สำรวจ…เกณฑ์ประเมิน “ผอ.ร.ร.” “สอบตก”…หมดสิทธิไปต่อ!!

ได้ฤกษ์คลอดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2559 เรียบร้อยโรงเรียน สพฐ. แล้ว

โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน

สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาในครั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา

ส่วนการคัดเลือกจะไม่มีการแบ่งกลุ่มทั่วไป หรือกลุ่มประสบการณ์

นอกจากนี้ ผู้สมัครต้องเลือกสมัครในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศึกษา (สพป.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ได้เพียงแห่งเดียว

หากสมัครเกินกว่า 1 แห่ง จะถูกตัดสิทธิทั้งหมด

รวมถึง ผู้สมัครต้องรับรองตนเองด้วยว่าหากได้รับคัดเลือก ในวันบรรจุ และแต่งตั้ง ต้องไม่ติดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเงื่อนไขอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนด

ส่วนการดำเนินการสอบ มอบให้ สพฐ. เป็นผู้ออกข้อสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป ให้กำหนดตัวชี้วัด องค์ประกอบ และคะแนนการประเมินในภาค ข ความเหมาะสมกับตำแหน่ง สำหรับการจัดสอบ มอบให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หรือคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สศศ. เป็นผู้ดำเนินการ

โดยเกณฑ์การตัดสินนั้น ผู้เข้าสอบจะต้องได้คะแนนสอบภาค ก ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และได้คะแนนรวมภาค ก และภาค ข ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

 

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ. กล่าวว่า สำหรับการบรรจุแต่งตั้ง ถ้าเขตพื้นที่ใดยังมีบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกอยู่เดิม และยังไม่หมดอายุการขึ้นบัญชี ให้เรียกตัวผู้ได้รับคัดเลือกจากบัญชีนั้นก่อน แต่ถ้าเขตพื้นที่ใดไม่มีการขึ้นบัญชีเดิมไว้ ให้เรียกตัวผู้ได้รับการคัดเลือกจากบัญชี กศจ. ที่ได้รับการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ตามลำดับที่ประกาศผลการคัดเลือก และตามจำนวนตำแหน่งว่างที่ประกาศรับสมัคร โดยไม่มีการขึ้นบัญชี เพื่อไม่ให้ผู้ที่ขึ้นบัญชีไว้แล้วต้องเสียสิทธิ

ซึ่งผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก จะต้องได้รับการพัฒนาก่อนแต่งตั้ง

อย่างไรก็ตาม เรื่องใหม่ที่กำหนดไว้ในเกณฑ์นี้คือ เมื่อได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในสถานศึกษาแล้ว ภายในระยะเวลา 1 ปี ต้องได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานในหน้าที่

โดย สพฐ. จะต้องกำหนดตัวชี้วัดที่จะใช้ประเมินการทำงาน และประกาศให้ผู้สมัครรับทราบก่อนเปิดรับสมัครคัดเลือก และใน 1 ปีที่ปฏิบัติหน้าที่ หากประเมินผลการปฏิบัติงานแล้วไม่ผ่าน จะต้องถูกย้ายไปอยู่ในส่วนของอัตรากำลังทดแทน ตามกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรา 71

ที่กำหนดว่า “ในกรณีที่มีความจำเป็น หัวหน้าส่วนราชการ หรือผู้อำนวยการเขตพื้นที่ มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ และขาดจากอัตราเงินเดือนในตำแหน่งเดิม โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนที่ ก.ค.ศ. กำหนด”

ทั้งนี้ ที่ประชุมตั้งเป้าว่าจะบรรจุแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษารอบแรกให้ได้ภายในปลายเดือนธันวาคม 2559

 

ภายหลังหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาคลอดออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เสียงส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นด้วย โดยเฉพาะกรณีที่กำหนดให้ต้องประเมินการทำงานของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งหลังจากปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว 1 ปี

และหากไม่ผ่านการประเมิน จะต้องถูกย้ายไปอยู่ในส่วนของอัตรากำลังทดแทน เพื่อที่จะกระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา จะต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีคุณภาพเพิ่มขึ้น

ซึ่ง นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการประเมินการทำงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา แต่อยากให้ปรับจากการประเมินการทำงานในระยะ 1 ปี มาเป็นประเมินทุกๆ 4 ปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลการประเมินสะท้อนคุณภาพการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง

โดย สพฐ. ต้องกำหนดตัวชี้วัดการประเมินให้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอน และการจัดการเรียนการสอน

โดยให้มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ เพื่อป้องกันระบบการใช้เส้นสาย หรือการกลั่นแกล้ง เพราะมีผลงานเชิงประจักษ์ให้ตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม นายอดิศรยังมองว่าระบบการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา ไม่ควรจะมีระบบเดียว หรือให้เลื่อนไหลจากผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก ไปยังโรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่

แต่ควรเปิดช่องให้ผู้ที่มีประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอน สามารถเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ด้วย เพราะผู้ที่ได้รับคัดเลือกส่วนใหญ่จะต้องเข้าไปปฏิบัติหน้าที่โรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งผู้บริหารจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอน และจะต้องลงมือปฏิบัติได้จริงด้วย ไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรมาเป็นผู้บริหารโรงเรียน

นอกจากนี้ นายอดิศรยังได้เสนอให้ปรับวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่อีกด้วย โดยใช้วิธีการสรรหาโดยกรรมการสถานศึกษาเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติ เพื่อคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมเข้ารับตำแหน่งในลักษณะเดียวกับการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นผู้บริหารสถานศึกษาอย่างแท้จริง

ไม่ใช่ใช้วิธีการเลื่อนไหลตามขนาดโรงเรียน เพราะจะทำให้โรงเรียนไม่ได้คนเก่งๆ มาเป็นผู้บริหาร

 

ล่าสุด สพฐ. ได้กำหนดปฏิทินการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาคร่าวๆ โดยจะเสนอให้ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงนามในประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกในวันที่ 11 พฤศจิกายน

จากนั้นให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แต่ละจังหวัด กำหนดวันรับสมัครของแต่ละจังหวัดเอง ซึ่งโดยปกติจะเปิดรับสมัครในสัปดาห์ถัดไป ส่วนการจัดสอบภาค ก และภาค ข จะจัดสอบประมาณต้นเดือนธันวาคม

สำหรับตำแหน่งว่างที่เปิดสอบในครั้งนี้ มีประมาณ 5,000 อัตรา

แต่ สพฐ. เตรียมเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) ไม่ต้องบรรจุผู้อำนวยการสถานศึกษาคนใหม่ในโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน

ถ้าหาก คปภ. เห็นชอบ จะมีตำแหน่งว่างเหลือประมาณ 4,000 อัตรา โดยจะต้องบรรจุผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้เสร็จภายในวันที่ 25 ธันวาคม

ส่วนตัวชี้วัดที่ใช้ประเมินผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น จะดูภารกิจที่ผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องปฏิบัติงาน เช่น นโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ., นโยบายของ สพฐ. และของโรงเรียนที่จะครอบคลุม 4 ด้าน คือ งบประมาณ บุคลากร วิชาการ และการบริหารงานทั่วไป

ซึ่งจะประกาศตัวชี้วัดเพื่อใช้ประเมินการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ในการประกาศรับสมัครการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาด้วย โดยจะแจ้งอย่างชัดเจนว่าหลังการปฏิบัติงาน 1 ปี จะประเมิน และหากไม่ผ่านการประเมิน จะถูกย้ายไปปฏิบัติงานในอัตราทดแทนที่กำหนดไว้ หรือกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม

เบื้องต้น พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้ให้นโยบายว่าควรจะประเมิน 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน โดย 6 เดือนแรกจะแจ้ง “จุดอ่อน” เพื่อให้ปรับปรุง และประเมินอีกครั้งเมื่อครบ 1 ปี

คาดว่าหลักเกณฑ์นี้จะกระตุ้นการทำงานของ “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น!!