วิกฤติศตวรรษที่21 : ผ่า! “ระบอบปูติน” – หลักการและความสำเร็จทางการเมือง

วิกฤติประชาธิปไตย (28)

ระบอบปูติน : หลักการและความสำเร็จทางการเมือง

ระบอบปูตินเป็นระบอบปกครองของรัสเซียใหม่ พัฒนาขึ้นโดยปูตินและคณะ มีหลักการและประสบความสำเร็จอย่างมั่นคง หลักการสำคัญ 3 ประการของระบอบปูตินได้แก่

ก) รัฐนิยม นั่นคือ เห็นด้วยกับการสืบทอดและความต่อเนื่องของอำนาจรัฐ เน้นคือการปฏิรูปที่ค่อยๆ เปลี่ยนกลไกอำนาจรัฐไปตามสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การปฏิวัติที่ทำลายกลไกอำนาจรัฐเดิมทั้งหมด และสร้างกลไกอำนาจรัฐใหม่ขึ้น

ข) ชาตินิยม การรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ การมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และภูมิใจในชาติของตน

ค) ระบบตลาด ที่เป็นสิ่งร้อยรัดสังคมรัสเซียเข้าด้วยกัน และเชื่อมโยงรัสเซียกับประชาชาติอื่นบนเวทีโลก เพื่อสร้างอารยธรรมมนุษย์ร่วมกัน

การปฏิบัติหลักการทั้งสามไม่ใช่ง่าย เช่น ชาตินิยม สามารถเกิดช่องว่างรัฐบาลกับประชาชนได้ง่าย โดยเฉพาะรัฐบาลที่เหินห่างประชาชน ปกครองเพื่อสถานะอำนาจและผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก ระบบตลาด ที่มักพัฒนาไปอย่างไม่สม่ำเสมอ สร้างช่องว่างขึ้นในสังคม ชนชั้นนายทุนต้องการเสรีในการลงทุนและหากำไร ทั้งยังต้องการเข้ากุมอำนาจรัฐ หากไม่ดูแลจัดการก็สามารถเข้ามาควบคุมอำนาจรัฐได้ ถ้าหากควบคุมไว้ ชนชั้นนายทุนโดยเฉพาะบรรดาเศรษฐีก็ไม่พอใจ หมุนเงินออกนอกประเทศ กล่าวกันว่านับแต่ปี 2009 ถึงปัจจุบันมีเงินไหลออกสุทธิจากรัสเซียเป็นจำนวนมหาศาล เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศตลาดเกิดใหม่โดยทั่วไปด้วย

สำหรับความสำเร็จทางการเมืองเบื้องต้นก็คือ ระบอบปูตินสามารถปฏิบัติได้และดำรงอยู่อย่างคงทน การที่ระบอบปูตินต้องการพัฒนาประเทศอย่างเป็นอิสระจากสหรัฐ-นาโต้นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย

ประเทศเหล่านี้จำนวนมากถูกแทรกแซงโค่นล้มเปลี่ยนระบอบ เช่น ในอินโดนีเซีย ชิลี อิรัก และลิเบีย เป็นต้น

แม้ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่นสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เป็นต้น ก็ต้องทำตัวเหมือนเป็นบริวารของสหรัฐ

การที่รัสเซียสามารถรักษาความเป็นอิสระไว้ได้ก็เนื่องจากลักษณะพิเศษหลายประการ

เช่น การเป็นประเทศใหญ่มาก มีทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะแร่ธาตุพลังงานสมบูรณ์ถึงขั้นเป็นผู้ส่งออกสุทธิ

สามารถคงทนต่อการปิดล้อม ไม่ต้องพึ่งตลาดโลกที่ควบคุมโดยสหรัฐและตะวันตกมาก

การเข้าปิดล้อมแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจของสหรัฐ-นาโต้ในปี 2014 หวังทำให้รัสเซียล้มทั้งยืน เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลา

แต่กลับทำให้ยืนตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น เช่น พัฒนาอุตสาหกรรรมการเกษตร จนสามารถส่งออกข้าวสาลีเป็นอันดับต้นของโลก

นอกจากนี้ รัสเซียมีที่ตั้งอยู่ใน “ดินแดนใจกลาง” ยากแก่การเข้าโจมตียึดครอง

นอกจากนี้ รัสเซียเป็นมหาอำนาจทางอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้สหรัฐ-นาโต้ไม่กล้าใช้กำลังโจมตีก่อน แม้ว่าจะมีการวางแผนไว้แล้วก็ตามที

ท้ายสุดได้แก่มีการนำที่ดี ระบอบปูตินสามารถรวบรวมขวัญกำลังใจให้แก่ชาวรัสเซียโดยทั่วไป

ความสำเร็จทางการเมืองที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ ระบอบปูตินสามารถครองใจเยาวชนคนหนุ่มสาวรัสเซียได้อย่างน่าทึ่ง

จากการสำรวจประชามติในปี 2017 โดย “ศูนย์เลวาดา” ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจประชามติขนาดใหญ่ที่ยังเป็นอิสระอยู่ในรัสเซีย

พบว่าเยาวชนรัสเซีย (อายุระหว่าง 18-24 ปี) จำนวนสูงถึงร้อยละ 86 ยอมรับในปูติน สูงกว่ากลุ่มอายุใดๆ หมายถึงว่าเยาวชนเหล่านี้มีความนิยมปูตินยิ่งกว่าของพ่อ-แม่พวกเขาเสียอีก

นิยมเรียกกันว่าเป็น “คนรุ่นปูติน”

เยาวชนหญิงคนหนึ่งขณะที่พักผ่อนบนชายหาดเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ให้สัมภาษณ์ถึงปูตินว่า “เขาทำอะไรมากมายให้แก่ประเทศนี้ เขานั้นเจ๋งที่สุด”

เยาวชนเหล่านี้ได้รับข่าวสารจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งโดยทั่วไปยังเปิดเสรีและไม่ได้ถูกควบคุมมาก

โอลก้าและอเล็กซ์คู่รักที่เดินเล่นในสวนสาธารณะในกรุงมอสโก ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวว่า ทั้งสองรับข่าวสารจากโซเชียลมีเดียและสิ่งพิมพ์จากต่างประเทศเป็นสำคัญ

โอลก้ากล่าวว่า “แม่ของฉันดูทีวีมาก แต่ฉันเห็นว่ามันเป็นโฆษณาชวนเชื่อเกือบทั้งหมด เรามีเพื่อนอยู่ต่างประเทศมากทางเฟซบุ๊ก และเราได้รับข่าวสารจากแหล่งเหล่านี้มาก”

ทั้งสองไม่ได้รักปูติน แต่ก็ไม่ได้คิดที่จะออกมาต่อต้าน

แอนตอน เฟดยาชิน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์รัสเซียที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐ ให้ทัศนะว่า “ส่วนหนึ่งที่ปูตินสามารถผูกใจเยาวชนได้ เป็นเพราะว่าช่วงการปกครองของเขาเกิดการเฟื่องฟูทางการเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เยาวชนเหล่านี้เกิดหลังจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ และใช้ชีวิตวัยเด็กในความยากลำบากทางเศรษฐกิจแสนสาหัสในช่วงการเปลี่ยนผ่านทศวรรษ 1990 ตั้งแต่ปูตินขึ้นสู่อำนาจ เยาวชนเหล่านี้ตลอดช่วงชีวิตของพวกเขาได้เห็นมาตรฐานการครองชีพของตนสูงขึ้น ชีวิตมีความสะดวกสบาย มั่นคงและปลอดภัยขึ้น”

เมื่อปี 2017 เกิดการประท้วงปูตินนำโดยเยาวชนรัสเซียซึ่งเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

แต่จากการสำรวจประชามติข้างต้นชี้ว่ามันเป็นตัวแทนของเยาวชนส่วนน้อยที่ส่งเสียงดังเท่านั้น การที่ระบอบปูตินสามารถครองใจเยาวชนคนหนุ่มสาวจำนวนมาก

ส่อว่า แม้ว่าปูตินจะจากไปแล้ว แต่ระบอบนี้ก็ยังดำรงอยู่

(ดูบทความของ Jeff Semple ชื่อ The “Putin Generation” : How Vladimir Putin has won over Russia”s Youth ใน globalnews.ca 11.10.2018)

การกลับปิดล้อมทางการเมืองของระบอบปูติน

ระบอบปูตินไม่ถูกรัดรึงด้วยอุดมการณ์สังคมนิยมและลัทธิครองความเป็นใหญ่เหมือนสมัยสหภาพโซเวียต

มีอิสระในการเคลื่อนไหวบนเวทีโลกได้ดีกว่า โดยเน้นในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติและความร่วมมือกันทางการค้า การลงทุนและการเมือง และมีความคิดที่จะพลิกสถานการณ์ เปลี่ยนเป็นฝ่ายปิดล้อมทางการเมืองต่อสหรัฐ-นาโต้บ้าง เป็นความสำเร็จทางการเมืองของระบอบปูตินที่เห็นได้ทั่วโลก

ระบอบปูตินมีปฏิบัติการหลายประการเพื่อจะพลิกเป็นฝ่ายรุก ที่สำคัญ

ได้แก่

1)

การเสริมรั้วให้เข้มแข็ง ไม่ถูกแทรกแซงได้ง่าย มีปฏิบัติการสำคัญ ได้แก่

ก) การสร้าง “สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย” (ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างปี 2000 เป็นสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียเต็มที่ปี 2015) ลักษณะคล้ายกับสหภาพยุโรป รวมตลาดชาติสมาชิกเป็นตลาดเดียว แต่ละชาติมีอิสระทางการเงินของตน ประกอบด้วย 5 ชาติได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย คีร์กีซสถาน ครอบคลุมพื้นที่ 120 ล้าน ตร.ก.ม. ราวร้อยละ 14 ของแผ่นดินโลก จำนวนประชากรกว่า 183 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในกระบวนการสร้างสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย มีหลายชาติที่สนใจเข้ามาร่วมกลุ่ม แต่ถอนตัวไปภายหลังด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ประเทศอุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถานและยูเครน ฝ่ายตะวันตกเห็นว่าองค์กรนี้เป็นความพยายามของรัสเซียที่จะครองความเป็นใหญ่ในยูเรเซีย ได้ดูเบาและขัดขวางด้วยประการต่างๆ

ข) การสร้างองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (2001) คล้ายองค์การนาโต้ของตะวันตก ปูตินได้เห็นบทเรียนที่ความร้าวฉานกับจีนในสมัยสหภาพโซเวียต เปิดโอกาสให้สหรัฐเล่นไพ่จีนโดดเดี่ยวโซเวียตเป็นอย่างยิ่ง องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้เริ่มจากการแก้ปัญหาพรมแดนระหว่างรัสเซีย-จีนกับอีกบางประเทศในเอเชียกลางขยายตัวไปสู่ความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจและความมั่นคง มีสมาชิกใหม่ขนาดใหญ่ อย่างเช่นอินเดียและปากีสถานเข้าร่วม

ค) การรวมกลุ่มนำของประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือกลุ่มบริกส์ เทียบเคียงกับการตั้งกลุ่ม 7 ของสหรัฐ-ตะวันตก เป็นที่น่าสังเกตว่าการประชุมสุดยอดของทั้งสองกลุ่มครั้งหลังสุดในปี 2018 มีบรรยากาศต่างกันเป็นตรงกันข้าม นั่นคือการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ (หรือกลุ่ม 5) มีบรรยากาศของความกลมเกลียวและการก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน ขณะที่บรรยากาศของการประชุมสุดยอดกลุ่ม 7 มีลักษณะปีนเกลียว ผู้นำหน้าเครียดขมึง เหมือนเตรียมแยกกันเดิน

ง) การทำสนธิสัญญาแคสเปียน (สิงหาคม 2018) ของ 5 ชาติที่มีอาณาเขตติดกับทะเลแคสเปียน ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน อิหร่าน และเติร์กเมนิสถาน กำหนดให้แคสเปียนเป็นทะเล แบ่งเขตเศรษฐกิจตามแบบทะเลทั้งหลาย อิหร่านค่อนข้างเสียประโยชน์ เพราะว่ามีชายแดนติดกับทะเลแคสเปียนน้อย แต่ไม่มีทางเลือกเพราะถูกสหรัฐแซงก์ชั่นหนักมือขึ้น คาซัคสถานจะได้ประโยชน์มาก ได้ครองทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติถึงราวครึ่งหนึ่ง

ข้อตกลงนี้ทำให้ชาติทั้งห้าสามารถลงทุนในการขุดเจาะได้อย่างเต็มที่ ซึ่งประมาณว่ามีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์

รัสเซียได้ประโยชน์สำคัญจากการเป็นผู้คุ้มครองกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในทะเลแคสเปียน

2)

การผูกมิตรสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทุกฝ่าย โดยอาศัยโอกาสจากความเพลี่ยงพล้ำ การอ่อนแอลง และการต้องการเอาตัวรอดตามลำพังของสหรัฐ จะยกตัวอย่างใน 2 ภูมิภาคได้แก่

ก) ตะวันออกกลาง ซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อนมาก จากการแย่งอำนาจกันในภูมิภาค และการแทรกแซงของสหรัฐ-นาโต้ เกิดการแบ่งกลุ่ม การขัดแย้ง การก่อการร้ายและการปะทะกันทางทหารอย่างตะลุมบอน แต่รัสเซียสามารถพูดคุยเป็นไมตรีกับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี อิสราเอล ซีเรีย อิรัก กาตาร์ ลิเบีย

ข) เอเชียใต้ เริ่มจากอัฟกานิสถาน ทูตพิเศษของปูตินในอัฟกานิสถานประกาศว่า รัฐบาลรัสเซียจะเชิญตัวแทนของกลุ่มตาลิบันเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพ โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มตาลิบันสามารถยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานได้กว่าครึ่งหนึ่งจึงควรมีบทบาทในการสร้างสันติภาพขึ้นด้วย

รูปแบบสันติภาพของรัสเซียนี้ไม่รวมสหรัฐให้มีส่วนร่วม วิเคราะห์กันว่า ถ้าหากปูตินสามารถจัดการเจรจาโดยมีกลุ่มตาลิบันเข้าร่วมได้ ก็จะส่งเสริมฐานะมหาอำนาจของรัสเซียบนเวทีโลก และเพิ่มคะแนนนิยมขึ้นภายในประเทศด้วย (ดูบทความของ Samuel Ramani ชื่อ Why Has Russia Invited the Taliban to Moscow? ใน thediplomat.com 21.07.2018)

แต่มิตรที่สำคัญกว่านั้นได้แก่ปากีสถานที่รัสเซียสามารถปรับสัมพันธภาพขึ้นสนิทกันอย่างรวดเร็วในระยะหลังนี้ โดยแทรกตัวเข้าไปในความสัมพันธ์ที่มึนตึงระหว่างสหรัฐ-ปากีสถาน เข้าไปทำข้อตกลงความร่วมมือทางทหารในเดือนสิงหาคม 2018 เปิดทางให้รัสเซียสามารถส่งทหารเพื่อเข้าไปฝึกอบรมทหารปากีสถานได้เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้น ปากีสถานได้สั่งซื้อเครื่องบินรบจากรัสเซีย และได้ร่วมฝึกการปราบผู้ก่อการร้ายหลายครั้ง และเป็นไปได้ว่าทั้งสองประเทศจะร่วมกันสนับสนุนกลุ่มตาลิบันที่ต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายไอเอสอย่างจริงจัง (ดูบทความของ Ayaz Gul ชื่อ Pakistan, Russia Sign Rare Military Cooperation Pact ใน voanews.com 08.08.2018)

สำหรับอินเดียที่เป็นมิตรเก่า ซึ่งระยะหลังเอนเอียงไปข้างสหรัฐมากขึ้น เพื่อช่วยถ่วงดุลอำนาจกับจีน รัสเซียก็รักษาไมตรีนี้ไว้ จนอินเดียสั่งซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ เอส-400 จากรัสเซีย ทำความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อสหรัฐ

3)

การเข้าแทรกแซงบ่อนทำลายสหรัฐและตะวันตก ในประเด็นนี้รัสเซียไม่ได้ยอมรับว่าตนกระทำเช่นนั้น แต่ฝ่ายสหรัฐ-ตะวันตกเชื่อมั่นเต็มร้อยว่ารัสเซียมีปฏิบัติการเช่นนั้น และนับวันจะกระทำมากขึ้น ตัวอย่างการแทรกแซงบ่อนทำลายดังกล่าวที่เป็นข่าวในสื่อกระแสหลักของตะวันตก เช่น

ก) การเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 สามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งให้ทรัมป์ที่ใกล้ชิดและมีท่าทีดีต่อปูตินและรัสเซียได้รับเลือกตั้งอย่างพลิกความคาดหมาย ขยายความขัดแย้งแตกแยกภายในหมู่ชนชั้นนำสหรัฐและภายในชาติอย่างรุนแรง

ข) การเข้าสนับสนุนพรรคและนักการเมืองชาตินิยมปีกขวาในยุโรป ที่ปฏิเสธการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรปหรือการใช้เงินสกุลยูโร รวมทั้งนโยบายต้อนรับผู้อพยพลี้ภัยจากประเทศมุสลิมและแอฟริกาจนกระทั่งพรรคและนักการเมืองเหล่านี้ชนะการเลือกตั้ง มีอิทธิพลมากขึ้น หรือกระทั่งได้เข้าร่วมเป็นรัฐบาล เช่น ในประเทศเยอรมนี ออสเตรเลีย ล่าสุดเป็นในอิตาลี นายแมตเตโอ ซัลวานี เลขาธิการพรรคสันนิบาตฝ่ายเหนือได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

ซัลวานีมีความคิดแบบชาติ-ท้องถิ่นนิยมและชื่นชมปูติน ขณะที่ไปเยือนมอสโกในเดือนตุลาคม 2018

เขาแถลงว่ารัฐบาลอิตาลีควรจะได้ขัดขวางการต่ออายุการแซงก์ชั่นรัสเซียที่ทำมาตั้งแต่ปี 2014 หลังการผนวกไครเมียของรัสเซีย

เขากล่าวว่า การแซงก์ชั่นดังกล่าวเป็น “ความบ้าคลั่งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม” เป็น “ความโง่เง่า ไร้สาระ”

และว่า การแซงก์ชั่นนี้ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลแก่นักธุรกิจอิตาลี การเคลื่อนไหวของซัลวานีสร้างความเหนื่อยใจแก่ผู้นำในสหภาพยุโรปจำนวนไม่น้อย (ดูรายงานข่าวของ Nick Sqires ชื่อ Italy risks clash with Britain and EU as it threatens to veto renewal of Russia sanctions ใน telegraph.co.uk 17.10.2018)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการรุกทางทหารและเศรษฐกิจของระบอบปูติน