เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / จอชีวิต…เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์

 

จอชีวิต…เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่

 

ผมกำลังเขียนถึงหนังที่ลงโรงอยู่ตอนนี้คือเรื่อง “Bohemian Rhapsody”

ซึ่งเป็นชื่อเพลงดังของวงดนตรีสัญชาติอังกฤษที่ชื่อ “Queen”

ความโด่งดังของวงดนตรีวงนี้คนอายุ 50 ปีขึ้นไปจะรู้จักดี โดยเฉพาะคนชอบฟังเพลงแนวร็อกแบบมีครีเอทีฟละก็ เป็นหลงเสน่ห์บทเพลงของวงนี้แน่นอน

หากใครไม่ค่อยรู้จักนัก แต่ได้เคยชมการมอบถ้วยรางวัลทีมที่ชนะเลิศ และมักจะมีเพลง “We are the Champion” ดังเสริมบรรยากาศ นั่นละ เพลงของวง Queen เขา

ผมรู้จักวงดนตรีวงนี้ ก็ราวๆ มัธยมปลาย พอมาเรียนที่คณะสถาปัตย์ ก็มีพรรคพวกที่ฟังเพลงทำนองนี้เหมือนๆ กัน จึงเอามาร้องกันเล่นๆ

คนที่รู้จักเพลงวงควีน คงสงสัยว่าเพลงวงนี้เอามาร้องกันเล่นๆ ได้ด้วยเหรอ

คือ เป็นเพลงที่เราใช้ร้องเชียร์กีฬาตอนอยู่ปี 1 น่ะครับ พอร้องเพลงของคณะวนเวียนไปมาจนเบื่อแล้วก็งัดเอาเพลงของวงควีนมาร้องกัน โดยเฉพาะเพลง “We will rock you” ที่มีการกระทืบเท้าและปรบมือเป็นจังหวะหนักๆ ตลอดเพลง ก็เข้ากันได้กับการเชียร์ดี

ในหนังเรื่องนี้ก็มีการเล่าให้ฟังถึงที่มาของเพลงนี้ด้วยว่ามาได้อย่างไร ดูแล้วก็เออ…ง่ายๆ ดี แต่เมื่อมันเกิดเป็นเพลงขึ้นมาจริงๆ แล้วก็ทรงพลังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเวลาที่มีผู้ร่วมทำจังหวะเป็นจำนวนมากในการแสดงคอนเสิร์ตจริงๆ

 

หนังชื่อ “Bohemian Rhapsody” ก็จริง แต่เน้นเล่าไปที่เรื่องราวของนักร้องนำที่ชื่อเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่

ชื่อเดิมของเขาคือ ฟารุค บัลซารา เรื่องสัญชาติและเชื้อชาตินั้นน่างงงวยไม่น้อย คือจริงๆ แล้วเขาเกิดในรัฐสุลต่านแซนซิบาร์ ในแถบทิศตะวันออกของแอฟริกา (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของประเทศแทนซาเนีย) ซึ่งเป็นดินแดนที่ปกครองโดยนักล่าอาณานิคมในสมัยนั้นคือประเทศอังกฤษ

พ่อและแม่ของเขาเป็นชาวเปอร์เซีย เขาจึงมีเชื้อสายเปอร์เซีย แต่ไปเติบโตที่อินเดีย จนบางคนนึกว่าเขาเป็น “พวกแขกปากีสถาน”…งงไหมล่ะ

ก่อนจะมาร่วมวงควีน เขาทำงานเป็นเด็กยกกระเป๋าในสนามบิน และได้ติดตามการเล่นดนตรีตามผับบาร์ของวงนักศึกษาวงหนึ่งมาตลอด โชคเข้าข้างเขาเมื่อเขาเดินหาโอกาสเองโดยการเข้าไปแนะนำตัวกับสมาชิกในวงนั้น ที่เผอิญเพิ่งเสียนักร้องนำและมือเบสไปหยกๆ โอกาสจึงมาถึงมือเขา

เพียงแค่การขึ้นร้องเพลงครั้งแรกบนเวทีผับกลางคืน เขาก็สร้างความประทับใจให้กับคนดูอย่างมากด้วยลีลาการร้องและเคลื่อนไหวที่ไม่เหมือนใคร

จากนั้นเขาและสมาชิกของวงควีนก็เดินสายเล่นดนตรีไปหลายๆ ที่ จนลุกขึ้นมาทำเพลงเอง และมีบริษัทเพลงยักษ์ใหญ่ให้ความสนใจ นั่นเป็นจุดเริ่มของความมีชื่อเสียง แต่ใครจะคิดออกว่าควีนจะเดินทางมาไกล

จนกระทั่งกลายเป็นตำนานวงดนตรีวงหนึ่งของอังกฤษ และของโลกได้ในที่สุด

 

ใครที่เป็นแฟนเพลงวงควีน คงดูหนังเรื่องนี้ด้วยความสุข เพราะจะมีเพลงดังๆ ให้ฟังตลอดเรื่อง และไม่ได้เป็นการยัดเข้ามาโต้งๆ แต่จะเล่าผ่านเส้นทางการเติบโตของวง และเส้นทางชีวิตของเฟรดดี้ ที่ผมชอบมากเป็นพิเศษคือ การเล่าเรื่องของเพลง “Bohemian Rhapsody” ที่เฟรดดี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงโอเปร่า ในขณะที่นายทุนนึกไม่ออกว่ามันจะขายได้ยังไง (วะ)

การบันทึกเสียงเพลงนี้และเพลงอื่นในชุดนี้ ต้องยกวงไปทำกันยังโรงนาที่อยู่ไกลผู้คน ได้เห็นเบื้องหลังของการบันทึกเสียงในท่อนที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นท่อนลีดกีตาร์ที่เป็นท่อนจำของเพลง หรือการประสานเสียงที่สูงมากๆ หรือการสร้างเสียงดนตรีพิเศษขึ้นมาแบบตามใจฉัน แต่ดันออกมาดี เป็นยังไงต้องตามไปชมกันเองครับ

ในหนังเราจะได้เห็นพลังของการสร้างสรรค์เพลงและดนตรีของเฟรดดี้อย่างมาก เพลงทุกเพลงจึงออกมาแบบมีชีวิตจิตใจและความรู้สึกมากมาย

ซึ่งว่ากันว่าคนที่มีจินตนาการล้ำเหลือเกินคนปกตินั้น โดยมากจะมีรสนิยมทางเพศที่ไม่ธรรมดา ซึ่งเฟรดดี้ก็ตอกย้ำถึงข้อสันนิษฐานนี้

เขาสารภาพกับ “แมร์รี่” หญิงคนรักคนเดียวของเขาว่า “เขาเป็นไบเซ็กช่วล”

และนั่นทำให้ความสัมพันธ์ของเขาและเธอเปลี่ยนไป แต่ด้วยความรักที่มากมายของคนทั้งสองที่มีให้แก่กัน ในวันที่เฟรดดี้ต้องการใครสักคน แมร์รี่ก็เดินเข้ามาพร้อมฉุดเขาให้ลุกขึ้น สุดท้ายทั้งสองก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันจนเฟรดดี้จบชีวิตลงในปี 1991

และเขาได้มอบเพลง “Love of My Life” ให้กับเธอ ผู้หญิงคนเดียวที่เขารักตลอดที่มีชีวิต

 

ผู้สวมชีวิตจิตใจของเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ คือนักแสดงหนุ่มชื่อไม่คุ้นหูเอาเสียเลย “รามี มาเลก” หลายคนคงถามว่าเขาเป็นใครกันหรือ จึงถูกเลือกมารับบทอันทรงพลังนี้

จะว่าไปมาเลกก็มีเรื่องราวในวัยเด็กคล้ายเฟรดดี้อยู่เหมือนกัน เขาเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายกรีก-อียิปต์ นั่นก็เป็นความคล้ายอย่างหนึ่งกับเฟรดดี้ ตรงที่เป็นคนเชื้อสายผสมที่ไม่ได้ผสมกับอเมริกัน หรืออิงลิช พีเพิลแต่อย่างใด

มาเลกโตมาในครอบครัวที่พ่อและแม่พยายามผลักดันให้เป็นนักกฎหมาย หรือไม่ก็เป็นหมอ แต่จริงๆ แล้วเขารู้ตัวดีว่าอยากเป็นนักแสดง และไม่เคยมีอาชีพอื่นใดเป็นตัวเลือกอีกเลย ซึ่งก็เหมือนเฟรดดี้ที่พ่อไม่เคยสนับสนุนเขาในเรื่องของดนตรีและเสียงเพลง แต่เขารู้ว่าเขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ไม่ใช่สิ่งใดๆ เลย ถึงแม้ว่าตอนเด็กๆ เขาจะเก่งเชิงหมัดมวยก็ตาม

แต่สุดท้ายมาเลกก็ได้เป็นนักแสดงสมใจ เหมือนที่เฟรดดี้ได้เป็นนักร้องดังตามความฝัน ในบ้านเราพอจะมีผลงานของมาเลกที่คุ้นตาเราอยู่บ้างก็คือภาพยนตร์เรื่อง Night at the Museum กับบทหุ่นขี้ผึ้งฟาโรห์อัคเมนราห์ ซึ่งเข้ากันดีกับหน้าตาคมคายแบบหนุ่มกรีกอย่างเขา บวกกับฝีมือในตัว เลยทำให้เขาได้เล่นบทนี้ในหนังทั้ง 3 ภาค

ในเรื่องนี้เขาถอดแบบเฟรดดี้มาแบบเป๊ะๆ โดยต้องสวมฟันปลอมซี่ใหญ่ข้างหน้าให้ยื่นออกมาให้เหมือนตัวจริงที่สุด นึกไม่ออกว่าเขาพูดและร้องเพลงได้อย่างไรกับฟันปลอมคาปากแบบนั้นทั้งเรื่อง และเขาคงประทับใจเครื่องแปลงใบหน้าชิ้นนี้มากจนขอเก็บไปเป็นที่ระลึก

ไม่แต่รูปลักษณ์ หากมาเลกต้องศึกษาลีลาการเคลื่อนไหวของเฟรดดี้ทั้งในและนอกเวที การพูด การใช้มือไม้ และแน่นอนท่าเดินตูดบิดที่เป็นเอกลักษณ์ด้วย

โดยเฉพาะลีลาการแสดง กระโดด วิ่งเต้น ตะโกนบนเวทีนั้น เฟรดดี้มีลีลาเฉพาะตัวจริงๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าในฉากสุดท้ายของเรื่องซึ่งเป็นฉากที่วงควีนขึ้นแสดงบนเวทีการแสดงสดงาน Live AID ณ สนามเวมบลีย์ที่มีเวลาให้วงละ 20 นาที เราเลยได้เห็น 20 นาทีที่เหมือนกับดูคอนเสิร์ตควีนจริงๆ

ไม่แต่เฉพาะมาเลกที่แสดงเป็นเฟรดดี้ แต่รวมถึงนักแสดงคนอื่นๆ ที่รับบทสมาชิกของวงอีก 3 คนด้วย ที่เล่นดนตรีเหมือนตัวจริงๆ กันเลย

แฟนพันธุ์แท้วงควีนคงสะใจปลื้มปริ่ม

 

แม้หนังเรื่องนี้จะไม่ได้เป็นผลงานที่ลุ่มลึก เล่าเรื่องอย่างชาญฉลาด หรือทรงคุณค่ามากมายอะไร

แต่หนังเรื่องนี้ก็ให้ “พลัง” บางอย่างกับผู้ชม เป็นพลังที่ทำให้เราลุกขึ้นมาทำตามความฝันของเรา เท่านั้นไม่พอ ยังเห็นถึงพลังที่บอกให้เราทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม มากขึ้นกว่าเก่า ไม่ย่ำอยู่กับที่ และใส่ให้หมดพลัง

เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ จบชีวิตด้วยโรคเอดส์ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2536 ด้วยวัย 45 ปี

ตลอด 45 ปีของเขา เขาไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ เขามีเป้าหมายที่ชัดเจน

มีอย่างเดียวที่เขาจำต้องก้มหัวให้ นั่นก็คือความตาย

หนังเรื่องนี้จึงทำขึ้นมาเพื่อเชิดชูบุคคลผู้เป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ของวงการดนตรีร็อกของโลกอย่างเขา และวงควีน เป็นผลงานที่จะอยู่คู่โลกตลอดไป