Ghost : 2561 ซีรี่ส์การแสดงศิลปะวิดีโอและศิลปะแสดงสด อันแปลกประหลาด สดใหม่ ล้ำสมัย ครั้งแรกในประเทศไทย (2)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ที่กล่าวไปในตอนที่ผ่านมาว่า ซีรี่ส์ศิลปะ Ghost:2561 นั้นเป็นเทศกาลศิลปะอันแปลกประหลาด สดใหม่ และล้ำสมัย

นั้นไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงเลยแม้แต่น้อย

เพราะมันเป็นเทศกาลศิลปะที่เป็นการรวมตัวของงานศิลปะที่หาดูไม่ง่ายนักในบ้านเรา

อย่างงานวิดีโอจัดวาง และศิลปะแสดงสด ซึ่งนอกจากงานเหล่านี้จะยกขบวนมาให้ดูกันอย่างเต็มอิ่มจุใจในหลายสถานที่

ทั้งพื้นที่ทางศิลปะอย่างหอศิลป์, พิพิธภัณฑ์ (บ้านไทย)

ไปจนถึงพื้นที่สาธารณะอย่างผับบาร์ หรือลานหน้าออฟฟิศแล้ว

กระบวนการติดตั้งจัดแสดงผลงานแต่ละชิ้นยังถูกทำขึ้นมาอย่างประณีตละเอียดลออ และเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับบริบทของพื้นที่แสดงงานอย่างทรงประสิทธิภาพ

จนสามารถพูดได้ว่า ถ้าอยากศึกษาการติดตั้งงานจัดแสดงนิทรรศการศิลปะในระดับสากล ก็ให้มาดูในงานนี้กันเลยทีเดียว

ที่สำคัญ เนื้อหาของงานแต่ละชิ้นก็เข้มข้นและเต็มไปด้วยประเด็นอันหลากหลายลึกซึ้ง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ, ความเชื่อ, ตำนานท้องถิ่น, ประสบการณ์

ไปจนถึงความเป็นมนุษย์ และความไม่เป็นมนุษย์ในยุค Post Humanism

และ AI (ปัญญาประดิษฐ์)

ข้อมูลข่าวสารอันเชี่ยวกรากในโลกออนไลน์ ไปจนถึงประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ, ศาสนา, โลกาภิวัตน์, ทุนนิยม และประเด็นทางการเมือง

ทั้งหมดถูกผสมผสานร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องเล่าผ่านสื่อภาพเคลื่อนไหวอย่างวิดีโอและศิลปะแสดงสดได้อย่างทรงพลังยิ่ง

ไล่ตั้งแต่พื้นที่แสดงแรก บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ กับผลงานของศิลปินอเมริกัน เอียน เฉิง อย่าง Emissary Sunsets the Self (2017)

Emissary Sunsets the Self (2017),เอียน เฉิง

วิดีโอแอนิเมชั่นคล้ายเกมสามมิติ ที่สำรวจธรรมชาติของการกลายพันธุ์และศักยภาพในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของระบบปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการสร้างสิ่งมีชีวิตจำลองที่มีชีวิตด้วยตัวเองโดยปราศจากการควบคุมจากโลกภายนอก

ที่เขานิยามว่าเป็น “ศิลปะที่มีระบบประสาท” ซึ่งพยายามเอาตัวรอดและวิวัฒนาการตัวเองในระบบนิเวศของโลกจำลองที่ศิลปินสร้างขึ้นอย่างยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด

ดูความเคลื่อนไหวดิ้นรนกระเสือกกระสนอันไร้ที่สิ้นสุดของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ทำให้เราอดนึกย้อนกลับมาคิดไม่ได้ว่า หรือมนุษย์เราเองก็อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตจำลองที่ถูกใครสักคนสร้างขึ้นมาให้กระเสือกกระสนดิ้นรนในโลกสมมุติเหมือนกันหรือเปล่า?

และผลงานของศิลปินอเมริกัน จอช ไคลน์ อย่าง Universal Early Retirement (Spots #1 & #2) (2016) วิดีโอที่นำเสนอภาพสังคมในอุดมคติ (Utopia) ในโลกอนาคต ที่มีระบบการจ่ายรายได้ขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนทุกคน เพื่อให้พวกเขาไปทำในสิ่งที่ตัวเองรักและใฝ่ฝันโดยไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้อง

Universal Early Retirement (Spots #1 & #2) (2016),จอช ไคลน์

แต่ด้วยลักษณะที่สวยหรูดูดีเกินจริง จนดูคล้ายกับโฆษณาชวนเชื่อของพรรคการเมืองตอแหลๆ บางพรรค

แถมบนพื้นห้องชมงานยังปูด้วยกระดาษลังที่แทรกตัวไปกับผืนพรม ที่เป็นนัยยะไปถึงคนไร้บ้าน (Homeless) ในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ลังกระดาษเป็นที่คุ้มหัวนอน

และอเมริกันชนตกงานที่ต้องใช้ลังกระดาษใส่สัมภาระข้าวของออกจากบริษัท

อันเป็นประเด็นที่ไคลน์สำรวจอย่างลงลึกเข้มข้นในผลงานชิ้นอื่นๆ ของเขา

และผลงานของศิลปินแคนาเดียน จอน ราฟแมน อย่าง Deluge (2018) ที่นำเสนอในรูปแบบของสื่อสมัยใหม่อย่าง Virtual Reality (เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน)

Deluge (2018),จอน ราฟแมน

โดยให้ผู้ชมใส่แว่นฉายภาพโลกเสมือนจริงสามมิติ ที่นำพาเราเข้าสู่สภาพแวดล้อมวันสิ้นโลก

ที่มีทั้งมหาสมุทรและท้องฟ้าอันเวิ้งว้างกว้างไกลไร้ที่สิ้นสุด

วัตถุและสถาปัตยกรรมรูปทรงแปลกประหลาดพิสดาร

ซากศพของสัตว์และมนุษย์ที่ลอยเกลื่อนกลาดดาษดื่น และสัตว์ทะเลประหลาดขนาดมหึมาที่พุ่งกระโจนมาเขมือบกินเราลงท้อง ล่องลอยไปในทางเดินอาหาร ดำดิ่งสู่ความมืดมนอนธการ

และถือกำเนิดใหม่อีกครั้งในมหาสมุทรอันว่างเปล่า

ผลงานชิ้นนี้นำพาเราให้สัมผัสกับประสบการณ์ทางความรู้สึกอันหลากหลาย

ทั้งหลอนล้ำ ตื่นตะลึง พิศวง พรั่นพรึง

ไปจนถึงสงบและผ่อนคลาย

นับเป็นประสบการณ์อันแปลกใหม่ในการชมงานศิลปะจริงๆ อะไรจริง

ตามมาด้วยผลงานที่แสดงในแกลเลอรี่ 100 ต้นสน ของศิลปินเยอรมัน ฮิโต สเตเยิร์ล อย่าง Liquidity, Inc. (2014) วิดีโอจัดวางที่ใช้สถานะอันเลื่อนไหลของน้ำเป็นธีมหลักในการนำเสนอเรื่องราวของเจค็อบ วู้ด อดีตผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามที่ได้รับการอุปการะจากครอบครัวอเมริกัน และเติบโตมาเป็นนักวิเคราะห์ทางการเงิน

Liquidity, Inc. (2014),ฮิโต สเตเยิร์ล

ก่อนที่จะตกงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008

เขาจึงตัดสินใจผันงานอดิเรกเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบผสม (MMA) ให้กลายเป็นอาชีพ แทรกด้วยข้อมูลของ “น้ำ” อันท่วมท้นล้นหลากในโลกออนไลน์

ทั้งในแบบตรงตัว หรือในเชิงภาพแทนในรูปแบบของศิลปะอย่างภาพคลื่นยักษ์ของโฮะคุไซ และในเชิงอุปมาถึงการไหลเวียนของข้อมูลและสินทรัพย์ในโลกทุนนิยม

ไปจนถึงในเชิงปรัชญาการต่อสู้ดังคำกล่าวของบรูซ ลี ฮีโร่ของเจค็อบ ที่ว่า “จงไร้รูปทรง ไร้รูปร่าง จงเป็นดั่งน้ำ”

สเตเยิร์ลนำเสนอเรื่องราวอันหลากหลายด้วยจังหวะอันหวือหวาฉับไว สนุกสนาน เร้าใจ เสียดเย้ยและยั่วล้ออย่างแหลมคม

โดยฉายลงบนจอที่จัดวางตรงกันข้ามโครงสร้างที่นั่งที่ดูคล้ายกับกระดานลาดเล่นสเก๊ตบอร์ดปูโฟมยางสีฟ้า

จนดูคล้ายกับว่าผู้ชมกำลังโล้คลื่นยักษ์ที่กำลังซัดสาดใส่จอยังไงยังงั้น

ต่อด้วยผลงานที่แสดงในโนว่า โปรเจ็กต์ สเปซ ของศิลปินอเมริกัน เรเชล โรส อย่าง Sitting Feeding Sleeping (2013) ที่นำเสนอภาพของสัตว์หลากชนิดในสวนสัตว์ ไปจนถึงหุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ ศพแช่แข็งในห้องทดลอง

Sitting Feeding Sleeping (2013),เรเชล โรส

ภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้แสดงออกถึงการเคลื่อนไหวของห้วงเวลาที่ส่งผลต่อชีวิตและความตายของสรรพชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์