มองบ้านมองเมือง /ปริญญา ตรีน้อยใส / ย้อนอดีต อีสเทิร์นซีบอร์ด

มองบ้านมองเมือง /ปริญญา ตรีน้อยใส

 

ย้อนอดีต อีสเทิร์นซีบอร์ด

 

คงต้องยอมรับว่า งานประชาสัมพันธ์ แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC ของรัฐบาลประยุทธ์ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ประชาชนต่างตื่นเต้น เจ้าของที่ดินพากันดีใจ บริษัทในและต่างประเทศก็สนใจ

รัฐบาลเลยได้ใจ เพิ่มแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ SEC ภาคเหนือ NEC และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ NEEC ต่อเนื่องเพื่อจะได้อยู่ยาวไปเรื่อยๆ

ยอมรับกันแล้วว่า แผนงานดังกล่าว เป็นการต่อยอดโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด ที่รัฐบาลนายกฯ เปรมริเริ่ม ดำเนินการ และประสบความสำเร็จ ทำให้ชลบุรีวันนี้ มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และความหนาแน่นของประชากรสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ

ในขณะที่รายได้ต่อหัวของระยองก็ติดอันดับ ยังไม่นับจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในนิคมและนอกนิคมอุตสาหกรรม

อีกทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคตะวันออกก็ขยายตัวอย่างสุดๆ

 

แต่โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกนั้น จุดเริ่มนั้นจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ในปี พ.ศ.2516 แม้จะมีปริมาณมากพอเชิงพาณิชย์ แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลก กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปคประกาศลดการผลิตและลดการส่งออก ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

รัฐบาลจึงหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ

อีกทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ที่เกิดขึ้นในกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ

อีกทั้งมีความจำเป็นต้องสร้างท่าเรือน้ำลึก และเตรียมพื้นที่สำหรับคลังสำรอง หอกลั่น และโรงงานต่างๆ ได้แก่ โรงงานโซดาแอช ที่อาศัยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ มาผลิตปุ๋ยสำหรับการเกษตรในประเทศ ที่ต้องการท่าเรือและทางรถไฟ ในการนำเข้าวัตถุดิบ คือแอมโมเนียจากต่างประเทศ และส่งออกผลผลิตไปต่างประเทศ และโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี แอมโมเนียมคลอไรด์ ที่ต้องใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศ และส่งออกเช่นกัน

ยังมีโรงงานผลิตเหล็กพรุน เพื่อทดแทนการนำเข้าเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งต้องอยู่ใกล้ท่าเรือและทางรถไฟ โรงงานผลิตเหล็กแผ่นชนิดรีดร้อนและรีดเย็น เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศ ที่ต้องการพื้นที่มากและอยู่ใกล้ท่าเรือ รวมทั้งพลังงานไฟฟ้าขนาด 400 เมกะวัตต์

รวมทั้งแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พื้นที่กว่า 2,800 ไร่ สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมส่งออกอื่น

 

จากความต้องการทั้งหมด และข้อพิจารณาทางด้านสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะหลุมก๊าซธรรมชาติที่อยู่กลางอ่าวไทย ชายฝั่งทะเลของไทยที่เหมาะกับการสร้างท่าเรือน้ำลึก มีพื้นที่รองรับพอเพียงกับการพัฒนา และทำเลที่ตั้งไม่ไกลจากกรุงเทพฯ คือบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกนั่นเอง

แต่ในเวลานั้น ภูมิภาคตะวันออกมีเพียงทางหลวงแค่หมายเลข 3 (กรุงเทพฯ-ตราด) หมายเลข 34 (บางนา-บางปะกง) หมายเลข 304 (ฉะเชิงเทรา-นครราชสีมา) หมายเลข 36 (บางละมุง-ระยอง) และหมายเลข 331 (สัตหีบ-ทางหลวงหมายเลข 304) ส่วนทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มีเพียงเส้นทางผ่านฉะเชิงเทรา ไปสุดปลายทางที่อรัญประเทศเท่านั้น

สภาพพื้นที่ ก่อนจะเกิดอีสเทิร์นซีบอร์ดนั้น พื้นที่ชลบุรีตอนบนยังเป็นเพียงที่ราบลุ่มปากแม่น้ำบางปะกงในพานทอง และบางส่วนในพนัสนิคม การใช้ที่ดินส่วนใหญ่ยังเป็นนาข้าว จะมีนากุ้งและนาเกลือเฉพาะบริเวณน้ำทะเลท่วมถึง

บริเวณถัดจากที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ขึ้นไปจนถึงพนัสนิคม บ้านบึง และส่วนต่อเนื่องกับระยอง และจันทบุรี ล้วนเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่

พื้นที่ชลบุรีตอนล่าง ยังเป็นที่ราบแคบๆ ระหว่างช่องเขาเตี้ยๆ ที่ขนานไปกับฝั่งทะเล จากชลบุรีตอนบน จนถึงปลายแหลมสัตหีบ บริเวณพื้นที่ศรีราชาและบางละมุงยังเป็นไร่ผสมนาข้าว และไม้ยืนต้น

ส่วนสัตหีบนั้น ส่วนใหญ่เป็นไม้ผลยืนต้นเท่านั้น

พื้นที่ลุ่มแม่น้ำระยอง ยังเป็นที่ราบระหว่างช่องเขาเตี้ย ระหว่างชลบุรีตอนล่างกับลุ่มแม่น้ำระยอง ครอบคลุมพื้นที่เมืองระยอง บ้านนา บ้านค่าย และปลวกแดง ซึ่งในบริเวณดังกล่าว ด้านทิศตะวันตก จะปลูกพืชไร่เป็นหลัก ส่วนทิศตะวันออกและตอนกลางจะปลูกข้าว พืชไร่ และไม้ผลยืนต้น

และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำประแส ยังเป็นที่ราบลุ่มระหว่างแม่น้ำระยองและจันทบุรี บริเวณแกลงและวังจันทร์ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวและไม้ผลยืนต้น ส่วนบริเวณปากแม่น้ำตอนบนปลูกพืชไร่

ผู้อ่านคงนึกไม่ถึงว่า สภาพพื้นที่ภูมิภาคตะวันออก ก่อนการเปลี่ยนจะเป็นเช่นที่ว่ามา