วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย / เสถียร จันทิมาธร ฤๅ อึงกง เท่ากับ เอี้ยก่วย (164)

เสถียร จันทิมาธร

วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย / เสถียร จันทิมาธร

 

ฤๅ อึงกง เท่ากับ เอี้ยก่วย (164)

 

เป็นอันว่าปัญหาการตายอย่างมากด้วยเงื่อนปมของนีมอซิงทำให้อึ้งย้งนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ทั้งหมดอยู่ที่ความสงสัยต่อพฤติการณ์ของก๊วยเซียง

จึงลอบลุกจากเตียงเดินทางถึงเชิงกำแพงเมือง

สั่งทหารที่เฝ้าประตูเมืองเสียนหยางเปิดประตูรุดไปยังศาลบูชาเอียวเก๋าทางทิศใต้ของตัวเมือง ขณะนั้นเป็นเวลายาม 4 ดาวดาราเคลื่อนคล้อยใกล้เลือนลับ จันทร์กระจ่างถูกเมฆดำบดบัง

อึ้งย้งถือกระบองสั้นด้ามหนึ่งทุ่มเทวิชาตัวเบาปราดขึ้นภูเขาเฮียงซัว

ขณะห่างจากศาลบูชาเอียวเก๋าหลายสิบวาพลันได้ยินที่ข้างหลักหินน้ำตารินมีสุ้มเสียงผู้คนดังลอดออกมา จึงหมอบร่างต่ำลง ย่องฝีเท้าเข้าใกล้ ห่างจากหลักศิลาหลายวา ซ่อนตัวหลังต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ไม่กล้าเคลื่อนเข้าใกล้

ได้ยินคน 2 คนสนทนาโต้ตอบกันพอร้อยเป็นเรื่องราวได้ว่า

 

อึงกง (ท่านผู้มีพระคุณ) สั่งพวกเรารอคอยที่หลังหลักหินน้ำตาริน เหตุใดหลักหินนี้ตั้งชื่อกระบิดกระบวนถึงเพียงนี้ ฟังดูหาเป็นมงคลไม่

ในชีวิตอึงกงนั้นคล้ายมีเรื่องราวที่ไม่สมมาดปรารถนา

ดังนั้น พอพบเห็นลำไส้ขาด กำสรวล น้ำตารินหลั่ง จะจดจำใส่ใจ

ด้วยความสามารถของอึงกง ทอดตาทั่วแผ่นดินสมควรไม่มีเรื่องยุ่งยากอันใด แต่เราสังเกตแววตา ฟังจากน้ำเสียงคล้ายกับในใจมีเรื่องราวที่ไม่เบิกบาน คำหลักหินน้ำตารินนี้เกรงว่าเป็นชื่อที่เขาตั้งขึ้นมาเอง

เราเคยได้ยินนักเล่านิทานตาบอดบอกว่า

สมัยสามก๊ก เมืองเสียนหยางเป็นของไต้จิ้นแม่ทัพที่เฝ้ารักษานามเอียงเก๋า มีความดีความชอบใหญ่หลวงได้รับแต่งตั้งเป็นไท้ฮู่ (เจ้าพระยา) ทำหน้าที่ปกป้องชายแดน คุ้มครองราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ปรกติท่านชมชอบท่องทิวทัศน์ภูเขาเฮียงซัว

หลังจากถึงแก่อสัญกรรม ชาวเมืองรำลึกถึงพระคุณจึงปลูกสร้างศาลบูชาเอียวเก๋าหลังนี้ ก่อตั้งหลักหินประกาศเกียรติคุณ

ราษฎรพอพบเห็นหลักหินนี้รำลึกถึงคุณงามความดีเมื่อครั้งท่านยังมีชีวิต มักร่ำไห้ออกมา

ดังนั้น หลักหินนี้ขนานนามว่าหลักหิน “น้ำตาริน” คนผู้หนึ่งมีการกระทำเช่นเอียวเก๋านับว่าเป็นลูกผู้ชายที่แท้จริงแล้ว

อึงกงประกอบวีรกรรมผดุงธรรมะ ทั่ว 4 ทะเล 5 ทะเลสาบ ไม่ทราบมีคนได้รับพระคุณของเขามากน้อยเท่าใด หากเขาเป็นขุนนางที่เมืองเสียนหยาง ไม่แน่ว่ายังมีคุณงามความดีกว่าเอียวเก๋าอีก

ก๊วยไต้เฮี้ยบแห่งเมืองเสียนหยางทั้งปกป้องมาตุภูมิ คุ้มครองราษฎร และประกอบวีรกรรม ผดุงธรรมะ

นับว่ารวมปมเด่นของเอียวเก๋ากับอึงกงพวกเราเข้าด้วยกันแล้ว

 

กาลก่อนพวกเราตั้งตัวเป็นศัตรูกับอึงกง ภายหลังกลับได้รับการช่วยเหลือจากเขา จิตใจที่ปฏิบัติต่อศัตรูเช่นสหายของอึงกงนี้สามารถเปรียบเทียบกับเอียวเก๋า

นักเล่านิทานที่เล่าเรื่องสามก๊กยังบอกว่า

ระหว่างที่เอียวเก๋า เอียวไท้ฮู่ เฝ้าเมืองเสียนหยาง คู่อริของท่านผู้เฒ่าเป็นแม่ทัพง่อก๊อกนามลกข้องซึ่งเป็นบุตรชายของลกซุน เอียวเก๋าส่งทหารไปทำสงครามในดินแดนของง่อก๊ก เกี่ยวข้าวของราษฎรนำมาเป็นเสบียงอาหารก็จะชดใช้เป็นเงินให้แก่ราษฎรของง่อก๊ก

ต่อมาลกข้องล้มป่วยลง เอียวเก๋าส่งยาให้ลกข้องก็รับประทานโดยไม่ลังเล ผู้ใต้บังคับบัญชาตักเตือนให้ระมัดระวังแต่ลกข้องหาเคลือบแคลงสงสัยไม่

หลังจากรับประทานตัวยา อาการก็ทุเลาหายดี

เนื่องด้วยเอียวเก๋ามีจริยธรรมอันสูงส่งแม้แต่ข้าศึกยังเคารพยกย่อง ขณะที่เอียวเก๋าถึงแก่อสัญกรรม แม้แต่แม่ทัพนายกองของง่อก๊กยังคร่ำครวญหวนไห้อยู่หลายวัน

อัจฉริยะที่พิชิตใจคนเช่นนี้จึงนับเป็นผู้กล้าหาญ

อึงกงนัดหมายพวกเรามาพบกันในที่นี้ คาดว่าคงนับถือเลื่อมใสต่อความประพฤติของเอียวเก๋าแล้ว เราเคยได้ยินอึงกงบอกว่าในชีวิตเอียวเก๋ามีคำพูดประโยคหนึ่งกล่าวได้ตรงใจกับเขา ครั้งกระโน้นหลังจากที่ลกข้องเสียชีวิต ง่อก๊กมีสภาพอ่อนแอ เอียวเก๋าทำหนังสือเสนอให้ปราบล่อก๊กแต่ถูกกังฉินคัดค้าน เอียวเก๋าทอดถอนใจ รำพึงว่า

“เรื่องไม่สมมาดปรารถนาในโลก มีอยู่ถึง 7-8 ส่วน” อึงกงชื่นชมคำพูดประโยคนี้ที่สุด

เอียวเก๋า เอียวเก๋า นามนี้มิใช่ออกเสียงคล้ายกับชื่อของอึงกงหรอกหรือ

 

ได้ยินดังนั้นอึ้งย้งใจหายวูบ นางต้องครุ่นคิดขึ้นอย่างสงสัย ชื่อที่ออกเสียงคล้ายกับนาม “เอียวเก๋า” หรือว่าเป็น “เอี้ยก่วย”

ไม่ เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด

ที่ว่าเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะในความคิดของอึ้งย้ง “พลังฝีมือของก่วยยี้ต่อให้มีความรุดหน้าก็ไม่ลึกล้ำถึงขั้นนี้”

ตกลง “อึงกง” ผู้นั้นคือใคร