เพ็ญสุภา สุขคตะ : Free Write Award ครั้งที่ 3 พื้นที่ของกวีรุ่นใหม่ ผู้กล้าคิดนอกกรอบ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

หนึ่งในไฮไลต์ของงาน “42 ปี 6 ตุลา” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2561 ณ ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ผ่านมานั้น ก็คือช่วงของเวที “Free Write Award ครั้งที่ 3” ประกอบด้วย การอ่านบทกวี การประกาศรางวัล และการมอบรางวัล

ดิฉันพร้อมด้วย ทองธัช เทพารักษ์ และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เป็นกรรมการตัดสินผลงานบทกวีที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วจากรอบแรกจำนวน 20 ชิ้น จนได้ 5 รางวัลสุดท้าย

ตอนแรกนี้จะขอเริ่มด้วยรางวัลชมเชย 2 ชิ้นคือ บทกวีปลอมๆ และที่ว่างบนทางเท้า

 

บทกวีปลอมๆ : ศรีวรรณ ศรีพุฒ

เอาเถิด ถ้าคุณคิดว่าจะถอดวิญญาณเสรีออกจากร่างของฉันได้

ถ้าคุณคิดว่าฉันเป็นเพียงตัวหนังตะลุงที่ควรถูกชักเชิด

…เป็นเพียงรูปกาก ในเรื่องราวจอมปลอมของคุณ

ฉันเข้าใจสถานการณ์- เพราะไม่ว่าจะชอบหรือชัง ฉันก็จำต้องแสดง

ฉันเข้าใจคุณ- เพราะรู้ดีว่าคุณปลอมแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ตัวเอง

ฉันเข้าใจ… และพร้อมน้อมรับความจอมปลอมนั้น

 

ฉันจะเข้าใจปลอมๆ ด้วยการมีชีวิตปลอมๆ ในโลกปลอมๆ เรื่องราวปลอมๆ …ของคุณ

…ฉันพร้อมจะตื่นขึ้นมาในยามเช้าปลอมๆ มีชีวิตอยู่ในโลกที่ปีศาจปลอมตัวเป็นเทวดา

คนชั่วช้าปลอมเป็นคนดี ผู้ร้ายปลอมเป็นผู้รักษากฎหมาย

นักโทษประหารปลอมตัวเป็นผู้พิพากษา

อันธพาลปลอมตัวเป็นผู้ปกครอง

โลกที่ความพ่ายแพ้ถูกปลอมเป็นชัยชนะ

ความไร้เกียรติปลอมเป็นศักดิ์ศรี ตัณหาความอยากถูกปลอมเป็นหลักเหตุผล

ความขี้ขลาดตาขาวถูกปลอมเป็นความกล้าหาญเสียสละ

และฉันพร้อมจะหลับฝัน ภายใต้แสงจันทร์ปลอมๆ ของคุณ…

ฉันพร้อมจะยิ้มปลอมๆ และก้มหัวอย่างปลอมๆ ให้กับอำนาจปลอมๆ ของคุณ

ฉันพร้อมท่องจำประวัติศาสตร์ปลอมๆ อย่างนกแก้วนกขุนทองที่ปลอมเสียงมนุษย์

 

ตามที่คุณอยากฟัง ฉันพร้อมจะมีความหวังปลอมๆ ไปกับความรุ่งเรืองปลอมๆ ที่คุณกรอกหู

ฉันพร้อมจะเคารพนับถืออย่างปลอมๆ ให้กับเกียรติยศปลอมๆ ของคุณ ตามที่เรียกร้อง

ฉันพร้อมจะปลอมถ้อยคำสรรเสริญความเท่าเทียมในความยุติธรรมจอมปลอมของคุณ

ฉันพร้อมจะปลอมความจริงทุกสิ่ง เพื่อให้ความจอมปลอมทุกอย่างของคุณดูเหมือนจริงขึ้นมา

นั่นละ…ฉันพร้อมจะปลอมเป็นตัวอ้ายเท่ง อ้ายทอง อ้ายสะหม้อ ฯลฯ ให้มือปลอมๆ ของคุณชักเชิด

เพราะฉันไม่อาจเงยหน้าขึ้นสู้ปืนจริงๆ ที่ถูกปลอมเป็นกฎหมายนั้นได้หรอก…

ดังนั้น ในโลกปลอมๆ ของคุณ และเรื่องราวปลอมๆ ของคุณ

ฉันจึงมีความจอมปลอมทุกอย่างที่พร้อมจะยกให้ตามที่ต้องการ

แม้กระทั่งเสียงเรียกร้องเล็กน้อย… ใน “บทกวีปลอมๆ” ชิ้นนี้

การยอมจำนนของฉัน ก็ปลอมมันออกมาจากจิตวิญญาณแห่งเสรีภาพอันแท้จริง ที่ไม่มีมือใดชักเชิดได้

*รูปกาก คือ รูปหนังตะลุงประเภททาสา ทาสี รูปตัวตลก มักมีสีดาหรือสีเดิมของหนัง ไม่ค่อยมีลวดลวย

 

งานกลอนเปล่าชิ้นเดียวที่ได้รับรางวัล

ศรีวรรณ ศรีพุฒ เป็นนามปากกาของสุวัฒน์ ยวงแก้ว (วัฒน์ ยวงแก้ว) พื้นเพเดิมเป็นชาวสุราษฎร์ธานี เริ่มอ่าน-เขียนวรรณกรรมราวปี 2545 โดยมีหนังสือ “ปรัชญาชีวิต” ของคาลิล ยิบราน เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจ

มีผลงานเรื่องแรกที่ตีพิมพ์เป็นเรื่องสั้นชื่อ “กระสุนนัดสองกับข้อต่อสุดท้าย” ในนิตยสารหญิงไทย ปี 2548 รางวัลทางวรรณกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้น เช่น พานแว่นฟ้า, ช่อการะเกดยอดเยี่ยม, สุภาว์ เทวกุล, เรื่องสั้นขนาดยาวฯ ปรีดี พนมยงค์, เซเว่นบุ๊คอวอร์ด และรางวัลเปลื้อง วรรณศรี เป็นบทกวี

“การส่งผลงานเข้าประกวดรางวัล FreeWrite Award ครั้งนี้ก็เนื่องมาจากมองเห็นว่า ที่นี่คือเวทีแห่งการปลดปล่อยภาวะภายในที่ถูกบีบอัด ตราบที่มนุษย์ถูกจำกัดเรื่องสิทธิเสรีภาพ โดยธรรมชาติแล้วเมื่อพบกับความอยุติธรรมย่อมต้องขัดขืน

ส่วนจะทำได้เพียงไหน วิธีการใด นั่นก็แล้วแต่แต่ละคน ภายใต้บริบทที่แตกต่างกันไป

แต่อย่างน้อยที่สุด แม้มือตีนจะถูกมัด เพียงการได้แหกปากตะโกนร้องหาเสรีภาพและความชอบธรรม (หรือแม้แต่นั่งบ่นพึมพำอยู่บนชักโครก) ก็ยังมีความหมายยืนยันว่าเสรีภาพและความชอบธรรมนั้นยังเป็นของเราอยู่และเราไม่ยอมแพ้”

“บทกวีที่ชื่อ “บทกวีปลอมๆ” ชิ้นนี้เขียนขึ้นจากภาวการณ์ของตัวเอง (และเชื่อว่ามีผู้คนอีกไม่น้อยตกที่นั่งเดียวกัน ส่วนใครจะซื่อสัตย์กับตัวเองยอมรับได้มากน้อยก็แล้วแต่ละคน) ด้วยหน้าที่การงานที่ไม่อาจขัดขืน ต้องทำในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ต้องพูดในสิ่งที่ไม่อยาก ต้องทนเห็นตัวเองกลายเป็นของปลอม มันเจ็บปวดและขัดแย้งในตัวเอง

แต่ยังพอปลุกปลอบมโนธรรมตัวเองได้ว่า อย่างน้อยก็จะพยายามทำในสิ่งทำได้ ไม่ได้วาดรูปวิวทิวทัศน์ไว้ภายใต้ครอบกะลา แล้วผูกเปลนอนแต่งบทกวีชมนกชมไม้ปลอมๆ นั้น”

จริงอยู่ เสียงจากโครงการนี้ หรือเสียงเรียกร้องใดๆ จากที่ไหนๆ คงไม่ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงผู้กุมอำนาจได้มากนักหรอก

เพราะทั้งหมดนั้น เขาก็รู้อยู่เต็มอก แต่เลือกจะไม่ฟัง แต่อย่างน้อย FreeWrite Award หรือหมายรวมถึงกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยอื่นๆ ด้วย เปรียบเหมือนแสงไฟที่ส่องฉายออกไปในความมืดภายใต้กะลาครอบ (ในความหมายที่หมายถึงการกักขังและปิดหูปิดตา) เพื่อยืนยันแก่ตัวเองและคนที่รักเสรีภาพว่า กะลาครอบคือกะลาครอบ และตัวเราก็ยังเป็นตัวเรา

และบอกว่า ภายใต้ความสงบเรียบร้อยเซื่องซึม มีคนมากมายกำลังดิ้นรนต่อสู้ พวกเขาเจ็บปวดและจะไม่ยอมแพ้ และจะรอคอย…ไม่ว่านานเท่าใด

 

ที่ว่างบนทางเท้า
: เสฏฐ์ บุญวิริยะ (ศิปางศ์)

ดื่มกินดิ้นรนบนทางเท้า

จากเช้าจรดค่ำ ทำหน้าที่

ต่างซื้อ-ต่างขายมาหลายปี

ต่อนาทีบางด้านการหายใจ

 

พอขับเคลื่อนบางด้านการเป็น-อยู่

ถึงแม้นต้องต่อสู้ พออยู่ได้

ตากแดด กรำฝน จนเข้าใจ

ก็เงื่อนไขธรรมชาติ เกินคาดเดา

 

จากรุ่นสู่รุ่นความคุ้นชิน

ได้ทำมาหากินในที่เก่า

เคยบันทึกบางอย่างบนทางเท้า

มีเรื่องราวรากเหง้า ความเข้าใจ

 

คงดื่มกินดิ้นรน ไม่พ้นทุกข์

กับการคืนความสุข-ยุคสมัย

อ้างระบบจัดระเบียบอยู่ทั่วไป

ขอคืนพื้นที่อาศัยใช้ทำกิน

 

จนเหลือแต่ที่ว่างบนทางเท้า

บรรจุด้วยความเศร้าและหนี้สิน

จากรุ่นสู่รุ่นไม่คุ้นชิน

ที่ต้องดิ้นรนสู้ อยู่กับทุกข์

 

สี่ปีไม่ผ่านการเปลี่ยนแปลง

ถ้อยแถลงนิยาม “คืนความสุข”

ยิ่งนานยิ่งบรรลุทุรยุค

ยิ่งเจ็บจุกแบกรับอยู่กับร้าว

 

สะท้อนภาพเบ็ดเสร็จเผด็จการ

สะเทือนสะท้านการย่างก้าว

รากหญ้า แหลกล้ม ขมขื่นคาว

กับเรื่องราวคืนความสุขในยุคนี้

 

ดื่มกินดิ้นรนบนว่างเปล่า

จากเช้าจรดค่ำทำหน้าที่

เคยซื้อเคยขายได้เสรี

เริ่มริบหรี่บางด้าน การหายใจ

 

จากรุ่นสู่รุ่นความคุ้นชิน

คือหนี้สินเสมือนผูกเงื่อนไข

คือคราบน้ำตา รอยอาลัย

จะทำกินอย่างไร ในฤดู

 

เมื่อระบบจัดระเบียบจนเรียบร้อย

อาจไม่พบร่องรอยการต่อสู้

“คืนความสุข” ให้ใครไม่อาจรู้

แต่เห็นอยู่คือที่ว่างบนทางเท้า

 

ลีลาฉันทลักษณ์เป็นเลิศ

เสฏฐ์ บุญวิริยะ หรือนามปากกา “ศิปางศ์” สนใจเรื่องบทกวีตั้งแต่เป็นนักเรียน ชั้น ป.4-5 เขียนกลอน ฉันท์ ส่งประกวดระดับโรงเรียน เช่น งานวันแม่ วันพ่อ วันสุนทรภู่ จึงทำให้ได้มีโอกาสฝึกฝนฝีมือด้านฉันทลักษณ์บ่อยครั้ง

มีมหากวี “สุนทรภู่” เป็นไอดอล เป็นครูคนแรก เพราะรู้สึกว่าท่านใช้ภาษาได้พริ้งพราย มีความสะบัดสะบิ้ง ถ้าเปรียบเป็นผู้ชายก็เหมือนชายเจ้าชู้แพรวพราว

ต่อมาช่วงวัยรุ่น โตและอ่านหนังสือมากขึ้น ชอบงานของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ โดยเฉพาะ “คำหยาด” และ “เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว” นอกจากนี้ก็มี เดือนแรม ประกายเรือง และไพวรินทร์ ขาวงาม

ผลงานได้รับการตีพิมพ์ตามนิตยสารต่างๆ เช่น เนชั่นสุดสัปดาห์ ชิ้นสำคัญชื่อ “ทฤษฎีชีวิต” ได้แรงบันดาลใจจากการเสียชีวิตของ “ปอ ทฤษฎี”

บทกวี “ที่ว่างบนทางเท้า” นี้กลั่นจากอารมณ์สะเทือนใจ ที่เราต้องสูญเสียวิถีชีวิตสองข้างทาง ไม่ว่าย่านปากคลองตลาด สำเพ็ง คลองหลอด คลองถม ฯลฯ รู้สึกว่าริมทางเท้าที่เราเคยเห็น เคยสัมผัส เคยเป็นส่วนหนึ่งของเขาเหล่านั้นอย่างมีชีวิตชีวา ค่อยๆ ปิดฉากหายจากเราไป

จนกรุงเทพฯ ณ ปัจจุบันกลายเป็นมหานครแห่งความแข็งกระด้าง มีแต่การจัดระเบียบทุกหย่อมย่าน ภายใต้รัฐบาลชุดนี้