รายงานพิเศษ : คุยกับทูต ไฆเม นัวลาร์ต เม็กซิโก ประตูการค้าไทยสู่ภูมิภาคอเมริกา (3)

แม้ว่าตัวเลขการค้าที่เกิดขึ้นจริงระหว่างไทยและเม็กซิโกดูเหมือนจะยังไม่สูงมากนัก

แต่ทั้งสองประเทศได้ร่วมกันทำงานอย่างมีศักยภาพ

โดยได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี และประเทศไทยยังต้องหาช่องทางเพิ่มการเชื่อมโยงการค้ากับเม็กซิโก เพื่อสร้างโอกาสมากขึ้นในการเชื่อมต่อภาคการผลิตและการตลาด

เพราะเม็กซิโกถูกมองว่าเป็นประตูสู่ตลาดในทวีปอเมริกาทั้งอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ รวมถึงหมู่เกาะแคริบเบียนและเกาะกรีนแลนด์

กลุ่มประเทศละตินอเมริกาประกอบด้วยประเทศต่างๆ ในอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้ คือ ตั้งแต่เม็กซิโกจนถึงชิลี เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ เศรษฐกิจกำลังขยายตัว ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่และตลาดใหม่สำหรับประเทศไทยและอาเซียน

พร้อมกันนี้ไทยอาจกลายเป็นประตูให้เม็กซิโกเข้าสู่ตลาดอาเซียน จีน อินเดีย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียได้มากขึ้นเช่นกัน

ที่สำคัญคือ ต่างฝ่ายต่างมองว่าเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจของกันและกัน

thumbnail_%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%97%e0%b8%b9%e0%b8%95%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b9%87%e0%b8%81%e0%b8%8b%e0%b8%b4%e0%b9%82%e0%b8%81

เอกอัครราชทูต ไฆเม นัวลาร์ต เล่าถึงบทบาทของพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance)

“ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีนี้จะขยายไปในด้านต่างๆ กันทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและในภาคองค์กรเอกชน เราให้ความสนใจต่อความสัมพันธ์กับอาเซียน (ASEAN) เป็นอย่างมาก และผมต้องบอกว่า เรารู้สึกขอบคุณประเทศไทยเป็นที่สุด เพราะว่าประเทศไทยทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างอาเซียน (ASEAN) และพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) คือ เม็กซิโก ชิลี โคลอมเบีย และเปรู ซึ่งเปิดตลาดเสรีเต็มรูปแบบระหว่างประเทศสมาชิก โดยยกเลิกอากรขาเข้าและข้อกีดกันทางการค้า อันเป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่คล้ายกัน ไทยมีอาเซียน (ASEAN) เรามีพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2013 เพื่อสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง”

มหาสมุทรแปซิฟิกไม่ใช่กำแพง แต่เป็นสะพานสำหรับความร่วมมือระหว่างกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกและอาเซียน ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่เป็นไปในทางเดียวกัน และถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก โดยทั้ง 2 ภูมิภาค มีขนาดจีดีพี (GDP) ใกล้เคียงกัน กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกมี 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ และอาเซียน 2.57 ล้านล้านดอลลาร์

แนวคิดแบบ “หันหน้าสู่เอเชีย” ของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก เป็นผลมาจากความต้องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในระดับภูมิภาค บนพื้นฐานของการส่งเสริมการค้าที่เปิดกว้าง โดยปัจจุบัน ไทยเป็น 1 ใน 35 ประเทศผู้สังเกตการณ์ของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก รวมกับชาติมหาอำนาจหลายประเทศ เช่น สหรัฐและอียู

“พันธมิตรแปซิฟิก คือ 4 ประเทศดังกล่าว ที่มีจีดีพีรวมแล้วเท่ากับครึ่งหนึ่งของจีดีพีทั้งหมดของละตินอเมริกา พันธมิตรแปซิฟิกก่อตั้งขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้วโดยเราได้กำจัดอุปสรรคทางการค้าและทางพรมแดน ดังนั้น เราจึงไม่มีปัญหาในการขอวีซ่าเพื่อการเดินทางในระหว่างสี่ประเทศนี้”

“มีโปรแกรมเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษา มีความร่วมมือทางวัฒนธรรม มีการจัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การขยายการค้าไม่เพียงแต่ภายในกลุ่มประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกเช่น ประเทศในกลุ่มอาเซียน ดังนั้น ประเทศไทยจึงเป็นผู้ประสานการเจรจาระหว่างอาเซียนและพันธมิตรแปซิฟิก”

“ซึ่งในปีนี้ ประเทศชิลีได้เป็นตัวแทนของประเทศเม็กซิโก เหล่านี้เป็นการอธิบายพอสังเขปถึงความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเม็กซิโก”

 

แม้จะมีภาระหน้าที่มากมายหลังจากมาประจำประเทศไทยได้ไม่ถึงครึ่งปี แต่ตลอดเวลาแห่งการสนทนาเรื่องเหล่านี้ ทูตนัวลาร์ต มีแววตาเป็นประกาย สีหน้าเบิกบาน บ่งบอกถึงความสุขในงานที่ได้ปฏิบัติ

“จะเห็นได้ว่า ผมกำลังดำเนินงานในระหว่างสามด้านด้วยกัน เริ่มจาก วัตถุประสงค์ทางการทูต พันธกิจของสถานทูต และความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี สำหรับวัตถุประสงค์หลักทางการทูตของเรา เห็นได้ชัดว่า มีความใกล้ชิดกับประเทศไทย เห็นได้ชัดว่ามีการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคี เสริมสร้างบริบทระหว่างนักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์และศิลปิน อันเป็นสิ่งที่เราต้องการเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต”

“ฉะนั้น พันธกิจของเรา คือการพบปะผู้เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ในระดับทวิภาคี ซึ่งหมายถึงนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ผู้เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินทุน นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน ตลอดจนบุคคลที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในสังคม เพราะความสัมพันธ์ทางการทูตไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของสถานทูตเท่านั้น หากเป็นเรื่องของการทูตระหว่างบุคคลต่อบุคคลด้วย”

“เรื่องที่เราให้ความสนใจและมุ่งเน้นมาก คือความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ ดังเช่น คุณภาพของอากาศที่เราหายใจ น้ำที่เราดื่ม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร ที่นับว่ามีความสำคัญยิ่ง”

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization – FAO) ให้คำนิยามคำว่า ความมั่นคงทางอาหาร จะเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงอาหาร หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจที่จะเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา

โดยอาหารดังกล่าวมีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัย และมีปริมาณที่เพียงพอในการตอบสนองต่อความต้องการด้านโภชนาการและความนิยมในการบริโภค เพื่อการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพแข็งแรง และกระปรี้กระเปร่า

ความมั่นคงด้านอาหาร ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ

มีอาหารเพียงพอ มีปริมาณอาหารที่มีคุณภาพที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ

มีการเข้าถึงอาหาร บุคคลสามารถเข้าถึงทรัพยากรและมีสิทธิที่จะได้อาหารอย่างเหมาะสม

ตามความจำเป็นด้านโภชนาการ

มีการใช้ประโยชน์อาหาร บทบาทของอาหารที่มีต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยการได้ปริมาณอาหารที่เพียงพอ มีน้ำสะอาดในการบริโภค-อุปโภค มีสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพที่ดี

อาหารมีสม่ำเสมอ ประชาชนโดยรวม ครอบครัว และปัจเจกบุคคลสามารถเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอตลอดเวลา

“ดังนั้น เราจึงต้องมีการปรับปรุงพัฒนาทางการเกษตร ปศุสัตว์ อุตสาหกรรมการประมง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของประเทศไทยและเม็กซิโก”

“ปัจจุบันไทยและเม็กซิโกดำเนินงานร่วมกันทางวิทยาศาสตร์คือ ด้านสุขภาพที่เกี่ยวพันกับผู้สูงอายุ และสุขภาพที่เกี่ยวพันกับโรคอ้วน ซึ่งในเม็กซิโกมีปัญหาเกี่ยวกับโรคอ้วนในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่”

 

“ในขณะเดียวกัน ด้านวัฒนธรรม ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เราได้จัดนิทรรศการศิลปะ “ร้อยใยนครา” โดยประติมากรชื่อ ปาโลมา ตอร์เรส (Paloma Torres) ชาวเม็กซิกัน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art And Culture Centre) เป็นงานแสดงประติมากรรมและผลงานที่สร้างจากวัสดุและเทคนิคหลากหลาย ตัวอย่างเช่น ผลงานที่สร้างจากไม้ เหล็ก รวมถึงสิ่งทอ โดยผลงานชิ้นต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นนิทรรศการครั้งนี้นั้น ศิลปินได้รังสรรค์ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศเม็กซิโก”

“โครงการต่อมาที่น่าตื่นเต้นมาก จะจัดแสดงที่สวนลุมพินี ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นนิทรรศการทางด้านศิลปะที่สอดคล้องกับสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ เพราะว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองของเทวดานางฟ้า (Krung Thep – City of Angels) งานศิลปะที่เราจะนำมาแสดงนี้ เป็นรูปแกะสลัก (sculpture) ของปีกคู่สีบรอนซ์ขนาดใหญ่โดยศิลปินชาวเม็กซิกันชื่อ Jorge Mar?n ผู้ที่มาชมก็มักจะถ่ายภาพกับปีกคู่สีบรอนซ์ขนาดใหญ่นี้ให้ดูประหนึ่งว่า เป็นเทวดานางฟ้า”

“งานแสดงนี้ได้จัดขึ้นที่ฮ่องกง สิงคโปร์ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และกำลังจะมาจัดที่เมืองไทย นอกจากนี้ เราจะนำภาพยนตร์เม็กซิกันร่วมสมัยมาร่วมในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ กรุงเทพฯ (Bangkok International Film Festival) ด้วย”

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ เป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เริ่มจัดเมื่อปี ค.ศ.2002 มีกิจกรรมที่ดำเนินการต่อเนื่องทุกปี เป็นการต่อยอดทางด้านวิชาการให้แก่นักศึกษา บุคลากรในวงการตลอดจนผู้สนใจได้รับรู้ข้อมูล เทคนิคอันจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

การจัดฉายภาพยนตร์ที่เป็นสุดยอดของเทศกาลภาพยนตร์ในเมืองไทย โดยมีการรวบรวมภาพยนตร์ที่ค่อนข้างหาชมได้ยากจากนานาประเทศ

 

นี่คือส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีและความร่วมมือด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและเม็กซิโก ทั้งด้านการค้า การลงทุน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ความสัมพันธ์ในระดับประชาชน วัฒนธรรม ความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข

รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก

เพื่อผลักดันให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง