ทหารเกณฑ์มีไว้ทำไม? l ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

“ทหารมีไว้ทำไม”

เป็นคำถามที่นักวิชาการตั้งขึ้นและสังคมขานรับจนทำให้กองทัพหงุดหงิดที่สุดในรอบหลายปี

เพราะขณะที่คำถามเรื่องเผด็จการสร้างความไม่พอใจเฉพาะนายพลที่ใช้อาวุธตั้งตัวเองเป็นรัฐบาล คำถามเรื่อง “ทหารมีไว้ทำไม” ทำให้เกิดความเคืองใจกระทั่งในทหารที่ไม่ได้กระหายอำนาจการเมือง ต้นปี 2559 ในเวลาที่คำถามนี้แผ่แสนยานุภาพจนบทความสองหน้าเป็นประเด็นใหญ่ในโลกโซเชียลและโลกจริงๆ

พล.อ.ประยุทธ์ก็โต้ตอบว่า “ทหารมีไว้รักษาแผ่นดิน” เพื่อ “ให้ไอ้พวกหมาได้พูด”

ส่วนผู้บัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกลับชี้แจงอย่างนุ่มนวลว่าทหารมีไว้ปกป้องประเทศและพิทักษ์สถาบัน

น่าสนใจว่าทั้งที่แก่นของบทความ “ทหารมีไว้ทำไม” พูดถึงกองทัพในแง่ “สถาบัน” ที่มีอำนาจการเมืองจนเป็นเครื่องมือให้คนบางกลุ่มกอบโกยผลประโยชน์โดยอ้างเรื่องป้องกันประเทศ

วิธีที่พลเอกตอบโต้คำถามจากสังคมกลับเน้นไปที่ “บุคคล” โดยเฉพาะความเสียสละของทหารระดับล่างในการรักษาชายแดน

ถ้าทหารระดับล่างสำคัญจนเป็นสาเหตุว่า “ทหารมีไว้ทำไม” กองทัพในฐานะหน่วยราชการก็ควรมีวิธีปฏิบัติต่อทหารกลุ่มนี้ ให้ช่องว่างกับทหารระดับบนหดแคบกว่านี้

ไม่ว่าจะเป็นในแง่เงินเดือน, สวัสดิการ, บ้านพัก, เงินบำนาญ, งบฯ ค่าอาหร หรือการอยู่บ้านหลวงหลังเกษียณจากความเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

ทหารเกณฑ์เป็นกำลังพลส่วนใหญ่ของกองทัพไทย และเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในประเทศที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าคนส่วนน้อยราวสวรรค์กับนรก

ทหารเกณฑ์คือคนที่ถูกบังคับให้เป็นทหารโดยมีสภาพการดำรงชีวิตแย่กว่านายทหาร จนน่าสงสัยว่าคนที่ชอบพูดเรื่องการเสียสละอาจไม่ใช่คนซึ่งเสียสละที่สุดจริงๆ

ต่อให้ไม่พูดเรื่องนอกกฎหมายอย่างถูกซ้อม, นายทำร้ายจนตาย, โดนอมเบี้ยเลี้ยง, เป็นทหารรับใช้ หรือถูกให้ไปเลี้ยงไก่ตามบ้านนายพัน การบังคับให้คนหนุ่มเกณฑ์ทหารก็เท่ากับการยึดโอกาสที่เขาจะเรียนหนังสือ, พัฒนาชีวิต, สะสมประสบการณ์ทำงาน, ดูแลพ่อ-แม่ ฯลฯ ไปเป็นแรงงานที่ไร้ทักษะที่สุดสองปี

ถ้าเอาสองปีนั้นไปทำงานโรงงาน คนหนุ่มอายุ 21 อาจเป็นแรงงานมีประสบการณ์จนค่าแรงเกินอัตราขั้นต่ำ

และถ้าเอาเวลาสองปีนั้นไปเล่าเรียน สองปีในค่ายทหารก็นานพอจะทำให้เรียนได้ครึ่งทางของปริญญาตรี

“ทหารมีไว้ทำไม” เป็นคำถามซึ่งควรอย่างระมัดระวังไม่ให้กระทบความรู้สึกทุกคนในวิชาชีพจนบดบังการใช้สติปัญญาเพื่อแสวงหาคำตอบ

แต่ “ทหารเกณฑ์มีไว้ทำไม” เป็นคำถามง่ายๆ ที่ประชาชนมีสิทธิถามตรงๆ จนผู้เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องตอบมากกว่าจะบิดเรื่องนี้เป็นคำถามเรื่อง “กองทัพมีไว้ทำไม”

แม้ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันจะเพิ่งดำรงตำแหน่งแค่เดือนเดียว แต่คำตอบของท่านเรื่อง “ทหารเกณฑ์มีไว้ทำไม” ที่บอกว่าทุกประเทศมีทหารนั้นน่าผิดหวังเมื่อเทียบกับ พล.อ.เฉลิมชัย ซึ่งผลักดันในช่วงก่อนเกษียณอายุจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.เรื่องกองทัพต้องหาทางลดกำลังพลเพื่อลดงบประมาณด้านนี้ลง

อดีต ผบ.ทบ.ที่ตั้งตัวเองเป็นนายกฯ ตอบคำถามนี้คล้าย ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ท่านบอกว่าทหารเกณฑ์ต้องมีเพราะราชการหน่วยอื่นไม่มีกำลังพลที่เรียกตัวได้ตลอด

แต่วิธีตอบแบบนี้ทำให้คนแย้งในใจว่า งั้นทำไมไม่ลดทหารเกณฑ์แล้วเพิ่มเจ้าหน้าที่หน่วยอื่น

เรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่นายกฯ จากการยึดอำนาจแล้วไม่มีใครฟัง ถึง พล.อ.เฉลิมชัยจะเกษียณยุคทหารเป็นใหญ่โดยไร้ตำแหน่งการเมือง แต่คุณูปการของ พล.อ.เฉลิมชัยมีคือเป็น ผบ.ทบ.รายเดียวที่มีวิสัยทัศน์จนเห็นว่าทหารเกณฑ์สัมพันธ์กับสองเรื่อง

หนึ่งคือ การลดกำลังพลเป็นการตัดสินใจทางนโยบายที่ทำได้

และสองคือ การทำเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับกองทัพในระยะยาว

ในแง่นี้ การมีทหารเกณฑ์หรือไม่เป็นคนละเรื่องกับการไม่มีทหาร เพราะประเทศจำนวนมากมีทหารโดยไม่มีทหารเกณฑ์เลยก็ได้

การบังคับให้คนเป็นทหารแลกกับการไม่ต้องเข้าคุกจึงเป็นผลของการตัดสินใจเลือกทางนโยบาย

ประเทศที่ปกติจึงไม่ให้หน่วยงานที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้พูดอะไรแม้แต่นิดเดียว

ถ้ายอมรับว่าการเลือกตั้งคือกระบวนการที่ประชาชนกำหนดทิศทางประเทศโดยเลือกนโยบายของพรรคการเมือง สถานการณ์ตอนนี้คือพรรคอันดับหนึ่งอย่างเพื่อไทยพูดเรื่องยกเลิกการบังคับให้คนไทยเป็นทหารแล้ว

ขณะที่คุณไอติมจากประชาธิปัตย์พูดอ้อมๆ ว่าเปลี่ยนระบบเกณฑ์เป็นระบบสมัครใจ ต่อให้ยังไม่แน่ว่าประชาธิปัตย์จะไว้ใจคุณไอติมจนส่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.แล้วมีประชาชนเลือกเข้าสภาหรือไม่ รวมทั้งยังไม่รู้ว่าเพื่อไทยจะเสนอเรื่องเลิกทหารเกณฑ์จริงหรือเปล่า

กระบวนการที่สองพรรคใหญ่ขับเคลื่อนเรื่องนี้คือสัญญาณว่าสังคมไทยอึดอัดที่กองทัพบังคับคนหนุ่มเป็นทหารมากกว่าที่กองทัพคิดจริงๆ

ตราบใดที่กองทัพคิดเรื่องนี้ไม่ได้เท่าอดีตผู้บัญชาการซึ่งเป็นองคมนตรีไปแล้ว

และตราบใดที่ผู้เกี่ยวข้องยังจมอยู่กับการตอบโต้แบบ IO ว่าเลิกทหารเกณฑ์ทำให้ประเทศไม่มีทหาร ตราบนั้นกองทัพก็เสี่ยงที่จะถูกมองว่าอยู่ตรงข้ามความต้องการประชาชน รวมทั้งเสียโอกาสทำเรื่องที่เป็นประโยชน์กับกองทัพระยะยาว ยกเลิกทหารเกณฑ์เป็นคนละเรื่องกับการยกเลิกกองทัพแน่ๆ

เพราะถึงแม้ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะมีกองทัพประจำการ แต่ประเทศที่ใครไม่อยากติดคุกต้องเป็นทหารนั้นมีอยู่ราว 26 ประเทศเท่านั้น เช่นไทย, เกาหลีเหนือ, พม่า, เบอร์มิวด้า, อียิปต์, อิสราเอล, จีน, ตุรกี, รัสเซีย, อาเซอร์ไบจาน, เบลารุส หรือสิงคโปร์

ถ้าการเลิกทหารเกณฑ์ทำให้กองทัพถูกทำลาย ประเทศส่วนใหญ่ในโลกอย่างอเมริกา, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, มาเลเซีย, อินเดีย ฯลฯ คงไร้กองทัพไปทั้งหมด

from
https://www.statista.com/chart/3907/the-state-of-military-conscription-around-the-world/

แต่เพราะการมีทหารเกณฑ์หรือไม่นั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้แน่ๆ ประเทศที่มีกองทัพกว่าหนึ่งร้อยชาติจึงไม่มีกฎหมายบังคับเป็นทหาร หากไม่อยากถูกจับเข้าคุกฟรีๆ

ตามรายงานทางการใน Factbook ของหน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งอเมริกา ประเทศเกือบทั้งหมดในโลกมีกองทัพซึ่งได้กำลังพลด้วยความสมัครใจ

อายุขั้นต่ำและขั้นสูงของกำลังพลแตกต่างกันตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ

แต่ะระยะเวลาประจำการส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 12-18 เดือน หรือหนึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่งเฉพาะในเรื่องนี้

ข้อมูลเรื่องประเทศที่ไม่มีทหารเกณฑ์ชี้ชัดว่าเราสามารถมีกองทัพโดยไม่มีทหารเกณฑ์ได้ และนานาอารยประเทศส่วนใหญ่ได้มาซึ่งกำลังพลด้วยความสมัครใจโดยพัฒนาแรงจูงใจเหมือนอาชีพอื่นๆ เช่น เงินเดือน, สวัสดิการ, โอกาสทางสังคมหลังปลดประจำการแล้ว ฯลฯ

ในแง่นี้ ไทยอยู่ในประเทศกลุ่มน้อยที่ยังมีการบังคับคนไปเป็นแรงงานให้กองทัพสองปี ไม่อย่างนั้นก็ต้องถูกลงโทษด้วยการจำคุกที่มีโทษสูงสุดคือสามปี

และขณะที่หนีทหารก็ไม่สามารถประกอบอาชีพอะไรได้จนกว่าจะเลยอายุความ 10 ปี

พูดง่ายๆ ประเทศไทยอยู่กลุ่มบังคับชายไทยเป็นทหารด้วยระยะเวลาที่สูงกว่าประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารรายอื่นๆ จนชายไทยวัย 21 มีทางเลือกจึงมีแค่ติดคุก, หางานทำไม่ได้ หรือไปเป็นทหารสองปีเสียดีๆ

หนึ่งในมายาคติที่มีการพูดกันมากคือกองทัพจะอ่อนแอ หากไร้ทหารเกณฑ์

แต่ประเทศที่ไม่มีทหารเกณฑ์จำนวนมากคือประเทศที่กองทัพแข็งแกร่งไม่แพ้กองทัพไทยแน่ๆ ทั้งในแง่ความเป็นจริง และในแง่ที่เราส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกหรือศึกษาในประเทศซึ่งไม่มีทหารเกณฑ์อย่างอเมริกา, ญี่ปุ่น, เยอรมนี ฯลฯ ตลอดเวลา

พูดก็พูดเถอะ ถ้าทหารเกณฑ์ทำให้กองทัพแข็งแกร่งจริงๆ ทำไมเราได้ยินว่ากองทัพไทยส่งเจ้าหน้าที่ไปแลกเปลี่ยนหรือฝึกฝนจากประเทศที่มีทหารเกณฑ์น้อยมาก

หากไม่พูดถึงประเทศใหญ่อย่างรัสเซียและจีนเฉพาะในสหภาพยุโรปซึ่งมีประเทศสมาชิก 28 ประเทศนั้น การบังคับให้คนเป็นทหารยังพบได้แต่ในประเทศที่ประชากรน้อยจนกองทัพมีขนาดเล็กมากอย่างออสเตรีย, ไซปรัส, เดนมาร์ก, เอสโตเนีย, กรีซ และฟินแลนด์

แต่ไม่มีเลยในประเทศที่ประชากรมากและกองทัพเข้มแข็งอย่างเยอรมนี, ฝรั่งเศส และอิตาลี

ถ้าการมีทหารเกณฑ์คือเงื่อนไขพื้นฐานที่จะทำให้กองทัพเข้มแข็งอย่างที่คนบางกลุ่มเชื่อ

ทำไมประเทศในสหภาพยุโรปที่ได้ชื่อว่ามีกองทัพเข้มแข็งและประสิทธิภาพสูงจนไทยส่งเจ้าหน้าที่ไปเรียนรู้อยู่เนืองๆ

กลับไม่มีการบังคับให้ประชาชนเป็นทหารอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย?

ประเทศควรมีทหารหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันเยอะ, ทำอย่างไรให้ทหารเป็นทหารอาชีพต้องคุยกันยาว, แยกกองทัพจากทหารการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิด

แต่ทหารเกณฑ์เป็นเรื่องที่ไม่น่าต้องคุยกันแล้ว โดยเฉพาะในเวลาที่เราเคยมี ผบ.ทบ.ที่เข้าใจว่าอะไรคือการทำเพื่อกองทัพจริงๆ แบบกองทัพทั้งโลกทำกัน