วิช่วลคัลเจอร์ /ประชา สุวีรานนท์/For Beginner : ริอุสและมาร์กซ์ (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

For Beginner

: ริอุสและมาร์กซ์ (จบ)

 

จากการสำรวจผู้ที่โตในเม็กซิโกในช่วงทศวรรษ 1970s-1980s จะบอกว่าได้รับความรู้ทั้งในเรื่องคุณค่าอาหารและการปฏิวัติในนิการากัว จากการ์ตูนของริอุส

ผลงานของเขามีมากมาย ตั้งแต่เรื่องของฮิตเลอร์ เช กูวารา เหมาเจ๋อตุง ไปจนถึงทรอตสกี้

บางเล่มเป็นประวัติศาสตร์เม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา เช่น เรื่องของอเมริกันอินเดียน ซึ่งเล่าตั้งแต่การถูกทรยศโดยคนขาวจนถึงถูกปราบที่วูนเดดนี

บางเล่มเกี่ยวกับศาสนาและปรัชญา เช่น The Myth of the Virgin of Guadalupe, The Mormons และ The Masons ซึ่งแน่นอน มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ความรู้เหล่านี้

บางเล่มเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น La Panza es Primero และ Don’t Consult Your Doctor! เกี่ยวกับการกินผัก, สมุนไพร, การรักษาฟัน, ขนมปังสีขาว, การปลูกถั่วงอก รวมทั้งการบูมของร้านอาหารสุขภาพ บางเล่มเป็น anthology เช่น Kama Nostra, Demons, The Other Rius, The Holy Book of Cartoons และบางเล่มมาจาก Los Supermachos และ Los Agachados

ในบทสัมภาษณ์ของนิตยสาร Comics Journal ริอุสบอกว่าเขาเริ่มอาชีพนักวาดการ์ตูนเพราะเป็นฝ่ายซ้าย และมีความสนใจการ์ตูนจากอเมริกาในฐานะเครื่องมือล้างสมองของสหรัฐ เช่น ได้อ่าน How to Read Donald Duck : Imperialist Ideology in the Disney Comic ของแอเรียล ดอร์ฟแมน และอาร์มานด์ แมตเทลาร์ต ซึ่งพิมพ์ในชิลีสมัยที่ซัลวาดอร์ อัลเยนเด้ เป็นประธานาธิบดี (“คาร์ล บาร์กส์ กับ คาร์ล มาร์กซ์”, มติชนสุดสัปดาห์ 2558)

หนังสือชี้ให้รู้สึกถึงบรรยากาศในละตินอเมริกาช่วงนั้น เช่น ยกย่องให้การ์ตูนมีความสำคัญทางวัฒนธรรม และเสนอว่าบุคลิกต่างๆ ของดิสนีย์ โดยเฉพาะสกรู๊จ แม็กดั๊ก เป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำระบบทุนนิยมและกำลังเผยแพร่อุดมการณ์ที่คุกคามโลกที่สาม

ริอุสเคยยกย่องคิวบาและโซเวียตแต่เลิกไปแล้ว เขาถือว่าตัวเองไม่ใช่มาร์กซิสต์ที่ดีนัก แต่ก็มีความคิดนั้นเป็นรากฐาน ริอุสวิจารณ์ประเทศสังคมนิยม เช่น ใช้การ์ตูนกล่อมเกลาผู้คนในแง่อุดมการณ์ แต่กลับห้ามไม่ให้นักวาดการ์ตูนมีบทบาทในการวิจารณ์สังคม

 

เรื่องของการแปลของ Marx for Beginners ก็น่าสนใจ ริอุสกลายเป็นนักวาดการ์ตูนเม็กซิกันที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลกเพราะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในช่วงต้น เล่มนี้พิมพ์ในนามของสหกรณ์นักเขียนหรือ the Writers and Readers Publishing Cooperative ของอังกฤษ ซึ่งก่อตั้งโดยเกลน ทอมป์สัน และเพื่อนๆ อีกหลายคน

เล่มแรกๆ คือ Marx, Lenin, Freud และ Einstein นั้นขายดีและถูกแปลต่อไปอีกเกือบยี่สิบภาษา สำนักพิมพ์ถือว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของชุดความรู้ และเพิ่มหัวข้อเกี่ยวกับสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ปรัชญา ศิลปะ และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งผู้หญิง คนดำ โลกที่สาม

ริชาร์ด แอพิงเนสสี เป็นบรรณาธิการแปลและผู้เขียนประวัติเลนิน ยกย่องให้ริอุสเป็นผู้ชี้ทิศนำทาง นอกจากนั้น หนังสือชุดนี้ยังเป็นเวทีให้นักวิชาการชื่อดังอีกมากมาย เช่น ตาริก อาลี เขียน Trotsky for Beginners ต่อมา สำนักพิมพ์แพนเทออนของแรนดอมเฮาส์ของสหรัฐได้จัดพิมพ์และสร้างจุดเด่นของหนังสือ คือใช้กระดาษปกสีนํ้าตาล

สหกรณ์นักเขียนล้มไปในปี พ.ศ.2527 หนังสือชุดนี้จึงหายไปนาน แต่ก็กลับมาอีกโดยสำนักพิมพ์ Icon Books และตั้งชื่อว่า Introducing โดยขยายชุดให้ใหญ่ขึ้นอีกกว่าร้อยเล่ม บางเล่มถูกแปลเป็นไทยโดย ?I?ntroducingbooks Thailand เช่น Postmodernism, Liguistics, Semiotics, Nietzsche และอื่นๆ อีกมากมาย

 

ในแง่หนึ่ง For Beginners คล้ายกับหนังสือปรับปรุงตนเอง หรือ self-help books เช่นชุด For Dummies, Idiot Guides to DOS และ Bluffer’s Guide ซึ่งมีวางขายตามร้านหนังสือทั่วไป และถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของหนังสือแนวนี้

อย่างน้อยก็ในการตั้งชื่อ เพราะทุกคนรู้กันว่าคำว่า ‘ผู้เริ่มเรียน’ ‘คนปัญญาอ่อน’ หรือ ‘นักบลั๊ฟฟ์’ เป็นเพียงชื่อที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้ซื้อ แต่เนื้อหานั้นมีประโยชน์

หลายเล่มเขียนได้ดีและอ่านง่าย ยกตัวอย่างเช่น Idiot Guides to DOS หรือ Knitting For Dummies เป็นเสมือนสมุดจดโน้ต ที่ทำให้ผู้อ่านเตรียมตัวก่อนสอบหรือเอาไปใช้ทำงานได้จริง เพราะมีการแยกแยะขั้นตอนต่างๆ อย่างเป็นระบบกว่าหนังสือทั่วไป

For Beginners ไม่ได้ซ้ายเกินไป ริอุสบอกว่าเคยมีการสำรวจตลาดและพบว่าผู้อ่านงานของเขาส่วนมากเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และเป็นปรากฏการณ์ที่เหมือนกันทั่วโลก นอกจากเป็นที่นิยมของฝ่ายซ้าย หนังสือสำหรับผู้เริ่มเรียนยังขายดีเพราะช่วยในการสอบ

ในปัจจุบัน ตรงข้ามกับหนังสือเล่มหนาๆ รูปแบบนี้ รวมทั้งภูมิปัญญาแบบวิกิพีเดียหรือกูเกิล มีความสำคัญมากขึ้น และยิ่งพูดกันมากขึ้นว่าระบบการศึกษากำลังล้มเหลว ก็ยิ่งทำให้กลายเป็นรูปแบบที่จำเป็นมากขึ้น

ที่น่าสังเกตคือ ในเมืองไทยเชื่อกันว่าชื่อแบบนี้ไม่ ‘ขาย’ หนังสือจะขายได้ต้องตั้งชื่อที่น่าเชื่อถือและทำรูปเล่มที่เคร่งขรึม

 

ในวาระการตายของริอุสในปี พ.ศ.2560 รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของเม็กซิโกบอกว่า “การตายของเขาเป็นจุดสิ้นสุดอันหนึ่งของการ์ตูนการเมืองของประเทศนี้” ส่วน The NewYork Times ก็พูดถึงประวัติและผลงานของเขา เช่น Los Presidentes Dan Pena (“The Pitiful Presidents”) ซึ่งเป็นเรื่องของเม็กซิโกและปัญหาในยุคใหม่

มาร์กซ์มีชื่อเสียงว่ายากเกินเข้าใจ อีกทั้งถูกยกย่องจนเลยเถิดไปมาก Marx for Beginners เปลี่ยนความรู้สึกนั้น แม้หนังสือจะไม่ลึก แต่ด้วยสปิริตในการทำเรื่องยากให้ง่าย จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจนักปรัชญาผู้นี้มากขึ้น

ในฐานะนักเขียนการ์ตูนผู้มีผลงานมากและมีอิทธิพลสูง ริอุสเคยบอกว่า “นักปรัชญานั้นซีเรียสเกินไป ตรงกันข้าม อารมณ์ขันจะทำให้คนหัวเราะ เราจึงเป็นที่อิจฉาของนักปรัชญาและนักวิชาการ เหมือนกับที่นักวาดการ์ตูนล้อเป็นที่อิจฉาของจิตรกร”