เทวินทร์ วงศ์วานิช : “กาลามสูตร” ภูมิคุ้มกันสำหรับสังคมไทย

“คม” ความคิด (จบ)

“post-truth” ได้รับการเลือกเป็น Word of the Year 2016 โดย Oxford Dictionaries

จากปรากฏการณ์ที่ความจริงไม่สำคัญ หรือมีความหมายเท่าความรู้สึก และความเชื่อส่วนบุคคล อันจะเห็นได้จากเหตุการณ์ใหญ่ๆ สองครั้งคือ การลงประชามติ (Brexit) การแสดงประชามติของชาวอังกฤษเพื่อสนับสนุนการแยกตัวจากสหภาพยุโรป และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ดูเหมือนว่าทั้งการหาเสียงและการตัดสินใจของสังคมจะเจือไปด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผลจากความจริง

เราเริ่มเห็นแล้วว่า “post-truth” สามารถสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นได้

ภูมิคุ้มกันสำหรับสังคมไทย น่าจะเป็น “กาลามสูตร” ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเมื่อ 2,600 ปีก่อน ที่ให้ใช้ปัญญาพิเคราะห์ข้อเท็จจริง และทดลองปฏิบัติ โดยไม่หลงเชื่อการกล่าวอ้างต่างๆ ไม่ว่าจะฟังดูเร้าอารมณ์ หรือมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเพียงใดก็ตาม

หวังว่าเราจะช่วยกันเผยแพร่และน้อมรับกาลามสูตรมาเป็นเกราะป้องกันความเป็นทาสทางสติปัญญา

เพื่อจะไม่ตกลงกับดักของกระแสโฆษณาชวนเชื่อที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน

มี “สติ” ตื่นรู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง

ใช้ “ปัญญา” แสวงหาทางออกร่วมกัน

การ “หลง” หรือเชื่อว่าจะมีในสิ่งที่เราไม่มี และความ “โลภ” อยากมี อยากใช้มากๆ สำหรับสิ่งที่เรามีไม่พอ ได้นำไปสู่ความ “ขัดแย้ง” ทางความคิดและพยายามเอาชนะโดยไม่ไตร่ตรองเหตุผลในสังคมไทยมาแล้วหลายเรื่อง

ซึ่งดูจะเป็นการสร้างปัญหาให้ทับถมรุนแรง มากกว่าการแก้ที่สาเหตุหลักของทุกข์

ผมเชื่อว่า หากสังคมมี “สติ” ตื่นรู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง

เราน่าจะมีความรู้

และสามารถใช้ “ปัญญา” พิจารณาแสวงหาทางออกร่วมกันได้

มุ่งสร้างความดี

สร้างประโยชน์ให้โลกดีขึ้น

คนเราควรพิจารณาตนเองอยู่เสมอ ว่ามุ่งหวังอะไรในชีวิต?

ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง?

หรืออาจจะเรียกว่า อยู่อย่างเตรียมตาย

การได้คำนึงถึงความตายจะทำให้เราได้หมั่นทบทวนเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ที่แท้จริง

คุณค่าชีวิตของตนเองที่มีมากกว่าการมุ่งทำงานหาทรัพย์สินเงินทอง

เมื่อถึงเวลาตาย ทรัพย์สินเงินทองที่สะสมหามาได้ก็ต้องทิ้งไว้ในโลกนี้

ควรมุ่งสร้างความดี สร้างประโยชน์ ทำให้โลกดีขึ้น

อย่างน้อยก็ยังได้ชื่อว่าฝากสิ่งดีๆ ไว้ให้แก่ผู้อื่นบ้าง

เตรียมตัวตายอยู่เสมอ…

ไม่ประมาท

เราควรเตรียมตัวตายอยู่เสมอ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ให้หมั่นทำความเพียรเพื่อหลุดพ้น ไม่ประมาท ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เพราะไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไหร่

ความเพียรแรกที่เราทำได้คือ ความเพียรทางด้านร่างกาย

คือต้องละจากความสบาย การอยู่นิ่งๆ กินๆ นอนๆ โดยการกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัว ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีคุณค่า พักผ่อนให้เพียงพอ

ความเพียรที่ทำได้ยากคือความเพียรทางด้านจิตใจ กลับกับร่างกาย คือละจากความวุ่นวายฟุ้งซ่านของจิต ขจัดความทุกข์ของใจที่เกิดจากกิเลส โดยการฝึกฝนจิตให้นิ่งสงบ

เช่น การเจริญสติ ทำสมาธิ ให้เกิดปัญญา หลุดพ้นจากกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง

พระพุทธเจ้า และมหาตมะคานธี

สอนให้ละกิเลส

โลกเราอยู่ในยุคแห่งการบริโภคนิยมมานานแล้ว

สังเกตไหมครับว่าสิ่งที่เราอยากได้ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องมี อาจเกินไปจากฐานะของเรา หรือปริมาณมากเกินไปกว่าที่จำเป็นต้องใช้จริง

เช่น สิ่งของที่อยู่ในหมวดของฟุ่มเฟือย หรือแม้กระทั่งอาหารราคาแพง และบุฟเฟ่ต์ที่เรากินเกินไปจากความอิ่มอยู่มากทีเดียว

ความทุกข์ที่แท้จริงๆ เริ่มต้นขึ้นเมื่อจิตใจวุ่นวาย อยากบริโภคในสิ่งที่ยังไม่มี และต้องพยายามขวนขวาย ใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมา

ดังนั้น ในการเริ่มมีความสุขแบบง่ายๆ ตั้งแต่ตอนนี้คือการพอใจสิ่งที่มีอยู่

พระพุทธเจ้า และมหาตมะคานธี สอนให้ละกิเลส บริโภคตามที่จำเป็น

ซึ่งจะทำให้เกิดสันติสุข

ดับทุกข์ได้คือ

ต้องกำจัดกิเลสในใจ

หลักธรรมะของพระพุทธเจ้าช่วยให้เรามีความสุขได้ หากเราทำได้จริง

ปัจจัยสำคัญที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหรือดับทุกข์ได้คือ ต้องกำจัดกิเลสในใจ

ผมเชื่อว่าทุกคนเคยได้ยินเรื่องการกำจัดกิเลสมาแล้วหลายหน

ในฐานะมนุษย์ธรรมดาอาจทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ผมเชื่อว่าทุกจิตนั้นฝึกได้

เริ่มต้นด้วยการรักษาศีล สมาธิ และใช้ปัญญาพิจารณาว่าสิ่งที่อยากได้อยากมีนั้นจำเป็นต่อชีวิตหรือไม่

สิ่งที่มากระตุ้นเร้าจิตใจนั้น ทำให้เกิดการกระทำที่ดี หรือไม่ดี

หากไม่ดีก็รีบหลีกให้ห่างไกลตั้งแต่ต้น

จิตที่สงบนิ่ง

ทำให้ใจโปร่งสบาย

ผมชอบการเปรียบเทียบจิตใจเป็นแก้วใสใส่น้ำ

ผมว่ามันทั้งเห็นภาพ และตรงกับหลักความจริงทุกอย่าง

น้ำนั้นมีสถานะเป็นของเหลวซึ่งเคลื่อนไหวได้ง่ายมากเมื่อมีสิ่งมากระทบ

น้ำนิ่งในแก้วใสสะอาด ไม่ขุ่นมัวด้วยตะกอนที่ตกอยู่ก้นแก้วฉันใด … จิตที่สงบนิ่ง ก็ทำให้ใจโปร่งสบาย แจ่มใส ไม่ฟุ้งซ่านด้วยกิเลสฉันนั้น

เราทุกคนควรตั้งตนในความไม่ประมาท ประคองแก้ว หรือจิตใจของตนให้นิ่งที่สุด

ความสุขสบายในใจก็เริ่มได้เลย ณ ตอนนั้น

ไม่อิจฉาความสำเร็จของคนอื่น

ธรรมะของพระพุทธเจ้าถือเป็นอกาลิโก คือเป็นความจริงอยู่เสมอทุกยุคทุกสมัย ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา

ผมขออนุญาตแลกเปลี่ยนความคิดในหลักธรรมะพื้นฐานที่เราทุกคนคงคุ้นเคยกันมา คือเรื่องกฎแห่งกรรม และทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

หลักธรรมข้อนี้มีประโยชน์ สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องยึดเหนี่ยว เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข

เพราะ

1. ทำให้เกิดความเกรงกลัวและละอายในการทำชั่ว ทำบาป

2. ทำให้มีศรัทธาในการสร้างความดี ไม่ท้อแท้ ถึงแม้จะไม่เห็นผลทันที

3. ทำให้ไม่อิจฉาความสำเร็จของคนอื่น เพราะเชื่อว่าเขาทำดีมาก่อน

4. ทำให้ไม่น้อยใจในโชคชะตา ถือว่าใช้กรรมที่ทำไว้ในอดีต

แยกระหว่าง

ถูกกับผิด ดีกับเลว บุญกับบาป

มีหลายครั้งที่เราพบกับพื้นที่ “สีเทา” คือแยกได้ยากว่าผิดหรือถูก

หรือบางครั้งเราก็คิดเข้าข้างตนเอง และหาเหตุผลให้การกระทำของตัวเองได้ว่าจำเป็นบ้าง ไม่มีทางเลือกบ้าง ไม่รู้บ้าง เพื่อสนับสนุนความคิดตัวเอง หรือเพื่อลดความรู้สึกผิด

ผมเชื่อว่าเจตนาและความตั้งใจเป็นส่วนสำคัญในการแบ่งแยกระหว่างถูกกับผิด ดีกับเลว บุญกับบาป การใช้สติและปัญญากำกับการกระทำของตัวเราจะทำให้เราแยกผิดกับถูกได้ชัดเจนขึ้น

และไม่เผลอไผลไปกับสิ่งมอมเมาทั้งหลาย

ของขวัญที่ดี

ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กดู

ผู้ใหญ่อย่างพวกเราควรให้ความสำคัญกับเด็กในทุกๆ วัน

ไม่ใช่เฉพาะวันเด็กวันเดียว

และหากจะมีของขวัญที่ดีที่สุดให้กับลูกหลาน นอกเหนือจากสิ่งของแล้ว

ผมคิดว่าของขวัญที่ดีที่สุดที่ผู้ใหญ่จะให้เด็กได้ คือ “การทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กดู”

เพราะเด็กจะเติบโตเป็นพลังที่ดีให้กับสังคมได้ก็ต้องมีแบบอย่างที่ดีจากพวกเรา

และผมเชื่อในความดีนะว่า “ความดี” จะช่วยปกป้องคุ้มครองพวกเขาให้รอดพ้นจากอันตรายได้

สังคมโซเชียลมีเดีย…

รับฟังให้รอบด้านด้วยสติ

การหลงผิด นินทา ว่าร้าย โกหก สร้างเรื่อง เป็นปัญหาคู่กับมนุษย์มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว

พระพุทธเจ้าจึงให้หลักกาลมสูตรไว้เพื่อให้เราใช้ปัญญาก่อนจะหลงเชื่ออะไร

ยิ่งในยุคนี้ที่มีข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเข้ามาสู่เรามากมายในแต่ละวัน ต้องเตือนสติตัวเองอยู่เสมอให้ไม่หลงเชื่อ หลงผิด

โดยเฉพาะในสังคมโซเชียลมีเดีย รับฟังให้รอบด้านด้วยสติ ใช้ปัญญาพิจารณาคุณ/โทษ

และทดลองปฏิบัติก่อนเชื่อ

โลกเป็นเสมือนแม่

ต้องกตัญญูรู้คุณ ดูแลแม่ให้ดีที่สุด

ปัญหาหลักของโลกในขณะนี้คือ Climate Change

อินเดียตั้งเป้าที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากที่ใช้ 60 GW ในปี 2016 เป็น 175 GW ใน 5 ปี เพื่อดูแลโลกให้มากขึ้น

เพราะพวกเราก็ใช้ประโยชน์จากโลกมาอย่างมหาศาล

ปรัชญาโบราณคือ โลกเป็นเสมือนแม่

มนุษย์เป็นลูกที่ได้รับประโยชน์จากแม่ จึงควรต้องกตัญญูรู้คุณ ดูแลแม่ให้ดีที่สุด

อริยสัจสี่

ต้นแบบใช้ปัญญาแก้ปัญหา

– เริ่มจากทำความเข้าใจปัญหา (ทุกข์ : Suffering / Problem)

– วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา (สมุทัย : Root Cause)

– หาทางแก้ที่สาเหตุ (นิโรธ : Solution)

– ลงมือปฏิบัติและแก้ไข (มรรค : Corrective Action)

พระเอก “เดชคัมภีร์เทวดา”

“เหล็งฮู้ชง”

ไม่ใช่คนหน้าตาดี แต่เป็นคนกล้า

ผมเริ่มสนใจนิยายจีนกำลังภายใน เพราะความสนุกจากการต่อสู้ด้วยวิทยายุทธ์เหนือคนธรรมดาสามัญ

แต่ที่มากกว่านั้นคือ นิยายจีนกำลังภายในยังแฝงคติข้อคิดมากมาย

ซึ่งผมซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว เช่น เรื่อง “ความกล้า” ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง

และการมี “คุณธรรม” ที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่น หนังจีนกำลังภายในที่ผมชอบมากคือเรื่อง “เดชคัมภีร์เทวดา”

พระเอก “เหล็งฮู้ชง” ไม่ใช่คนหน้าตาดี ไม่เก่งมาก

ไม่ได้เก่งที่สุดในเรื่อง

แต่เป็นคนกล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง

โดยไม่ห่วงว่าตัวเองจะแพ้ สู้ไม่ได้ หรือเป็นอันตราย ถ้าเขาคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องก็ทำ