ผ่ากระแส “เอา-ไม่เอา ? ” บิ๊กตู่

ที่สุดแล้วยอดคนเข้าชม “แร็พ-ประเทศกูมี” ทะลุที่ 30 ล้านวิว และเป็นไปได้สูงที่จะระเบิดเถิดเทิงไปถึง 35 ล้านวิว หรือมากกว่านั้น

อันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นว่าความสนใจในเพลงวัยรุ่นเพลงหนึ่ง จะกลายเป็นกระแสบ่าท้นอย่างรวดเร็วเพียงนี้

ท่าทีอันเอาเป็นเอาตายของ “รัฐบาล” ที่ “โฆษก” บอกว่าเสียใจที่เพราะตีความว่าเด็กตั้งใจทำดนตรีทำลายประเทศ รวมถึงตำรวจที่ขานรับระดับเรียกสอบเจตนาของนักร้องที่ปรากฏในคลิป อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ปลุกกระแสให้สนใจ

หรือการแปลเพลงนี้เป็นภาษาต่างประเทศ โดยผู้เผยแพร่พยายามทำให้เพื่อนร่วมโลกเข้าใจว่า “นี่เป็นความกล้าหาญของนักดนตรีไทยที่ทำเพลงประจานการใช้อำนาจในประเทศอย่างรุนแรง โดยไม่เกรงกลัวอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของรัฐบาลที่มาจากการใช้อาวุธยึดอำนาจ”

แต่นั่นน่าจะเป็นแค่เหตุผลในบางส่วน สำหรับแวดวงนักวิเคราะห์การเมืองเล็งไปที่ “กระแสความเอือมระอาต่ออำนาจรัฐที่มาจากรัฐประหาร”

มีการระบุว่าปรากฏการณ์ความสนใจต่อเพลงวิพากษ์วิจารณ์ภาวะของประเทศภายใต้การบริหารของรัฐบาลเผด็จการนี้ เกิดจากประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวมีอารมณ์ร่วมกับเนื้อเพลงที่หยิบเอาเรื่องราวอันชวนน่าอึดอัด แต่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติในยุคสมัยเช่นนี้กันมาก

มากในระดับที่สะท้อนถึงความรู้สึกที่มีต่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อย่างชัดเจนที่สุด

อนาคตของประเทศ ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ควรจะฝากไว้ในฝีมือการบริหารจัดการของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อไปหรือไม่ สะท้อนให้เห็นแบบไม่อ้อมค้อมต่อการแสดงอารมณ์ร่วมกับเพลงนี้

แต่นั่นดูเหมือนว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังเชื่อไปในทางที่ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ควรจะถูกตั้งข้อรังเกียจอย่างที่วิจารณ์กัน

และในส่วนนี้คงจะเป็นไปแบบผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด ที่ทำเรื่อง “อนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ซึ่งผลสำรวจอันเป็นคำถามถึงเรื่องของ “หลังเลือกตั้งปีหน้า”

ในคำถาม “ท่านคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่”

ร้อยละ 63.51 คิดว่าจะกลับมา ร้อยละ 35.77 คิดว่าไม่กลับมา ร้อยละ 0.72 ไม่แน่ใจ

สะท้อนว่าการแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านมาทำให้คนเชื่อว่าอยากกลับมา และมีอำนาจที่จะทำให้ความอยากของตัวเองบรรลุผลได้

และในคำถาม “ท่านคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรกลับมาทำงานการเมืองต่อไปหรือไม่”

ร้อยละ 50.71 ตอบว่าไม่ควร ร้อยละ 48.73 ตอบว่าควร ร้อยละ 0.56 ไม่แน่ใจ

และคำถาม “ท่านจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่”

ร้อยละ 51.74 ตอบว่าไม่สนับสนุน ร้อยละ 47.54 ตอบว่าสนับสนุน

จากคำตอบเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าแม้ประชาชนเกินกว่าครึ่งเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหลังเลือกตั้ง แต่มีไม่ถึงครึ่งที่เห็นควร หรือสนับสนุนให้กลับมา

เหมือนจะบอกว่า แม้มีโอกาสก็ไม่ควรจะรับ และไม่ต้องการให้กลับมา

อย่างไรก็ตาม หากมองอีกมุมหนึ่ง ผู้ตอบแบบสอบถามมากถึงเกือบครึ่งที่เห็นว่าควรจะกลับมา และให้การสนับสนุน

อันหมายถึง คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะยังนำโด่ง เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น

เป็นเรื่องง่ายที่จะคิดจะเดาว่าเป็นเช่นนี้

เหมือนกับที่พยายามยืนยันว่ายอดคนดูและแสดงความชื่นชอบต่อคลิปแร็พ “ประเทศกูมี” ไม่เกี่ยวกับคะแนนนิยมของรัฐบาล คสช.

การถกเถียงด้วยความเชื่อเช่นนี้

จะพิสูจน์ว่าใครประเมินถูก ใครประเมินพลาด ย่อมต้องรอให้ถึงวันเลือกตั้ง อันเป็นวันที่ประชาชนจะมาใช้สิทธิตัดสิน

เพียงแต่ในยุค “ประเทศกูมี” แบบนี้ “การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง” จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่

เป็นเรื่องต้องติดตามกระชั้นชิดยิ่ง