คำว่า “เพื่อน” มีกี่ความหมาย ? แล้วเราได้ใช้กันถูกต้องแล้วหรือไม่ ?

แล้วเราก็เป็นเพื่อนกัน

ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ คำว่า เพื่อน มีความหมาย ๒ อย่าง คือ

เพื่อน ๑ น. ผู้ชอบพอรักใคร่กัน, ผู้สนิทสนมคุ้นเคยกัน, เช่น เขามีเพื่อนมาก, ผู้ร่วมสถาบันหรือร่วมอาชีพเป็นต้น เช่น เพื่อนร่วมโรงเรียน เพื่อนร่วมรุ่น เพื่อนข้าราชการ เพื่อนกรรมกร, ผู้ร่วมธุระ เช่น อยู่เป็นเพื่อนกันก่อน ไปเป็นเพื่อนกันหน่อย, ผู้อยู่ในสภาพเดียวกัน เช่น เพื่อนมนษุย์ เพื่อนร่วมโลก.

เพื่อน ๒ (ปาก) ส. คําใช้แทนคําว่า เขา หรือ ท่าน ในอาการที่เป็นกันเอง.

ส่วน Cambridge Advanced Learner”s Dictionary ให้ความหมายของคำว่า friend ไว้ว่า

friend noun [c] PERSON YOU LIKE

1. E a person who you know well and who you like a lot, but who is usually not a member of your family.

2. someone who is not an enemy and who you can trust.

friend noun [c] PERSON GIVING MONEY

3. someone who gives money to a theatre, other arts organization or charity in order to support it.

นั่นคือ friend มีความหมายแก่น (E = essential) ว่า “บุคคลที่คุณชอบ” ส่วนความหมายรองคือ “ผู้ให้เงิน” หรือ “ผู้อุปถัมภ์” ดังคำอธิบายในข้อ ๑ ถึง ๓ ที่ว่า

๑. บุคคลที่คุณรู้จักดีและคุณชอบเป็นอันมาก แต่โดยปรกติจะไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว

๒. คนที่ไม่ใช่ศัตรูและคนที่คุณไว้ใจได้

๓. คนที่ให้บริจาคเงินอุปถัมภ์โรงมหรสพ องค์การด้านศิลปะหรือการกุศล

คําว่า เพื่อน กับ friend จึงน่าจะมีความหมายแก่นที่ตรงกัน ดังข้อความที่ปรากฏในพจนานุกรม อังกฤษ-ไทย หลายฉบับที่ให้ความหมายไว้ว่า friend หมายถึง “เพื่อน มิตร สหาย พวกพ้อง ผู้ให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือ” และสิ่งที่น่าจะเหมือนกันก็คือ “เพื่อนเป็นสิ่งมีชีวิต” เช่น เพื่อนเกลอ เพื่อนคู่ทุกข์คู่ยาก เพื่อนคู่หู เพื่อนเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าสาว เพื่อนต่างเพศ เพื่อนตาย เพื่อนบ้าน เพื่อนฝูง เพื่อนยาก เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ เพื่อนเล่น

หากพิเคราะห์ดูตามความหมายข้างต้นนี้ ทั้ง เพื่อน และ friend น่าจะหมายถึงมนุษย์ แต่เราก็เปรียบเทียบสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ให้เป็นเพื่อนกับเราได้ เช่น “ช้างเพื่อนแก้ว” “หมีเพื่อนยาก” “หมาเพื่อนยาก” ต่อมาก็ขยายไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์และสัตว์ เช่น “ต้นไม้เพื่อนยาก”

แล้วก็มาถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่การเชื่อมโยงต่อกันต้องมีการ “เพิ่มเพื่อน” หรือ “ขอเป็นเพื่อน” จึงจะอยู่ในกลุ่มเดียวกันได้ คราวนี้พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา รวมทั้งครูบาอาจารย์ ก็ต้องเป็น “เพื่อน” กับ “ลูกหลาน” หรือ “ผู้มีอาวุโสน้อยกว่า” นอกจากมนุษย์จะขอเป็นเพื่อนกันแล้ว หน่วยงานหรือผู้ประกอบการธุรกิจก็ขอให้มนุษย์สมัครเป็นเพื่อนด้วย

เป็นเพื่อนกันอยู่ดีๆ บางวันก็มีการ “ลบเพื่อน” หรือ “ซ่อนรายชื่อเพื่อน” ก็ได้

ในที่สุดก็มาถึงยุคอินเทอร์เน็ตประสานสรรพสิ่ง (Internet of things) ซึ่งเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าหากัน เราก็อาจจะต้องกลายเป็น “เพื่อน” กับรถยนต์ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ฯลฯ จนถึงที่สุดเราอาจจะต้องกลายเป็นเพื่อนกับ “บ้าน” ของเราเอง

คำจำกัดความในพจนานุกรมจึงต้องปรับปรุงต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด