กาละแมร์ พัชรศรี : สติ ปัญญา

เพิ่งรู้ว่า “สติ” สำคัญกับเราขนาดไหน ก็เมื่อได้มารู้จักการปฏิบัติธรรมนี่แหละค่ะ

พอเริ่มรู้ก็ยิ่งขนลุกว่า แล้วเราใช้ชีวิตที่ผ่านมาแบบ “ไม่มีสติ” มาโดยตลอดได้อย่างไรเนี่ย

แล้วพอได้นึกย้อนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งสุขเศร้าเคล้าน้ำตา โมโหโกรธาอย่างบ้าคลั่ง เราทำมันอย่างไร้สติ ไม่รู้ตัว ไม่มีอะไรมาเตือน ไม่เบรก ไม่หยุด ไม่ยั้งอะไรเลย เราทำอย่างนั้นไปได้ยังไง (วะ)

ไม่ใช่ว่าตอนนี้ทำได้ทุกครั้งหรอกนะคะ เพียงแต่มันก็พอรู้บ้างในบางที เบาบ้างในบางครั้ง หยุดได้ ยอมเป็น ปล่อยผ่านได้ในบางที ซึ่งพอทำได้ เฮ้ย มันก็ดีเหมือนกันนะ

แล้วเมื่อก่อนที่เรามีข้อสงสัยว่า เวลาเราปฏิบัติธรรมแล้วมันได้อะไร

คราวนี้เราเริ่มพอเข้าใจแล้วว่า การนั่งหลับตา หรือเดินช้าๆ นั้น มันช่วยให้เรา “รู้” เท่าทันตัวเองมากขึ้น

เพียงแต่เราต้อง “ฝึก” มันเท่านั้น

เพราะถ้าไม่ฝึกเลย ไม่เคยทำเลย เวลาเจอเหตุการณ์จริง เราก็ทำมันไม่เป็น เราก็จะไม่มีสติอย่างที่เคยเป็นมา

คล้ายกับนักกีฬาก็ต้องฝึกซ้อม ต้องเตรียมร่างกาย เวลาลงสนามจริงมันจะเข้าเนื้อ ชินมือ ชินเท้า รู้จังหวะ รู้สเต็ป

แต่ถ้าไม่ฝึกซ้อมมาเลย ลงสนามก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน

 

ของเหล่านี้เข้าใจแล้วว่ามันต้องฝึกบ่อยๆ เพราะเราก็ไม่รู้หรอกว่า วันไหนเราจะเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ หรือเกิดปัญญาขึ้นมา บางทีเคยฟังเรื่องนี้มาแล้ว แต่ตอนนั้นไม่เข้าใจ เหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แต่พอวันนี้พอเราได้ลงมือปฏิบัติ เราลงมือทำ พอฟังเรื่องเดิม เรากลับเข้าใจมากขึ้น เพราะเราเห็นภาพมันแล้วนั่นเอง

หลักใหญ่ใจความของการลงมือปฏิบัติคือ “การรู้” เมื่อรู้มันจะปล่อย เมื่อรู้มันจะหาย เมื่อรู้มันจะคลาย และเมื่อรู้เราจะเลือกได้ว่า เราจะเลือกวิธีแอ๊กชั่นอย่างไรกับเหตุการณ์ที่อยู่ข้างหน้า

พอเรารู้ว่า จิตมันจับได้ความรู้สึกเดียว เช่น เมื่อเราโกรธแล้วเรารู้ว่าเราโกรธอยู่ มันจะหายไปชั่วขณะ ให้เราได้รู้ตัวว่า “เฮ้ย โกรธอยู่นะตอนนี้” แล้วเราจะเอาไงต่อ รีแอ๊กกลับไปแบบไหนดี หรือพอเกิดความรู้สึก “เศร้าเหงาหงอย” ขึ้นมา แล้วเรารู้ตัว “เฮ้ย เศร้านี่นา” มันจะโดน pause ความเศร้าไปชั่วครู่ คราวนี้เราใช้ปัญญาคิดต่อเลยว่า เศร้าทำไม เบื่ออะไร หงอยทำไม แต่ความเศร้ามันได้หยุดไปแล้ว มันไม่เป็นสายธารแห่งความเศร้าที่ไหลบ่าแบบต่อเนื่อง

คราวนี้ก็ขึ้นอยู่ว่า ปัญญาที่เรามีจะหาทางออกกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร

ใครกันนะเป็นคนคิดคำว่า “สติ ปัญญา”

มันช่างสอดคล้องและเป็นพี่น้องคลานตามกันมาอย่างแยกไม่ออกจริงๆ

แต่ถ้าตอนนั้นปัญญาเราอาจจะยังไม่มี เราไม่เคยเรียนรู้เรื่องนี้มาก่อน ทั้งจากการอ่าน การฟัง การดู การเรียนรู้ทั้งจากตนเองและผู้อื่น เราจะทำอย่างไร

“ปล่อย” นั่นคือคำตอบ

เพราะเวลาเราทุกข์ เราจะยึดมันไว้อย่างแน่นเหนียวว่าต้องเป็นไปอย่างใจเรา ของของเรา ชื่อเสียงของเรา เงินทองของเรา ตัวของเรา นี่เราเป็นใครรู้ไหม แต่พอเรา “ยึด” มันไว้ พอมันมีอะไรมากระทบและทำให้ไม่เป็นอย่างที่เราต้องการ เรา (แมร่ง) “ทุกข์” ทันที

แต่ถ้าเรามี “สติ” ปุ๊บ รู้ว่านี่เราทุกข์อยู่ใช่ไหม เพราะเรื่องนี้ใช่ไหม

“ปล่อย” มันไหม พอปล่อยมันเบาเลย เพราะสิ่งที่เราทุกข์มันไม่มีแก่นสารใดที่จะยึดไว้ได้เลย เพราะทุกอย่างที่เกิดมันย่อมมีดับ เออว่ะ แล้วเราจะยึดในสิ่งที่ยังไงมันก็ต้องไม่มีไว้ได้อย่างไร

ปล่อยก่อน สบายกว่า คล้ายสโลแกนธนาคาร รู้ก่อน รวยกว่า

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ของแบบนี้ “มันต้องฝึก” ยิ่งถ้าไม่เคยจะมีของเดิมที่เคยทำมา ก็ต้องฝึกให้มาก ช่วงไหนมีวินัยตื่นเช้ามานั่งสมาธิ นี่ก็จะดีเลย

พอช่วงไหนวินัยหย่อน เราก็เริ่มรู้ตัวเองแล้วว่าฟุ้งซ่านเยอะแล้วนะ บางคนอาจจะถามว่า เอ้า! ทีเมื่อก่อนไม่เห็นเป็น

อ๋อ เมื่อก่อนก็เป็น แต่มันไม่รู้ คิดว่าเป็นเรื่องปกติ ก็ปล่อยให้มันเป็นไป ไหลไปเรื่อยๆ ให้อารมณ์มันขับเคลื่อนเราไป

บอกแล้วว่ายังมีเรื่องที่ต้องทำอีกเยอะ ใครบ่นเหงา เศร้า ซึม เบื่อๆ ชีวิต แค่ลองฝึกสติในระหว่างวัน โคตรมันอ่ะค่ะคุณ แล้วจะรู้ว่า ตัวเองมันฟุ้งซ่าน คิดบ้าบอคอแตกอะไรขนาดนั้น

พอ “รู้” แล้วมันก็ “จบ” ค่ะ