อัญเจียแขฺมร์ : สมเด็จ ว่าด้วย ความสมบูรณ์แบบแห่งความตาย

ขอบภาพจาก เฟชบุ๊ก Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister

นอกเทศกาลรำลึกถึงความตาย-ประจุมบิณฑ์ในเดือนพัทบต (กันยายน-ตุลาคม) แล้ว

สิ่งที่น่าจดจำอีกประการหนึ่งของเดือนตุลาคม คือการจากไปของบุคคลสำคัญ ซึ่งพากันมรณกรรมในเดือนพัทบท

ซึ่ง 1 ในนั้นก็มี พระกรุณาพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุพระบรมรัตนโกศด้วยพระองค์หนึ่ง

และล่าสุดคนสุดท้ายในปลายเดือนนี้เอง ที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของกัมพูชาในระบอบสังคมนิยม-ประเจียนิจ (2522-2524) ได้ถึงแก่อนิจกรรมในวัย 80 ปี

นั่นคือ ฯพณฯ แปน โสวัน

บุรุษที่อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบของการเมืองปัจจุบันคือพรรคประชาชนกัมพูชา

รับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่กล่าวกันว่า ถูกปลดฟ้าผ่าและถูกนำตัวไปขังลืมถึง 10 ปี โดยหลังจากที่ นายจัน ซี นายกรัฐมนตรีที่ขึ้นมาแทน แปน โสวัน ไม่นาน และได้ไปใช้ชีวิตอย่างลึกลับที่กรุงมอสโกนั้น นับว่าอาจเป็นการดีกว่ามากที่ แปน โสวัน จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่โลกลืม

เพราะแม้จะถูกปล่อยตัวและกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้ง แต่ แปน โสวัน ก็เลือกที่จะเก็บงำสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเป็นความลับตลอดกาล จนถึงวันที่เขาหมดลมหายใจนี้

 

คงมีบางคนในรัฐบาลนี้และฮานอยที่รู้สึกโล่งใจ

แต่ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลกัมพูชาควรละเลยต่อพิธีศพของผู้เคยมีบทบาทในรัฐบาลของตน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน และประธานรัฐสภา นายเฮง สัมริน ต่างได้รับมรดกกรรมทางการเมืองจาก แปน โสวัน เมื่อ 30 ปีก่อนอย่างที่ควรจะจดจำ

อีกตอนที่ แปน โสวัน ถูกต้องโทษการเมืองนั้น สหายรักเฮง สัมริน-เจีย ซิม ได้รับอานิสงส์นั้น ช่างเกื้อหนุนให้พวกเขายิ่งใหญ่และกลายเป็นสมเด็จแห่งกัมพูชาเคียงข้าง ฮุน เซน

และเรื่องเดียวที่พวกเขาตกค้างและยังติดค้างต่อไป เว้นแต่ สมเด็จเจีย ซิม เลือกที่จะลาโลกไปก่อน และมรณกรรมของสมเด็จอัครมหาธรรมโพธิศาลช่วยตอกย้ำว่า วาสนาทางการเมืองของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันจริงๆ โดยเฉพาะการที่รัฐบาลได้ร่วมพิธีศพ สมเด็จเจีย ซิม อย่างยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับ เอกอุดมสาย ภูทอง อดีตกรรมาธิการพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา และยังมีบทบาทในรัฐบาลประเจียนิจ ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งได้ถึงแก่กรรมในกลางปีที่ผ่านมา

สมเด็จฮุน เซน รัฐมนตรีหลายฝ่ายพร้อมคณะนายทหารระดับสูงที่มาร่วมเคารพศพ และเป็นประธานพิธีฌาปณกิจศพที่จังหวัดตราดอย่างโอฬาริก

โดย สมเด็จฮุน เซน นั้น ถึงกับหลั่งน้ำตาต่อหน้าโลงศพของผู้ที่ได้ชื่อว่ามีพระคุณและเคยเสนอชื่อตนเป็นนายกรัฐมนตรีจนกลายเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่มาถึงบัดนี้

นับเป็นการแสดงออกสูงสุดครั้งหนึ่งที่ผู้นำกัมพูชาแสดงออกอย่างสุดซึ้ง

แต่สำหรับพิธีศพของบุคคลที่เขาเคยขอให้ฮานอยอย่าส่งเสริมตนทางการเมืองแล้ว นอกจากจะได้รับการเพิกเฉย เย็นชาเมื่อสิ้นลมปราณไปแล้วไซร้

ความมีตัวตนทั้งหลายของ แปน โสวัน ในปี 2521 ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกองทัพประชาชนปฏิวัติที่เขาถูกส่งตัวไปฝึกปรืออย่างกระตือรือร้นนั้น

ทั้ง ฮุน เซน และ เฮง สัมริน จึงลืมเสียว่า สหายที่ชื่อ แปน โสวัน ยังมีความหมายต่อเขาบ้าง?

 

แลดาวดับอีกดวงหนึ่งที่ฉันอยากรำลึกคือ เจ้าแสนโกศัล ชุม (2448-2552)

ฐานะคือ เทียบชั้นเชื้อพระวงศ์ลำดับหม่อมหลวง เคยรับราชการตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยยุคปลายอาณานิคม เป็นรัฐมนตรีหลายสมัย และนายกรัฐมนตรีระยะหนึ่งในรัฐบาลสังคมราชานิยม

ตามข้อตกลงสนธิสัญญาปารีสที่เริ่มในตุลาคมเมื่อ 25 ปีก่อน ขณะที่ เจ้านโรดม สีหนุ ต้องเตรียมพระองค์ในพิธีราชาภิเษกครองราชย์อีกครั้งนั้น เจ้าแสนโกศัล ชุม ก็ตัดสินใจกลับมาตุภูมิเพื่อรับตำแหน่งประธานสภาสูงสุดแห่งชาติ (2534-2536) ขณะอายุ 86 ปี

เมื่อสิ้นสุดการเลือกตั้งในปี 2536 นั้น พรรคฟุนซินเปกได้ครองเสียงข้างมาก นั่นเองที่ เจ้าแสนโกศัล ชุม ได้เสนอชื่อเป็นประธานรัฐสภาอีก 1 สมัย นอกเหนือจากที่ได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นองคมนตรีที่มีอายุงานยาวนานมากที่สุดคนหนึ่ง ของพระราชวังเขมรินทร์

เหมือนจะจงใจปล่อยให้การดำรงตำแหน่งนี้มีอยู่ต่อไป แต่ในปี 2550 นั่นเอง เจ้าแสนโกศัล ชุม ขณะมีชาตกาลครบ 101 ปีก็ตัดสินใจกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งทั้งหมด และกลับไปใช้ชีวิตตามลำพังกับครอบครัวอย่างเงียบสงบ

ว่ากันว่า ภายใต้เศวตฉัตรในพระบาทนโรดม สีหนุ และในพระบรมนาถสีหมุนี ที่ เจ้าแสนโกศัล ชุม มีฐานะไม่ต่างจากพระประยูรญาตินั้น โดยอุปนิสัยแล้วเลือดสีบลูของชาวกรอมนั้น ไม่ต่างจาก สมเด็จซอน ซานน์ ที่มีความแตกต่างอย่างทั่วไปจากชาวเขมรกลาง หลายครั้งที่สมเด็จทั้งสองไม่เห็นด้วยกับนโยบายแบบสีหนุคิสท์

กระนั้นก็ไม่เคยทิ้งขว้างหรือหักหลัง ยามเขมรินทร์ธิราชต้องการความช่วยเหลือ

ทั้งที่เคยประสบเคราะห์กรรมความวิบากและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาตลอด 6 สมัย สำหรับ 100 ปีแห่งการเมืองสมเด็จเจ้าแสนโกศัล ชุม ผู้สูญเสียบุคคลในครอบครัวไปกับความเชื่อทางวรรณะ

เริ่มจากธิดาคนโตที่แหกจารีตของตระกูลไปแต่งงานกับทหารในรัฐบาลลอนนอล และต่อมาถูกนำตัวไปสังหารในสมัยเขมรแดงพร้อมกับลูกๆ อีก 2 คน

ความถือตนในวรรณะของของตระกูลโกศัล ชุม ดูจะบีบคั้นจนสมาชิกอีกคนหนึ่ง ยอมฆ่าตัวตายเพื่อหนีการคลุมถุงชน

ส่วนเจ้าแสนโกศัลเองนั้น ก็เคยหนีออกนอกประเทศไปเวียดนามใต้ซึ่งเป็นบ้านเกิด และเขาถึงกับยุคหนึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองชุมชน

แต่สำหรับรัฐบาลเวียดนามใต้ เจ้าแสนโกศัลถูกจับในข้อหาเป็นภัยทางการเมืองทันทีเมื่อไปถึงที่นั่น

ไซ่ง่อนควบคุมตัวเขาเกือบ 2 ปี ต่อเมื่อฝรั่งเศสกดดัน เจ้าแสนโกศัลจึงถูกปล่อยตัวและไปสมทบกับครอบครัวที่ปารีส

ตอนที่ เจ้าแสนโกศัล ชุม ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรานั้น เขามีอายุได้ 103 ปี ซ้ำยังยุติบทบาทจากงานเวียงวังและการเมืองเมื่อผ่านศตวรรษเวลาพอดี

นับเป็นการเตือนใจ สำหรับใครก็ตามที่คิดเอาเองว่า นักการเมืองกัมพูชาจะลามือและปล่อยวางมือกันง่ายๆ

 

ตั้งแต่สมัยสังคมราชานิยม (1960-1970) มีบุคคลสองท่าน ที่รับบรรดาศักดิ์ชั้นสมเด็จและมาถึงแก่อนิจกรรมในสมัยรัฐบาล ฮุน เซน

คนหนึ่งคือ สมเด็จพระบวรเศรษฐาซอน ซานน์ และอีกคนหนึ่งคือ สมเด็จเจ้าแสนโกศัล ชุม

ทว่า ตอนที่ สมเด็จซอน ซานน์ อนิจกรรมตอนอายุ 89 ปีนั้น ท่านเพิ่งวางมือจากการเมืองและในฐานะที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองอยู่หลายสมัย และนั่นอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พิธีพระราชทานเพลิงศพหน้าวัดบัวตุมวไตเมื่อ 15 ปีก่อนนั้น เป็นไปอย่างเงียบเชียบและระมัดระวัง

ซึ่งในปี พ.ศ.2544 ความสัมพันธ์ที่ตกต่ำระหว่างราชสำนักและรัฐบาล ตลอดจนพรรคฟุนซินเปก และความยากไร้ในงบประมาณทั้งราชสำนักและรัฐบาล ล้วนมีส่วนทำให้ความคิดที่จะฟื้นฟูพิธีพระราชทานเพลิงศพบุคคลระดับสูงของรัฐ คือความฟุ่มเฟือยที่ไม่สอดคล้องกับสังคม

แต่นั่นก็ยังมีบางอย่างที่ตกทอดเป็นมรดกกรรมอีกครั้งในพิธีพระราชทานเพลิงศพของ สมเด็จเจ้าแสนโกศัล ชุม ในปี 2552 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐบุรุษ แม้ขั้นตอนการฟื้นฟูพิธีศพระดับบุคคลชั้นสูงตามประเพณีของราชสำนักจักเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างจะสมเกียรติแล้ว

ดูเหมือนรัฐยังขาดซึ่งความจริงใจ ตั้งแต่กรณีพระมหากษัตริย์ต้องแปรพระราชฐาน และมีแต่รัฐมนตรีประจำสำนักพระราชวัง นายกง สมโอลเปน ตัวแทนพระองค์แต่ผู้เดียว

ที่น่าแปลกกว่านั้นพบว่า ปีที่ผ่านมา เมื่อถึงคราวสมเด็จอัครมหาธรรมโพธิศาลเจีย ซิม ถึงแก่อนิจกรรม พลันการฟื้นฟูประเพณีพระราชเพลิงศพระดับชั้นสมเด็จ ก็กลับมาใหญ่ยิ่งและสมบูรณ์แบบอีกครั้ง

เหมือนนกหัศดีลิงค์ที่พลีกายในกองเพลิง ดูเหมือน สมเด็จเจีย ซิม จะสร้างคุณูปการแห่งพิธีกรรม ณ เชิงตะกอนนี้ โดยมีพิธีศพของตนเป็นตัวอย่าง ซึ่งความสมบูรณ์แบบนี้มิใช่อื่นไกล แต่เพื่อสมเด็จพ้องน้องพี่ในพรรคประชาชนกัมพูชา ณ โอกาสต่อไป

ส่วนพระกรุณาพระบาทพระนโรดม สีหนุ นั้นยิ่งได้ชื่อว่าทรงมีราชวินิจฉัยที่กว้างไกลกว่านัก เพราะนอกจากจะเสียสละทรงพระศพนอกพระโกศแล้ว ยังอาศัยหีบพระศพนี้เป็นต้นแบบแก่สมเด็จนานาที่นิยมแต่งโลงศพอย่างวิจิตร

และมีลักษณะเหมือนกรวยพระโกศ

 

โดยอีกประการหนึ่ง แม้จะได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ผู้รักการนิพนธ์ทางดนตรี แต่พระกรุณาพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ ขณะยังไม่ทรงพระบรมรัตนโกศ ก็คงมิได้ดำริว่าจะนิพนธ์บทเพลงอุทิศให้แก่พระองค์เองเสียด้วย

แต่ สมเด็จฮุน เซน ผู้นิยมเขียนเพลงอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับเช่นบิดาของตน สมเด็จฮุน เนียง และคิดแทน ได้สำเร็จลงมือแต่งเพลงถวายพระองค์ขึ้นมาบทหนึ่ง

เพลงบทนี้ ทำให้เราตระหนักว่า พระราชสมัญญานามแห่งพระบรมรัตนโกศนั้น ได้ถูกตั้งทันทีหลังจากที่พระองค์สวรรคต

แต่ก็ชวนให้สงสัยว่า ใครกันที่แต่งพระนามนี้ถวาย และเป็นคนเดียวกับสมเด็จเดโชที่ร่วมแสดงอาลัยในฉากประกอบบทเพลงด้วยหรือไม่?

ด้วยว่า ทุกๆ ครั้งที่มันถูกออกอากาศ พสกนิกรทั้งหลายก็จะได้เห็นภาพแห่งความโศกเศร้า

ที่มี สมเด็จฮุน เซน ร่วมแสดงอาลัยอยู่ในฉากทุกครั้งไป