รู้จักคำว่า “กิ๋นแหนง” ในภาษาล้านนา ที่หมายถึงว่า “เสียดายในสิ่งที่ทำ”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “กิ๋นแหนง”

“กิ๋นแหนง” ตามพจนานุกรมล้านนา-ไทยฉบับแม่ฟ้าหลวง แปลว่า เสียดายในสิ่งที่ทำ เสียดายในสิ่งที่ไม่น่าทำ และไม่ได้ทำในสิ่งที่น่าจะทำ

จะเห็นว่า “กิ๋นแหนง” ในภาษาล้านนามีความหมายไม่เหมือนกับคำว่า “กินแหนง” ในภาษากลางซึ่งแปลว่าแคลงใจ หรือแหนงใจกัน และส่วนมากสำนวนของภาษาไทยกลางมักจะใช้ว่า “กินแหนงแคลงใจ” ควบไปพร้อมกัน

ยกตัวอย่าง ความเสียดาย หรือ กิ๋นแหนง ในภาษาล้านนาที่มักจะคุ้นเคยกันดี เช่น “หนานกิ๋นแหนง”

หนานคือ “ทิด” หรือพระที่สึกออกมาครองเรือน

คำว่า “หนานกิ๋นแหนง”

ในความหมายหนึ่งคือ ทิดที่สึกออกมาเป็นฆราวาส แล้วรู้สึกว่ามีความสุขกว่า สนุกกว่า ชีวิตมีรสชาติกว่าขณะครองเพศเป็นบรรพชิต

ยิ่งมีเมียออกเรือนแต่งงานแต่งการไป ทำให้เติมเต็มในชีวิตยิ่งกว่า

ความรู้สึกเช่นนี้คือความรู้สึกกิ๋นแหนง “กิ๋นแหนง” ในฐานะที่บวชมานาน รู้งี้ก็จะสึกออกมาก่อนหน้าแล้ว

ในความหมายนี้คือ เสียดายในสิ่งที่ทำ ที่บวช

ในอีกความหมายหนึ่งคือ ทิดที่สึกออกมามีเมีย คราวนี้ต้องมีภาระรับผิดชอบ ทั้งการงาน ทั้งการเงิน เดี๋ยวเมียป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล เดี๋ยวลูกจะเอาค่าเทอม ลูกอีกคนจะเอาเงินไปซื้อมอเตอร์ไซค์ ทำให้ชีวิตในการครองเรือนวุ่นวายยุ่งเหยิง เศรษฐกิจครอบครัวชักหน้าไม่ถึงหลัง หาความสงบในใจไม่ได้

เมื่อเทียบกับการเป็นบรรพชิตแล้ว สมัยนั้นกลับมีความสุขกว่า แบบนี้ก็ทำให้ “หนานกินแหนง” ในอีกแบบหนึ่ง

คือ รู้งี้ไม่น่าสึกออกมาเลย หาเรื่องแท้ๆ ในความหมายหลัง เท่ากับ เสียดายในสิ่งที่ไม่น่าทำ ที่สึก

ถ้อยคำสำนวนล้านนา เรื่องของความ “กิ๋นแหนง” มีพูดกันในลักษณะคำผวนว่า “กิ๋นหนุนเมื่อแลง” เพื่อเรียกร้องความสนใจ ได้ความสะใจ เจือด้วยอารมณ์ขัน ย้ำความเป็นข้อเตือนใจ

เนื่องจาก กิ๋นหนุนเมื่อแลง ฟังผ่านๆ คล้ายกับว่า คนโบราณไม่อยากให้กินแกงขนุนตอนเย็น

ที่ไหนได้ คำว่า “กิ๋นหนุนเมื่อแลง” ผวนออกมาเป็น “กิ๋นแหนงเมื่อลูน” แปลได้ว่า แล้วจะเสียใจในภายหลัง หรือ อีกหน่อยเถอะจะผิดหวังเมื่อเวลาผ่านไป

นับเป็นคำผวนยอดนิยมที่ผู้ใหญ่เอาไว้เตือนคนรุ่นใหม่ให้คิดให้ดีก่อนจะทำอะไรลงไป