วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ทัพจิ้นยาตราศึกแม่น้ำเฝย

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เหตุดังนั้น การที่บันทึกขับเน้นให้เห็นความโดดเด่นของจู่ที่มากขึ้นเพียงใด ในด้านหนึ่งก็เท่ากับตอกย้ำความอ่อนด้อยของราชวงศ์จิ้นมากขึ้นเพียงนั้น

ที่สำคัญ ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า บันทึกนั้นมีทัศนะต่อชนชาติที่มิใช่ฮั่นอย่างไร และต่อจุดยืนเรื่องการเป็นจักรวรรดิหรือที่ในที่นี้เรียกว่าจักรวรรตินาภิวัตน์ (imperialization) อย่างไรอีกด้วย เพราะทัศนะนี้ทำให้รู้สึกว่าชนชาติที่มิใช่ฮั่นคือศัตรูตัวฉกาจ และเป็นผู้ทำลายจักรวรรดิจีนตัวสำคัญ

ส่วนจักรพรรดิที่ไม่ใส่ใจที่จะสร้างจีนให้เป็นจักรวรรดิก็คือจักรพรรดิที่ไม่เอาไหน และเป็นผู้ “ไม่รักชาติ” เท่าเสนามาตย์ที่ยอมอุทิศตนจนตรอมใจตาย

อย่างไรก็ตาม จิ้นตะวันออกภายหลังจิ้นหยวนตี้ไปแล้ว ปัญหาเสถียรภาพยังคงดำรงอยู่ไม่ต่างกับที่กล่าวมา จักรพรรดิที่ก้าวขึ้นมาครองราชย์หลังจิ้นหยวนตี้ต่างล้วนตกอยู่ภายใต้ภาวะที่ว่านี้ ยิ่งจักรพรรดิบางองค์ที่ก้าวขึ้นมาครองราชย์ด้วยพระชนมายุไม่กี่พรรษาด้วยแล้ว ก็ยิ่งง่ายต่อการถูกคุกคามจากเสนามาตย์ตระกูลใหญ่ที่ทรงอิทธิพล

โดยที่ควรกล่าวด้วยว่า ถึงแม้เสนามาตย์บางตระกูลจะทรงอิทธิพลจนเป็นภัยคุกคามต่อจักรพรรดิก็ตาม แต่บางคนในเสนามาตย์เหล่านี้มีความรู้ความสามารถไม่ต่างกับจู่ที่ นั่นคือ สามารถทำศึกเอาชนะบางรัฐใน 16 รัฐที่ตั้งตนเป็นใหญ่ได้

แล้วขุนศึกบางคนในกลุ่มนี้ก็คิดตั้งตนเป็นจักรพรรดิขึ้นมาบ้าง

การณ์เป็นเช่นนี้เรื่อยมาโดยที่จิ้นตะวันออกยังตั้งอยู่ได้ และที่ตั้งอยู่ได้ก็เพราะเป็นโชคของราชวงศ์ที่ยังมีเหล่าเสนามาตย์ที่จงรักภักดี แต่กระนั้นจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญก็เดินมาถึงเมื่อเกิดศึกแม่น้ำเฝยขึ้น

 

ศึกแม่น้ำเฝย

ดังได้กล่าวไปแล้วถึงรัฐเฉียนฉินซึ่งเป็น 1 ใน 16 รัฐในยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ ว่าเป็นรัฐที่สามารถสร้างความยิ่งใหญ่ขึ้นมาจนมีแนวโน้มที่จะเป็นจักรวรรดิได้ แต่ต้องมาพ่ายในศึกแม่น้ำเฝยจนล่มสลาย และทำให้สถานการณ์ของยุคนี้และของจิ้นตะวันออกเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนั้น การกล่าวถึงศึกแม่น้ำเฝยในที่นี้จึงย่อมเริ่มจากตัวผู้นำของรัฐเฉียนฉินที่ชื่อฝูเจียนต่อไป

ฝูเจียนที่เป็นผู้นำเฉียนฉินนั้นมีขุนนางมากความสามารถคนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ ขุนนางคนนี้คือหวังเหมิ่ง (ค.ศ.325-375)

หวังเหมิ่งภายใต้การสนับสนุนของฝูเจียนได้จัดระเบียบบริหารให้แก่รัฐนี้ขึ้นมาใหม่ มีการขจัดบางบุคคลในสกุลที่ทรงอิทธิพลและเสนามาตย์ที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ไปหลายสิบคน วางพื้นฐานการศึกษาตามมาตรฐานของชนชาติฮั่น (ซึ่งก็คือมาตรฐานตามลัทธิขงจื่อ)

ฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรที่ตกทุกข์ได้ยากจากการศึกที่ผ่านมาหลายสิบปี ลดภารกิจทางการทหารด้วยการให้ทหารบางส่วนกลับไปทำการเกษตรยังบ้านเกิด วางระบบชลประทานเพื่อการเกษตรขึ้นมาใหม่ เพิ่มแรงงานการผลิตในภาคเกษตร ลดหรืองดเว้นภาษีให้แก่ราษฎร

และเมื่อเกิดทุพภิกขภัยใน ค.ศ.358 เขาก็ให้ลดค่าใช้จ่ายในราชสำนักลงมา ลดเงินบำเหน็จของเสนามาตย์ทุกระดับ ยกเลิกเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไหมในวังด้วยการให้ใช้ผ้าดิบแทน งดจัดงานรื่นเริง เป็นต้น

ด้วยบทบาทเช่นนี้ของหวังเหมิ่งจึงทำให้เฉียนฉินรุ่งเรืองและมั่นคง เมื่อเป็นเช่นนี้เฉียนฉินจึงบุกเข้าตีรัฐทางตอนเหนือได้แทบทั้งหมด เหลือเพียงตอนใต้ที่เป็นที่ตั้งของจิ้นตะวันออกเท่านั้นที่ยังตีไม่ได้

แต่จะด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของหวังเหมิ่งหรือด้วยรู้ถึงจุดอ่อนของฝูเจียนก็ตามที หวังเหมิ่งได้ห้ามฝูเจียนอย่างหนักแน่นก่อนที่เขาจะเสียชีวิตใน ค.ศ.375 ว่า จงอย่าได้เปิดศึกกับจิ้นตะวันออกโดยเด็ดขาด

แต่คำสั่งเสียนี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงเรื่องเดียวที่ฝูเจียนมิได้ปฏิบัติตาม

 

ฝูเจียนซึ่งสามารถยึดครองดินแดนตอนเหนือเอาไว้ได้แล้วนั้น มีความคิดมาโดยตลอดว่าจะยึดดินแดนตอนใต้ของจิ้นตะวันออกให้ได้ มิไยที่คนใกล้ชิดทั้งเครือญาติหรือเสนามาตย์จะห้ามอย่างไร หรือยกเอาคำสั่งเสียของหวังเหมิ่งมาอ้างเพื่อยืนยันก็ตาม ฝูเจียนก็ไม่รับฟัง

ได้แต่ยืนกรานที่จะบุกลงใต้สถานเดียว

จากเหตุนี้ พอถึง ค.ศ.383 หรือแปดปีหลังมรณกรรมของหวังเหมิ่ง เฉียนฉินก็กรีธาทัพบุกแดนใต้โดยมีทหารราบ 600,000 นาย ทหารม้า 270,000 นาย และทหารจากชนชาติที่มิใช่ฮั่นคือชนชาติตี เซียนเปย เชียง และเจี๋ย ด้วยขนาดกองทัพเช่นนี้ทำให้ฝูเจียนเชื่อมั่นจนประกาศอย่างฮึกเหิมว่า

“ทัพเราสามารถหยุดสายน้ำได้ด้วยเพียงโยนแส้ทิ้งลงแม่น้ำพร้อมกัน”

ทั้งที่จริงแล้วทัพเฉียนฉินดูเกรียงไกรก็แต่ภายนอก แต่ภายในกลับอ่อนแอทั้งขวัญและกำลังใจ ด้วยเป็นกองกำลังที่ฝืนใจมาเพราะถูกกะเกณฑ์ ยังมิพักต้องกล่าวถึงการที่ศึกครั้งนี้ถูกคัดค้านจากเสนามาตย์ก่อนหน้านี้อย่างแข็งขัน

ส่วนจิ้นตะวันออกในขณะนั้นมีจักรพรรดิคือจิ้นเซี่ยวอู่ตี้ (ค.ศ.362-396) ครั้นศึกเกิดขึ้นก็ทรงมีบัญชาให้เสนามาตย์ในสกุลเซี่ยมีบทบาทนำ คนหนึ่งคือนายกรัฐมนตรี (ไจ่เซี่ยง) ชื่อเซี่ยอัน (ค.ศ.320-385) เป็นผู้วางแผนศึก

โดยมีขุนศึกสองคน คนหนึ่งคือเซี่ยสือ (ค.ศ.327-388) เป็นแม่ทัพใหญ่ อีกคนหนึ่งคือเซี่ยเสีว์ยน (ค.ศ.343-388)

ทัพจิ้นมีกำลังพล 80,000 นาย น้อยกว่าทัพเฉียนฉินกว่าสิบเท่า แต่เป็นทัพที่มีขวัญและกำลังใจดี ทัพทั้งสองจึงทำศึกกันบนความแตกต่างเช่นนี้

 

เมื่อทัพเฉียนฉินเดินเข้าสู่เขตแดนของจิ้นในระยะแรกนั้น สามารถตีเมืองใหญ่น้อยได้ชัยมาตลอดทางและจับแม่ทัพนายกองมาเป็นเชลยได้ จนศึกผ่านไประยะหนึ่งทัพจิ้นก็ตกเป็นฝ่ายรอง ทัพบางกองหากไม่ถูกสกัดก็ตกอยู่ในภาวะที่ขาดเสบียง

ฝูเจียนเห็นเช่นนั้นจึงส่งนายทหารจิ้นคนหนึ่งที่ตกเป็นเชลยของตนชื่อจูซี่ว์ ไปเจรจากับทัพจิ้นให้ยอมแพ้แต่โดยดี แต่แทนที่จูซี่ว์จะเจรจาดังว่า ก็กลับไม่เพียงกล่าวแก่ทัพจิ้นว่าอย่าได้ยอมแพ้เท่านั้น หากยังเปิดเผยสภาพของทัพเฉียนฉินที่ตนเห็นมาให้แก่ทัพจิ้นอีกด้วย

ทั้งยังเสนอให้ทัพจิ้นซึ่งเสียเปรียบด้านกำลังและตกเป็นรองข้าศึกให้สู้ต่อไป

เมื่อทัพจิ้นรู้ข้อมูลเช่นนี้จึงใช้แผนโจมตีอย่างฉับพลันโดยไม่ให้ทัพเฉียนฉินตั้งตัวได้ทัน แผนนี้ได้ผลเมื่อทัพจิ้น 5,000 นายลอบโจมตีทัพเฉียนฉินกลางดึก และสามารถเข่นฆ่าทำลายข้าศึกได้ถึง 15,000 นาย

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้ขวัญและกำลังใจของข้าศึกที่อ่อนแอเป็นพื้นเดิมอยู่แล้วยิ่งอ่อนแอลง

 

ส่วนทัพจิ้นเมื่อได้ชัยมาขวัญและกำลังใจก็ยิ่งดีขึ้น ทัพจิ้นจึงไล่ตีทัพเฉียนฉินมาถึงแม่น้ำเฝย (เฝยสุ่ย, ปัจจุบันคือเฝยเหอในมณฑลอันฮุย) โดยฝั่งตรงข้ามมีทัพเฉียนฉินที่นำโดยฝูเจียนตั้งเผชิญอยู่

ทัพจิ้นจึงส่งคนไปขอให้ฝูเจียนถอยร่นทัพให้ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำออกไป โดยให้เว้นพื้นที่พอสำหรับให้ทัพของตนได้ทำศึกกับทัพเฉียนฉิน ฝูเจียนยอมทำตามที่ทัพจิ้นขอมาโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของเหล่าเสนามาตย์เช่นเคย

ด้วยฝูเจียนคิดว่าจะฉวยโอกาสตีทัพจิ้นในขณะที่ข้ามมาถึงกลางแม่น้ำโดยไม่ทันให้ตั้งตัว ดังนั้น เมื่อฝูเจียนออกคำสั่งให้ถอยทัพ บรรดาทหารของทัพเฉียนฉินก็เข้าใจว่าทัพตนกำลังเพลี่ยงพล้ำ

ส่วนจูซี่ว์ที่กลับคืนเข้าทัพเฉียนฉินในฐานะเชลยก็ตะโกนจากข้างหลังทัพเฉียนฉินว่า “ทัพฉินแพ้แล้ว” ซ้ำกันหลายครั้ง ทัพเฉียนฉินก็รวนเรด้วยความกลัว ทัพจิ้นเห็นเป็นโอกาสจึงบุกเข้าโจมตีอย่างเต็มกำลังพลันที่ขึ้นมาถึงฝั่งน้ำ

ผลจึงกลายเป็นว่าทัพเฉียนฉินพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ และถอยทัพกลับไปยังลว่อหยังด้วยกำลังพลที่เหลืออยู่หนึ่งแสนเศษ

ศึกนี้จึงเรียกกันต่อมาว่าศึกแม่น้ำเฝย (เฝยสุ่ยจือจั้น, Battle of Fei River)