บทวิเคราะห์ : คำยืนยันสารพัดภัยจากปัญหาโลกร้อนของนักวิทยาศาสตร์

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ศาสตราจารย์ไมเคิล มานน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สเตต และผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ว่าด้วยระบบโลกแห่งเพนน์สเตต เขียนบทความเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบกับผู้คนทั้งโลกและเรียกร้องให้ชาวโลกร่วมผนึกกำลังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเลวร้ายไปมากกว่าที่เห็นและเป็นอยู่

“ฤดูร้อนปีนี้ เราได้เห็นน้ำท่วมอย่างหนักหน่วง ภัยแล้งที่รุนแรง คลื่นความร้อนและไฟป่าเผาผลาญพื้นที่ในยุโรป อเมริกาเหนือและเอเชีย เราได้เห็นภาพเหล่านี้ผ่านทางทีวีและในโซเชียลมีเดีย นี่เป็นสิ่งที่ผมขอย้ำว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อน”

มานน์เขียนในบทความ

“มานน์” ให้นึกภาพพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ เฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ถล่มรัฐเท็กซัสและรัฐนอร์ทแคโรไลนา มีสาเหตุจากอากาศร้อนจัด อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูง การระเหยของน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีความชื้นลอยสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากขึ้น เป็นตัวเร่งระดับความรุนแรงของพายุเฮอร์ริเคน

ในทางกลับกัน เราได้เห็นภัยแล้งที่รุนแรงในรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือแม้กระทั่งที่ประเทศซีเรีย เนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนระอุ เช่นเดียวกันในยุโรปตอนเหนือ เกิดคลื่นความร้อนแผ่ซ่าน

 

ความร้อน ภัยแล้ง เมื่อผนวกกันเกิดไฟป่าลุกโหมไปทั่ว

เวลานี้นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศพูดถึงความเกี่ยวโยงระหว่างปรากฏการณ์โลกร้อนกับมหันตภัยเหล่านั้นได้คล่องปากกว่าเดิม เพราะมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่สามารถวิเคราะห์ วิจัยแม่นยำ

เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมาสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรที่เป็นภัยธรรมชาติล้วนๆ กับภัยที่เกิดจากฝีมือของคน

ภาวะโลกร้อนทำให้คลื่นความร้อนแผ่ซ่านบริเวณยุโรปเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่ารุนแรงมากเป็น 2 เท่าตัว

จากการบันทึกปริมาณฝนตกในรัฐนอร์ทแคโรไลนาระหว่างพายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ถล่มพบว่ามีปริมาณมากขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุเพราะอุณหภูมิของผิวน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกเพิ่มขึ้น

การวิเคราะห์ข้อมูลสภาวะภูมิอากาศเช่นนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างมีนัยยะสำคัญมากของโลกวิทยาศาสตร์ แม้ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์เสียทั้งหมด เพราะมีปัจจัยอื่นๆ เป็นตัวแปร แต่กล่าวได้ว่ามีความแม่นยำแน่นอนขึ้น

ไม่ต่างกับเครื่องมือทางการแพทย์ อย่างเช่น การใช้เครื่องเอ็กซเรย์ตรวจคนไข้แล้วจะชี้ได้ทันที หมอต้องใช้เครื่องเอ็มอาร์ไอหรือเครื่องตรวจร่างกายด้วยคลื่นแม่เหล็กแรงสูงมาตรวจพิสูจน์อีกชั้นหนึ่ง

ในการศึกษาฤดูร้อนของปีนี้ พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเป็นสาเหตุทำให้กระแสลมเจ๊ตสตรีมที่อยู่ในชั้นบรรยากาศเหนือผิวโลก 9,000-10,500 เมตรเพิ่มความรุนแรงและการไหลเวียนในบางพื้นที่มีระยะเวลานานกว่าปกติ

ฤดูร้อนในยุโรป ภาคตะวันออกของสหรัฐและญี่ปุ่นในปีนี้ จึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นและร้อนยาวนานขึ้น

 

เมื่อย้อนกลับไปศึกษาคลื่นความร้อนในฤดูร้อนของยุโรปเมื่อปี 2546 มีชาวยุโรปเสียชีวิตกว่า 3 หมื่นคน รวมถึงภัยแล้งในเท็กซัส รัฐโอกลาโฮมาของสหรัฐในปี 2554 สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมปศุสัตว์อย่างหนัก ขณะที่ไฟป่าในรัฐอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา เมื่อปี 2559 รุนแรงมากสุดในประวัติศาสตร์แคนาดา

ภัยที่กล่าวมานั้นนักวิทยาศาสตร์ยืนยันได้ว่าสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

ดังนั้น จึงคาดหมายได้ว่าแนวโน้มในอนาคตฤดูร้อนจะเกิดภัยร้ายแรงเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในปีนี้ หรืออาจเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำไป

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษวิเคราะห์ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเหมือนกับข้อมูลของศาสตราจารย์มานน์ว่าทำให้ภูมิอากาศในอังกฤษมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าเดิม และร้อนนานขึ้น

กรมอุตุฯ อังกฤษระบุว่า วันที่อากาศหนาวที่สุดของอังกฤษตลอดช่วงหนึ่งทศวรรษ อุณหภูมิสูงกว่าวันที่อากาศหนาวที่สุดระหว่างปี 2504 และ 2533 โดยสูงกว่า 1.7 องศาเซลเซียส ส่วนวันที่ร้อนที่สุดก็สูงกว่า 0.8 องศาเซลเซียส

ฤดูร้อนของอังกฤษปีนี้ ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา เนื่องจากคลื่นความร้อนแผ่ซ่านในยุโรปยาวนานผิดปกติ

ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิในรอบ 10 ปี สูงขึ้นเป็น 2 เท่า ยาวนาน 13.2 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนปี 2534 อยู่ที่ 5.3 วันเท่านั้น

จากสถิตินี้ จะเห็นแนวโน้มสภาวะภูมิอากาศในอังกฤษที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นทั้งร้อนจัด ทั้งฝนตกหนักกว่าเดิม

ปรากฏการณ์อากาศร้อนจัดของปีนี้ไม่ใช่เกิดเฉพาะในอังกฤษ หากเกิดขึ้นในหลายมุมโลก ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ส่วนออสเตรเลียมีภัยแล้ง

ผลศึกษายังพบอีกว่าปริมาณฝนในวันที่ตกหนักสุดมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น 17%

ปรากฏการณ์ผิดปกติของสภาพภูมิอากาศ ในบางพื้นที่จะกลายเป็นปรากฏการณ์ปกติ และไม่ใช่เฉพาะชาวอังกฤษเท่านั้นที่เผชิญภาวะท้าทายเช่นนี้ หากรัฐบาล ภาคอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนไม่สามารถหลีกเลี่ยงภัยร้ายแรงนี้ได้เช่นกัน

 

หันมาดู “สิงคโปร์” เพื่อนบ้านของเรา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ แต่ตื่นตัวกับการเผชิญหน้าปรากฏการณ์โลกร้อนอย่างมาก

ล่าสุดนายลี เซียน ลุง นายกฯ เรียกร้องให้ชาวสิงคโปร์ร่วมกันปกป้องสิ่งแวดล้อมให้มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

“ลี” เพิ่งพูดย้ำเรื่องนี้เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วในงานคาร์นิวัล “สิงคโปร์สะอาดและเขียวขจี”

ชาวสิงคโปร์รับรู้กันแล้วว่าภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเลวร้ายมากขึ้น

ปีที่แล้วสิงคโปร์เผชิญกับภาวะอากาศร้อนที่สุดทำลายสถิติเก่าๆ ที่บันทึกเอาไว้ และเมื่อเดือนมกราคมปีนี้มีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิอยู่ที่ 21 ํc

ผู้นำเมืองลอดช่อง ยกคำเตือนของสหประชาชาติมากล่าวในคำปราศรัยว่า อีก 12 ปีนับจากนี้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5 ํc เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

“เราจะต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนชาวโลก เช่น ร่วมมือในข้อตกลงปารีสเพื่อลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อลดภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกันต้องเร่งมือทำโครงการต่างๆ เพื่อปกป้องตัวเราเองให้รอดพ้นจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ” คำกล่าวปราศรัยของนายลี

เวลานี้สิงคโปร์เจอภัยเนื่องจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นท่วมชายฝั่ง โดยเฉพาะชายฝั่งตะวันออกหรืออีสต์โคสต์ จนต้องปรับแผนป้องกัน เช่น การถมที่ชายฝั่งยกพื้นอาคารเทอร์มินัล 5 ซึ่งเป็นอาคารผู้โดยสารใหม่ของสนามบินชางงีให้สูงกว่าอาคารที่มีอยู่แล้ว

นายลีเรียกร้องให้ชาวสิงคโปร์ปรับแนวคิดและวิถีชีวิตเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงระบบการขนส่งมวลชน การใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำอย่างประหยัด ลดปริมาณพลาสติก

 

ดูสิงคโปร์แล้ว ย้อนกลับมาเปรียบเทียบกับบ้านเรา

วันนี้บ้านเรายังจมอยู่ในวังวนการเมืองน้ำเน่า ยิ่งใกล้จะเลือกตั้ง นักการเมืองไร้สัจจะ ขาดคุณธรรม ไร้สำนึกประชาธิปไตยผุดโผล่สลอนหน้าเวที เห็นแล้วน่าอนาถ

ถ้าให้เดาอนาคตประเทศ เชื่อได้ว่ายังก้าวไม่พ้นความแตกแยกทางความคิด

และยากที่จะเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในระยะอันใกล้