มีทักษะเพิ่มขึ้น อยากมีเพื่อนชาวต่างชาติ พูดคุยกันเอง ใช้ภาษาอังกฤษง่ายๆ ผ่านเฟซบุ๊ก ทำให้เขาพยายามเรียนรู้ ช่วงปิดเทอม วิดีโอหาครูไซนุดดินพูดคุย ทักทาย เด็กตื่นเต้นกันใหญ่”

เธอเล่าอย่างมีความสุขจากความเป็นครูผู้ให้

 

ครับ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องราวส่วนหนึ่งของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ซึ่งยังมีอีกมากเมื่อเครือข่ายความสัมพันธ์ทั้งในและระหว่างประเทศขยายกว้างออกไป จากรุ่นแรก ถึงรุ่นที่สอง ต่อรุ่นสาม กำลังอยู่ระหว่างนำเสนอชื่อเพื่อตัดสินในเดือนพฤษภาคม 2562 และพิธีพระราชทานรางวัล เดือนตุลาคม 2562

จะเป็นครูท่านใด ล้วนน่านำเรื่องราว ความรู้ ความสามารถ เกียรติประวัติ จิตวิญญาณแห่งความเป็นครูเพื่อศิษย์ ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตเด็ก ตลอดจนผลงานที่มีต่อการพัฒนาวิชาชีพครูและระบบการศึกษาของแต่ละประเทศมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าเพื่อให้เพื่อนครูเกิดพลังที่จะเดินตามรอยกันต่อไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

สวัสดี