ฉัตรสุมาลย์ : เสวนาเรื่องบทบาทสตรีฯ

งานเสวนา 4 ภาค สืบเนื่องมาจาก พ.ศ.2558 มูลนิธิพุทธสาวิกา จัดงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นเรื่องการสร้างความเข้าใจในบทบาทของพุทธบริษัท 4 ปีนี้ สานงานต่อ ยังเป็นการเสวนา 4 ภาค เช่นเดิม โดยตั้งใจให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ชาวพุทธในภาคต่างๆ

ปีนี้ หัวข้อเรื่อง บทบาทสตรีในการรักษาและส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยจัดประเดิมครั้งแรกที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 ที่เพิ่งผ่านมา

องค์กรท้องถิ่นที่จัดร่วมคือพุทธสมาคมของจังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านนายกคือ คุณกาญจนา เรืองช่วย ท่านมีความเข้มแข็งมาก มีผลงานต่อเนื่อง

การที่ท่านอยู่ในตำแหน่งนายกพุทธสมาคมมาตั้งแต่ พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบัน นับได้ 15 ปี ก็เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่บ่งบอกการได้รับการยอมรับในการทำงานของท่านในระดับหนึ่ง

และในช่วงที่จัดงานนี้ ได้ประสานงานกับท่าน ท่านมีประสิทธิภาพมาก ก็เข้าใจว่า ทำไมท่านได้รับเลือกเป็นนายกพุทธสมาคมมานาน

กราบขอบคุณท่านเจ้าคุณพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช ที่กรุณาให้ใช้ศาลา 100 ปี เป็นสถานที่ในการจัดงานเสวนา

ทุกคนรู้จักวัดพระมหาธาตุเป็นอย่างดี ที่นั่งที่เตรียมไว้ 350 ที่นั่งเต็มทุกที่ ฝั่งซ้าย (ของวิทยากร) เป็นนักเรียน ม.4-ม.5 จำนวน 250 คน มีอาจารย์กำกับ มาฟังด้วยความตั้งใจ

ฝั่งขวามือเป็นแม่ชี ท่านผู้สนใจอีก 100 กว่าท่าน เรียกว่า บรรยากาศอบอุ่นทีเดียว

ไฟตก เปิดแอร์ไม่ได้ เราใช้เปิดพัดลม โชคดีว่าเช้าวันนั้น ขณะลงเครื่องสังเกตเห็นลานบินมีน้ำขังบางแห่ง แสดงว่าฝนเพิ่งตกไปตอนเช้ามืด ช่วยคลายความร้อนไปได้ระดับหนึ่งทีเดียว

บนเวที มีท่านอาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย คุณเพื่อม พิทักษ์ อดีตศึกษาธิการจังหวัดของนครศรีธรรมราช ท่านธัมมนันทา และ ดร.กาญจนา สุทธิกุล

ท่านอาจารย์สมฤทธิ์เป็นทั้งวิทยากรและผู้ดำเนินรายการ

ท่านเริ่มต้นโดยสร้างบรรยากาศได้ดี โดยให้เห็นภาพกว้างของบทบาทสตรีในการเป็นผู้นำทางพุทธศาสนา

เริ่มจากใกล้ตัวของผู้ฟังที่นครศรีธรรมราช ที่วัดพระมหาธาตุ ก็มีเรื่องราวของพระนางเหมชาลาที่เอาพระธาตุใส่มวยผมหนีมาจากอินเดีย เรื่องราวของพระนางเหมชาลาที่นครศรีธรรมราช เป็นเรื่องเดียวกับที่ศรีลังกา เพราะฉะนั้น ตำนานการเกิดขึ้นของพระมหาธาตุที่เป็นโบราณสถานสำคัญของนครศรีธรรมราชก็ผูกพันกับบทบาทของสตรีในการรักษาพระศาสนาอย่างชัดเจน

อาจารย์เน้นว่า บทบาทที่สังคมเชื่อกันมาตลอดว่า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังนั้น ก็เป็นการสร้างความเชื่อโดยที่ผู้ชายเป็นคนกำหนด สิทธิ หรือโอกาสจะได้รับหรือไม่ได้รับก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดของสังคมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่

ท่านอาจารย์ชี้ประเด็นว่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนั้น ผู้ที่ถวายพระกระยาหาร ทำให้พระองค์ท่านมีเรี่ยวมีแรงขึ้น คือ นางสุชาดาที่นำข้าวมธุปายาสมาถวาย

แม้นางวิสาขาที่ชาวไทยรู้จักแต่เพียงเป็นเลิศในการถวายทาน ซึ่งเป็นเพียงอามิสบูชา แต่ในความเป็นจริงนางได้ถวายธรรมบูชาด้วย โดยได้ทำบทบาทของผู้ประกาศพระศาสนา

ในกรณีที่เห็นชัดเจน คือการที่ได้รับนิกเนมว่า มิคาลมาตา เป็นแม่ของมิคาล

ท่านเศรษฐีมิคาลนั้นเป็นพ่อของสามี เมื่อนางมาสู่ตระกูลของท่านเศรษฐี ท่านเศรษฐีนับถือศาสนาเชน แต่เพราะสติปัญญาของนางทำให้ท่านเศรษฐีเกิดศรัทธาหันมานับถือพุทธศาสนาจนได้รับการเรียกขานว่า มิคาลมาตา

ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สำคัญของอินเดียในสมัยพุทธศตวรรษที่ 3 ผู้ที่อยู่รอบพระวรกายที่มีบทบาทในการที่ทำให้พระองค์หันมานับถือพุทธศาสนาล้วนเป็นหญิง

เมื่อครั้งที่ยังทรงเป็นอุปราชนั้น ครองเมืองเวทิสา ได้พระชายาคือเจ้าหญิงเวทิสา พระธิดาของเจ้าเมืองนั้น เจ้าหญิงเวทิสาทรงนับถือพุทธศาสนา ครั้นเมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ พระนางมิได้เสด็จตามไปด้วย ฉะนั้น เวลาที่ส่งพระโอรสและพระธิดาไปสืบพระศาสนาที่ศรีลังกา พระมหินท์เถระ พระโอรสจึงเสด็จมาทูลลาพระมารดา พระมารดาสร้างพระสถูปที่สาญจีถวาย พระมหินท์เถระเสด็จไปเผยแผ่พระศาสนาที่ศรีลังกา จะสังเกตเห็นว่าสถาปัตยกรรมการสร้างพระสถูปที่ศรีลังกาเลียนแบบไปจากพระสถูปที่สาญจีทั้งสิ้น นับว่าพระมารดามีอิทธิพลอย่างยิ่งในการสืบพระศาสนาไปต่างแดน

บทบาทของสตรีสำคัญยิ่งในการสืบสานพระศาสนาชัดเจนในช่วงรอยต่อจากอินเดียไปศรีลังกา

เมื่อหันไปมองประเทศจีน ประเทศจีนเป็นประเทศที่เป็นรากเหง้าของอารยธรรมสำคัญของเอเชีย แต่ขณะเดียวกันจีนก็ได้รับอิทธิพลจากภายนอก หลักๆ 2 เรื่อง คือ พุทธศาสนา และลัทธิคอมมิวนิสต์จากตะวันตก

ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยราชวงศ์ถัง พระนางบูเช็กเทียนเป็นสตรีชาวพุทธอีกนางหนึ่งที่เผยแผ่พระศาสนาให้กว้างไกลในสมัยที่พระนางมีอิทธิพลในการปกครองประเทศจีน

ในประเทศทิเบต ศาสนาพุทธเข้าสู่ทิเบตในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 8 พระเจ้าสรองสันกัมโป กษัตริย์ของทิเบตที่มีอิทธิพลในสมัยนั้น มีพระมเหสี 2 พระองค์

องค์หนึ่ง คือพระนางเวนเชิง จากประเทศจีน ได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนทิเบตอย่างเป็นระบบ

พระพุทธรูปที่พระนางอัญเชิญมาจากจีนนั้น ประดิษฐานที่วัดโจกัง ซึ่งเป็นวัดหลวง

ในขณะที่พระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง คือพระนางพริคุติ เป็นเจ้าหญิงจากเนปาล ก็เป็นชาวพุทธและได้นำพระพุทธรูปเข้ามาเช่นกัน ประดิษฐานไว้ในวัดที่อยู่ไม่ห่างกันมากนัก

เรียกว่า สตรีมีบทบาทอย่างยิ่งในการประดิษฐานพุทธศาสนาในทิเบต

ท่านอาจารย์สมฤทธิ์ดึงความสนใจของผู้ฟังมาสู่ประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นบทบาทของพระนางจามเทวี พระธิดาของกษัตริย์ละโว้ที่ปกครองหริภุญไชย

เมื่อศึกษาลงไปในตำนานที่มาของพุทธศาสนาในดินแดนรอบตัวเราจะเห็นว่า สตรีมีบทบาทอย่างยิ่ง แต่ประวัติที่เกี่ยวกับผู้หญิง มักจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืม ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ทำให้จำ

หากผู้หญิงเองไม่ตระหนักในความสำคัญในบทบาทที่ตัวเองทำ ไม่ใส่ใจ ไม่จดบันทึก ก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ทำให้ลืมได้ง่ายยิ่งขึ้น

บทบาทที่สตรีมีต่อการรักษาพระศาสนานั้นอาจจะพิจารณาได้ คือ

1. เป็นผู้สนับสนุนพระศาสนา (Supporter) บทบาทนี้ สตรีทำมาโดยตลอด ร้อยละ 90 ของประชากรที่ใส่บาตรพระเณรในตอนเช้านั้น เป็นผู้หญิงทั้งนั้นแหละ แม้ในการสร้างวัดวาอาราม ไปดูเถิด สปอนเซอร์รายใหญ่ๆ ก็มักจะเป็นผู้หญิงอีกเช่นกัน

2. บทบาทในการเผยแผ่พระศาสนา (promoter) ในส่วนของประวัติศาสตร์ที่ทำให้จำ เราก็จะท่องจำเรื่องราวของสมณทูตต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ชายส่วนใหญ่ แต่ผู้หญิงก็เล่นบทบาทนี้อยู่ เช่น ถ้าเป็นที่ศรีลังกา เราก็จะเห็นบทบาทของพระนางสังฆมิตตาที่สืบพระศาสนานำภิกษุณีสงฆ์ไปศรีลังกา เป็นพระธรรมทูตที่เป็นภิกษุณีสงฆ์อินเตอร์คณะแรก

3. บทบาทในการปกป้องคุ้มครองพระศาสนา (protector) บทบาทของพระนางเหมชาลาที่เอาพระเขี้ยวแก้วหลบหนีออกมาจากอินเดีย เป็นตัวอย่างที่ดีของการปกป้องพระศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม

4. บทบาทในการเป็นผู้นำ (leader) บทบาทนี้ ส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็จะเห็นสตรีเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสอนที่ส่งผ่านพระภิกษุสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ ตรงนี้เอง ที่เราจะเห็นความสำคัญที่ควรสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทในการเป็นผู้นำ โดยการรื้อฟื้นการบวชของสตรี ซึ่งในความเป็นจริง เป็นวัฒนธรรมพุทธ เพียงแต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย

อาจารย์เล่าว่า ได้รับมรดกที่สำคัญจากยาย ยายท่านพร่ำสอนไม่ให้ทำผิดทำชั่ว โดยห้ามแต่เพียงว่า “อย่าทำ มันเป็นบาปกรรม” เสียงของยายอยู่กับอาจารย์มาตลอด เป็นเสียงของมโนธรรมที่อาจารย์ได้รับการบ่มเพาะมาจากบรรพบุรุษ

ย้อนไปเมื่อพระนางมหาปชาบดีขอออกบวชนั้น เรียกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ช็อกโลก อาจารย์พูดถึงสิทธิในการออกบวชของสตรีนั้น ไม่ใช่เรื่องสิทธิความเท่าเทียมระหว่างบุรุษ สตรี แต่เป็นสิทธิของมนุษย์ ที่พระพุทธองค์ประทานไว้แล้วตั้งแต่ 2,600 ปีก่อน

ทั้งหญิงและชาย ต่างเป็นเวไนยสัตว์ แปลว่า สัตว์ที่สอนได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ไม่มีพื้นที่ที่จะคุยถึงวิทยากรท่านอื่น แต่เพียงการนำร่องของท่านอาจารย์สมฤทธิ์ก็ได้บรรยากาศแล้วล่ะค่ะ

เสวนาคราวหน้าจะไปที่หอประชุมเล็ก มช. เรามีนัดกันตอนบ่ายโมง ท่านผู้อ่านที่อยู่เชียงใหม่ติดตามได้ค่ะ