อุรุดา โควินท์ / อาหารไม่เคยโดดเดี่ยว : ปลากับใบไม้

“เครื่องแกงเดียวกับแกงกล้วยเลยค่ะ” ฉันตอบ เมื่อพี่หนุ่มถามว่า แกงที่เราจะทำวันนี้ ใช้น้ำพริกแกงแบบไหน

พี่หนุ่มทำหน้างง ฉันก็เลยรีบบอก “น้ำพริกแกงค่ะพี่”

ฉันใช้คำว่า เครื่องแกง พี่หนุ่มใช้ น้ำพริกแกง อันที่จริงคือสิ่งเดียวกัน พี่หนุ่มเรียกตามความเคยชิน ส่วนฉันเรียกตามชาวใต้

คนใต้เรียกน้ำพริกแกงว่าเครื่องแกง ใช้คำว่าทิ่ม แทนคำว่าตำ ซึ่งฉันชอบมาก

ช่วงแรกที่ฉันไปอยู่นครศรีธรรมราช ฉันฟังภาษาใต้แบบงูๆ ปลาๆ แต่ครั้นฟังเข้าใจ ฉันชอบภาษาใต้มาก สำหรับฉัน สำเนียงใต้ เป็นสำเนียงของความรู้สึก

เช่น หาญ = กล้า

แขบ = รีบ

มาแต่สวน = มาคนเดียว

ถ้อยคำเหล่านี้ส่งผลต่อความรู้สึกฉันมากกว่า เห็นภาพชัดเจนกว่า เช่นเดียวกับคำว่าทิ่ม

ฉันไสครกให้พี่หนุ่ม

“ช่วยกันทิ่มค่ะพี่”

 

พี่หนุ่มทำอาหารเก่ง แต่พี่หนุ่มทำอาหารใต้ไม่เป็น และพี่หนุ่มเพิ่งจะชอบกินอาหารใต้เมื่อได้กินฝีมือฉัน

เริ่มต้นจากแกงไก่ใส่ลูกกล้วยที่ฉันตักใส่ปิ่นโตไปให้ชิม พี่หนุ่มติดอกติดใจหนักหนา

ทั้งที่ฉันบอกว่า นั่นยังไม่อร่อยนัก เพราะฉันหากล้วยเล็บมือไม่ได้ ใช้กล้วยน้ำว้าดิบแทน

นับจากวันนั้น ฉันเหมือนมวยได้ใจ ทำแกงใต้เมื่อไร เป็นต้องตักใส่ปิ่นโตไปให้พี่หนุ่ม (รอคำชม) ส่วนพี่หนุ่มก็รอโอกาสทำแกงใต้ด้วยกัน ไม่ง่าย-ที่เราจะว่างตรงกัน แต่ไม่ว่าอะไรก็ตาม หากเราต้องการให้มันเกิดขึ้น เราย่อมจัดสรรเวลาได้

คนรักที่จะวิ่ง ย่อมมีเวลาสำหรับวิ่ง คนรักสวยรักงาม ย่อมมีเวลาแต่งหน้า คนรักความสะอาด ย่อมมีเวลาเก็บกวาดบ้าน คนชอบทำอาหาร ย่อมมีเวลาเข้าครัว

และคนที่ชอบทุกอย่าง (เช่นฉัน) จึงมีเวลาให้ทุกกิจกรรม

หนึ่งวันของฉันแสนสั้น ประกอบรวมทุกเรื่องราว อัดแน่นไปด้วยแรงปรารถนาที่จะทำ

บางคนแปลกใจว่าฉันทำอะไรนักหนา ขณะบางคนอาจสงสัย-ฉันอยู่ได้อย่างไร ไม่เห็นทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ขึ้นอยู่กับว่าจะยืนมองจากจุดไหน

 

ฉันอยู่ตรงนี้ ทบทวนวันเวลาของตัวเองเสมอ ทุกครั้งฉันได้คำตอบ-ทำอาหารมีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ

อาหารดี อร่อย ถูกสุขอนามัย คือจุดเริ่มต้นของวันดี ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเอง อาหารแบ่งปันได้ กับคนในครอบครัว กับเพื่อนบ้าน เพื่อนฝูง อาหารเชื่อมโยงเราไว้ด้วยกัน และอาหารก็ทำให้เราเห็นสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับสรรพสิ่งที่นำมาประกอบอาหาร

ฉันกับพี่หนุ่ม ถ้าไม่มีอาหาร เราคงมีเรื่องคุยกันน้อยลง

พี่หนุ่มทิ่มเครื่องแกงเป็น สมกับที่เรียนรู้การครัวมาจากตา ตำข้างครก กึ่งตำกึ่งบด และตำทีละน้อย กระทั่งทั่วครก ด้วยวิธีนี้ เครื่องแกงจะเนียนง่ายขึ้น

ส่วนผสมเครื่องแกงเดียวกับคั่วกลิ้ง ประกอบด้วยพริกขี้นกแห้งจำนวนมาก กระเทียมไทย พริกไทยดำ ตะไคร้ ขมิ้น เกลือทะเล ตำให้ละเอียด แล้วเติมกะปิอย่างดี

ฉันได้ปลาดุกนามาจากตลาดบ้านใหม่ ตัวไม่ใหญ่ แต่เนื้อแน่น น่ากินเป็นที่สุด แม่ค้าทำปลามาอย่างสวยงาม หั่นเป็นชิ้นพร้อมแกง

ใบชะพลูเก็บจากข้างบ้าน มันงามมากในปลายฤดูฝน เก็บให้เยอะไว้ เพราะชะพลูก็เหมือนผักอื่น เมื่อสุกจะยุบเหลือนิดเดียว

“เราต้องหั่นให้เป็นเส้นฝอยเลยค่ะ” ฉันบอกพี่หนุ่ม

“โห จริงเหรอ”

ฉันหัวเราะ ไม่ยากหรอก สนุกมากกว่า ฉันจับใบชะพลูมาซ้อนกันสี่ใบ ม้วนให้แน่น แล้วซอยตามขวาง เท่านี้ก็ได้ใบชะพลูฝอยแล้ว

ส่งมีดเล็กให้พี่หนุ่ม พร้อมรอยยิ้มหวาน เชื่อว่าเขาทำได้ดีกว่าฉัน

 

ฉันหันไปคั้นกะทิ ใช้กะทิน้ำเดียว เป็นหัวกะทิที่จางสักหน่อย ตั้งไฟพอให้กะทิเดือด ก็ใส่เครื่องแกงลงไปเลย

“พี่หนุ่มห้ามกะพริบตานะ เพราะแป๊บเดียวเสร็จ” ฉันเตือนเขา

ใส่เครื่องแกงลงไปตอนกะทิเดือด ไม่ต้องรอให้แตกมัน คนให้เครื่องแกงเข้ากับกะทิ แล้วเทปลาดุกลงไป

“เราจะไม่คนจนกว่าปลาจะสุกค่ะ” ฉันบอก

“และพอปลาดุกสุกแล้ว เราก็ใส่ชะพลูซอยลงไปทั้งหมด ไม่คนอีกนั่นล่ะค่ะ คนบ่อย ปลาจะเละเอาได้ค่ะ”

รอให้ทุกอย่างสุก ฉันถึงจะคน และชิม สำหรับหม้อนี้ ฉันเติมน้ำปลานิดหน่อย และตัดน้ำตาลหนึ่งช้อนชา (เพื่อพี่หนุ่มกินง่ายขึ้น)

“แกงเผ็ดมาก ต้องดึงรสเค็มมาสู้กัน” ฉันตักใส่ช้อนเล็กส่งให้เขา “เผ็ดไปมั้ยคะ พี่กินได้มั้ย”

“เผ็ด” เขาว่า “แต่อร่อย กินได้”

“ได้กะทิมาช่วย ทุกอย่างจะนุ่มนวลขึ้นค่ะ” ฉันหัวเราะ

“แล้วถ้าเกิดพี่แกงเผ็ดไปล่ะ” เขาถาม

“เติมกะทิได้ค่ะ ถ้าไม่เผ็ด ก็เติมเครื่องแกง จริงๆ แล้ว น้ำแกงไม่ควรมาก เอาแค่ขลุกขลิก แต่ถ้าจำเป็น เติมกะทิได้ น้ำแกงเยอะหน่อย แต่กินอร่อย ไม่เป็นไรค่ะ”

“แล้วแกงกับผักอื่นได้มั้ย ปลาดุกน่ะ” พี่หนุ่มถาม

ฉันหัวเราะ ทำไมจะไม่ได้ล่ะ อาหารไม่มีถูกผิด ได้แน่นอน เพียงแต่ว่า ปลาดุกกับใบชะพลูนั้น ถูกคิดมาแล้ว โดยคนรุ่นก่อนหน้า ว่ามันเข้ากันได้ดีเหลือเกิน