อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ / การต่างประเทศไทยปี 2562 : จีน

ไทยกับจีนไม่ใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกันมานานตั้งแต่โบราณกาล

นี่เป็นคำพูดติดปากและแนวคิดที่ฝังแน่นคนไทยมานาน

หากมองทางด้านการต่างประเทศที่เป็นทางการไทย-จีน ความสัมพันธ์ทางการทูตของทางการทูตไทย-สหรัฐอเมริกา ปีนี้ครบรอบ 200 ปี แต่ความยาวนานของความสัมพันธ์ไม่ค่อยสำคัญเท่าเนื้อหาและบริบทของความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ดูเหมือนว่า จีนมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อไทย (และกับประเทศอื่นๆ) ที่ลึกและเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมองได้หลายแง่มุม

ดังที่จะกล่าวต่อไป

 

ไทย-จีน : ความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ

นอกจากความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1975 ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นทางการระหว่างภาครัฐไทย-จีนมีมากและสำคัญหลายอัน

เช่น ข้อตกลงทางการค้า 31 มีนาคม 1978 พิธีสารว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-จีน 9 พฤศจิกายน 1978 ความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน 13 ธันวาคม 1985

ส่วนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจภาคเอกชน มีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจและสภาธุรกิจจีน-ไทย 28 สิงหาคม 2001 เป็นต้น

ความสัมพันธ์ที่เป็นทางการนี้ช่วยอำนวยให้เกิดการค้า การลงทุนระหว่างไทยกับจีน โดยจีนเป็นทั้งตลาดขนาดใหญ่ของไทยและอาเซียน

อย่างไรก็ตาม พลวัตและความเปลี่ยนแปลงของทั้งสองประเทศในระยะหลังนี้มีมากมาย

 

จุดเปลี่ยน

จุดเปลี่ยนที่มาจากจีนกล่าวโดยง่ายและอย่างสรุปคือ การผงาดขึ้นของจีนพร้อมกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน

ถ้ามองจากไทยคือ นโยบายมุ่งใต้ (go south) ของจีนที่เพิ่มบทบาทความสำคัญของมณฑลยูนนานสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและมณฑลกวางสีที่เชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียน

จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ (economic zone) ตอนใต้ของจีนมายังอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและไทยเห็นรูปธรรมของการไหลลื่น (flow) ของสินค้าและบริการของจีนและการเคลื่อนย้าย (migrant) ผู้คนของจีนมาสู่ภูมิภาคนี้ โดยมีก่อสร้างเส้นทาง R 3 A จากเมืองคุนหมิง จีน ห้วยทรายและต้นผึ้ง สปป.ลาวเข้าสู่เมืองเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นเส้นทางการคมนาคมสำคัญ

สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่สำหรับจีน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและไทยคือ Lancang Mekong Cooperation-LMC ที่น่าสนใจในประเด็นแรกคือ LMC เป็นความร่วมมือภูมิภาคที่ริเริ่มจากทางการไทย

แต่ทางการจีนได้ตอบสนองและผลักดันโดยเร็วโดยการจัดประชุมนานาชาติที่กรุงปักกิ่ง จีน และพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

ในเวลาต่อมา LMC ดูเหมือนมีนโยบาย Green economy เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอันเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ปรากฏใน Sustainable Development Goal-SDG ขององค์การสหประชาชาติ แต่กลับเกี่ยวโดยตรงกับเรื่องสำคัญของลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ระดับน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงที่ประเทศต้นน้ำคือจีน กับประเทศปลายน้ำคือ สปป.ลาว ไทย ราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม คิดเห็นแตกต่างกันและขัดแย้งกันในเรื่องการจัดการน้ำ

โดยมีแนวโน้มว่า LMC จะเป็นเครื่องมือทางการทูตและเสริมสร้างสมรรถนะทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีนผ่านลุ่มแม่น้ำโขง

สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กัน แต่ใหญ่กว่ามากคือ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (Thai-China Hi Speed Railway-TCSR) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road-OBOR ของจีนที่เส้นทาง 3 สายหลักคือ ยุโรป เอเชียกลางและอินโดจีน โดยไทยเป็น “ข้อต่อ” สำคัญของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

ถ้ามองในแง่นี้ ความสัมพันธ์ไทย-จีนที่พัฒนามายาวนาน เป็นพี่เป็นน้อง เป็นตลาดใหญ่ เป็นนักลงทุนและนักท่องเที่ยวสำคัญของไทย กลายเป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบปกติ

ทว่าความสัมพันธ์ใหม่ด้วยการสถาปนาการทูตรถไฟจีน (China”s Railway Diplomacy-CRD) จากคุนหมิงสู่บ่อหาน บ่อเต็น เวียงจันทน์ สปป.ลาว เข้าสู่หนองคาย นครราชสีมา กรุงเทพฯ ประเทศไทย กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียและสิงคโปร์

CRD อันสถาปนาขึ้นในหลายแห่งในโลกทั้งยุโรป เอเชียกลาง บางประเทศในแอฟริกา นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการทูต เศรษฐกิจและข้ามพรมแดนที่อาจถูกใช้เพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีนได้ในอนาคต

เหมือนที่เกิดขึ้นในกรณีหนี้สินของมาเลเซีย หนี้สินของศรีลังกาและปัญหาหมู่เกาะทะเลจีนใต้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

อนาคต

CRD เป็นโครงสร้างพื้นฐานของหลายๆ อย่างของจีนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของจีน การกดดันและเร่งรีบสถาปนา CRD ขึ้นมาในหลายเส้นทางในหลายประเทศ พร้อมกับการขายหัวรถจักร การลงทุนก่อสร้างรางและระบบราง เงินกู้ที่ต้องเสียดอกเบี้ย สิทธิประโยชน์ของที่ดินตามทางรถไฟ

ดังนั้น CRD จึงทำให้ไทยคิดแต่การต่างประเทศของไทยในปี 2562 ไม่ได้ แต่ต้องคิดลึก มองยาว มองเป็นภูมิภาค หลายปัจจัย หลายผู้เล่น

ข้อสำคัญต้องมองให้ออกและมองให้เป็น

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่