นิ้วกลม : คานธี ว่าด้วย เคลื่อนการเมือง เครื่องฝึกใจ

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1 “ถ้าคนคนหนึ่งเติบโตและเก็บเกี่ยวมรรคผลทางจิตวิญญาณได้ โลกทั้งโลกย่อมพลอยได้รับผลนั้นไปด้วย ทำนองเดียวกัน ถ้าคนคนหนึ่งล้มเหลว โลกทั้งโลกย่อมล้มเหลวพอกัน”

นั่นคือความเชื่อของคานธี

เป็นความเชื่อที่สะท้อนความคิดเรื่องการไม่แบ่งแยกเรื่องของตัวตนออกจากโลก มองเห็นผลกระทบที่คนคนหนึ่งมีต่อโลก เพราะเชื่อว่าทุกคนคือส่วนหนึ่งของความจริง ทุกคนคือส่วนหนึ่งของพระเจ้า

เช่นนี้เอง การเคลื่อนไหวทางการเมืองและการดำเนินชีวิตของมหาตมะคานธีจึงผสานเป็นเนื้อเดียวกันโดยมิอาจแบ่งแยก

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการต่อสู้ทางการเมืองล้วนเป็นวัตถุดิบในการขัดเกลาจิตวิญญาณด้านใน และทุกวิธีแห่งการฝึกฝนจิตใจก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อพัฒนาวิธีการต่อสู้ทางการเมืองให้ดีงามยิ่งขึ้น

ความดีงามของคนหนึ่งคนย่อมทำให้โลกดีงามยิ่งขึ้น

ghandi-1267827_960_720

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่ทำให้คานธีกลายเป็นผู้นำทางความคิดของคนอินเดียจำนวนมหาศาลหาใช่แนวความคิดที่เขาเขียนหรือพูดเพื่อสื่อสารออกมาเท่านั้น

หากเป็นวิถีชีวิต การลงมือทำ และกิจกรรมทั้งหลายที่ผู้คนได้พบเห็นผ่านตาตัวเองต่างหากที่สร้างความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ จุดแรงบันดาลใจ และก่อร่างความนับถือให้กับผู้คนนับล้าน

คานธีปฏิบัติอย่างที่เขาพูด และสิ่งที่เขาปฏิบัติล้วนเกิดขึ้นจากรากฐานภายในที่มั่นคง

ดังเช่นหลักความประพฤติ 11 ข้อของอาศรมที่เขาก่อตั้งขึ้นมา ซึ่งนับว่าเป็นแก่นสำคัญของการฝึกฝนชีวิตด้านใน

ความจริง อหิงสา พรหมจรรย์ ไม่สะสมทรัพย์สมบัติ ไม่ลักขโมย ไม่ตามใจกิเลสทางลิ้น ไม่กลัว ยอมรับและเคารพในศาสนาทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน ให้เกียรติต่ออาชีพผู้ใช้แรงงาน ยกเลิกชนชั้นจัณฑาล และสนับสนุนชุมชนใกล้ตัว

อ่านผ่านๆ เป็นทฤษฎีอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องดีงามที่เคยผ่านหู ทว่า เมื่อลองทาบวัตรปฏิบัติเหล่านี้ลงบนบริบทสังคมอินเดียในช่วงเวลานั้น จะพบว่านี่คือข้อปฏิบัติส่วนตัวเพื่อแก้ปัญหาส่วนรวมอย่างลึกซึ้ง

ในช่วงเวลาของคานธี สังคมอินเดียเผชิญปัญหารุมเร้ามากมาย แต่ละปัญหาไม่ง่ายที่จะแก้หรือเอาชนะ ตั้งแต่การถูกครอบครองเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างฮินดูกับมุสลิม ความขัดแย้งระหว่างมุสลิมต่างนิกาย การแบ่งชนชั้นวรรณะอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการเหยียดวรรณะจัณฑาลราวกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ และปัญหาความยากจนของผู้คนหลายล้าน

การใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเช่นนั้น ลำพังแค่เอาตัวให้รอดโดยไม่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งก็นับว่าไม่ง่ายแล้ว การลุกขึ้นลงมือเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาสารพันเหล่านั้นอาจเรียกได้ว่า-เป็นไปไม่ได้

แต่คานธีไม่คิดเช่นนั้น

 

2 การลงมือทำเผยแพร่ได้เร็วกว่าคำพูด

ในสังคมที่มีความขัดแย้งรุนแรง ความคิดแตกเป็นหลายฝักหลายฝ่าย สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแพร่หลายคือการวิพากษ์วิจารณ์ความคิดกันไปมา ข้อแตกต่างเด่นชัดของคานธีคือการพูดด้วยการปฏิบัติ เรียกร้องสิ่งใด เขาจะดำเนินชีวิตให้เป็นเช่นนั้น

ไม่มัวนั่งบ่น นั่งครุ่นคิด เขาทดลองชีวิตด้วยการลงมือทำ

ชีวิตส่วนตัวของคานธีช่างแสนจะเรียบง่าย เมื่อผู้ทรงอิทธิพลระดับประเทศเช่นเขาเสียชีวิต สิ่งที่ทิ้งไว้มีเพียงเสื้อผ้าไม่กี่ชิ้น ผ้าห่มกันหนาว นาฬิกาพก ไม้เท้าคู่กาย รองเท้าแตะคู่หนึ่ง และแว่นตา

เหตุที่ดำรงชีพเช่นนี้ก็เพราะเขาคิดว่า ตนเองไม่สามารถรับใช้คนจนได้ หากไม่ทำตัวให้เป็นหนึ่งเดียวกับคนเหล่านั้น และสำหรับคานธี นี่คือชีวิตที่ดำเนินไปตามหลักพรหมจรรย์ ซึ่งกินความหมายกว้างไปกว่าแค่การรักษาพรหมจรรย์ หากคือการละเว้นความเพลิดเพลินทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อเข้าใกล้พระเจ้าหรือความจริงให้มากที่สุด

การยับยั้งชั่งใจนับเป็นคุณธรรมสำคัญที่คานธียึดถือ ทั้งทางความคิด คำพูด และการกระทำ นี่คือจุดเริ่มต้นที่จำเป็นต่อการเข้าถึงความสมบูรณ์ทางจิตวิญญาณ

และเป็นการยับยั้งชั่งใจนี่เองที่เป็นรากฐานของสัตยาเคราะห์

pacifist-71445_960_720

3 “สัตย” หมายถึงความจริง “อเคราะห์” หมายถึงการยืนหยัด เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วจึงแปลได้ว่า การยืนหยัดในความจริง แต่ความหมายของคานธีลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้น มิใช่เพียงยึดมั่นในความจริงแล้วชวนทะเลาะไปทั่ว หากคือการพยายามทำความจริงและความยุติธรรมให้ปรากฏโดยอาศัยความรักและความเมตตาเป็นสื่อ

มิใช่วิธีเอาชนะความชั่วด้วยความรุนแรง

มิได้ทำสงครามกับความเลวทราม

หากคือความรักที่แสดงออกผ่านการโน้มน้าวใจ ขอร้อง ทำให้ฝ่ายตรงข้ามหันมาสนใจเหตุผลของการต่อสู้ ขณะเดียวกันก็พร้อมยอมรับความทุกข์ความเจ็บปวดที่ตนจะได้รับ

ไม่มีความคิดปองร้าย มีแต่จิตใจที่บริสุทธิ์

โอ้! พ่อพระ!

สัตยาเคราะห์จึงเป็นวิธีการที่ยากยิ่ง เพราะเป็นวิธีต่อต้านแข็งขืนต่อความชั่วร้าย โดยยินดีโอบรับความเจ็บปวดที่ฝ่ายนั้นจะกระทำกลับมา โดยในระหว่างนั้นก็พยายามกำจัดความรู้สึกเป็นศัตรูที่มีต่อฝ่ายตรงข้ามทิ้งไป

การทำสัตยาเคราะห์อันเป็นที่จดจำครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อคานธีนำขบวนบุกโรงเกลือที่ธราสนะ

นักสู้สัตยาเคราะห์ได้แจ้งให้รัฐทราบว่าจะไปบุกรุกโรงเกลือในวันใด

เมื่อไปถึงที่นั่นจึงเผชิญหน้ากับตำรวจที่ถือท่อนไม้ยาวติดห่วงเหล็กตรงปลาย เพื่อให้ตีได้เจ็บยิ่งขึ้น

เมื่อนักเดินเท้าไร้อาวุธมุ่งมั่นเดินหน้าต่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงลงไม้ลงมือ ส่งผลให้ผู้คนในขบวนสัตยาเคราะห์บาดเจ็บถึงสามร้อยคน

ตำรวจใช้วิธีทรมานทุกรูปแบบ โยนอาสาสมัครที่บาดเจ็บและมีเลือดไหลลงในคูน้ำเค็ม บีบอวัยวะเพศจนหมดสติ ตีกระหน่ำลงบนร่างกายทุกส่วน บ้างก็ใช้กระบองตีเข้าที่ศีรษะ

สี่ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ที่ธราสนะ คานธีเคยเขียนจดหมายฉบับหนึ่งว่า “จริงทีเดียวว่าสิ่งที่เราต้องการเวลานี้ คือศรัทธาอันคงมั่นว่าความจริงเท่านั้นที่จะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในที่สุด แม้ทุกอย่างที่ปรากฏต่อสายตาจะตรงกันข้ามก็ตาม และความศรัทธานี้จะเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่เราพร้อมที่จะมองว่าความทุกข์คือสมบัติอันมีค่าสูงสุดของชีวิต”

นับแต่มีการรณรงค์ให้ใช้วิธีอารยะขัดขืน ซึ่งขยายตัวไปทั่วทุกภาคของอินเดียหลังเหตุการณ์เดินต่อต้านภาษีเกลือของคานธี เรือนจำทั่วประเทศก็ล้นไปด้วยนักโทษการเมือง

หลายครั้งถึงกับต้องปล่อยตัวนักโทษคดีอาชญากรรม เพื่อให้มีที่ว่างพอสำหรับขังนักสู้สัตยาเคราะห์

indian-rupee-586091_960_720

4 เป้าหมายของสัตยาเคราะห์ไม่ใช่การเอาชนะฝ่ายตรงข้ามด้วยการบดขยี้ให้แหลกลาญ แต่อยู่ที่การทำให้อีกฝ่ายเปลี่ยนใจหรือเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

ครั้งหนึ่งที่แอฟริกาใต้ เมื่อลูกจ้างชาวยุโรปที่เป็นแรงงานรถไฟหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ รัฐบาลรู้สึกเสียหน้ามาก

มีคนแนะนำให้คานธีลงมือกดดันอังกฤษในช่วงนั้นทันที เพราะเป็นเวลาที่ได้เปรียบ

แต่คานธีปฏิเสธเพราะขัดต่อหลักสัตยาเคราะห์ การตัดสินใจเช่นนั้นสั่นคลอนจริยธรรมของรัฐบาลแอฟริกาใต้อย่างมาก

เลขานุการของนายพลสมัทส์พูดกับคานธีว่า “ผมไม่ชอบคนของคุณ และไม่ใส่ใจจะช่วยเลยด้วย แต่นี่ผมควรจะทำยังไง คุณช่วยเหลือเราในยามที่เราต้องการความช่วยเหลือที่สุด เราจะลงมือกับพวกคุณได้ไง…คุณไม่ยอมทำให้ใครเจ็บตัว แม้แต่คนที่เป็นศัตรู คุณอยากได้ชัยชนะแบบที่คุณยอมเจ็บตัวเท่านั้น และคุณไม่เคยล้ำเส้นความเป็นสุภาพชนผู้ไม่เห็นแก่ตัวซึ่งคุณขีดเส้นให้ตัวเอง นี่แหละที่ทำให้พวกเราสิ้นท่า”

ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ที่แอฟริกาใต้ หรือจะเป็นการต่อสู้กับอังกฤษในฐานะเจ้าอาณานิคมก็ตาม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมิใช่เพียงความสำเร็จในการต่อสู้ในแง่ของความเท่าเทียมหรือการเป็นอิสรภาพเท่านั้น

หากในระหว่างทางของการต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์ คานธีได้ยกระดับคุณภาพทางจิตวิญญาณของนักต่อสู้ทั้งหลาย และได้ชำระล้างจิตใจของผู้คนในสังคมให้บริสุทธิ์ไปพร้อมๆ กัน

ทุกก้าวย่างของการเคลื่อนไหวสู่ชัยชนะ จิตใจของผู้ขับเคลื่อนก็ค่อยๆ ถูกขัดเกลาให้มีเมตตาธรรม ขจัดความก้าวร้าวรุนแรงให้หลุดร่อนออกไปเรื่อยๆ

หากการดำเนินชีวิตในโลกอันวุ่นวายคือสิ่งเดียวกับการฝึกฝนจิตใจให้ดีงามและใกล้ชิดพระเจ้ายิ่งๆ ขึ้น สำหรับคานธีแล้ว การต่อสู้ทางการเมืองก็คือสิ่งเดียวกับการขัดเกลาจิตวิญญาณตัวเองให้มีความรัก ความเมตตา ความกล้าหาญ และยืนหยัดเพื่อความจริงโดยไม่ต้องอิงอาศัยความรุนแรงยิ่งๆ ขึ้นทุกวัน

บั้นปลายของการต่อสู้จึงมิใช่สังคมในฝันในแง่ของระบบการปกครองเท่านั้น หากยังเป็นสังคมในฝันในแง่สภาพจิตใจของผู้คนในสังคมนั้นด้วย

คานธีเขียนไว้ในวารสาร Young India เดือนตุลาคม 1931 ว่า

“ข้าพเจ้าพบว่าชีวิตยังหยัดยืนอยู่ได้ท่ามกลางการทำลายล้าง ดังนั้น มันต้องมีกฎที่เหนือกว่ากฎแห่งการทำลาย ภายใต้กฎดังกล่าวเท่านั้น สังคมจึงจะมีความสงบเรียบร้อย และชีวิตจึงควรค่าแก่การดำรงอยู่ และหากว่านั่นเป็นกฎแห่งการดำรงชีวิต เราก็ต้องแปรมันออกมาให้เห็นในชีวิตประจำวัน ที่ใดมีความขัดแย้ง ที่ใดที่คุณต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม

จงพิชิตเขาด้วยความรัก”