“อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ผู้แบกรับ “ภาระ” สำคัญ หลัง “โศกนาฏกรรม” ที่เลสเตอร์

ข่าวคราวการเสียชีวิตของ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” จากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก เมื่อคืนวันที่ 27 ตุลาคม (ตามเวลาประเทศไทย) หลังเกมที่เลสเตอร์ ซิตี้ เปิดบ้านเสมอเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ไป 1-1 ในการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

ถือเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่หลายแวดวงในสังคมไทยและประชาคมนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการธุรกิจและวงการฟุตบอล

เมื่อพิจารณาว่าวิชัยคือ “บิ๊กบอส” แห่ง “คิงเพาเวอร์” ยักษ์ใหญ่ดิวตี้ฟรี และสโมสร “เลสเตอร์ ซิตี้” ที่เคยคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษฤดูกาล 2015-2016 มาครองอย่างน่าทึ่งและสุดแสนมหัศจรรย์

ท่ามกลางความโศกเศร้า ขออนุญาตพาผู้อ่าน “ย้อน” ไปสัมผัสกับมุมคิดของ “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” บุตรชายของวิชัย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งซีอีโอคิงเพาเวอร์ และรองประธานสโมสรเลสเตอร์

บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยจัดทำขึ้นเพื่อนำไปผลิตเป็นสกู๊ปพิเศษหัวข้อ “เบื้องหลังความสำเร็จ “เลสเตอร์ ซิตี้”” ออกอากาศในรายการ “มติชน WEEKEND” ทางช่องวอยซ์ทีวี วันที่ 20 มีนาคม ปีเดียวกัน

อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่เลสเตอร์จะคว้าแชมป์พรีเมียร์อย่างเป็นทางการ

ณ พ.ศ.นั้น ผลงานยอดเยี่ยมของเลสเตอร์ถูกกล่าวขวัญถึงพร้อมกระแสข่าวเรื่องเครื่องราง-ของขลัง-ผ้ายันต์ที่โด่งดังสนั่นเมืองไทยและโลก

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวมติชนทีวีเลือกจะไปพูดคุยกับอัยยวัฒน์ในประเด็นเรื่องการบริหารจัดการทีมฟุตบอล

เมื่อปี 2559 อัยยวัฒน์วิเคราะห์ว่าปัจจัยความสำเร็จของเลสเตอร์มาจากทั้งของขลังและ “ระบบบริหารจัดการทีม” ที่มีประสิทธิภาพ

 

เขาย้ำว่า คิงเพาเวอร์ค่อยๆ เข้าไปวางระบบการทำงานและลงทุนเรื่องระบบให้แก่เลสเตอร์ตั้งแต่ปีแรกที่ซื้อทีม (ค.ศ.2010/พ.ศ.2553) ขณะที่สโมสรแห่งนี้ยังลงเล่นในลีกแชมเปี้ยนชิพ ลีกฟุตบอลระดับสองของอังกฤษ

การลงทุนกับระบบ หมายถึงการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงสนามและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการให้ความสำคัญกับหลักวิทยาศาสตร์การกีฬามากขึ้น

อัยยวัฒน์เปิดเผยว่า เลสเตอร์ยุคที่มีวิชัยเป็นประธาน ลงทุนเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาไปเยอะมาก เพราะทีมมีจุดหมายสำคัญคือ นักเตะต้องเจ็บน้อยและมีความฟิตเต็มร้อย

ด้วยความเชื่อที่ว่าผลงานของทีมฟุตบอลขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้เล่น

ส่วนในด้านการวางระบบ คิงเพาเวอร์เข้าไปยกเครื่องระบบคอมพิวเตอร์ของสโมสร เพื่อจะบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนให้ง่ายดายสะดวกขึ้น รวมทั้งยังมุ่งประเมินผลลัพธ์การทำงาน โดยเฉพาะผลงานการแข่งขันของทีมและนักเตะด้วย “ตัวเลขสถิติ” ไม่ใช่ “อารมณ์ความรู้สึก”

เมื่อทีมงานทุกฝ่ายทำงานไปตามระบบที่ถูกวางเอาไว้ “ระบบของเลสเตอร์” จึงลงตัวในทุกองค์ประกอบ ก่อนจะได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกเสียอีก

และพอขึ้นมาเล่นลีกสูงสุดในฤดูกาลแรกโดยรอดตกชั้น ทุกอย่างก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้น จนนำไปสู่ความสำเร็จระดับปาฏิหาริย์อันเป็นจุดพีกสูงสุดในปี 2016

จุดหนึ่งที่ทางรายการชวนอัยยวัฒน์พูดคุยก็คือนโยบายการเลือกซื้อผู้เล่นของเลสเตอร์

ต้องยอมรับในฤดูกาลที่ทีมจิ้งจอกสยามสร้างเซอร์ไพรส์คว้าแชมป์ลีกสูงสุดมาได้นั้น องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จดังกล่าวคือ การซื้อนักเตะคุณภาพดีแต่ราคาไม่แพง

กรณีศึกษาที่ชัดเจนสุดเห็นจะเป็นการซื้อ “เอ็นโกโล่ ก็องเต้” มิดฟิลด์มดงานร่างจิ๋ว ด้วยค่าตัวเพียง 5.6 ล้านปอนด์ หลังจากคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกร่วมกับเลสเตอร์ ก็องเต้ย้ายไปเป็นกำลังหลักให้เชลซีด้วยค่าตัว 32 ล้านปอนด์ ทั้งยังพาทีมชาติฝรั่งเศสผงาดครองแชมป์ฟุตบอลโลก 2018

อัยยวัฒน์ระบุว่าการซื้อตัวนักฟุตบอลนั้นคล้ายคลึงกับการวางระบบทีม เพราะนี่คือการลงทุน ซึ่งก่อนจะจ่ายเงินออกไป เราต้องตรวจสอบ “ข้อมูล” ด้านต่างๆ อย่างละเอียด เช่น อายุ, สถิติการวิ่ง, สถิติการครองบอล หรือประสิทธิภาพในการขึ้นเกมรุก ฯลฯ

เพื่อประเมินว่านักฟุตบอลคนไหนมีศักยภาพพอจะผลักดันให้ภาพรวมของทีมพัฒนาไปสู่จุดที่สูงขึ้น

ในฐานะเจ้าของทีม เขาและคุณพ่อไม่ได้ซื้อนักฟุตบอลโดยฟังความเห็นจากผู้จัดการทีมฝ่ายเดียว แต่การจะซื้อนักเตะคนหนึ่งต้องผ่านขั้นตอนการประชุมหารือที่ซับซ้อนยาวนาน

เมื่อประมวลข้อมูลได้เยอะที่สุด ความผิดพลาดจากการซื้อผู้เล่นก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด

ประเด็นสุดท้ายที่ทางมติชนทีวีได้สนทนากับอัยยวัฒน์เมื่อสองปีก่อนคือ ทำไมแฟนบอลท้องถิ่นชาวอังกฤษถึงรัก “วิชัย” รัก “คิงเพาเวอร์” และรัก “ประเทศไทย”?

อย่างแรก ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในประวัติศาสตร์กว่า 130 ปีของสโมสร วิชัยคือเจ้าของทีมที่ทุ่มเทเม็ดเงินให้เลสเตอร์มากที่สุด

แต่อีกสิ่งที่ดำรงอยู่เคียงคู่กัน (ไม่ต่างจากสายสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อเรื่องผ้ายันต์กับความรู้เรื่องระบบการบริหารจัดการทีม) ก็คือ การบริหารทรัพยากรบุคคลด้วยลักษณะ “ไทยสไตล์”

อัยยวัฒน์นิยามว่าตระกูลศรีวัฒนประภาเปรียบสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์เป็นดัง “ครอบครัว” ของตนเอง

“วิชัย-อัยยวัฒน์” จึงเดินหน้ารับฟังปัญหาของเหล่าบุคลากรในทีม/สมาชิกครอบครัวเป็นประจำ

เจ้าของทีมรายอื่นๆ อาจมีคิวเจอนักฟุตบอลปีละครั้งผ่านรูปแบบความสัมพันธ์ที่นักเตะลงสนามเพื่อเงิน ส่วนประธานสโมสรก็มีหน้าที่จ่ายค่าจ้าง

แต่ที่เลสเตอร์ สองพ่อ-ลูกแห่งอาณาจักรคิงเพาเวอร์ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปพบปะพูดคุยกับเหล่าผู้เล่นสัปดาห์ละสองครั้ง ด้วยความใส่ใจ

เพราะสำหรับเจ้าของทีมคู่นี้ นักฟุตบอลไม่ใช่ “สินค้า” แต่มีสถานภาพเป็น “ทีมงาน”

อัยยวัฒน์บอกว่า ตนเองสนิทสนมกับนักเตะหลายคนประหนึ่งเพื่อน ตอนพวกเขาเดินทางมาทัวร์ที่เมืองไทย ตนก็พาไปเที่ยว มีการเปิดเผยความในใจและช่วยแก้ไขปัญหาของกันและกัน

ขณะที่บรรดาผู้เล่นต่างชาติจะพร้อมใจกันเรียกขานประธานวิชัยว่า “บอส” พร้อมคำพูดติดปากประเภท “บอส (เรา) อยากได้นั่น บอส (เรา) อยากได้นี่”

ในวันที่วิชัยอำลาโลกไปอย่างปัจจุบันทันด่วนเกินความคาดคิดของทุกฝ่าย

อัยยวัฒน์และสมาชิกครอบครัว “ศรีวัฒนประภา” คนอื่นๆ คงต้องแบกรับภาระหนักหน่วงในการประคับประคอง-สืบทอดธุรกิจของ “คิงเพาเวอร์” รวมถึงการบริหารจัดการทีมฟุตบอลระดับอินเตอร์ชื่อดัง

แต่หลายคนคงสัมผัสได้จากมุมมองที่ถูกบันทึกไว้เมื่อปี 2559 ว่าคนหนุ่มรายนี้มีศักยภาพเพียบพร้อมพอจะรับมือกับภารกิจดังกล่าว