การเลือกตั้งที่เป็นธรรม Free and Fair ของแท้ต้องเป็นอย่างไร ? l สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การเลือกตั้งที่เป็นธรรม โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร

Free and Fair Election มักจะเป็นคำกล่าวที่เราได้ยินเสมอเมื่อพูดถึงการเลือกตั้งตามอุดมคติ

โดย Free Election หมายความถึงการเลือกตั้งที่เสรี ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งโดยเสรีไม่ถูกบังคับข่มขู่หรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของใคร

ไม่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือหัวคะแนน ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่มาบอกว่าให้เลือกเบอร์นั้นเบอร์นี้ หากไม่เลือก วันหลังอย่ามาขอความช่วยเหลือกัน

ส่วน Fair Election หมายถึง การเลือกตั้งที่เป็นธรรม หมายถึง การเลือกตั้งที่ผู้สมัครทุกคน พรรคการเมืองทุกพรรคสามารถเสนอตัวในการแข่งขันเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือกได้อย่างเท่าเทียม ไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบ

ไม่ใช่ว่าพรรคหนึ่งหาเสียงได้ทุกพื้นที่แต่อีกพรรคหนึ่งไม่สามารถเข้าไปหาเสียงในบางพื้นที่ หรือปล่อยให้พรรคหนึ่งวิ่งไปก่อนแต่มัดขาพรรคอื่นๆ ไม่ให้ออกจากจุดปล่อยตัว

ก่อนหน้ามาเป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผมเคยไปทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์นานาชาติในหลายประเทศร่วมกับอาสาสมัครสังเกตการณ์จากประเทศต่างๆ

อาสาสมัครเหล่านี้ถูกส่งกระจายลงไปในพื้นที่ต่างๆ แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ เพียง 1-2 วันก่อนวันเลือกตั้ง แต่จะสังเกตการทำหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้ง สอบถามสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ และใช้ความเชี่ยวชาญที่ตนมีในการสังเกตการจัดการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น และกลับมาถกเถียงกันก่อนเขียนรายงานและออกเป็นคำแถลงเกี่ยวกับผลการสังเกตการณ์ของประเทศนั้นๆ

และจบลงด้วยการสรุปว่าเป็นการเลือกตั้งที่ Free&Fair หรือไม่

หลายประเทศที่ไป มีบทสรุปสุดท้ายที่คล้ายกันคือ Free แต่ไม่ Fair คือประชาชนมีสิทธิ์เลือกตั้งโดยเสรีในระดับหนึ่ง ไม่มีการข่มขู่บังคับ (หรือผู้สังเกตการณ์อาจไม่เห็น หรือมีแต่ไม่กล้าเล่า)

แต่การเลือกตั้งมักจะไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งตั้งแต่เริ่มต้น

โดยปัญหามักจะมาจากพรรคฝ่ายรัฐบาลที่ถือความได้เปรียบในฐานะเป็นรัฐบาลใช้กลไกของรัฐสร้างความได้เปรียบต่างๆ นานา

การเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมโดยการเอาเปรียบจากฝ่ายรัฐนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปในการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ หากผู้ปกครองมุ่งหวังที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม

ซึ่งมีวิธีการจัดการที่หลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน

ดังนี้

ประการแรก การจัดการให้กรรมการเป็นคนของตนเอง ก่อนหน้าการมีกลไกกรรมการการเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ เป็นการจัดการโดยรัฐ ซึ่งมักจะเป็นกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสถิติประชากร ดังนั้น จึงถูกครอบงำโดยนักการเมืองไม่ยาก

ภายหลังประเทศส่วนใหญ่เห็นปัญหาดังกล่าวจึงเปลี่ยนแปลงให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่อิสระและเป็นกลางขึ้น

อาจยังคงเหลือในบางประเทศ เช่น เยอรมนี ที่ยังให้สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง แต่ส่วนใหญ่ได้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งหมดแล้ว

การมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (EC : Election Committee) ไม่ได้แปลว่าแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมได้หมด

การเข้ามาพยายามแทรกแซงคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้ได้คนของตนเองที่ไว้วางใจได้มาจัดการเลือกตั้งยังเป็นสูตรสำเร็จที่นักการเมืองสายอธรรมใช้อยู่

เช่น การส่งคนของตนเองมาเป็น กกต. การติดต่อล็อบบี้เพื่อเสนอประโยชน์ในเส้นทางอาชีพหลังพ้นตำแหน่งให้ ไปจนถึงการเสนอประโยชน์ต่างๆ นานา

และที่แรงที่สุดคือ การใช้อำนาจตามกฎหมายที่ฉ้อฉลในการปลดกรรมการการเลือกตั้งบางคนหรือทั้งคณะให้พ้นจากตำแหน่ง เพื่อให้เกิดการสรรหาชุดใหม่ที่วางใจได้

เพราะการมีกรรมการการเลือกตั้งอยู่ในมือจึงหมายถึงความได้เปรียบเริ่มต้นที่พร้อมจะลงดาบแก่คู่แข่งและหรี่ตาให้กับฝ่ายตนเองเมื่อมีการกระทำผิด

นี่เป็นวิธีการที่ใช้ทั่วไปในประเทศที่การเมืองยังไม่พัฒนา

ประการที่สอง การออกกติกาที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคของตนเองและเป็นอุปสรรคแก่พรรคคู่แข่ง เช่น ในการเลือกตั้งของเมียนมา มีการกำหนดให้มี ส.ส.ที่มาจากแต่งตั้งจากทหาร 110 ที่จาก 440 ที่ หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของ ส.ส.ทั้งสภา ส่วนในสภาสูง ก็ให้มี ส.ว.แต่งตั้งจากกองทัพ 56 คนจาก 224 ที่นั่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 25 เช่นกัน

ดังนั้น จึงเหมือนเป็นการสร้างกำแพงกั้นฝ่ายตรงข้ามว่า หากต้องการเสียงข้างมากในสภาจะต้องได้ผลการเลือกตั้งเกินกว่า 220 ที่จาก 330 ที่ที่จัดให้มีการเลือกตั้งหรือชนะเกินกว่า 2 ใน 3

บางประเทศก็ชิงไหวชิงพริบกันในการกำหนดวันเลือกตั้งแบบฉุกละหุก ไม่สามารถให้อีกฝ่ายตั้งตัวได้ทัน เพราะรัฐบาลเป็นผู้ออกกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งย่อมรู้ในใจว่าวันเลือกตั้งจะเป็นวันใด สามารถเตรียมการให้เกิดความพร้อมสูงสุด ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามแทบจะไม่รู้เหนือรู้ใต้ พอกำหนดวันเลือกตั้งออกมา การเตรียมการต่างๆ ย่อมไม่พร้อม หรือแม้กระทั่งการกำหนดวันเลือกตั้ง บางประเทศ ฝ่ายรัฐบาลเปลี่ยนวันเลือกตั้งจากวันหยุดมาเป็นวันทำงาน เพราะเหตุผลลึกๆ ว่าต้องการให้คนทำงานสำนักงานซึ่งมีแนวโน้มสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามสามารถมาใช้สิทธิ์น้อยลง นี่คือสารพัดวิธีมารที่ใช้

นอกจากนี้ ก่อนหน้ามีกฤษฎีกา การหาเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคการเมืองต่างๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ผู้เป็นรัฐบาลก็อาศัยสื่อต่างๆ ของรัฐสร้างความได้เปรียบเก็บคะแนนไปเรื่อยๆ

พอถึงช่วงหาเสียงที่มีเวลาจำกัด ฝ่ายตรงข้ามย่อมมีความเสียเปรียบในการแข่งขัน

ประการที่สาม การใช้เทคนิคในการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน ด้วยความเชื่อว่าประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในแต่]tพื้นที่จะเป็นฐานคะแนนเสียงของผู้สมัครที่แตกต่างกัน ดังนั้น การผ่าพื้นที่ฝ่ายตรงข้ามออกเป็นสองส่วนสามส่วนย่อมเป็นการสลายคะแนนของฝ่ายตรงข้าม การรวมพื้นที่ที่ฝ่ายตนมีคะแนนให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกันย่อมเป็นการเพิ่มคะแนนที่ตนคาดว่าจะได้รับ

ในการเลือกตั้งของประเทศมาเลเซีย มีประเด็นที่เป็นวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อว่า ฝ่ายรัฐบาลพยายามแบ่งเขตใหม่โดยเพิ่มสัดส่วนของ ส.ส.จากชนบทรอบนอกให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าคะแนนเสียงในกรุงอาจจะสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

เทคนิคการแบ่งเขตยังเป็นเทคนิคที่ใช้กันในการเลือกตั้ง โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น พรรคการเมืองและประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่ามีการปรับเปลี่ยนอย่างไร ใครได้ ใครเสีย

และหากกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นผู้กระทำการโดยเจตนาให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบก็สามารถฟ้องร้องถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้

ประการที่สี่ การใช้งบประมาณโครงการของรัฐสร้างความได้เปรียบ

มุขนี้มิใช่มุขใหม่ ในอดีตประเทศเราในกรุงเทพมหานครเคยมีที่พักรอรถเมล์ชื่อ “ศาลาประชากรไทย” ที่พ้องกับชื่อพรรคการเมืองหนึ่ง เคยมีถนนหนทางในหมู่บ้านหลายสายที่ติดชื่อติดป้ายของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลว่ามีส่วนช่วยในการประสานงานจนได้งบประมาณในการก่อสร้าง โดยชื่อและรูปถ่ายมีขนาดใหญ่โตกว่ารายละเอียดการก่อสร้างต่างๆ ที่สมควรให้ประชาชนรับทราบ

ปัจจุบันก็มีชื่อพรรคการเมืองที่ไปพ้องกับปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญหรือเครื่องกรองน้ำหยอดเหรียญ หรือร้านขายของสวัสดิการของรัฐในหมู่บ้านที่สร้างหรือใช้งบประมาณของรัฐในการสนับสนุน ซึ่งหากบังเอิญไปพ้องก็คงเป็นโชคดีของพรรคนั้นที่เท่ากับมีป้ายโฆษณาเพิ่มโดยไม่ต้องลงทุน

แต่หากเป็นกระบวนการที่ตระเตรียมมาก็คือความแยบยลในการจัดการเพื่อให้เกิดความได้เปรียบ

ประการที่ห้า ฝ่ายรัฐบาลยังสามารถใช้กลไกบุคลากรภาครัฐในการสนับสนุนให้เกิดความได้เปรียบ

เช่น การใช้ข้าราชการในท้องถิ่นในการกะเกณฑ์ประชาชนมาใช้สิทธิ์ตามที่ฝ่ายตนปรารถนา

ใช้เวทีการประชุมชาวบ้านเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ของราชการแฝงไปกับการหาเสียงให้กับผู้สมัครของฝ่ายตนเอง

ใช้สิ่งของที่จะแจกจะจัดสรรให้กับประชาชนซึ่งเป็นงบประมาณของรัฐหรือกิจกรรมของรัฐมาแจกประชาชนในช่วงการเลือกตั้ง จนดูเหมือนว่ามาจากผู้สมัครเสียเอง ซึ่งแม้จะเสี่ยงกับการถูกข้อกล่าวหาว่าข้าราชการวางตัวไม่เป็นกลาง แต่การเลือกข้างย่อมมีผลตอบแทน และการไม่สนับสนุนก็อาจจบลงด้วยการถูกโยกย้าย

นักมวยกำลังขึ้นเวทีชก นักฟุตบอลกำลังจะลงสนาม ทุกคนหวังเพียงแค่ว่า ขอให้วัดกันด้วยฝีมือ เล่นกันแฟร์ๆ อย่าตุกติก อย่าเอาเปรียบกันเกินไป

ถ้ามากไป แม้จะชนะ ประชาชนก็โห่ไล่ครับ